April 26, 2024   11:46:36 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > GDP โค้งแรกโต 3.2% สูงสุดรอบ 3 ปี
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 17/05/2016 @ 08:52:20
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

สภาพัฒน์ ประกาศ GDP ไตรมาส 1/59 โต 3.2% สูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส หรือ 3 ปี จากการอัดฉีดภาครัฐ-ท่องเที่ยวฟื้น "สมคิด" ชี้เป็นจุดพลิกผัน เชื่อทั้งปีเริ่มฟื้นตัว แต่ยังจับตาส่งออกใกล้ชิด ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลุ้น GDP ปีนี้โตเกิน 3% หลัง Q1/59 ดีกว่าคาด

GDP ไตรมาส 1/59 สูงสุดรอบ 3 ปี
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหล่งชาติ (สศช.) แถลงเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/59 ขยายตัวที่ 3.2% โดยมาจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการส่งออก ภาคบริการในด้านการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยสนับสนุน
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 59 เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.8% ในไตรมาส 4/58 และเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส หรือ 3 ปี โดยด้านการใช้จ่ายการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการส่งออกบริการท่องเที่ยวขยายตัวสูงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร็วขึ้น ในด้านการผลิต ขยายตัวในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และก่อสร้างขยายตัวสูง การคมนาคมขนส่ง และการค้าส่งค้าปลีก ขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมยังลดลง

ปรับกรอบ GDP ปีนี้เป็น 3.0-3.5% จากเดิม 2.8-3.8%
ทั้งนี้ สศช. ได้ปรับกรอบช่วงคาดการณ์ GDP ปีนี้ใหม่มาที่ 3.0-3.5% จากกรอบเดิมที่ 2.8-3.8% เนื่องจากมั่นใจว่าเศรษฐกิจในปีนี้คงมีโอกาสจะขยายตัวในระดับต่ำสุดและสูงสุดตามกรอบคาดการณ์เดิมลดลง
"รอบที่แล้วที่เราแถลงช่วงต้นปี เป็นการแถลงท่ามกลางความผันผวนและความเสี่ยงหลายอย่าง กรอบ GDP เลยกว้างอยู่ที่ 2.8-3.8% แต่ช่วงนี้หลังจากเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาสแรก เราจึงสามารถประมาณการด้วยความมั่นใจในช่วงที่แคบลงมาที่ 3.0-3.5% และมีโอกาสที่ไตรมาสอื่น ๆ ที่เหลือของปีนี้ GDP อาจจะสูงกว่าไตรมาสแรก"นายปรเมธี กล่าว
ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว แรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้จัดทำเพิ่มเติมในเดือน ก.ย.58-มี.ค.59 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ และ แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลง 1.7% การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.3% และ 4.2% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 0.1-0.6% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.4% ของ GDP
ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 59 ควรให้ความสำคัญกับ การเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ประสิทธิภาพการดำเนินการตามมาตรการภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว การดูแลเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูเกษตรกรและเตรียมเกษตรกรให้มีความพร้อมสำหรับปีการเพาะปลูก 2559/2560 โดยสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ การดูแลราคาปัจจัยการผลิต การเริ่มต้นการประกันภัยพืชผล และการรวมแปลงการผลิต เป็นต้น
การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมปัจจุบันและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับอนาคต (S-Curve/New S-Curve) การดูแลและขับเคลื่อนภาคการส่งออกตามยุทธศาสตร์การส่งออกของไทยปี 59 ของกระทรวงพาณิชย์ และ การดูแลภาคการท่องเที่ยว โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว และการแก้ไขปัญหาในภาคการท่องเที่ยว เช่น การแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว และการดูแลความปลอดภัย รวมทั้งการแก้ปัญหาความแออัดและความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

คาดบาทอ่อน-น้ำมันเพิ่มขึ้น
สมมติฐานอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 59 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 35.5-36.5 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 34.29 บาท/ดอลลาร์ในปี 58 และเท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ช่วงที่เหลือของปีค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ภายใต้แรงกดดันของการแข็งค่า ก่อนที่จะเริ่มอ่อนค่าลงในช่วงที่สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปีถึงครึ่งปีหลัง
ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มจากสมมติฐานเดิมที่ 32-42 ดอลลาร์/บาร์เรล ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ คาดว่าจะลดลง (-1.5)-(-1.0)% ปรับลดจากสมมติฐานการลดลง (-1.0)-0.0% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 33.0 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.4% จากปี 58 และปรับเพิ่มจากประมาณการครั้งก่อน ในขณะที่รายรับการท่องเที่ยวคาดไว้ที่ 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% จาก 1.52 ล้านล้านบาทในปี 58 เนื่องจากไตรมาสแรกขยายตัวได้สูงกว่าการคาดและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี การเบิกจ่ายงบประมาณคาดว่าอัตราเบิกจ่ายปีประมาณ 2559 อยู่ที่ 92.9% ของวงเงินงบประมาณ

