April 29, 2024   8:13:23 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > "พรีบิลท์" ใต้เงาตระกูล..."อัศวโภคิน"
 

?????????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 103
วันที่: 19/11/2005 @ 17:01:32
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

มองเกม อนุพงษ์ อัศวโภคิน ที่กำลังขยายอาณาจักร เอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ฯ ล่าสุดส่งบริษัทลูก พรีบิลท์ ผู้รับเหมาขนาดกลางเข้าสู่ประตูตลาดหลักทรัพย์ หวังต่อยอดธุรกิจในระยะยาวให้เติบโตไปพร้อมกับกลุ่มอัศวโภคิน ผู้บริหารมั่นใจงานในมือที่อยู่ในกลุ่มจะรับรองธุรกิจได้อีก 2-3ปี


จับกระแสการเติบโตของ พรีบิลท์ (PREB) ผู้ดำเนินธุรกิจรับเหมาขนาดกลางที่เน้นก่อสร้างโครงการอาคารสำนักงาน โรงงาน และศูนย์การค้าขนาดกลาง ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดยังอยู่ในการคุมเกมของ กลุ่มอัศวโภคิน ผ่านบริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์(AP) ผู้ถือหุ้นใหญ่ 64% แต่หลังจากขายหุ้นไอพีโอ ทำให้ต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือเพียง 24.02%

เส้นทางเติบโตของพรีบิลท์ มาจากงานภาคเอกชน 90% อีก 10% มาจากงานภาครัฐ ซึ่งโครงสร้างรายได้จากงานภาคเอกชนยังกระจุกอยู่ที่งานก่อสร้างและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างภายในกลุ่มเอเชี่ยนฯ ประมาณ 35-40% ที่เหลือ 60-65% เป็นงานนอกกลุ่ม

แม้แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมรัพย์จะชะลอตัวลง แต่งานจากภาคเอกชนยังมีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะงานก่อสร้างของ 3 บริษัทในกลุ่มคือ เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ฯ ,แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และควอลิตี้เฮ้าส์ ซึ่งเชื่อว่าจะเติบโตต่อเนื่องไปได้อีก 2-3 ปี วิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ กล่าวอย่างมั่นใจ

พร้อมการันตีทิศทางบริษัทว่า ตราบใดที่งานในกลุ่มเอเชี่ยนฯ และแลนด์ ยังเติบโต พรีบิลท์ ก็ยังขยายตัวได้ต่อไป

ปัจจุบันพรีบิลท์มีงานก่อสร้างในมือ (Back Logs)ราว 1.2 พันล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ปีนี้ 40% และประมาณการว่าในสิ้นปีนี้จะมีงานเข้ามาอีกราว 1.2 พันล้านบาท

ส่วนการรับงานนอกกลุ่ม กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ได้แก่ โชว์รูมฮอนด้า ,เซ็นทรัล เวิลด์, บิ๊กซี, โรงงานในนิคมบางปะอิน ซึ่งเกณฑ์ในการพิจารณารับงานนอกกลุ่มจะขึ้นอยู่กับมาร์จิน หรือส่วนต่างกำไรที่จะได้รับ แต่บริษัทวางทิศทางธุรกิจไว้ว่า สัดส่วนการเติบโตระหว่างงานในกลุ่มธุรกิจ และนอกกลุ่มจะต้องอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

จุดเด่นของเราคือมีงานเข้ามาสม่ำเสมอ และมีลูกค้าหลักเป็นบริษัทอสังหาฯในกลุ่ม แม้เราจะเป็นบริษัทที่ขนาดกลางมีฐานรายได้เพียง 1 พันล้านบาท แต่ก็มีศักยภาพในการเติบโตสูงจากการคว้างานในตลาดที่ยังมีมูลค่าอีกหลายหมื่นล้าน นอกจากนั้น

ข้อได้เปรียบอีกอย่างคือ พรีบิลท์ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหารต่ำสุดในอุตสาหกรรม หรืออยู่ในระดับ 3.5% เท่านั้น เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงถึง 5%

นอกเหนือจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง พรีบิลท์ ยังมีรายได้จากธุรกิจผลิต และขายพื้นคอนกรีตอัดแรง วัสดุก่อสร้างและให้บริการติดตั้งพื้นคอนกรีตอัดแรง ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อยคือ PCMC ซึ่งถือเป็น แหล่งรายได้ ที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญในการเติบโตของกลุ่มพรีบิลท์

