May 2, 2024   8:29:41 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > 7 โบรกฯแชร์ต่ำติดดิน ยุคฝรั่งครองเมืองหืดขึ้นคอ
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 27/05/2006 @ 13:18:34
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

โบรกเกอร์ไทยเศร้าถูกเบียดตกขอบ ยุคฝรั่งครองเมือง บิ๊ก KEST ชี้โบรกฯเล็กมาร์เก็ตแชร์ต่ำกว่า 1% อยู่ยาก เปิดโผพบ 7 บล.เข้าข่าย แต่งานนี้ ทีเอสอีซี-พรูเด้นท์ฯ-เมอร์ชั่นฯ น่าห่วงสุด เหตุโดดเดี่ยวไร้แบงก์-พันธมิตรหนุนหลัง ด้าน บล.นครหลวงไทย-ยูไนเต็ด ยันประคองตัวได้แน่ แม้มาร์เก็ตแชร์วูบแต่ยังไม่ขาดทุน ขณะที่ บล.ไซรัส งัดกลยุทธ์จับลูกค้ารายย่อยรายได้สูง ด้านภาวะวันศุกร์หุ้นรีบาวน์กระฉูดกว่า 16 จุด ต่างชาติเทอีกกว่า 2 พันล้านบาท ก้องเกียรติ ชี้เงินไหลเข้า-ออกเป็นเรื่องปกติ ชี้ปัจจัยการเมืองยังกดดันการลงทุน

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการซื้อขายหุ้นไทย จากการเข้าซื้อหุ้นอย่างบ้าเลือด จนกระทั่งแรงขายเพื่อโยกเงินออกไปหาผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างหนัก ทำให้บางวันสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติพุ่งขึ้นมาเกือบ 50% ของวอลุ่มรวม ส่งผลกระทบต่อมาร์เก็ตแชร์ของบริษัทหลักทรัพย์ไทยให้ปรับตัวลดลง ในขณะที่โบรกเกอร์ต่างประเทศเบียดขึ้นมาครองส่วนแบ่งในอันดับต้นๆ

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยอันดับการซื้อขายของโบรกเกอร์สูงสุด 5 อันดับแรกวันที่ 25 พ.ค. 49 พบว่า บล. เครดิต สวิส (ประเทศไทย) หรือ CS มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดอันดับหนึ่ง 11.68% รองลงมาได้แก่ บล. กิมเอ็ง(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ KEST มีมาร์เก็ตแชร์ 8.14% อันดับต่อมาได้แก่ บล. ยูบีเอส (ประเทศไทย) หรือ UBS มีมาร์เก็ตแชร์ 8.07%

ขณะที่บล. ภัทร จำกัด(มหาชน) หรือ PHATRA มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับสี่ 5.79% และบล. เอเซีย พลัส จำกัด(มหาชน) หรือ ASP มีมาร์เก็ตแชร์อันดับห้า 4.48%

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบมาร์เก็ตแชร์ 5 อันดับแรกของโบรกเกอร์ในเดือน พ.ค.49 (2 พ.ค.-25 พ.ค.49) กับช่วงเดียวกันของปีก่อน ( 2 พ.ค.-25 พ.ค.48) จะพบว่าบล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST ยังครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ที่ระดับ 9.10% แต่ถือว่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 10.81%

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ที่เคยครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 ในปีก่อน ถูกเบียดลงมาอยู่อันดับ 3 ในปีนี้ โดยมีบล.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS ขึ้นมาอยู่อันดับ 2 แทน ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 6.79%
ด้าน บล.โกลเบล็ก หรือ GLOBLEX ซึ่งเคยครองแชมป์มาร์เก็ตแชร์อันดับ 4 เมื่อปีก่อน ปีนี้กลับไม่ติดอันดับ โดยมีบล.ภัทร หรือ PHATRA ขึ้นแท่นอันดับ 4 แทน ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 5.97%

ส่วนอันดับที่ 5 สำหรับเดือน พ.ค. ปีนี้เป็นของโบรกเกอร์ต่างประเทศ บล. ยูบีเอส (ประเทศไทย) หรือ UBS มีมาร์เก็ตแชร์ 5.19% จากปีก่อนที่เป็นของ บล.ไทยพาณิชย์

