April 27, 2024   10:35:13 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > จับหุ้นปั่นขังกรง-ห้ามเน็ตเซ็ทเทิลเม้นต์
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 20/11/2014 @ 09:01:55
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ-สมาคมบล.ได้ข้อสรุป ออกมาตรการคุมหุ้นเก็งกำไร กำหนดให้หุ้นที่เข้าเกณฑ์ Trading alert ต้องติดแคชบาลานซ์ทันที 3 สัปดาห์ และหากติดเป็นครั้งที่สองจะนำหุ้นนั้นมาเป็นหลักประกันไม่ได้ รวมทั้งให้ขยายแคชบาลานซ์ออกไปอีก 3 สัปดาห์ แต่หากติด Trading alert ครั้งที่สามจะไม่สามารถซื้อขายแบบเน็ตเซ็ทเทิลเม้นทต์ได้ คาดส่งเรื่องให้ ก.ล.ต.พิจารณาภายในเดือนนี้ มีผลบังคับใช้ปีหน้า ด้าน ก.ล.ต.ชี้เป็นมาตรการเหมาะสม ช่วยเตือนสติรายย่อย ลดความร้อนแรงได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการประชุมระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ได้สรุปเกณฑ์คุมการซื้อขายหุ้นที่ร้อนแรงออกมาแล้ว คาดเกณฑ์เหล่านี้จะมีผลใช้ปีหน้าเป็นต้นไป โดย ตลท.และสมาคม บล.เตรียมเสนอ ก.ล.ต.เดือนนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ปีหน้า เกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่ การกำหนดหุ้นที่ติดเกณฑ์ Trading alert ต้องเข้าเกณฑ์ Cash Balanceทันทีเป็นเวลา 3 สัปดาห์ จากเดิมหุ้นที่ติดเกณฑ์ Trading alert ยังไม่ต้องเข้าเกณฑ์ Cash Balance
นอกจากนี้ หากหุ้นตัวเดิมติด Trading Alert ครั้งที่ 2 หุ้นดังกล่าวจะต้องติดเกณฑ์ Cash Balance อีก 3 สัปดาห์ รวมถึงไม่สามารถนำหุ้นมาเป็นหลักประกันได้ และถ้าหากติด Trading Alert เป็นครั้งที่ 3 หุ้นดังกล่าวจะไม่สามารถซื้อขายแบบ Net Settlement ได้
สำหรับหุ้นที่ติด Turn overlist แล้วถูก Trading Alert ก็จะต้องใช้เกณฑ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมีหุ้นที่ถูก Trading Alert กว่า 40 บริษัท

***ตลท.มั่นใจลดความร้อนแรงของหุ้นเก็งกำไรได้
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ(ตลท.)เปิดเผยว่าเกณฑ์นี้จะลดความร้อนแรงของหุ้นเก็งกำไรได้อย่างแน่นอน เพราะจะทำให้นักลงทุนพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะหากถูก Trading Alertเป็นครั้งที่ 3 หุ้นจะไม่สามารถ Net Settlement ซึ่งเป็นวิธีการซื้อขายหลักของหุ้นเก็งกำไรกว่า 50% โดยยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อบรรยาการลงทุนอย่างแน่นอน ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุนและตลาดหุ้นไทย"นางเกศรา กล่าว
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ในฐานะกรรมการ ตลท.เปิดเผยว่า ข้อดีของเกณฑ์ดังกล่าวที่มีการปรับปรุงนั้นคือไม่ใช่มาตรการที่รุนแรง แต่เป็นมาตรการที่ค่อยเป็นค่อยไปตามขั้นตอนความจำเป็นของหุ้นแต่ละตัว ซึ่งจะไม่สร้างความเสียหายต่อบรรยากาศการลงทุน และเป็นการเตือนนักลงทุนให้มีการตัดสินใจให้ดีก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆ
"เราไม่ได้มีการออกมาตรการใหม่ แต่เราใช้การปรับมาตรการเดิมให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมาตรการนี้ไม่ใช่ยาแรงแต่เป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปและไม่สร้างความเสียหายให้กับตลาด ก็คิดว่ามาตรการที่นำมาใช้จะได้ผลเพราะเป็นมาตรการที่ค่อยๆปรับขึ้น และขึ้นไปถึงไม่สามารถ net settlement ใน 1 วัน ซึ่งถือว่าเป็นแรงสุด เชื่อว่าจะมาช่วยให้ตลาดมีเสถียรภาพและดูแลภาวะตลาดให้มีความเหมาะสมและไม่เกิดภาวะลูกโป่งแตก" นางภัทธีรา กล่าว


