May 4, 2024   2:31:33 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > สถานการณ์และมุมมองปี 2549:กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 12/03/2006 @ 11:40:49
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ปริมาณผลผลิตเหล็กดิบของกลุ่มประเทศในแถบยุโรป อเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา และ CIS ปรับตัวลดลงในปี 2548 แต่เราพบว่าผู้ประกอบการกลุ่มประเทศ แอฟริกา และเอเชีย กลับมีปริมาณผลผลิตเหล็กดิบที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศจีน มีอัตราการขยายตัวของปริมาณผลิตถึงร้อยละ 24.6 พุ่งขึ้นมาอยู่แตะระดับ 349 ล้านตัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งผลผลิตรวมต่อผลผลิตโลกที่ร้อยละ 30.9 ขยายตัวถึงร้อยละ 26.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ประเทศจีนได้ปรับเปลี่ยนสถานะตัวเองจากผู้นำเข้ากลายเป็นผู้ส่งออกสุทธิ

อุปทานเหล็กจากจีนที่ขยายตัวอย่างมาก ส่งผลสืบเนื่องทำให้ปริมาณผลผลิตเหล็กดิบในตลาดโลก ทะยานขึ้นแตะระดับ 1,129 ล้านตันเป็นครั้งแรก ในขณะที่ในด้านของอุปสงค์ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้านานาชาติ ได้ประมาณความต้องการบริโภคเหล็กในปี 2548 ไว้ในระดับเพียง 998 ล้านตัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอุปทานส่วนเกินที่ยังมากกว่าความต้องการโดยรวมถึง 131 ล้านตัน

ปัญหาอุปทานส่วนเกินส่งผลร้ายแรงต่อเสถียรภาพด้านราคา โดยราคาเหล็ก FOB เฉลี่ย CIS ณ ท่า Far East ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสังเกตเห็นได้จากแผนภาพที่ 3 ได้แสดงราคาเฉลี่ยผลิตภัณฑ์เหล็กทุกประเภท ที่มีราคาปรับตัวลง โดยราคาเหล็กเส้นปรับตัวลดลงร้อยละ 12 ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนปรับตัวลงร้อยละ 24 ราคาเหล็กแท่งบิลเล็ตปรับตัวลงร้อยละ 10 และราคาเหล็กแผ่นแท่งแบนปรับตัวลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 38

อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาเหล็กหลังปรับฐานลงอย่างรุนแรงในไตรมาสที่ 1 และ 2 เริ่มมีความผันผวนที่น้อยลง หลังจาก ผู้ซื้อเริ่มลดสต็อกสินค้าเพื่อรอดูท่าที รวมถึงผู้ขายเองก็ผลิตในอัตราที่น้อยลง เนื่องจากเกรงว่าราคาจะตกต่ำลงไปอีก

ปัญหาอุปทานส่วนเกินเริ่มเป็นที่ตระหนัก และหลายฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญถึงมาตรการควบคุมอุปทานเหล็ก เพื่อให้กลับสู่ภาวะดุลยภาพ โดยเฉพาะรัฐบาลแห่งประเทศจีน ได้ออกมาตรการ ดังนี้

1.คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปของจีน (NDRC) พิจารณาไม่อนุมัติเพิ่มโรงเหล็กใหม่ ในปี 2549

2.ลดกำลังการผลิตที่ล้าสมัยจากโรงงานขนาดเล็กลง 55 ล้านตันภายใน 5 ปี

3.ยกเลิกการคืนภาษีส่งออกของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าในระยะสั้น มาตรการดังกล่าวเป็นไปได้ยากในเชิงปฏิบัติ เนื่องจาก การปิดโรงเหล็กดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชากรที่ส่วนมากที่มีรายได้น้อย รวมถึง อาจต้องมีการจ่ายเงินชดเชยจากการว่างงาน และส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศจีน นอกจากนี้ เราเชื่อว่าผู้ประกอบการรายย่อย ต่างยังคงต้องการรักษาส่วนแบ่งทางการคลาดของตนไว้ จึงลังเลที่จะลดกำลังการผลิตลง แต่สำหรับระยะยาวแล้ว เราเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยจำกัดอุปทานให้เข้าสู่ตลาดน้อยลงได้ในที่สุด

ในมุมมองของเราการจำกัดอุปทานดูเหมือนจะเป็นเป็นทางออกที่จะช่วยให้ราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มมีเสถียร ภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามเราไม่คาดหวังว่าราคา ณ ระดับปัจจุบันจะทะยานขึ้นกลับขึ้นสู่ระดับสูงสุดเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากอุปทานที่ยังคาดว่ายังคงอยู่ในระดับสูง แต่เราเชื่อว่า แนวโน้มทิศทางราคาเหล็กในตลาดโลกสำหรับปี 2549 จะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากระดับราคา ณ ปัจจุบัน ยังเป็นระดับราคาที่แข่งขันได้ ซึ่งหากราคาลดต่ำไปจากระดับปัจจุบันมากนัก จะเริ่มส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายประสบปัญหาขาดทุนจนถึงขั้นปิดกิจการลงไป

ผลประกอบการของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กปี 2548

ฝ่ายวิจัยฯได้รวบรวมข้อมูลผลประกอบการของผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเหล็กจำนวน 6 บริษัทฯเพื่อเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรม โดยใช้