ตารางแสดงมาร์เก็ตแชร์โบรกเกอร์ วันที่ 25 พ.ค.49
หลักทรัพย์ มาร์เก็ตแชร์(%)
CS 11.68
KEST 8.14
UBS 8.07
PHATRA 5.79
ASP 4.48

ตารางแสดงมาร์เก็ตแชร์โบรกเกอร์ เดือนพ.ค.49 (2พ.ค.-24 พ.ค.49)
หลักทรัพย์ มาร์เก็ตแชร์ (%)
KEST 9.10
SCBS 6.79
ASP 6.11
PHATRA 5.97
UBS 5.19

ตารางแสดงมาร์เก็ตแชร์โบรกเกอร์เดือนพ.ค.48( 2พ.ค.-24 พ.ค.48)
หลักทรัพย์ มาร์เก็ตแชร์(%)
KEST 10.81
ASP 6.8
ZMICO 4.41
GLOBLEX 4.16
SCBS 4.09

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

**มนตรียอมรับมาร์เก็ตแชร์ KEST ร่วงหลังฝรั่งรุมหุ้นไทย

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ KEST เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า สาเหตุที่ช่วงนี้มาร์เก็ตแชร์ของบริษัทปรับตัวลดลง เนื่องจากสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยบางวันนักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนสูงถึง 50%ของมูลค่าการซื้อขาย ทำให้มาร์เก็ตแชร์ของบริษัทหลักทรัพย์ที่มีลูกค้าต่างประเทศซื้อขายมากอย่าง บล.เครดิต สวิส,บล.เมอร์ริล ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ประกอบกับในช่วงนี้ลูกค้ารายย่อยของบริษัทบางส่วนชะลอการลงทุน เพราะภาวะตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวน โดยเชื่อว่าเมื่อตลาดหุ้นกลับสู่ภาวะปกตินักลงทุนจะกลับเข้ามาซื้อขายอีกครั้ง

นายมนตรี กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศโดยพยายามสร้างเครือข่ายกับโบรกเกอร์ต่างประเทศ และขยายฐานลูกค้าสิงคโปร์เพิ่มขึ้น หลังจากที่ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 40-50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดจากปีก่อนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศมีเพียง 28-30% เท่านั้น

ทั้งนี้ จากการที่บริษัทขยายฐานลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นจะทำให้สิ้นปีนี้สัดส่วนลูกค้าต่างประเทศของบริษัทจะเพิ่มเป็น 25-30% จากสิ้นปี 48 อยู่ที่ 17-20% และสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยจะลดลงเหลือ 70-75% จากเดิมอยู่ที่ 80%

แม้ว่าในช่วงนี้มาร์เก็ตแชร์ของเราจะปรับตัวลดลง เพราะมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นแต่มั่นใจว่าเมื่อภาวะตลาดหุ้นกลับสู่ปกติลูกค้ารายย่อยของบริษัทฯ จะกลับมาซื้อขายหุ้น และเราก็มีแผนที่จะขยายฐานลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ปีนี้ KEST จะยังคงรักษามาร์เก็ตแชร์ค้าหลักทรัพย์อันดับหนึ่ง 10-10.5%ได้ นายมนตรีกล่าว


**ชี้โบรกฯเล็กมาร์เก็ตแชร์ต่ำกว่า 1%อยู่ยาก

นายมนตรี กล่าวว่า หากสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และภาวะตลาดหุ้นยังผันผวน อาจทำให้บริษัทหลักทรัพย์ที่มีมาร์เก็ตแชร์ต่ำกว่า 1% ดำเนินธุรกิจลำบากเพราะเน้นเฉพาะลูกค้ารายย่อยในประเทศ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