สิ้นปีนี้ PCMC จะโตไม่มาก เพราะตลาดแผ่นพื้นหดตัวลง แต่จะไปเติบโตในคอนกรีตเสริมใยแก้ว(GRC)แทน โดยเน้นจำหน่ายให้กับเอพี นอกจากนั้น PCMC ยังมีสินทรัพย์สูงถึง 1.1 พันล้านบาท และมีกำไรมาตลอด จึงเป็นฐานรายได้ที่ผลักดันให้พรีบิลท์เติบโตได้ต่อเนื่อง วิโรจน์ กล่าว

ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนสิ้น มิถุนายน 2548 พรีบิลท์มีรายได้จากธุรกิจรับเหมา 641 ล้านบาท คิดเป็น 69.68% และรายได้จากธุรกิจวัสดุก่อสร้าง 278 ล้านบาท คิดเป็น 30.20% และมีกำไรสุทธิงวดครึ่งปี 31 ล้านบาท

สิ้นปี 2548 เราคาดว่าจะเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากงานรับเหมานอกกลุ่ม และในปี 2549 เราเชื่อว่าจะยังโตต่อเนื่อง เพราะมีเงินทุนที่ได้จากการระดมทุน ทำให้หางานเข้ามาได้ง่ายขึ้น โดยตั้งเป้าเติบโตรายได้ใกล้เคียงกับปีนี้ วิโรจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่คือ เอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ฯ หลังขายหุ้นไอพีโอ สัดส่วนการถือหุ้นจะเหลือเพียง 24.02% เท่านั้น

ตลาดหลักทรัพย์มองว่า จะทำให้เกิดขัดแย้งผลประโยชน์ ทำให้จำเป็นต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นของเอพีลง เพราะปัจจุบันการทำธุรกิจของพรีบิลท์ยังต้องพึ่งพาเอพีมากเกินไป และในอนาคตยังมีโอกาสที่พรีบิลท์จะทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกันกับเอพี จึงทำให้ตลาดฯกังวล

ถึงแม้การเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้จะทำให้กลุ่มเอเชี่ยนฯ จำยอมต้องขายหุ้นออกไปให้แก่กลุ่มเจริญตรา แต่บริษัทก็จะได้รับเงินจากการขายหุ้นออกครั้งนี้เป็นสิ่งตอบแทน

โดยเอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ฯ ต้องลดสัดส่วนการลงทุนในพรีบิลท์ จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรก AP ขายหุ้นของพรีบิลท์ให้แก่บุคคลเฉพาะเจาะจง( PP) ในสัดส่วน 14% จำนวน 32 ล้านหุ้น ราคา 2.69 บาท มูลค่า 86 ล้านบาท จากเดิมที่ถืออยู่ 64% จำนวน 98 ล้านหุ้น มูลค่า 274 ล้านบาท

และครั้งที่ 2 เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 43.82% จะต้องนำหุ้น 19 ล้านหุ้นออกขาย พร้อมกับหุ้นเพิ่มทุนในราคา 3.25 บาท ซึ่งจะทำให้เอพี ได้รับเงิน 61.75 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นทั้งหมด147.75 ล้านบาท

เอเชี่ยนฯ จึงเหลือหุ้นในพรีบิลท์เพียง 24.02% หรือจำนวน 48 ล้านหุ้นหลังกระจายหุ้นไอพีโอ

โครงสร้างผู้ถือหุ้น (หลังการขายหุ้นไอพีโอ) ผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งคือ กลุ่มวิโรจน์ เจริญตรา มีสัดส่วนการถือครองหุ้น 27.39% ,เอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ฯ 24.02% ,กองทุนต่างชาติ ได้แก่ กลุ่ม Quest Capital 12.13% กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย เดิม 3.46% และผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่(ไอพีโอ) 33%

อย่างไรก็ตาม นโยบายถือหุ้นในพรีบิลท์ระยะยาวของเอพี จะยังคงถือหุ้นในพรีบิลท์ต่อไปและเน้นเป็นการลงทุนระยะยาว

