April 20, 2024   1:42:49 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เศรษฐกิจย่ำแย่ แต่หุ้นขึ้น
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 14/05/2020 @ 06:16:01
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

โดย ลงทุนแมน

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารกลางประเทศอังกฤษคาดการณ์ว่า GDP ปีนี้
จะตกต่ำลงกว่า 14% ซึ่งถือเป็นการลงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 300 ปี

300 ปี เป็นตัวเลขที่น่าสนใจเพราะยุคนั้นเป็นยุคของเซอร์ไอแซก นิวตัน
ผู้คิดค้นทฤษฎีแรงโน้มถ่วง หรือประเทศไทยก็คือ ยุคกรุงศรีอยุธยา..

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติในปีนี้ มีมูลค่าความเสียหายรุนแรง
ยิ่งกว่ายุคสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง และวิกฤติเศรษฐกิจทั้งหมดที่คนรุ่นเราพอจะนึกออก

นอกจากประเทศอังกฤษ อีกหลายประเทศก็กำลังเผชิญหน้า
กับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สุดในรอบประวัติศาสตร์ ไม่ต่างกัน

สัปดาห์ก่อน ประเทศสหรัฐอเมริการายงานตัวเลข
การว่างงานพุ่งทะลุ 20.5 ล้านคน ในเดือนเมษายน
รวมถึงมีรายงานว่าบริษัทอเมริกันยื่นล้มละลายไปแล้วกว่า 78 แห่ง

เรื่องนี้ส่งผลให้อัตราว่างงานชาวอเมริกันอยู่ที่ระดับ 14.7%
ซึ่งถือเป็นระดับที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์
นับตั้งแต่ Great Depression ในปี ค.ศ. 1929 หรือ 91 ปีก่อน

วิกฤติในครั้งนั้น ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา (Dow Jones)
ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 381.17 จุด ตกลงมาสู่จุดต่ำสุดที่ 41.22 จุด
คิดเป็นการตกลงถึง 89% ภายในระยะเวลา 3 ปี

การตกลง 89% ของตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาในตอนนั้นใกล้เคียงกับการตกลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย
จากจุดสูงสุดที่ 1,789 จุด ตกลงมาสู่จุดต่ำสุด 204 จุด ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ. 2540
ซึ่งในปีถัดมา GDP ประเทศไทย ติดลบ 7.6%

ในขณะที่ปีนี้ IMF คาดการณ์ว่า GDP ประเทศไทยปีนี้ จะติดลบ 6.7%

เท่ากับว่าวิกฤติปัจจุบัน ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงสุดครั้งหนึ่งในรอบประวัติศาสตร์

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดทุน
ทั้งในสหรัฐอเมริกา ไทย รวมถึงทั่วโลก
กลับไม่ได้ตกต่ำรุนแรงเหมือนในอดีต..

แล้วสถานการณ์ตอนนี้กับในอดีต ต่างกันอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

ถ้าบอกว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สุดในรอบประวัติศาสตร์
ทุกคนก็คงยอมรับ

แต่นโยบายทางการเงินที่ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก กำลังทำอยู่ตอนนี้
ก็ถือว่าเป็นนโยบายที่บ้าบิ่นที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน

เพราะตอนนี้ ธนาคารกลางในหลายประเทศหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
รวมถึงอัดฉีดเงินเข้าระบบมหาศาล แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การอัดฉีดเงินเข้าระบบ หรือ Quantitative Easing (QE) เป็นนโยบายทางการเงิน
ที่เริ่มต้นมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาในยุควิกฤติซับไพรม์ ปี ค.ศ. 2008
ซึ่งใช้ได้ผลดี และทำให้สหรัฐอเมริกาฟื้นจากวิกฤติมาได้อย่างรวดเร็ว

และก็เหมือนคนเคยเจ็บป่วย กินยาหาย
เมื่อป่วยอีกก็อยากกินยานั้นอีกครั้ง..

ซึ่งรอบนี้ การอัดฉีดเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้วิวัฒนาการเป็น Unlimited Quantitative Easing หรือ การพิมพ์เงินอัดเข้าไปพยุงสภาพคล่อง และธุรกิจไม่จำกัดวงเงิน ไม่จำกัดระยะเวลา

ถึงตอนนี้ธนาคารกลางประเทศสหรัฐอเมริกาอัดฉีดเงินเข้าระบบไปแล้วกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 58 ล้านล้านบาท คิดเป็นกว่า 3.6 เท่าเมื่อเทียบกับ GDP ประเทศไทยปีที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้สะท้อนไปยังความเชื่อมั่นในตลาดทุนที่ฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว
แม้ว่าจะเกิด Circuit Breaker หลายครั้งในหลายประเทศตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา

การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่าตอนนี้หลายคนยังมองวิกฤติโรคระบาด
มีแนวโน้มที่กำลังจะสิ้นสุดภายในไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ และนโยบายทางการเงินที่บ้าคลั่งกำลังจะรักษาวิกฤตินี้ได้

อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า “สิ่งที่เราต้องจ่าย” จากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่บ้าบิ่นขนาดนี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในรูปแบบไหนบ้างในอนาคต

หากทุกอย่างกลับมาเป็นปกติโดยสมบูรณ์
ผู้คนเดินทางเป็นปกติ ไปเที่ยวเป็นปกติ
ความต้องการ กำลังซื้อของเรากลับมาที่จุดเดิม

เงินที่ล้นระบบจากนโยบายทางการเงินในวันนี้
ก็จะถูกทำให้ลดลงในอนาคต

CR:https://www.longtunman.com/23051

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com