ส่งออกยังติดลบ
สำหรับการส่งออกของไทยในปีนี้ที่ล่าสุด สภาพัฒน์ปรับลดลงมาอยู่ที่ -1.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 1.2% นั้น เนื่องจากมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเล็กน้อยจากเดิม 3.3% มาเป็น 3.2% และปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบใหม่ ซึ่งเดิมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแรงจากช่วงต้นปี รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐที่เดิมคาดว่าจะมีความเข้มแข็งจนสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ ซึ่งสมมติฐานทั้ง 2 ตัวนี้ต้องชะลอออกไปก่อน จึงทำให้ต้องปรับลดการเติบโตของการส่งออกไทยลงมา

"สมคิด" มองเป็นจุดพลิกผัน เชื่อทั้งปีฟื้นตัว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า GDP ไตรมาส 1/59 ที่ สศช. ประกาศล่าสุดขยายตัวได้ 3.2% นั้นมีความหมายมาก ถือเป็นข่าวดี และเป็นจุดพลิกผันสำคัญด้านความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยว่าขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มพลิกฟื้นแล้ว และแนวโน้มตลอดปีนี้น่าจะฟื้นตัวโดยลำดับ เนื่องจากจะมีเม็ดเงินลงทุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเริ่มออกมา การท่องเที่ยวที่ขยายตัวแรง และแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศที่ขยายตัว แต่ยังต้องเฝ้าติดตามการส่งออกอย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว
ทั้งนี้ การที่ GDP ไตรมาส 1 ขยายตัวที่ 3.2% เป็นอัตราเติบโตสูงที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีแรงส่งทึ่สำคัญ คือการใช้จ่ายของรัฐ โดยเฉพาะโครงการประชารัฐที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากที่เริ่มถึงมือประชาชน และการลงทุนภาครัฐต่างๆ การท่องเที่ยวที่ขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ถึงแม้รายได้ภาคเกษตรยังไม่ดีนักเพราะราคาตกต่ำ แต่ก็มีรายได้เสริมจากโครงการของรัฐที่ลงสู่ชนบทฐานราก
"แนวโน้มดังกล่าวแม้จะน่าพอใจ เพราะเราเริ่มฟื้นตัวอันเป็นผลจากการวางแผนการใช้จ่ายและการลงทุนล่วงหน้า ในขณะที่ประเทศอื่นส่วนใหญ่เศรษฐกิจปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกว่า คือการปฏิรูปที่จะต้องมีความต่อเนื่อง เพื่อให้การเติบโตนั้นมีความยั่งยืน" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

รมว.คลังเชื่อขยายตัว 3% ต่อเนื่องทั้งปี
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปคงจะอยู่ในระดับกว่า 3% ไปต่อเนื่องทั้งปี ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนเพิ่ม ส่วนภาคเกษตรที่การขยายตัวยังติดลบอยู่นั้น เชื่อว่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีหลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝนไปแล้ว ขณะที่แนวนโยบายของรัฐบาลยังคงดำเนินการเช่นเดิม โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือในกลุ่มที่ยังประสบปัญหา เพื่อให้กลับมาฟื้นตัวได้

ธปท.เผยใกล้เคียงคาดการณ์ - ติดตามการส่งออก
ด้านน.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/59 ที่ขยายตัว 3.2% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ในภาพรวมใกล้เคียงกับที่ ธปท. ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคบริการโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปยังคงต้องติดตามพัฒนาการความเสี่ยงด้านต่างๆ จากทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะภาคส่งออกที่ยังอ่อนแอและมีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ

ลุ้นทั้งปีโตเกิน 3%
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2559 โดยคงมุมมองว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีโมเมนตัมที่ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก ถ้าหากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐหลายโครงการเริ่มเดินหน้าได้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2559 อาจขยับขึ้นไปสูงกว่าประมาณการปัจจุบันที่ 3%
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะรอดูตัวเลขการส่งออก สถานการณ์เศรษฐกิจต่างประเทศ และที่สำคัญ คือ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งหากฤดูแล้งสิ้นสุดลงภายในเดือนมิถุนายนตามคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยอาจมีการทบทวนประมาณการให้สะท้อนภาพเป็นเชิงบวกมากขึ้น"
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2559 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเริ่มมีทิศทางที่ชะลอลงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม เนื่องจากผลของการเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามแนวโน้มขององค์ประกอบจีดีพีในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศที่อาจจะยังได้รับอานิสงส์จากแรงกระตุ้น และมาตรการของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรง
ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2559 กระเตื้องขึ้นกว่าที่คาด โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.2 (YoY) ในไตรมาส 1/2558 ซึ่งนอกจากจะสูงกว่าที่คาดแล้ว ยังเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และเร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.8 (YoY) ในไตรมาส 4/2558 ทั้งนี้ นอกจากแรงหนุนของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2559 จะยังคงมาจากการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐที่ทำควบคู่ไปกับการทยอยเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนแล้ว ยังมีแรงเสริมมาจากกิจกรรมก่อสร้างของภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 7.0 YoY (จากที่หดตัวตลอดช่วงครึ่งหลังของปี 2558) นำโดย การก่อสร้างของอาคารที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com