***วงการชี้ไม่กระทบตลาดมาก-เตือนสติรายย่อย

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเชียพลัส เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย"ว่า มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการที่ไม่รุนแรงตามที่คาดการณ์ และเชื่อว่า ไม่มีมาตรการใดๆ จะมาป้องกันการเข้าเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็กได้ นอกเสียจากการให้ความรู้กับนักลงทุน และการจะตัดสินใจซื้อหรือขายนักลงทุนต้องตัดสินใจเอง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงแต่คอยติดตามว่า มีหุ้นตัวใดที่ซื้อขายผิดปกติ ??
"ตลท.ได้แค่ตามจับพวกที่ทำผิด เพราะไม่มีกฎหมายใดๆ ที่จะห้ามนักลงทุนซื้อขาย ทุกอย่างนักลงทุนต้องตัดสินใจเอง "นายประกิต กล่าว ??
ส่วนบรรยากาศการลงทุนจะแย่ไปหรือไม่ มองว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบ เพราะมาตรการดังกล่าวไม่รุนแรง และต้องทำความเข้าใจว่า บุคคลที่เข้าร่วมประชุมคือโบรกเกอร์ และทางสมาคมโบรกเกอร์ ก็ย่อมไม่ต้องการที่จะทำให้บรรยากาศการลงทุนเสีย จึงไม่สนับสนุนมาตรการที่รุนแรง เพราะนั่นหมายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อลูกค้าของแต่ละบริษัทด้วย??
"อย่างไรก็ตาม มองว่าก็ยังดีกว่าไม่มีมาตรการอะไรอออกมา อย่างน้อยสิ่งที่สะท้อนมาคือ ตลท.คงห่วงใยนักลงทุน เหมือนเป็นการเตือนสตินักลงทุน ว่าทุกวันนี้มีสิ่งผิดปกติ จน ตลท.ต้องออกมาเตือนแล้ว แม้มาตรการนี้จะไม่ได้รุนแรงมาก เพราะสุดท้าย ตลท.ยังคงต้องมาตามจับหุ้นที่ซื้อขายผิดปกติอยู่ดี "นายประกิต กล่าว??
ด้านนายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย"ว่า โดยรวมแล้วมาตรการดังกล่าวเข้มงวดมากขึ้น แต่ไม่ได้เข้มงวดจนน่าตกใจ หรือเป็นที่ประหลาดใจของตลาด จนถึงขึ้นแพนิก สะท้อนจากเปิดตลาดภาคบ่ายวันนี้ ดัชนี SET ปรับลงไม่มาก ทั้งนี้ แม้ว่าเกณฑ์นี้จะทำให้สภาพคล่องในการซื้อขายน้อยลง แต่โดยีรวมมองว่าเป็นผลดีกับนักลงทุนรายย่อยทำให้มีสติมากขึ้นก่อนการซื้อขาย ไม่ใช่เพียงแค่แห่เข้าไปซื้อเพื่อเก็งกำไรอย่างเดียว โดยที่บางครั้งอาจจะไม่ได้สนใจปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเมื่อใดที่ตลาดหุ้นปรับฐาน นักลงทุนรายย่อยจะได้รับความเสียหาย??
"ปัจจุบันต้องระวังมากขึ้น บริษัทขนาดกลางและเล็ก ก็หันมาทำธุรกิจตามกระแส เช่น ทำโซลาร์ฟาร์ม หรือมาทำคอนโดมิเนียม บางครั้งก็ต้องระวังว่า เขาพร้อมแค่ไหน เช่น เงินทุน โนฮาว เทคโนโลยี ไม่ใช่ว่าพอเขาประกาศว่าจะทำ แล้วก็กระโดซื้อหุ้นเลย ดังนั้น ต้องดูเป็นรายบริษัทไป "นายสมบัติ กล่าว

