April 27, 2024   5:19:00 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เก็บ Laggard กลุ่มสื่อสาร
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 05/09/2017 @ 08:45:39
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ตลาดหุ้นไทยต้นเดือนก.ย. แรงซื้อเลือกเก็งหุ้นเป็นรายตัว สลับกับการขายทำกำไร ดัชนีฯ ช่วงนี้ยังถูกฉุดด้วยหุ้นกลุ่มธนาคารที่ขึ้นเครื่องหมาย XD (4 ก.ย. เป็นหุ้น SCB ส่วน 5 ก.ย. ได้แก่ BAY, BBL และ KKP) แต่กลับเปิดโอกาสให้หุ้นบิ๊กแค็ปกลุ่มสื่อสารทยอยกลับมาบวกต่อเนื่อง ล่าสุด เป็นคิวของหุ้น DTAC ที่ติดอันดับในลิสท์ Most Active Value ด้วยมูลค่าซื้อขายหนาแน่นหลักพันล้าน

ที่ผ่านมา นักลงทุนบางรายอาจยังดูไม่เชื่อมั่นในหุ้นกลุ่มนี้ จากภาวะการแข่งขัน ภาระด้านการเงิน และยิ่งถ้าพิจารณาจาก P/E ที่เทรดบนระดับสูงถึงเกือบ 80 เท่า

ในประเด็น Valuation นี้ ทาง Money Channel สอบถามคุณประสิทธิ์ สุจิรวรกุล นักวิเคราะห์กลุ่มสื่อสาร บล.บัวหลวง คุณประสิทธิ์บอกว่า แม้ราคาหุ้น DTAC จะปรับตัวขึ้นมาสูง แต่ยังเล็งเห็นถึง upside ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

ปัจจุบันถ้านำราคาหุ้น DTAC มาเทียบ P/E จะอยู่ในระดับสูงมาก แต่ทางบัวหลวงจะใช้วิธีเปรียบเทียบราคาหุ้นในรูปแบบ EV/EBITDA เพราะธุรกิจ DTAC มีการลงทุนค่าเสื่อมใบอนุญาตเป็นระยะยาว จึงต้องตัดค่าเสื่อมออกและอิงกับศักยภาพในการทำกำไรที่แท้จริงของบริษัทฯ โดยไม่ต้องรอเวลาที่ค่าเสื่อมหมด ซึ่งถ้าประเมินราคาหุ้น DTAC ในปัจจุบัน EV/EBITDA จะอยู่ที่ 6.4 เท่า ขณะราคาหุ้น DTAC ในปี 2555-57 เคยเทรดบน EV/EBITDA สูงถึง 9 เท่า ก่อนลงลึกไปอยู่ที่ 4.2 เท่าเมื่อปี 2559

อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนหลังไป 5 ปีราคาหุ้น DTAC เทรดบน EV/EBITDA เฉลี่ยที่ 7.5 เท่า ดังนั้น ถ้าเทียบกับราคาหุ้น DTAC ในปัจจุบันจึงมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก นอกจากนั้น ถ้าเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ได้แก่ ADVANC และ TRUE ปัจจุบันเทรดบน EV/EBITDA แถวบริเวณ 9-10 เท่า ซึ่งมองว่าราคาหุ้น DTAC ถือว่ามีความปลอดภัยและเป็นหุ้น Laggard มากที่สุดในกลุ่มฯ

ด้านปัจจัยพื้นฐาน คุณประสิทธิ์บอกว่าแม้ไตรมาส 2 DTAC มีผลประกอบการที่ดีกว่าคาด เนื่องจากรายได้บริการที่สูง และต้นทุนบริการที่ต่ำกว่าคาด จากการลดเงินอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์ในส่วนลูกค้าระบบเติมเงิน และหันมาอัดโปรโมชั่นในส่วนลูกค้าระบบรายเดือนแทน ซึ่งมียอดรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ที่สูงกว่า