**เปิดโผ 7 โบรกเกอร์ตกที่นั่งลำบาก ช่วงฝรั่งรุมตลาดหุ้นไทย

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานมูลค่าการซื้อขายของโบรกเกอร์ในช่วงวันที่ 2 ม.ค.-25 พ.ค.49 พบว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่มีมาร์เก็ตแชร์ต่ำกว่า 1% มีทั้งสิ้น 7 แห่งได้แก่
บริษัทหลักทรัพย์ ยูไนเต็ด จำกัด(มหาชน) หรือ US มีมาร์เก็ตแชร์ 0.95%,บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า มีมาร์เก็ตแชร์ 0.65%,บริษัทหลักทรัพย์ ทีเอสอีซี มีมาร์เก็ตแชร์ 0.56%, บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย มีมาร์เก็ตแชร์ 0.47%
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย มีมาร์เก็ตแชร์ 0.42%, บริษัทหลักทรัพย์ พรูเด้นท์ สยามมีมาร์เก็ตแชร์ 0.28% และบริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ มีมาร์เก็ตแชร์ 0.07%

ตารางแสดงมาร์เก็ตแชร์ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ต่ำกว่า 1% ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.-25 พ.ค.2549

หลักทรัพย์ มาร์เก็ตแชร์(%)
US 0.95
FINANSA 0.65
TSEC 0.56
SCIS 0.47
KSEC 0.42
PSS 0.28
MERCHANT 0.07

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

**ทีเอสอีซี-พรูเด้นท์ฯ-เมอร์ชั่นฯ น่าห่วงสุด
แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับความเห็นของนายมนตรีว่าโบรกเกอร์ที่มีมาร์เก็ตแชร์ไม่ถึง 1% อาจเอาตัวรอดได้ยากในภาวะปัจจุบัน แต่จาก 7 โบรกเกอร์ที่เข้าข่ายดังกล่าว มองว่ามีเพียง 4 โบรกเกอร์ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ว่าจะสามารถทำกำไรได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นโบรกเกอร์ที่มาร์เก็ตแชร์น้อย และไม่มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นหรือกลุ่มลูกค้าที่มีความชัดเจน

ในขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ที่มีธนาคารเป็นบริษัทแม่อย่างเช่น บล.นครหลวงไทย และ บล.กสิกรไทย อาจประคองตัวอยู่ได้ เพราะใช้ต้นทุนต่ำกว่า รวมทั้งมีฐานลูกค้าจากธนาคารช่วยหนุน และแม้ว่าจะมีผลขาดทุนก็ยังมีเงินจากบริษัทฯแม่ช่วยเหลือ เพื่อให้เป็นแขนขาของธนาคาร ในการให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจร

ส่วน บล.ฟินันซ่าหลังจากได้นายช่วงชัย นะวงศ์ มาจาก บล.โกลเบล็ก คาดว่าจะทำให้มาร์เก็ตแชร์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ บล.ยูไนเต็ดหลังจากได้พันธมิตรชาวญี่ปุ่น ก็คาดว่าคำสั่งซื้อขายในส่วนของนักลงทุนสถาบันน่าจะเพิ่มขึ้นได้

**นครหลวงไทย-ยูไนเต็ด-ไซรัส ยันอยู่รอดแน่แม้ต่างชาติบุก

นายสาธิต วรรณศิลปิน รองกรรมการผู้จัดการ บล.นครหลวงไทย เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า บริษัทไม่กังวลแม้ว่ามาร์เก็ตแชร์จะต่ำกว่า 1% ในช่วงที่นักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นเนื่องจากได้เพิ่มการให้บริการนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยปัจจุบันมีกองทุนส่งคำสั่งซื้อขายมาที่บริษัทประมาณ 3-4 บลจ.ทำให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของบล.นครหลวงไทย ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 190 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันต่ำกว่า 100 ล้านบาท

ต้องยอมรับว่าในช่วงนี้มาร์เก็ตแชร์ของเราลดลง เพราะต่างชาติมีสัดส่วนในการซื้อขายหุ้นมากขึ้น แต่ในส่วนของวอลุ่มการซื้อขายของเราถือว่าเพิ่มขึ้น ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากคำสั่งซื้อขายของนักลงทุนสถาบันนายสาธิตกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศถือว่าสูงกว่าปกติ โดยบางวันมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศและสถาบันในประเทศสูงกว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขาย ซึ่งเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิออกมา เพราะกังวลปัจจัยภายนอกประเทศขณะที่นักลงทุนทั่วไปชะลอการลงทุนแต่เชื่อว่าเมื่อภาวะตลาดหุ้นกลับสู่ภาวะปกตินักลงทุนทั่วไปจะกลับมาซื้อขายเหมือนเดิม