*** เทิร์นโอเวอร์ลิสต์ เกณฑ์ใหม่ มีผลบังคับใช้ 28พ.ย.นี้

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ก.ล.ต.ได้นำร่องปรับปรุงเกณฑ์คำนวณหลักทรัพย์ที่มีอัตราการซื้อขายหมุนเวียนสูง (Turnover List)เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการซื้อขายในปัจจุบัน เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557นี้
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต.เปิดเผยว่า การปรับปรุงดังกล่าวครอบคลุม 1.การไม่กำหนดจำนวนหลักทรัพย์ที่ติดเกณฑ์ Turnover List ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จากเดิมที่มีการกำหนดจำนวนไว้
2.การเพิ่มเติมกรณีที่หุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนทั้งใน SET และ mai ที่ติด Turnover List ให้ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (warrant) ของบริษัทนั้น ติด Turnover List ควบคู่ไปด้วย รวมทั้ง
3.ปรับปรุงสูตรการคำนวณให้ไม่ซับซ้อน โดยยังคงให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับของเดิม ก.ล.ต.ได้จัดทำ Turnover List สำหรับเป็นข้อมูลแก่ผู้ลงทุนในการประกอบการตัดสินใจลงทุน และให้บริษัทหลักทรัพย์ใช้เป็นข้อมูลสำหรับบริหารความเสี่ยงมาตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากตลาดทุนไทยมีการพัฒนาและเติบโตขึ้นมาก
การปรับปรุงสูตรคำนวณ Turnover List ครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ป้องกันความเสี่ยงหรือผลกระทบจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ติด Turnover List รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการใช้ข้อมูล
อนึ่ง ก.ล.ต.จะเผยแพร่รายชื่อหลักทรัพย์ที่ติดเกณฑ์ Turnover list ทุกสัปดาห์เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าว โดยคาดหวังว่า บริษัทหลักทรัพย์สามารถมีส่วนร่วมที่จะสกัดกั้นไม่ให้การสร้างราคาหลักทรัพย์เกิดขึ้นหรือขยายวงกว้าง โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่มีลูกค้าซื้อขายกระจุกตัวในหลักทรัพย์ที่อยู่ใน Turnover List ต้องจัดให้มีระบบการติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมการซื้อขายและวงเงินของลูกค้าดังกล่าว และควรมีมาตรการเตือนให้ลูกค้าระมัดระวังในการเข้าไปซื้อขาย รวมถึงตรวจตราการทำงานของผู้ให้คำแนะนำหลักทรัพย์ในการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น

*** ก.ล.ต.ชี้มาตรการเหมาะสม เชื่อช่วยลดการเก็งกำไรได้

นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า มาตรการดูแลหุ้นเก็งกำไรของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประกาศออกมา ถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมและสมเหตุสมผล เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และมีความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม ซึ่ง ก.ล.ต.มองว่าเป็นมาตรการที่ดี และเชื่อว่าจะช่วยลดความร้อนแรงของหุ้นได้
"ก.ล.ต.มองว่ามาตรการของตลาดฯที่ออกมานั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และมีความระมัดระวัง ไม่เป็นมาตรการเหวี่ยงแห และจะไม่ทำให้เสียบรรยากาศการลงทุน ซึ่ง ก.ล.ต.ก็เชื่อว่าจะมีการประกาศบังคับใช้ได้เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอเรื่องมาที่ก.ล.ต."นางทิพยสุดา กล่าว

*** เอเซียพลัส แนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นเล็กในระยะสั้น

บล.เอเซียพลัส มองว่ามาตรการควบคุมหุ้นเก็งกำไร น่าจะกดดันหุ้นเล็กที่อยู่นอก SET100 และที่อยู่ในตลาด MAI ซึ่งมีมูลค่าซื้อขายที่สูงขึ้นผิดปกติ โดยหุ้นที่อยู่นอก SET100 มักจะมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ราว 10-20% ของมูลค่าตลาดรวม แต่ในช่วง 3 - 4 เดือนหลังสุด มูลค่ากลับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน พ.ย.หุ้นนอก SET100 กินสัดส่วนถึง 52% ของมูลค่าซื้อขายรวมของตลาด ขณะที่ในตลาด MAI มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ตั้งแต่ต้นปีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 600–1,000 ล้านบาทต่อวัน แต่มูลค่ากลับพพุ่งสูงขึ้นถึง กว่า 7 พันล้านบาทต่อวันในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา อีกทั้งการที่ดัชนี MAI ให้ผลตอบแทนถึงกว่า 105% นับตั้งแต่ต้นปี ทำให้หุ้นเล็กในกลุ่มนอก SET100 และ หุ้นใน MAI ที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ มีความเสี่ยงอย่างมาก แนะนำหลีกเลี่ยงในระยะสั้น

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com