May 3, 2024   5:57:53 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > SCCรับพิษน้ำมันกำไรรูด แต่ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นยังสูง
 

P_aud
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 531
วันที่: 27/10/2005 @ 11:18:30
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ปูนซิเมนต์ไทย กำไรหดลงยันไตรมาส 4 เหตุมาร์จิ้นธุรกิจหลักปรับลดลง จากพิษน้ำมันแพง เตรียมทุ่มงบกว่า 6 หมื่นล้านบาท ผุดโอเลฟินส์แห่ง 2 และโครงการดาวน์สตรีม ผู้บริหารยอมรับQ4 คาดรายได้ธุรกิจปิโตรฯหดกว่า 10% แต่รายได้รวมยังแจ๋ว จ่ายปันผลได้ไม่ต่ำกว่า 15 บาทแน่ เตรียมออกหุ้นกู้ 3 หมื่นล้านบาท ปี 49 รีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิม ด้านนักวิเคราะห์ประเมิน SCC ระยะยาวไปโลด รับอานิสงค์เต็มๆโครงการเมกะโปรเจกต์ ประเมินราคาหุ้นเป้าหมายที่ 270-292 บาท

นายชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC กล่าวว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของบริษัทในไตรมาสที่ 3/48 บริษัทมียอดขาย 56,590 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 8,416 ล้านบาท ลดลง 30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เกิดจากการที่มาร์จิ้นของธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจกระดาษลดลง ประกอบกับในช่วงไตรมาสดังกล่าวของปีก่อน บริษัทมีกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ประมาณ 2,300 ล้านบาท

ขณะที่งวด 9 เดือน ของบริษัทและบริษัทย่อยมียอดขายรวม 168,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากงวดเดียวกันของปีก่อนและมีกำไรสุทธิที่ 27,134 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีสินทรัพย์รวมที่จำนวน 276,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2547 ที่ผ่านมาเท่ากับ 10,464 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานของบริษัทสามารถแยกออกเป็นรายธุรกิจ คือ ธุรกิจปิโตรเคมี มียอดขายรวม 24,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เนื่องจากความต้องการของตลาดภูมิภาคและตลาดโลกยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ผลกำไรของธุรกิจลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น ทำให้ราคาของแนฟทา ซึ่งเป็นต้นทุนวัตถุดิบหลักสูงขึ้น ส่วนธุรกิจซิเมนต์ มียอดขายรวม 10,673 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ก่อสร้างของภาครัฐเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ปูนซิเมนท์ภายในประเทศยังคงสูงขึ้น ทางด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมียอดขายรวม 5,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนแต่ผลกำไรของธุรกิจลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากค้าใช้จ่ายในการผลิตสูงขึ้น

ส่วนธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ มียอดขายรวม 10,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน เนื่องจากความต้องการในประเทศสูงขึ้น แต่ผลกำไรของธุรกิจลดลง เมื่อเทียบจากปีก่อน เนื่องจากต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าและพลังงานสูงขึ้นจากการปรับตัวขึ้นของราคานำมันรุกโอเลฟินส์แห่ง2-ดาวน์สตีม6หมื่นล.

นายชุมพล กล่าวต่อว่า บริษัทได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงกับ The Dow Chemical Company เพื่อลงทุนสร้างโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 ในประเทศไทย มูลค่าการลงทุน 44,000 ล้านบาท (1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้ถือหุ้น 67% นอกจากนั้น บริษัทยังจะขยายการลงทุนอีกเป็นมูลค่า 16,000 ล้านบาท (400ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในโครงการ Downstream ซึ่งจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 เป็นวัตถุดิบ ทั้งนี้ คาดว่าโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 และโครงการ Downstream จะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2553 โรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 จะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์รวมทั้งสิ้น 1.7 ล้านตันต่อปี (Ethylene 900,000 ตันต่อปี และ Propylene 800,000 ตันต่อปี) และจะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกประมาณ 700,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ จะใช้เทคโนโลยีล่าสุดและผ่านการพิสูจน์แล้วเพื่อให้สามารถผลิต Propylene ได้ปริมาณสูงสุด โดยโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 นี้ จะสามารถผลิต Propylene ได้มากกว่าโรงงานแรกถึง 75% เพื่อรองรับภาวะอุปทานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากส่วนใหญ่โรงงานผลิตโอเลฟินส์ที่สร้างใหม่จะมาจาก ตะวันออกกลาง และใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้มีกำลังการผลิต Propylene และผลิตภัณฑ์อื่นๆ น้อย