อย่างไรก็ดี บริษัทมั่นใจว่าสิ้นปีนี้มาร์เก็ตแชร์จะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 1%เนื่องจากบริษัทเพิ่มสัดส่วนลูกค้าสถาบันในประเทศ โดยปัจจุบันมีลูกค้าสถาบันในประเทศส่งคำสั่งซื้อขายผ่านบริษัท 3-4 บลจ. ซึ่งจะทำให้สิ้นปีนี้สัดส่วนลูกค้าสถาบันในและต่างประเทศอยู่ที่ 20% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 10% นอกจากนี้ บริษัทได้เพิ่มคุณภาพงานวิเคราะห์เพิ่มสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น

ด้านแหล่งข่าวจากผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ยูไนเต็ด จำกัด(มหาชน) หรือ US เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า แม้ว่ามาร์เก็ตแชร์ของบริษัทไม่ถึง 1% แต่ผลประกอบการของบริษัทก็ไม่ขาดทุน เพราะบริษัทมีรายได้จากธุรกิจอื่นเช่น การขายตั๋ว B/E, ขายตราสารหนี้, ขายหน่วยลง ทุนของกองทุนรวมต่างๆ เข้ามาเสริม ในช่วงที่รายได้จากธุรกิจค้าหลักทรัพย์ลดลงหรือทรงตัว
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมามาร์เก็ตแชร์ของบริษัทปรับตัวลดลง เพราะลูกค้ารายย่อยในประเทศชะลอการลงทุน เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอดีต ซึ่งทางผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทมีความตั้งใจที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆเพื่อกระจายช่องทางเพิ่มรายได้ และผลักดันให้มาร์เก็ตแชร์สิ้นปีอยู่ที่ 1%

ส่วนนายกัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ไซรัส จำกัด (มหาชน)หรือ SYRUS เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติถือว่ามีสัดส่วนการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก ซึ่งยอมรับว่าส่งผลให้มาร์เก็ตแชร์โบรกเกอร์โดยรวมปรับลดลงรวมทั้ง บล.ไซรัสด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่า SYRUS สามารถอยู่รอดได้ แม้ว่าในปัจจุบันมาร์เก็ตแชร์ SYRUS อยู่ที่ประมาณ 1%
ทั้งนี้ จะมีการเน้นจับลูกค้าเฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะลูกค้าที่มีรายได้สูง หรือลูกค้าที่มีการซื้อขายหุ้นอย่างสม่ำเสมอ

ยังอยู่รอดได้ ซึ่งจะเน้นลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้นโดยให้การบริการที่ดี และดูแลอย่างทั่วถึง นายกัณฑรา กล่าว
เขากล่าวต่อว่า บริษัทมีแนวทางที่เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนหันมาซื้อขายหุ้นผ่าน SYRUS มากขึ้น โดยการเน้นการให้บริการที่ดีกับลูกค้าอีกทั้งมีการออกบทวิเคราะห์ที่ดีและครอบคลุมหุ้นมากขึ้นซึ่งเชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะทำให้มีนักลงทุนมาใช้บริการมากขึ้น

**หุ้นปลายสัปดาห์บวกกระฉูดกว่า 16 จุด ต่างชาติเทกว่า 2 พันลบ.
ด้านภาวะตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดปิดที่ 717.50 จุด เพิ่มขึ้น 16.47 จุด มูลค่าการซื้อขาย 13,411.37 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิต่อเนื่องอีก 2,137.12 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,247.19 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 889.93 ล้านบาท

นายสิทธิเดช ประเสริฐรุ่งเรือง รองผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีมิโก้ เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นสามารถปิดตลาดในแดนบวกได้ โดยการนำของหุ้นกลุ่มแบงก์, พลังงาน, สื่อสาร เป็นต้นซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นรอบนี้เป็นการรีบาวน์ทางเทคนิคหลังจากที่ช่วงก่อนหน้านี้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรงประกอบกับตลาดหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่ก็มีการรีบาวน์จึงส่งผลทางจิตวิทยาต่อตลาดหุ้นไทย