เราเน้นลงทุนในพรีบิลท์เป็นลงทุนระยะยาว(Long Term)แน่นอน จริงๆ แล้วเราไม่อยากขายหุ้นพรีบิลท์ออกไป แต่เมื่อจำเป็นต้องเข้าตลาดหุ้นและตลาดฯเกรงว่า เอเชี่ยนจะจับพรีบิลท์ซ้ายหันขวาหันหรือเข้ามาครอบงำได้ ก็ต้องขายหุ้นออก ทั้งที่เรามองว่าไม่ใช่อย่างนั้น ชัยรัตน์ ธรรมพีร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีบิลท์ และในฐานะกรรมการ บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าว

แผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ของพรีบิลท์ ยังส่งผลไปถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจด้วย ซึ่งมาจากเหตุผลเดียวกันคือ ตัดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจาก ความขัดแย้งทางผลประโยชน์

ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 พรีบิลท์ ได้ขายหุ้นในบริษัท ทริลเลี่ยน ดีเวลลอปเม้นท์ ดำเนินธุรกิจบ้านจัดสรรขนาดเล็ก ออกไปทั้งหมดให้แก่เอพี เพื่อขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

ตลาดหลักทรัพย์ตั้งเงื่อนไขว่า บริษัทจะต้องดำเนินการ 2 อย่างคือ หนึ่ง เอเชี่ยนฯจะต้องลดสัดส่วนถือหุ้นลงเดิมให้เหลือน้อยกว่ากลุ่มวิโรจน์ เพื่อขจัดความขัดแย้งในผลประโยชน์ระหว่างกัน และสอง ให้พรีบิลท์ขายบริษัท ทริลเลี่ยน ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งดำเนินธุรกิจบ้านจัดสรรราคาถูกให้เอเชี่ยนฯไปทั้งหมด เนื่องจากมาร์จินของพรีบิลท์ที่มาจากหมวดวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับการสร้างบ้านขาย จะได้มาร์จินที่ดีกว่า ชัยรัตน์ กล่าว

ย้อนไปถึงความสัมพันธ์ในอดีตของกลุ่มเอเชี่ยนฯ จะพบว่า บริษัทได้ต่อยอดธุรกิจมาจาก บริษัท พีซีเอ็มซี คอนสตรัคชั่น แมททีเรียล (PCMC) ซึ่งแต่เดิมชื่อ บริษัท พีซีเอ็ม (PCM) ดำเนินธุรกิจบ้านจัดสรรและแผ่นพื้นสำเร็จรูป ซึ่งเคยเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 10 ปีก่อน และเคยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กลุ่ม แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์(LH) และควอลิตี้เฮ้าส์ (QH)

แต่นับจากเกิดวิกฤติ ผู้บริหารกลุ่มแลนด์ฯ ได้ตัดใจขายหุ้นทั้งหมดให้ เอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งต้องการที่จะเข้าตลาดหุ้นทางลัดในเวลานั้น

หลังจากเอพี เข้าตลาดหุ้นโดยทางลัดผ่าน PCM และตั้งบริษัท PCMC ขึ้นมาเพื่อแยกธุรกิจแผ่นพื้นสำเร็จรูปออกไป จากนั้นเอพี ได้ขายหุ้น PCMC ไปให้กับพรีบิลท์ซึ่งเป็นบริษัทลูกเช่นกัน

ความสำเร็จที่ผ่านมาของพรีบิลท์จึงอยู่ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มเอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้มาตลอด แต่เมื่อโครงสร้างผู้ถือหุ้นเปลี่ยน เอพีกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับสองไปแล้ว ก็ต้องดูกันต่อไปว่าแบ็คอัพชั้นดีของพรีบิลท์จะหายไปพร้อมกับสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลงหรือไม่

โครงสร้างรายได้และผลการดำเนินงาน บริษัท พรีบิลท์ (PREB)

(ล้านบาท)

ปี 2547 งวด 6 เดือน

สิ้นมิ.ย.2548

รายได้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 976.79 640.87

รายได้ธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง 464.31 277.74

รวมรายได้บริษัท/บริษัทย่อย 1,446.07 919.74

กำไรขั้นต้น 192.46 103.23

ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 58.26 47.57

กำไรสุทธิ 76.35 31.39 [/color:89c4d2fadd">

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com