May 5, 2024   2:42:32 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > หุ้นไทยยังวูบต่อถ้าการเมืองไม่ชัดเจน
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 07/03/2006 @ 20:51:06
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

การเมืองตัวดีทำหุ้นไทยเดี้ยง
5 เดือน 16 วันบวกแค่11.27 จุด
-โบรกฯ-เอกชน-ต่างชาติมองหุ้นไทยยังวูบต่อถ้าการเมืองไม่ชัดเจน[/color:756ea8f39f">




ฟิทช์เรทติ้งส์-กูรู-เอกชน ฟันธงเศรษฐกิจ-หุ้นไทยเดี้ยงเพราะปัจจัยการเมืองเหตุความอึมครึมทำนักลงทุนไม่กล้าเอาเงินในกระเป๋ามาเสี่ยงขณะที่พบหุ้นไทยเจอพิษการเมืองกระแทก 3 ระลอกในรอบ 5เดือนเศษทั้งม็อบสวนลุม-แอมเพิลริช-ม็อบพันธมิตรฯ ทำดัชนีฯบวกแค่ 11.27 จุดอยู่ที่ 738.36 จุด ทั้งที่ควรจะไปไกลถึง 800 จุดโบรกฯฟันธงอีกรอบถ้านายกฯยอมลาออกหุ้นไทยเด้งได้เพราะแรงกดดันลดลง

ความร้อนแรงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาทำให้ในวันนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์เรทติ้งส์ ได้ออกมาระบุว่าการเมืองที่วุ่นวายจะยิ่งกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย โดยที่น่าห่วงที่สุดมี 3 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ ไทยและไต้หวัน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับต่ำสุดในภูมิภาคอยู่แล้ว
ทั้งนี้รายงานข่าวจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์เรทติ้งส์ระบุวันนี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียในปีนี้จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 7%จากที่ขยายตัวในอัตรา 7.5% ในปีที่ผ่านมาขณะที่ในปีนี้แนวโน้มการส่งออกจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ฟิทช์เรทติ้งส์ยังระบุด้วยว่า ภาวะถดถอยทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะนี้กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ ไทย และไต้หวัน
ประเทศที่กำลังเผชิญความวุ่นวายทางการเมืองนอกจากจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะถูกลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจลงอีกด้วยและสำหรับหลายประเทศ มีความเป็นไปได้ว่าแม้ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้หมายความจะไปสนับสนุนการปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือ นาย เจมส์ แมคคอร์แม็ค นักวิเคราะห์อันดับความาเชื่อถือฟิทช์เรทติ้งส์กล่าว
อย่างไรก็ตาม การออกมาฟันธงในลักษณะดังกล่าวของฟิทช์เรทติ้งส์ถือว่าสอดคล้องกับความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการตลาดหุ้นไทยหลายรายทั้งภาคเอกชน-นักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ

- บล.ทิสโก้ มองตลาดหุ้นไทยตลอดเดือนนี้ ถูกกดดันด้วยปัจจัยการเมือง
นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล หัวหน้ากลยุทธ์การลงทุน บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมีนาคมจะยังคงได้รับแรงกดดันจากอิทธิพลทางการเมืองแต่เชื่อว่ายังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีกว่าเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่การเมืองมีความชัดเจนขึ้นจากการยุบสภา
โดยให้แนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 730 - 735 จุดและให้แนวต้านไว้ที่ 770-775 จุด ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในปัจจุบันยังเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือนนี้ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะต้องมีการติดตามอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะมีทางออกทางการเมืองที่ดีหรือเกิดความชัดเจนทางการเมืองมากกว่าในปัจจุบัน
เขากล่าวอีกว่า จีดีพี ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 5%จากปีที่ผ่านมาที่มีจีดีพีอยู่ที่ 4% อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมของพันธมิตรยังคงยืดเยื้อคาดว่าอาจจะมีการปรับลดเป้า จีดีพีในปีนี้ใหม่

-TNITY เชื่อการเมืองส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนไปจนกว่าทุกอย่างจะได้ข้อสรุป
นายภตวัต โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทรีนีตี้วัฒนา (TNITY) กล่าวว่าปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหุ้นไปจนกว่าทุกอย่างจะได้ข้อสรุปซึ่งในระยะสั้นปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมากนักเพราะเศรษฐกิจไทยยังแข็งแรง ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังเติบโตได้ดี

- คลื่นการเมืองระลอกแรกหลังปิดเมืองไทยรายสัปดาห์
อย่างไรก็ตามจากการสำรวจความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ช่วงเริ่มเกิดมีแรงกดดันทางการเมืองเกิดขึ้น หลังจากรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกถอดออกจากผังรายการเมือง ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ในวันที่ 16 กันยายน 2548 พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวดัชนีฯเคลื่อนไหวอยู่ที่ ระดับ 712.21 จุดก่อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 727.09 จุดในวันที่ 27 ก.ย.48 และหลังจากนั้นดัชนีฯได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังจากที่นายสนธิได้เริ่มจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร และออกมาโจมตีรัฐบาลและพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ประกอบกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีความรุนแรงต่อเนื่องทำให้ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยไม่ดีนักโดยดัชนีฯได้รับลดลงต่ำสุดที่ระดับ 656.85 จุดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.48 ถือว่าลดลงถึง 70.24 จุดหรือ 9.66% ภายในเวลาเพียง 2 เดือนเศษ

