April 27, 2024   2:44:24 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ITDเซ็นสายสีเขียว-งานพุ่ง2.5แสนลบ.
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 07/04/2015 @ 08:28:27
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

รฟม.เซ็นจ้าง ITD -UNIQ - STEC ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ เริ่มสร้าง มิ.ย 58 คาดเปิดใช้ต้นปี 63 กูรู แนะซื้อ ITD หลังคว้างานใหม่ 1.57 หมื่นลบ. ดันงานในมือแตะ 2.5 แสนลบ. แถมมีโครงการทวายรอเซ็นปลายเดือนนี้ ด้านโบรกฯ สั่งลงทุนหุ้นรับเหมาฯ มากกว่าปกติ รอลุ้น ครม. อนุมัติประมูลงานใหญ่อีก ขณะที่ รฟท. คาด ครม.อนุมัติสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีน้ำตาลในธ.ค.นี้ ฟาก"ฟินันเซีย ไซรัส" ชี้ หุ้นกลุ่มรับเหมาฯ อาจมี Sell on fact

* รฟม.เซ็นจ้าง ITD -UNIQ - STEC ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ
?? นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.จะลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) วงเงิน 28,786,000,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 489 ล้านบาท โดยมี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เป็นประธาน ซึ่งแบ่งเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD) วงเงิน 15,269,000,000 บาท สัญญาที่ 2 (ช่วงสะพานใหม่-คูคต) กลุ่ม UN-SH-CH Joint Venture (บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ SINOHYDRO CORPORATION LIMITED และ CHINA HARBOUR ENGINEERING COMPANY LIMITED วงเงิน 6,657,000,000 บาท
สัญญาที่ 3 (งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วจร) กลุ่ม STEC-AS Joint Venture (บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด วงเงิน 4,019,000,000 บาท สัญญาที่ 4 (งานจ้างออกแบบควบคู่การก่อสร้างระบบราง) ผู้รับจ้างคือ กลุ่ม STEC-AS Joint Venture วงเงิน 2,841,000,000 บาท
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนมิ.ย.58 โดยหลังลงนามสัญญาก่อสร้างผู้รับเหมาจะต้องลงพื้นที่เพื่อวางแผนละเอียดในการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และวางแผนการก่อสร้างอย่างละเอียดเสนอให้รฟม. พร้อมทั้งการจัดจราจรตลอดแนวเส้นทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งตามแผนจะมีการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินและแยกเกษตร ซึ่งได้ประสานกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) และกรมทางหลวง (ทล.) เบื้องต้นแล้ว และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการรื้อในบางส่วนตั้งแต่ปลายปี 58 โดยการรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรออกจะมีการก่อสร้างเป็นสะพานใหม่ที่มีสั้นกว่าของเดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าการที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าคร่อมไปด้านบน ซึ่งจะต้องมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่ม ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าปริมาณจราจรในภาพรวมจะดีขึ้น
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานบอร์ด รฟม. กล่าวว่า เรื่องการก่อสร้างนั้นได้เน้นย้ำให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกโดยให้มีผลกระทบต่อการจราจรในระหว่างก่อสร้างให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) และตำรวจจราจร ซึ่งต้องขอความเห็นใจประชาชน โดยรฟม.จะเร่งดำเนินการก่อสร้างและให้มีวิธีการที่เกิดความปลอดภัยมากที่สุด
สำหรับการรื้อย้ายสะพานข้ามแยกเกษตรและแยกรัชโยธินนั้นเป็นไปตามแผนงานที่มี ซึ่งเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางกายภาพของพื้นที่ หากไม่รื้อสะพาน อาจจะต้องมีการเวนคืนที่เพื่อก่อสร้างส่วนของเสาโครงสร้างโดยจะต้องคร่อมสะพานข้ามแยกอีกชั้นหนึ่ง