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นรอบนี้เป็นเพียงการรีบาวน์ทางเทคนิคเท่านั้น หลังจากที่ผ่านมาปรับตัวลดลงแรงซึ่งคาดว่านักลงทุนต่างประเทศอาจจะซื้อหรือขายสุทธิเพียงเล็กน้อยไม่มีนัยสำคัญกับตลาดหุ้นมากนักโดยยังไม่กลับเข้ามาซื้ออย่างจริงจัง เพราะ 2 สัปดาห์ที่ผ่าน มาขายสุทธิเกือบ2 หมื่นล้านบาทคงไม่รีบร้อนกลับเข้ามาซื้อช่วงนี้นายสิทธิเดชกล่าว

สำหรับแนวโน้มตลาดในสัปดาห์หน้าต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางสัปดาห์หน้าว่าจะมีท่าทีว่าอย่างไรหากมีการส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยก็อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน เพราะเป็นสัญญาณว่าภาวะการเมืองที่ผ่านมากดดัน

ทั้งนี้ แนะนำให้นักลงทุนรอซื้อหุ้นพลังงาน,แบงก์เมื่อราคาอ่อนตัวและขายเมื่อราคาปรับตัวขึ้นโดยกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นในสัปดาห์หน้าอยู่ระหว่าง 720-730 จุด

**ก้องเกียรติระบุเงินไหลเข้า-ออกเป็นเรื่อง ปกติ
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่มีกระแสเงินไหลเข้า-ออกภายในตลาดหุ้นของไทยถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ปกติซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เมื่อมีกระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาก็ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นแรง และซึ่งถ้าหากกระแสเงินไหลออกก็ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นเราจึงระบุไม่ได้ว่าภาวะตลาดหุ้นจะปรับลดลงหรือปรับเพิ่มขึ้นนานเพียงใด ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับกระแสเงินไหลเข้า-ออกด้วย
อันนี้เป็นปัจจัยระยะสั้นเป็นตัวกำหนดว่าหุ้นจะปรับลดลงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการที่มีเงินไหลเข้าไหลออกก็เป็นปกติหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดร.ก้องเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ นักลงทุนรายย่อยควรศึกษาข้อมูลในการลงทุนหรืออ่านบทวิเคราะห์ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลายและได้ข้อมูลเชิงลึกมากกว่าที่จะไปลงทุนโดยที่ไม่มีความรู้
อย่างไรก็ตาม เมื่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นแรงๆ หรือปรับลดลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนไม่ควรเล่นตาม ซึ่งต้องศึกษาในพื้นฐานก่อน

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง รวมทั้งสถานการณ์ดังกล่าวยังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คาดว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลและเป็นตัวแปรที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ดังกล่าวก่อน

สถานการณ์ทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่ Fund flow จับตาดู ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนออกไปก่อนหากสถานการณ์ยังไม่นิ่ง แต่ภูมิภาคเอเชียก็ยังเป็นภูมิภาคที่น่าลงทุนเพราะเศรษฐกิจเติบโตได้ดีและพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ดร.ก้องเกียรติ กล่าว

ที่มา efinancethai.com[/color:1a9370d257">

 กลับขึ้นบน
mr.w
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 490
#1 วันที่: 27/05/2006 @ 21:44:14 : re: 7 โบรกฯแชร์ต่ำติดดิน ยุคฝรั่งครองเมืองหืดขึ้นคอ
เหนื่อย จัง อย่างนี้ q2 ออก มา รายได้ อาจจะผิดคาดก็ได้ คิก คิก

หุ้น ไฟ ไม่ มาเยย มีอะไรเปล่า หว่า

ฟฟฟฟ3 ฟฟฟฟ3 ฟฟฟฟ3
 กลับขึ้นบน
NIKKEI
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 146
#2 วันที่: 29/05/2006 @ 21:43:06 : re: 7 โบรกฯแชร์ต่ำติดดิน ยุคฝรั่งครองเมืองหืดขึ้นคอ
.000c ถือ ไฟ แล้วไม่รุ่งก็รอบนี้แระ .000c
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com