- รัฐโหมสร้างความมั่นใจ-ต่างชาติลุยซื้อทำดัชนีฯวิ่งรอบใหม่
ทั้งนี้ หลังจากดัชนีฯได้ผ่านจุดต่ำสุดดังกล่าวก็ได้เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งโดยปัจจัยหลักมาจากรัฐบาลได้เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศประกอบกับในช่วงดังกล่าวใกล้จะสิ้นสุดปี 48 ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค.ของทุกปีพบว่าดัชนีฯจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจนเรียกว่า January Effect ทำให้ในช่วงปลายปีได้มีแรงซื้อกลับเข้ามาอีกครั้งเพื่อรอเก็งกำไรรับตลาดหุ้นคึกคักในช่วงปีใหม่ดังกล่าวจนหลายฝ่ายเชื่อกันว่าความคึกคักของตลาดหุ้นไทยจะต่อเนื่องจนผลักดันให้ดัชนีฯทะลุถึง 770-780 จุดได้ซึ่งในช่วงดังกล่าวหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นสูงสุดถึง 769.57 จุด เมื่อวันที่ 26 ม.ค.49 เพิ่มขึ้น 110.72 จุด หรือ 16.85% เพียงเวลาไม่ถึง 2 เดือน เมื่อเทียบกับช่วงที่ลงไปทำสถิติต่ำสุดในวันที่ 2 ธ.ค.48

- มรสุมการเมืองระลอกสองจากแอมเพิลริช-ขายหุ้น SHIN
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยคึกคักได้ระดับหนึ่งแรงกดดันทางการเมืองก็เกิดขึ้นระลอกใหม่เมื่อมีกระแสข่าวการขายหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ให้กับกองทุนเทมาเส็ค ของสิงคโปร์โดยมีกระแสข่าวเรื่อง บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยพบว่าบริษัทดังกล่าวถือครองหุ้น SHIN ก่อนที่จะขายให้กับเทมาเส็ค และพบว่าผู้ถือหุ้น คือ บุตรชายและบุตรสาวของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกแรงกดดันทางการเมืองจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง จนนำไปสู่การยุบสภาเมื่อวันที่ 24ก.พ.49 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ดัชนีฯได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในวันที่ 26 ม.ค. และปรับลงมาเคลื่อนไหวปิดที่ระดับ 732.68 จุด ในวันที่ 23 ก.พ.ก่อนการประกาศยุบสภาเพียง 1วัน ถือว่าดัชนีฯได้ปรับลดลงถึง 36.89 จุด หรือ 4.79% ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน

- หลังยุบสภาตลาดเริ่มสดใสแต่ไม่นานก็เจอมรสุมลูกใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังการประกาศยุบสภาฯของนายกรัฐมนตรีทำให้ตลาดหุ้นไทยเริ่มตอบรับในทิศทางที่ดีโดยปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเห็นว่าการเมืองเริ่มมีความชัดเจนแต่การตอบรับในลักษณะดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นานเมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านปฏิเสธจะส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในวันที่ 2 เม.ย.49 นอกจากนั้นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นักชุมนุมครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมาก็ ก็กดดันหนักข้อขึ้นทำให้ความอึมครึมทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้งโดยตลาดหุ้นไทยตอบรับข่าวทันทีในลักษณะปรับตัวลดลงตั้งแต่วันที่ 6 -7 มี.ค.
โดยล่าสุดในวันที่ 7 มี.ค.ดัชนีฯปรับลดลงถึง 12.45 จุด มาอยู่ที่ รวม 2 วันถือว่าปรับลดลงถึง 15.03 จุด และถ้ารวมความเคลื่อนไหวของดัชนีฯตั้งแต่เริ่มยุบรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ในกลางเดือน ก.ย.48 จนถึงวานนี้ (7 มี.ค.) พบว่าหุ้นไทยสามารถปรับตัวขึ้นเพียง 11.27 จุดเท่านั้น (จาก 727.09 มาอยู่ที่ 738.36 จุด)