แต่ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องติดตามว่า DTAC จะเซ็นสัญญารับบริการคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ภายในไตรมาส 4/60 หรือไม่ เพราะจะต้องหักเงินลงทุนปีละ 4.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นเดือนละ 375 ล้านบาท มีอายุสัญญา 8 ปี (สิ้นสุดปี 2025) ซึ่งถ้า DTAC ให้บริการคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ได้ในปี 2561 ผลประกอบการอาจพลิกเป็นขาดทุน แต่นักวิเคราะห์บัวหลวงไม่ได้ให้น้ำหนัก เพราะไปอิงกับความได้เปรียบการเเข่งขันมากกว่า รวมถึงความสามารถทำกำไรจาก EBITDA ที่ในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 2.55 หมื่นล้านบาท ก่อนจะลดลงเหลือ 2.31 หมื่นล้านบาทในปี 2561 และเพิ่มขึ้นเป็น 2.48 หมื่นล้านบาทในปี 2562

คลื่นความถี่ของ DTAC ถ้านับรวม 2300 เมกะเฮิรตซ์ (สมมติฐานใช้งานได้ 60%) และไม่รวมกับคลื่น 1800-850 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะสิ้นสุดสัมปทานปี 2561 จะทำให้ DTAC มีคลื่นรวม 44 เมกะเฮิรตซ์ใกล้เคียงกับคู่แข่งทั้ง 2 รายที่มีคลื่น 55 เมกะเฮิรตซ์ อย่างไรก็ตาม DTAC มีโอกาสได้คลื่นเพิ่มจากการประมูล 1800-
2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่แบ่งเป็นใบอนุญาต 3 ใบ ใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนคลื่นย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ มีจำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ที่มีเพียง 1 ใบอนุญาตเท่านั้น

นักวิเคราะห์บัวหลวงประเมินราคาพื้นฐาน DTAC ที่ 72 บาท อ้างอิงบน EV/EBITDA ที่ 7.78 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีเล็กน้อย

"เราคิดว่าราคาหุ้น DTAC ก็ขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามองอัพไซด์อ้างอิงบน EV/EBITDA ก็มีโอกาสไปต่อ และคาดว่าไตรมาส 4 ถ้าได้รับคลื่น 2300 MHz อย่างเป็นทางการน่าจะมีการเก็งกำไรรอบใหม่เกิดขึ้นอีก ถ้ามองพื้นฐานกลุ่มสื่อสารเริ่มมีทิศทางดีขึ้น แม้การแข่งขันไม่ได้ลดความรุนแรงลง แต่ผู้ประกอบการหันมาเน้นกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือนที่มี ARPU สูงกว่าระบบเติมเงิน ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลงชัดเจน ขณะที่รายได้ส่วน DATA เริ่มขยับขึ้นมาชดเชยส่วนของ Voice โดยหุ้นเด่นของกลุ่มฯ ยังยก DTAC เป็น Top pick รวมถึงยังเป็นหุ้น Laggard ที่สุดด้วย"

ส่วนนักวิเคราะห์กลุ่มสื่อสาร บล.ธนชาต ราคาหุ้น DTAC แม้จะปรับตัวขึ้นมาสูงมีผลตอบแทนดีกว่า SET และในกลุ่มโทรคมนาคม แต่มองว่ามูลค่าพื้นฐานยังคงถูก เพราะมี EV/EBITDA ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 7.4-7.5 เท่า นักวิเคราะห์ระบุว่ายังคงชอบ DTAC เพราะคาดว่าจะมีการปรับมูลค่าเหมาะสมขึ้น (Re-rate) ได้อีกจากการบรรลุสัญญาคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์กับ TOT และการได้รับใบอนุญาตคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ในไตรมาส 4/61 นอกจากนั้น ยังมีความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ที่ฟื้นตัวและค่าใช้จ่ายการอุดหนุนค่าเครื่องที่ลดลง และสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลได้ในปี 2562 ธนชาตประเมินราคาเป้าหมาย DTAC ที่ 70 บาท เทียบได้เป็นมูลค่า EV/EBITDA ที่ 6.2 เท่า

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com