April 28, 2024   1:46:54 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > หุ้นไทยดื้อยา เฟดลดดบ. 0.75% ไม่ช่วยอะไร
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 23/01/2008 @ 20:07:47
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

หุ้นไทย เดี้ยงซ้ำซาก ขณะเฟดลดดอกเบี้ย ยังไม่ช่วยอะไร สวนทางตลาดหุ้นเพื่อนบ้านที่บวกกันระนาว ขณะที่ต่างชาติยังตั้งหน้าตั้งตาขาย รวมตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน 3.6 หมื่นล้านบาท " ประธานตลท. " ออกโรงขอให้นลท. ตัดสินใจโดยคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐาน เชื่อตลาดหุ้นยังมีเสถียรภาพ ขณะที่"ฉลองภพ" มั่นใจ หลังจากนี้ดัชนีฯจะดีขึ้น ส่วนบล.UBS ระบุหากระดับดัชนีฯ ยืนเหนือ 740-750 จุดได้อย่างมั่นคง ด้าน DBSV-KEST ชี้หุ้นร่วงเพราะต่างชาติยังทิ้ง สำหรับ ส.นักวิเคราะห์ พบปัญหาซับไพร์มลามกว่าคาด เล็งปรับลดเป้าจาก 1030 จุด เหลือต่ำกว่า 1000 จุด

เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเซอร์ไพร์สไม่น้อย กับการประกาศปรับลดอัตราาดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ลง 0.75% เหลือ 3.50% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และฟื้นปัญหาซับไพร์มที่ถูกมองว่าลุกลามอย่างหนัก จนฉุดให้เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ เข้าสู่ภาวะถดถอย และเผชิญกับวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีเลยทีเดียว เพราะปัญหาดังกล่าวขยายวงจนกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้อื่นๆที่ไม่ใช่หนี้อสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวแล้ว มันรวมไปถึงหนี้บัตรเครดิต และล่าสุดยังมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ (Credit Default Swap : CDS) จำนวนมาก อีกทั้งยังมีการสลับเปลี่ยนมือผู้ถือซึ่งมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 450 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่สามารถละเลยได้ จึงส่งผลให้เฟดไม่สามารถรอการประชุมในปลายเดือนนี้ได้ และแหวกประเพณีอย่างที่น้อยครั้งเคยทำมาก่อน โดยการสั่งลดอัตราดอกเบี้ยแบบปัจจุบันทันด่วน ซึ่งถือเป็นการลดดอกเบี้ยลงมากที่สุดในรอบ 23 ปี และตัดสินใจใช้ยาแรงในการแก้ปัญหาทันที ดังนั้นจึงถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างแน่นอนในการดำเนินการดังกล่าว

แต่ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลบวกต่อการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แทบจะทั่วโลก โดยดัชนีฯ ส่วนใหญ่ตอบรับข่าวดังกล่าวแทบจะทั้งหมด เว้นเพียงไม่กี่ประเทศ เช่น ตลาดหุ้นไต้หวัน มาเลเซีย และประเทศไทย ที่ดัชนีกลับยืนอยู่ในแดนลบสวนทางกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านอื่นๆ ทั้งที่น่าจะได้รับผลดีไปด้วย โดยความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเอเซีย วานนี้ (23 ม.ค.) ดัชนี คอมโพสิต อินโดนีเซีย ปิดตลาดที่ระดับ 2,476.28 จุด เพิ่มขึ้น 181.75 จุด หรือ 7.92 % ดัชนี สเตรทไทม์ หุ้นสิงคโปร์ ปิดตลาดที่ระดับ 2,983.62 จุด เพิ่มขึ้น 117.07 จุด หรือ 4.08 % ดัชนี ฮั่งเส็ง ฮ่องกง ปิดตลาดที่ระดับ 24,090.17 จุด เพิ่มขึ้น 2,332.54 จุด หรือ 10.72 % ดัชนี SHI ตลาดหุ้นจีน ปิดตลาดที่ระดับ 4,703.05 จุด เพิ่มขึ้น 143.30 จุด หรือ 3.14 %