SSI GSTEEL NSM INOX เป็นตัวแทนผู้ประกอบการของอุตสาหกรรมเหล็กแผ่น

MS BSBM เป็นตัวแทนผู้ประกอบการของอุตสาหกรรมเหล็กเส้น

พบว่า โดยรวมแล้วรายได้ส่วนของธุรกิจเหล็กแผ่นเติบโตเพียงร้อยละ 4 YoY โดย SSI และ GSTEEL ค่อนข้างมียอดขายที่คงที่ในขณะที่ NSM มียอดขายที่สูงขึ้นหลังเริ่มเดินเครื่องจักรได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนธุรกิจเหล็กเส้นเติบโตที่ร้อยละ 1.5 YoY จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น และโดยรวมยอดขายทั้งอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 3.5 YoY อันเป็นผลมาจากทิศทางราคาขายเฉลี่ยที่เริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงรอยต่อไตรมาสที่ 1 และไตรมาส 2 ปี 2548

กำไรสุทธิรวมจากกลุ่มธุรกิจปรับตัวลดลงอย่างมาก ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารสินค้าคงคลังผิดพลาดโดยเฉพาะ SSI และ NSM ประสบปัญหาหนักสุดเนื่องจากมีสินค้าคงคลังสำรองอยู่ถึง 2 ไตรมาส ในขณะที่ GSTEEL INOX MS และ BSBM มี ช่วงเวลา สต็อกสินค้าที่สั้นกว่า แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กที่ตกลงอย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา จึงทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 93.6 ลงมาอยู่ที่ 804 ล้านบาท จาก 12,636 ล้านบาทในปีก่อน

จากภาพที่ 6 และ 7 แสดงราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มดีดตัวขึ้นในช่วงสั้น ดังนั้นเราเชื่อว่าจะเริ่มมีแรงเก็งกำไรสลับเข้ามาบ้าง ทั้งนี้เราได้วาง Scenario เพื่อพิจารณา ผลกระทบจากสต็อกสินค้า ซึ่งตั้งสมมติฐาน โดยพิจารณาดังตารางที่ 1

1. พิจารณาจากระดับสินค้าคงคลังของบริษัทฯที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก

2. พิจารณาจากบริษัทฯที่มีอัตราการหมุนของสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง

๐Scenario 1 กรณีราคาเหล็กกลับมาเป็นขาขึ้น

เราเชื่อว่าบริษัทฯที่จะได้รับผลในเชิงบวกมากที่สุดคือ SSI เนื่องจากมีระดับสต็อกสินค้าในระดับสูง รวมถึงมีอัตราการหมุนของสินค้าถึงเกือบ 5 เดือน และ NSM ที่มีอัตราการหมุนของสินค้าเกือบ 4 เดือน ส่วนบริษัทฯที่ได้รับผลในเชิงบวกรองลงมาได้แก่ INOX BSBM และ MS มีอัตราการหมุนของสินค้าประมาณ 3 เดือน ส่วนบริษัทฯที่ได้รับผลในเชิงบวกน้อยที่สุด คือ GSTEEL ที่มีอัตราการหมุนของสินค้าน้อยที่สุด

๐ Scenario 2 กรณีราคาปรับตัวลดลงจากระดับราคาปัจจุบัน

บริษัทฯที่จะได้รับผลกระทบในเชิงลบสูงสุดคือ SSI และ NSM เนื่องจากมีสต็อกสินค้าในสัดส่วนที่สูง และราคาวัตถุดิบ ณ ปัจจุบันส่วนมากจะตั้งค่าเผื่ออยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาตลาด ดังนั้นหากราคาปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาปัจจุบัน ฝ่ายวิจัยฯเชื่อว่าจะมีการตั้งค่าเผื่อสินค้าที่สูงขึ้น ส่วนบริษัทฯที่ได้รับผลกระทบในระดับรองลงมาได้แก่ MS INOX BSBM และ GSTEEL ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2549

สำหรับมุมมองในระยะสั้น สถาบันที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล็กและผู้ประกอบการทั้งในและประเทศต่าง ค่อนข้างมีความเห็นที่สอดคล้องกัน ว่าราคาเหล็กในตลาดโลกจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากมีการลดอุปทานบางส่วนลง ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการมีแนวโน้มดีขึ้นหลังสต็อกสินค้าเก่าได้ระบายออกไป อย่างไรก็ตามยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญรายใดได้ออกมาคาดการณ์ถึงสภาวการณ์ด้านราคาที่จะเป็นขาขึ้นอีกครั้งของราคาในปี2549 ดังนั้น ระยะสั้น เราจึงแนะนำเพียง เก็งกำไร ตามประเด็นการดีดตัวของราคาเหล็ก และในระยะยาว เน้น ถือ เพื่อรอประเมินสถานการณ์

นอกจากนี้แนวทางการควบรวมกิจการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2549 จะเป็นประเด็นที่น่าจับตา ซึ่งจะช่วยให้ราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น เช่น Mittal Steel และ Arcelor ซึ่งเป็นยักษ์ในวงการเหล็ก มีแผนชัดเจนที่จะควบรวมบริษัทฯขนาดเล็กมากขึ้น ซึ่งหากพิจารณาจากราคาหุ้น ณ ปัจจุบันผู้ประกอบการของไทยมีระดับมูลค่าทางบัญชีที่ค่อนข้างต่ำ โดยมี P/BV อยู่ในระดับเฉลี่ย 0.30 ถึง 1.51 เท่า ซึ่งเราเห็นว่าระดับราคาดังกล่าวค่อนข้างซึมซับข่าวร้ายไปพอสมควรแล้ว ดังนั้นเราจึงปรับน้ำหนักการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจาก Underweight ขึ้นมาอยู่ในระดับ Neutral และมีคำแนะนำรายหุ้นตามตารางด้านล่าง

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com