สำหรับโครงการ Downstream นั้น จะมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 700,000 ตันต่อปี (HDPE 300,000 ตันต่อปี และ PP 400,000 ตันต่อปี) และจะเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (High value added product) ให้มากที่สุด เพื่อทำให้มี Margin เพิ่มขึ้น โดยจะใช้ความได้เปรียบจากเครือข่ายการกระจายสินค้าที่มีอยู่ทั้งภายทั้งใน ประเทศและในภูมิภาคนี้

สำหรับวัตถุดิบในการผลิตโอเลฟินส์ซึ่งได้แก่ Naphtha, Condensate และ LPG จะหามาจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับเรื่องน้ำที่ใช้ในการผลิตนั้น บริษัทเชื่อว่าจะมีน้ำเพียงพอ

โดยธุรกิจปิโตรเคมีในปัจจุบันโรงงานโอเลฟินส์แห่งแรกมีกำลังการผลิต Ethylene 800,000 ตันต่อปี และ Propylene 400,000 ตันต่อปี และมีกำลังการผลิต Polyolefins รวมทั้งสิ้น 1.1 ล้านตันต่อปี (HDPE, LDPE, LLDPE และ PP) รวมทั้งยังมีโครงการร่วมทุนขนาดใหญ่ภายในประเทศกับ Dow Chemical มีกำลังการผลิต SM 300,000 ตันต่อปี LLDPE 300,000 ตันต่อปี และ PS 100,000 ตันต่อปี มีการร่วม ทุนกับ Mitsui Chemicals มีกำลังการผลิต PTA 1,400,000 ตันต่อปี PET 100,000 ตันต่อปี และ PP Compound 52,000 ตันต่อปี และร่วมทุนกับ Mitsubishi Rayon มีกำลังการผลิต MMA 85,000 ตันต่อปี และ BMA 10,000 ตันต่อปี นอกจากนั้น ยังมีการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศซึ่งรวมถึงการถือหุ้นร้อยละ 20 ในโครงการ Aromatics ประเทศอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิต PX 500,000 ตันต่อปี และการถือหุ้นร้อยละ 38 ในโครงการ Polyolefins ประเทศอิหร่าน มีกำลังการผลิต HDPE 300,000 ตันต่อปี

รุกโครงการ Co-Generationพันล.

นายชุมพล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2548 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มติอนุมัติโครงการลงทุนติดตั้งชุดกำเนิดไฟฟ้าและไอน้ำ (Co-Generation Plant) ของบริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 99 โดยลงทุนติดตั้งชุดกำเนิดไฟฟ้าและไอน้ำที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 25 เมกกะวัตต์ และไอน้ำ 130 ตันต่อชั่วโมงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตทำให้ลดปริมาณไฟฟ้าที่ต้องจัดหาจากภายนอก มูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,090 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าสามารถเริ่มผลิตได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2550

ชี้แนวโน้มกำไรQ4ปรับตัวลง

นายกานต์ ตระกูลฮุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC กล่าวเพิ่มว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 4 นี้อาจจะปรับตัวลดลง เนื่องจากบริษัทได้มีการหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักในส่วนของโรงงานโอเลฟินส์ จำนวน 35 วัน และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อยอดขายประมาณ 10% จากยอดขายรวมทั้งปีที่ประมาณ 30-40% และการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรดังกล่าวคาดว่าจะต้องใช้งบลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทจะจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด แม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนเรื่องของการการสร้างโรงงานโอเลฟินส์ แห่งที่ 2 และโครงการ DownStream ใช้งบลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท สำหรับแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการลงทุนในครั้งนี้จะมาซึ่งมาจากกระแสเงินสดของบริษัทก็ตาม