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ(หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 19 กม. มีจำนวน 16 สถานี โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากจากแนวเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีหมอชิต สิ้นสุดที่สถานีตำรวจคูคต บริเวณคลองสอง ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี มีระยะเวลาก่อสร้าง 45 เดือน แล้วเสร็จและเปิดเดินรถต้นปี 2563 โดยจะดำเนินการคัดเลือกผู้รับเดินรถภายในปี 2558 โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 1.79 แสนคนต่อวัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรแนวถนนพหลโยธิน และลดการสิ้นเปลืองพลังงาน สภาวะแวดล้อมดีขึ้น

* กูรู แนะซื้อ ITD หลังเซ็นก่อสร้าง 1.57 หมื่นลบ. ดันแตะระดับ 2.5 แสนลบ. แถมมีโครงการทวายรอเซ็นปลายเดือนนี้
นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ประเมินว่าการรับได้งานใหม่ของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ล่าสุด 1.57 หมื่นล้านบาท จะทำให้มูลค่างานในมือขยับขึ้นไปแตะระดับ 2.5 แสนล้านบาท และมีโอกาสได้รับงานอีกค่อนข้างมากจากโครงการของรัฐบาล ซึ่งโดยปกติ ITD จะได้รับงานประมาณ 35-40% ของงานทั้งหมดในตลาด โดยจะส่งผลดีต่อผลประกอบการในระยะยาว ขณะที่ยังมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาในช่วงปลายเดือนเม.ย. นี้
โดยหากคิดเพียงการขายที่ดินอย่างเดียวจากพื้นที่ทั้งหมด 1.64 หมื่นไร่ ประเมินไร่ละ 3 ล้านบาท จะทำให้มีมูลค่ารวมถึง 40,000 ล้านบาท คาดจะเริ่มขายไตรมาส 3-4 ซึ่งประมาณการโครงการทวายดังกล่าวนับเฉพาะการขายที่ดินยังไม่รวมโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ ITD สามารถเข้าไปรับงานได้อีกเป็นจำนวนมาก แนะนำซื้อเก็งกำไร ราคาเป้าหมายไม่รวมโครงการทวาย 8.50 บาท ราคาเป้าหมายรวมโครงการทวาย 12 บาท

* โบรกฯ แนะลงทุนรับเหมาฯมากกว่าปกติ-ลุ้น ครม.ประมูลงานใหญ่อีก
บทวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป ระบุว่า ปลัดกระทรวงคมนาคมเตรียมชงงานรถไฟฟ้า และรถไฟทางคู่เข้า ค.ร.ม. กลาง เม.ย. นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า และรถไฟทางคู่ ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีความพร้อมที่จะเสนอโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายทาง ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วง แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม.วงเงิน 56,000 ล้านบาท, สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงิน 106,655.76 ล้านบาท, สายสีเหลือง ลาดพร้าวสำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 54,000 ล้านบาท และอีก 1 เส้นทางคือรถไฟทางคู่ ชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 26,007 ล้านบาท นั้น โดยจะมีการเสนอต่อที่ประชุมในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้
ทั้งนี้ หาก ค.ร.ม. อนุมัติได้ ทางฝ่ายคาดว่ากระบวนการประมูลโครงการข้างต้นน่าจะเริ่มได้ใน 2Q58 อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายเชื่อว่า ในบรรดาโครงการรถไฟฟ้า 3 เส้น โครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมมีนบุรี น่าจะมีความพร้อมมากสุด เพราะได้รับอนุญาติสิ่งแวดล้อมแล้ว (EIA) แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนที่ตั้งสถานีต้นทางจากศูนย์วัฒนธรรมเป็นสถานีพระราม 9 แต่ทาง รฟม สามารถจะเปิดประมูลในส่วนไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปได้ก่อน คาดว่าจะมีการขายแบบแปลนปลาย 2Q58 และเปิดประมูลได้ทันในปีนี้ ขณะที่ อีก 2 เส้นทาง (ชมพู และเหลือง) อาจมีความล่าช้าเพราะรูปแบบเป็นแบบ Mono Rail หรือ รางเดี่ยว ซึ่งเป็นระบบใหม่ ที่ผู้รับเหมาไทยไม่คุ้นเคย อาจขอเวลาศึกษาแบบเพิ่ม อีกทั้ง สายสีชมพู มีการเปลี่ยนแบบ เพิ่มสถานีจาก 24 เป็น 30 ทำให้ต้องไปขอ EIA เพิ่มเติมใน 6 สถานีใหม่ ทางฝ่ายเลยเชื่อว่า สายสีชมพู และเหลือง อาจใช้เวลามากกว่า มีแนวโน้มจะขายแบบปลายปี และเปิดประมูลปีหน้า ส่วนโครงการรถไฟทางคู่น่าจะดำเนินการขายแบบและรู้ผลประมูลได้ในปีนี้ ดังนั้น กระแสข่าวนี้น่าจะช่วยเพิ่มความหวังงานประมูลภาครัฐฯได้บ้างหลังจากที่ไม่มีข่าวคราวเลยก่อนหน้านี้ ทางฝ่ายประเมินโครงการที่จะออกมาประมูลและรู้ผลประมูลปีนี้ 2 โครงการ (สายสีส้ม และรถไฟทางคู่) จะมีมูลค่ารวมกัน 130 พันล้านบาท ซึ่งปกติคงจะแยกประมูลเป็นสัญญาย่อย โดยปกติ ผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าประมูลมักจะเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ (CK, ITD และ STEC) หากประเมินโอกาสได้งานเท่าๆกัน คาดว่า แต่ละรายจะได้งานเพิ่มราว 40 พันล้านบาท ซึ่งทำให้งานเซ็นใหม่ปีนี้กลับมาเติบโตได้อย่างโดดเด่นจากปีก่อนที่ซบเซามาก (โดยที่ STEC เซ็นงานใหม่ปีก่อน 17 พันล้านบาท ส่วน CK เซ็นงานใหม่ปีก่อน 7.5 พันล้านบาท)