- วงการรับการเมืองคลี่คลายหนุนหุ้นไทยดีขึ้นแน่
แหล่งข่าวจากผู้บริหารโบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาทางการเมืองปัจจุบันส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นสังเกตได้จากมูลค่าการซื้อขายที่เบาบางเนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจภาวะการลงทุนรวมถึงนักลงทุนต่างประเทศด้วยจะเห็นได้จากยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในวันที่ 7 มี.ค.49 ที่ 790.96 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่านักลงทุนต่างประเทศได้รับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างจากนักลงทุนในประเทศบางครั้งอาจได้รับข้อมูลหรือภาพที่ดูรุนแรงกว่าเหตุการณ์จริงและหากการเมืองยังยืดเยื้อบรรยากาศการลงทุนคงซบเซาไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม หากปัญหาทางการเมืองได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางบวกเช่นนายกรัฐมนตรีลาออก, พรรคร่วมฝ่ายค้านยอมลงสมัครรับเลือกตั้ง,มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บรรยากาศการลงทุนก็น่าจะดีขึ้นทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ของบริษัทอยู่ระหว่างปรับประมาณการณ์เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นสิ้นปี2549 รอบใหม่ หลังจากที่สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการณ์เป้าหมาย GDP ปี 49รวมถึงปัญหาทางการเมืองที่ยังยืดเยื้อ

- เอกชนมั่นใจการเมืองคลี่คลายบรรยากาศดีขึ้น
ด้านแหล่งข่าวจากผู้บริหารระดับสูงอีกรายหนึ่งกล่าวว่า ปัญหาทางการเมืองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นช่วงนี้ซบเซาเนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจสถานการณ์และมองว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่อาจส่งผลกระทบต่อโครงการเมกะโปรเจ็กส์และโครงการลงทุนอื่นๆซึ่งมีความสัมพันธ์กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพราะหากโครงการต่างๆชะลอออกไปจะส่งผลกระทบต่อแผนงานของบริษัทเหล่านี้แน่นอน
นอกจากนี้ การอนุมัติโครงการต่างๆของภาครัฐยังล่าช้าออกไปเพราะหน่วยงานราชการไม่กล้าเซ็นอนุมัติเกรงว่าหากเปลี่ยนรัฐบาลอาจถูกตรวจสอบส่งผลให้โครงการต่างของภาคเอกชนล่าช้าตาม ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศเองก็ไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุนเพราะรอดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าในวันที่ 14-15 มี.ค.นี้สถานการณ์ทางการเมืองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ซึ่งส่วนตัวมองว่า ปัญหาทางการเมืองจะยุติลงหากมีการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาโดยรอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน-1 ปีน่าจะเรียบร้อยหลังจากนั้นจึงเลือกตั้งใหม่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะถึงนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งช่วงที่รอรัฐบาลชุดใหม่เป็นช่วงสุญญากาศ และไม่รู้ว่าคนที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะได้รับการยอมรับจากประชาชนหรือไม่
ทั้งนี้ นักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนเทขายทำกำไรออกมาก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ทางการเมืองหากนักลงทุนรายใดใจถึง ก็สามารถที่จะเข้าไปเก็บหุ้นได้

- โบรกฯมองการเมืองชัดเจนหุ้นเด้งได้แน่
นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์แห่งหนึ่งกล่าวว่า กล่าวว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังร้อนแรงอย่างต่อเนื่องกลายเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยมองว่าสถานการณ์การเมืองดังกล่าวเริ่มจากฝ่ายที่ไม่ชอบการทำงานของภาครัฐบาลจนถึงขั้นเกิดการรวมตัวคัดค้านต่อต้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
?จุดหลักๆของหุ้นไทยที่ซบเซาน่ามาจากตัวพ.ต.ท.ทักษิณเองมากกว่าเพราะหลายฝ่ายเรียกร้องให้ลาออกจากนายกฯโดยเฉพาะการรวมตัวเริ่มต้นของกลุ่มนายสนธิลิ้มทองกุลจนถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย? นักวิเคราะห์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจและจับตาดูประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดโดยประเมินว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองทวีความรุนแรงอย่างมากและมีทีท่ายืดเยื้ออาจทำให้ดัชนีฯมีโอกาสเคลื่อนไหวลดลงต่ำกว่าระดับ 700 จุดแต่ขณะเดียวกันหากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นจากการประกาศลาออกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็อาจหนุนให้ดัชนีฯมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 10 ? 20จุดนับจากช่วงการประกาศลาออกดังกล่าว

- ทิสโก้ คาดหากนายกฯลาออก SET จะพุ่งขึ้นทดสอบ 770 จุด
นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล หัวหน้ากลยุทธ์การลงทุน บล.ทิสโก้
เปิดเผยว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีคาดว่าดัชนีฯจะปรับเพิ่มขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 770 จุด แต่ถ้านายกฯไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว อาจส่งผลให้ดัชนีฯปรับลดลงไปทดสอแนวรับที่ 740 จุด และถ้าหากหลุดแนวรับ 740 จุดจะมาอยู่ที่ 705 จุดดังนั้นในช่วงนี้นักลงทุนจึงควรระมัดระวังในการลงทุนและติดตามปัญหาการเมืองอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ทิสโก้ได้ตั้งเป้าดัชนีฯ ไว้ที่ 800 จุดโดยมี P/E อยู่ที่ 10 เท่าทั้งนี้เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเนื่องจากมี P/E ต่ำ ประกอบกับมีการจ่ายปันผลสูงและสม่ำเสมอ โดยDividend yield เฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ 4.5%


ที่มา efinancethai.com[/color:756ea8f39f">

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com