ในปีที่ผ่านๆ มาเราจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตรา 15 บาทต่อหุ้น แม้จะมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ซึ่งก็จะไม่ได้ส่งกระทบถึงเรื่องของการจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนแต่อย่างใด ซึ่งก็ได้สร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนได้ เว้นแต่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือปัจจัยอื่นๆ เข้ามาแทรกแซง นายกานต์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ทางบริษัทยังจะไม่มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายปูนซิเมนต์แต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันราคาจำหน่ายปูนยังไม่เต็มเพดาน ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการบางรายได้มีการเจรจากับทางกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอปรับขึ้นราคาปูนซิเมนต์

ดันส่งออกปูนเพิ่มเป็น6.5ล้านตัน

นายกานต์ กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจซิเมนต์ในปีนี้ มองว่าธุรกิจปูนซิเมนต์จะยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะด้านการส่งออก โดยปีนี้บริษัทได้ตั้งเป้าขยายการส่งออกปูนซีเมนต์เพิ่มเป็น 6.5 ล้านตัน จาก 6 ล้านตันในปี 2547

ในปี 2549 บริษัทจะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอายุประมาณ 30,000 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทอาจจะมีแผนออกหุ้นกู้เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะหมดอายุดังกล่าว แต่จะออกเป็นสัดส่วนเท่าไหร่นั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยปัจจุบันบริษัทมีหุ้นกู้จำนวน 80,000 ล้านบาท และมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ประมาณ 4-4.5%

ราคาหุ้นเหมาะสมที่ 270-292 บาท

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง จำกัด (มหาชน) หรือ KEST เปิดเผยว่า ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 4/2548 คาดหมายว่าผลประกอบการจะยังค่อนข้างน่าผิดหวังเช่นเดียวกับไตรมาส 3/2548 เนื่องจากธุรกิจปิโตรเคมีจะมีการปิดซ่อมบำรุงโรงงานเป็นเวลา 35 วัน ทำให้ยอดขายบางส่วนหายไป แต่ก็ชดเชยด้วยที่ราคาเม็ดพลาสติกในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นมากกว่าราคาวัตถุดิบ จึงทำให้สเปรด ระหว่าง PE - Naphtha และ PP - Naphtha ปรับตัวดีขึ้นมาก สำหรับแนวโน้มในระยะยาวธุรกิจปิโตรเคมีของ SCC ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของราคาปิโตรเคมี ส่วนธุรกิจปูนซีเมนต์ในระยะยาวคาดหมายว่าจะได้แรงหนุนจากโครงการ Mega Project 1.5-1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ความต้องการปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นอีก 11 ล้านตันในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือ เท่ากับ 2-2.2 ล้านตัน/ปี

ประเมินราคาหุ้นเหมาะสมด้วยวิธีส่วนลดกระแสเงิน (DCF) ได้เท่ากับ 270 บาทต่อหุ้น หรือ ซื้อขายที่ P/E ปี 2548 เท่ากับ 10 เท่า เนื่องจากผลประกอบการไตรมาส 3 จะน่าผิดหวัง และ จะต่อเนื่องไปยังไตรมาส 4/2548

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ KGI ประเมินหุ้น SCC ว่า แนวโน้มปริมาณการขายในส่วนของปูนซิเมนต์จะลดลงตามฤดูกาล แต่ราคาขายของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มปิโตรเคมีที่ดีขึ้นรวมทั้งปริมาณการขายที่ดีขึ้นเล็กน้อย น่าจะช่วยให้ยอดขายรวมดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ยอดขายในกลุ่มกระดาษน่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในเรื่องราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเกือบทุกธุรกิจ โดยกลุ่มซิเมนต์น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนกลุ่มปิโตรเคมีก็ได้รับผลกระทบจากราคาแนฟทาซึ่งเป็น Feedstock ที่สูงขึ้น ในขณะที่กลุ่มกระดาษน่าจะมี EBITDA ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลปีละไม่ต่ำกว่า 15 บาทต่อหุ้น โดยคาดจะจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2548 เท่ากับ 16 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเท่ากับ 6.9% ในขณะที่ตอนนี้ยังซื้อขายอยู่ที่ PE เท่ากับ 8.9 เท่า และมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเท่ากับ 21.1% นอกจากนี้ ณ ราคาปัจจุบันยังต่ำกว่าราคาเป้าหมายอีก 26% ดังนั้นจึงได้ประเมินราคาเป้าหมายปี 2548 ที่ 292 บาทต่อหุ้น

ที่มา:
กระแสหุ้นรายวัน

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com