ราคาหุ้นรับเหมาก่อสร้างปรับลดลงมาเกือบ 25% ในรอบเดือนที่ผ่านมาเพราะความกังวลในด้านความล่าช้าของโครงการภาครัฐฯในช่วงที่ผ่านมา แต่การเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ทำให้ความคาดหวังในการประมูลงานใหญ่ปีนี้ (3 โครงการรถไฟฟ้า และ 1 โครงการรถไฟทางคู่) ยังไม่หมดไป ทั้งนี้ Valuation ปัจจุบันเริ่มมี Upside มากขึ้น ทางฝ่ายปรับเพิ่มคำแนะนำ STEC จาก "ถือ" เป็น "ซื้อ" ราคาพื้นฐาน 26.50 บาท ขณะที่ ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" สำหรับ CK ราคาพื้นฐาน 31 บาท เนื่องจาก CK เป็นหุ้นรับเหมารายใหญ่เดียวที่มีกำไรจากสาธารณูปโภคมาช่วยลดความผันผวนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ยิ่งไปกว่านั้น คาดว่า CK จะมีการเซ็นงานใหม่เพิ่มเติม 2 งานใน เม.ย. 58 มูลค่า 4 พันล้านบาท ขณะที่ ยังคงคำแนะนำ "ถือ" หุ้น ITD เพราะราคามี Upside ไม่มากจากราคาพื้นฐานที่ 7.40 บาท อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายคาดว่าน่าจะเป็นจังหวะในเก็บหุ้นเพื่อเก็งกำไรการอนุมัติประมูลงานจาก ค.ร.ม. ช่วงกลางเดือนหน้า

* รฟม .คาด ครม.อนุมติรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย-สีน้ำตาล ธ.ค.นี้
พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.เตรียมพร้อมศึกษาความเหมาะสมเพื่อเตรียมขยายรถไฟฟ้าอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 และ ช่วงพุทธมณฑลสาย4-อ้อมน้อย รวมทั้งสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี
รายละเอียดของโครงการดังกล่าวของขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบ จัดทำรายงาน EIA โดยได้มีการจัดสัมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ ซึ่งที่ปรึกษาจะนำข้อคิดเห็นของประชาชนประกอบการศึกษาออกแบบต่อไป โดยคาดว่างานศึกษาออกแบบจะมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 58 โดยทาง รฟม. จะเสนอขออนุมัติก่อสร้างในเดือน ก.ย. 58 คาดว่า ครม. จะมีมติอนุมัติให้ก่อสร้างในเดือน ธ.ค. 58 และจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 60 และเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 64
ทั้งนี้ โครงการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินมีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ระยะทาง 21.6 กิโลเมตร 22 สถานี ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของกระทรวงคมนาคม
ส่วนความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นเส้นทางต่อเนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการเดินทางจึงเห็นควรให้มีการเดินรถต่อเนื่องจากระบบเดิม โดยกระทรวงคมนาคมและ รฟม.ได้หารือร่วมกับ กทม.ในการเดินรถต่อเนื่องในเส้นทางดังกล่าว ทั้งนี้ กทม. อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเรื่องของงบประมาณ และจะหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อนำผลมาหารือและพิจารณาร่วมกับกระทรวงคมนาคมและ รฟม.ต่อไป อย่างไรก็ตามการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 63
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ขณะนี้มีความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการไปแล้วกว่า 99% ซึ่งคาดว่าจะมีการทดสอบระบบทั้งหมดภายในต้นปี 59 และจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้แก่ประชาชนในวันที่ 12 ส.ค. 59
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ ครม. ได้มีมติรับทราบให้มีการเดินรถต่อเนื่อง ของโครงการดังกล่าว โดยมอบหมายให้คณะกรรมการทำเรื่องเอกชนร่วมลงทุนไปพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พศ. 2535 (มาตรา 13) ทั้งนี้คณะกรรมการ รฟม.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพิจารณาดำเนินการตามมติ ครม. ปัจจุบัน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน- ท่าพระมีความคืบหน้าในการดำเนินงานโดยภาพรวมไปแล้วกว่า 60% ล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม รฟม.ได้พยายามเร่งรัดโครงการให้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และจะสามารถเปิดดำเนินการได้ปี 61
ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน - มีนบุรี รฟม. ได้เร่งรัดการดำเนินงาน โดยได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ ส่วนตะวันออก ช่วงพระราม 9 - มีนบุรี และส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-พระราม 9 โดยส่วนตะวันออก รฟม.ได้นำเสนอขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโยธาโครงการ ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมพิจารณาเสนอ ครม.โดยคาดว่าจะมีมติอนุมัติให้ก่อสร้างในเดือน มิ.ย.58
และส่วนตะวันตก ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ และจัดทำรายงาน EIA คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. นี้ และ รฟม. จะเสนอขออนุมัติ ต่อคณะกรรมการ รฟม. ในเดือน ก.ค. 58 และคาดว่า ครม. จะมีมติอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการในเดือน ต.ค.58 อย่างไรก็ตาม โครงการทั้ง 2 ส่วนจะเริ่มประกวดราคาก่อสร้างงานโยธาภายในปีนี้ และปี 59 ตามลำดับ โดยทั้ง 2 โครงการจะเริ่มก่อสร้างในปี 59 และจะเปิดเนินการในปี 63
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว- สำโรง ที่ผ่านมา รฟม.มีแนวทางที่จะจัดซื้อระบบรถไฟฟ้าเอง และเดินรถเอง หรือจ้างเอกชนเดินรถ โดยโครงการทั้ง 2 โครงการได้มีนโยบาย และได้สั่งการเมื่อ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา ให้ รฟม. พิจารณาทบทวนเรื่องระบบการเดินรถ และรูปแบบการลงทุนโครงการ เพื่อลดการลงทุนของภาครัฐก่อนเสนอ ครม. อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ รฟม. และที่ปรึกษา ได้ทบทวนทั้ง 2 ประเด็น แล้วเสร็จจะเสนอคณะกรรมการ รฟม. เพื่อพิจารณาผลการทบทวนรูปแบบการลงทุนในวันที่ 3 เม.ย. นี้ และจะเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอต่อ ครม. ภายในเดือน เม.ย. นี้ต่อไป ทื้งนี้คาดว่า ครม.จะมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการในเดือน พ.ค. ปี 58 โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 60 และเปิดบริการในปี 63
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ขณะนี้ที่ปรึกษาของ รฟม. (BMTP) ได้ศึกษาออกแบบแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 11 มี.ค. โดย รฟม. จะเสนอคณะกรรมการ รฟม. พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการเสนอขออนุมัติ โครงการในวันที่ 3 เม.ย. นี้ และ รฟม.จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมและ ครม. ในเดือน พ.ค. นี้ คาดว่า ครม.จะมีมติอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการในเดือน ส.ค. ปีนี้ และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 60 และเปิดดำเนินการปี 63
พร้อมกันนี้ ล่าสุด โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วันนี้ได้มีการลงนามเซ็นสัญญาก่อสร้างโยธาในโครงการดังกล่าว โดยคาดว่าหลังจากนี้ โครงการจะดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือน มิ.ย. นี้ และเปิดให้บริการได้ในปี 63 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 179,000 / วัน โดยมองว่าจะช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนพหลโยธิน ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางจากจังหวัด ปทุมธานีไปสมุทรปราการได้รวดเร็วขึ้น

*"ฟินันเซีย ไซรัส" ชี้ หุ้นกลุ่มรับเหมาฯ อาจมี Sell on fact
บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่า แม้ว่ากลุ่มรับเหมาอาจมี Sell on fact หลังรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือเซ็นสัญญาวันนี้ แต่ความเชื่อมั่นในระยะข้างหน้าจะดีขึ้น เพราะเป็นโครงการใหญ่โครงการแรกของปีนี้ และหวังว่าโครงการอื่นๆจะทยอยประมูลมากขึ้น โดยเดือน เม.ย. นี้มี 4 โครงการที่เตรียมนำเสนอครม. คือรถไฟฟ้าสายสีชมมพู สีเหลือง สีส้ม และรถไฟทางคู่ (จิระ-ขอนแก่น) ส่วนผู้ที่ชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและเซ็นสัญญาวันนี้ได้แก่ ITD, UNIQ และ STEC เริ่มก่อสร้าง ก.ค.-ก.ย. คาดแล้วเสร็จปี 2018

* คณะกรรมการ PPP เห็นชอบ 65 โครงการให้เอกชนร่วมลงทุน วงเงิน 1.35 ล้านลบ.
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(คณะกรรมการ PPP) เห็นชอบร่างแผนยุทธ์ศาสตร์การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน(แผนยุทธศาสตร์ PPP) และรายการโครงการ PPP โดยมี 20 กิจการภายใต้ร่างแผนยุทธศาสตร์ PPP และมีโครงการที่จะดำเนินการในช่วง 5 ปี รวม 65 โครงการ วงเงิน 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน ประกอบด้วย 1.กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง 8 โครงการ 2.กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง 1 โครงการ 3.กิจการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า 7 รายการ 4.กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการ 5.กิจการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม 2 โครงการ 6.กิจการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 1 โครงการ
กลุ่มที่ 2 กิจการที่ส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน ประกอบด้วย 1.กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง 4 โครงการ 2.กิจการพัฒนาสถานีขนส่งบรรจุแยกและกระจายสินค้า 4 โครงการ 3.กิจการพัฒนาระบบตั๋วร่วม 1 โครงการ 4.กิจการพัฒนาระบบจัดการคุณภาพน้ำ 7 โครงการ 5.กิจการพัฒนาระบบจัดการขยะมูลฝอย 1 โครงการ 6.กิจการพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ 8 โครงการ 7.กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข 3 โครงการ และ 8.กิจการพัฒนาด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 3 โครงการ 9.กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 6 โครงการ 10.กิจการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอล 5 โครงการ 11.กิจการพัฒนาศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ 1 โครงการ และ 11.กิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส 1 โครงการ
นายกุลิศ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้ รัฐบาลจะรับภาระเฉพาะในส่วนที่เป็นเรื่องการเวนคืนเท่านั้น ซึ่งการเข้ามาให้เอกชนร่วมลงทุนจะทำให้ช่วยประหยัดงบประมาณลงได้ และหลังจากนี้ คณะกรรมการ PPP จะนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์ PPP ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจะประกาศใช้ภายในเดือนเม.ย.58 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางสำหรับกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานในสังกัดต่อไป
โดยในปี 2558 จะมีโครงการที่จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนอย่างน้อย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย(ช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงเตาปูน - ท่าพระ) และโครงการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (หรือ ICD ลาดกระบัง)
นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรอง เพื่อรองรับการปรับมูลค่าโครงการที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.PPP จาก 1 พันล้านบาท เป็น 5 พันล้านบาท ซึ่งต่อไปกระทรวงการคลังจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างกฎกระทรวงในการปรับมูลค่าเป็น 5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายในเดือนพ.ค.58 น่าจะประกาศใช้ได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกฎหมายลำดับรองต่างๆ มีผลบังคับใช้ครบถ้วนแล้ว รวมทั้งหลักเกณฑ์สำหรับรองรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ สามารถนำเสนอโครงการได้ทันที
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ PPP ยังพิจารณาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีสำหรับโครงการ Motorway สายบางปะอิน-โคราช ระยะทาง 196 กม. และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. รวมทั้งได้พิจารณาให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการคัดเลือกเอกชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายด้วย
นายกุลิศ กล่าวว่า นอกเหนือจาก 65 โครงการแล้ว ยังมีโครงการที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคมที่สามารถนำเข้าสู่แผนนี้ แต่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้อีก 10 โครงการ วงเงิน 5.2 แสนล้านบาท โดยจะเป็นส่วนที่เอกชนสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้ 2.06 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการปรับกฎหมายที่จะมารองรับให้เอกชนเข้ามาดำเนินการอีก 2-3 ฉบับ จากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการได้


 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com