ดัชนี BSESN ตลาดหุ้นอินเดีย เวลา 16:36 น. (ตามเวลาประเทศไทย) อยู่ที่ระดับ 17,640.72 จุด เพิ่มขึ้น 910.78 จุด ดัชนี PHCOMP ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ปิดตลาดที่ระดับ 3,058.26 จุด เพิ่มขึ้น 79.85 จุด หรือ 2.68 % ดัชนี คอมโพสิต ตลาดหุ้นโซล ปิดตลาดที่ระดับ 1,628.42 จุด เพิ่มขึ้น 19.40 จุด หรือ 1.21 % ดัชนี เวทเต็ด ตลาดหุ้นไต้หวัน ปิดตลาดที่ระดับ 7,408.40 จุด ลดลง 173.56 จุด หรือ -2.29 % และ ดัชนีคอมโพสิต ตลาดหุ้นมาเลเซีย ปิดที่ระดับ 1354.48 จุด ลดลง54.12 จุด
ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดที่ 740.65 จุด ลดลง 0.89 จุด หรือ 0.12% มีมูลค่าการซื้อขาย 22,233.33 ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้าตอนเปิดการซื้อขาย ดัชนีฯ ปรับขึ้นกว่า 17 จุด และขึ้นไปสูงสุดกว่า 18 จุด แต่หลังจากนั้นก็มีแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงบ่ายจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาและดันดัชนีให้กลับมาบวกกว่า 10 จุดได้ แต่หลังจากนั้นก็ไม่สามารถต้านทานแรงจากนักลงทุนต่างประเทศได้ โดยหุ้นบิ๊กแคปหลายตัวยังปรับตัวลดลงตามแรงขายของนักลงทุนอยู่ ส่งผลให้ปิดตลาดดัชนีฯ ปรับตัวยืนแดนลบ โดยนักลงทุนต่างชาตินั้นขายสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา ถึงวานนี้ไปแล้ว 36,882.20 ล้านบาท ขณะที่สถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิ 7,765.66 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไป ซื้อสุทธิเช่นกัน 29,116.55 ล้านบาท

ทั้งนี้การที่หุ้นไทยยังคงปรับตัวลดลง ต่างจากตลาดหุ้นอื่นในเอเชียนั้น ไม่ใช่เฉพาะแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนทางการเมืองในประเทศ ที่ยังกดดันอยู่มากกว่า เพราะแม้ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงก็จริง แต่อย่าลืมว่าขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของสุญญากาศการเมือง ที่ยังไร้รัฐบาลตัวจริงมาบริหารประเทศ ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่มาบริหารประเทศ ทั้งที่การเลือกตั้งทั่วไปเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว เพราะฉะนั้นข่าวลดดอกเบี้ยจึงกลายแค่จิตวิทยาดันดัชนีช่วงสั้น ตราบใดที่ประเทศไทยยังไร้รัฐบาลชุดใหม่กุมบังเหียน รวมไปถึงกรณีเรื่องค่าเช่าท่อก๊าซของปตท. ที่จะต้องชำระให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งจนป่านนี้ก็ยังไร้ข้อสรุปของตัวเลขที่ชัดเจน แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินเรื่องดังกล่าวไปแล้วว่าปตท. จะต้องจ่ายเงินคืนให้กับกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป

ดังนั้นปัจจัยภายในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล และ สรุปท่อก๊าซปตท. จึงน่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไปได้ไม่ไกล และไม่สามารถรีบาวน์ได้เหมือนตลาดหุ้นประเทศอื่น แต่หากปัจจัยเหล่านี้มีความชัดเจนขึ้นก็เชื่อว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นในตอนนี้จึงไม่น่าแปลกใจหากจะบอกว่า


* ประธานตลท. ขอให้นลท. ตัดสินใจโดยคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐาน
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า การที่ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างผันผวนตามภูมิภาคในช่วงนี้ เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่มีสาเหตุจากความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐจะเข้าสู่สภาวะถดถอยรวมทั้งไม่มีความเชื่อมั่นกับมาตรการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐที่เพิ่งประกาศออกมา

?สำหรับตลาดหุ้นบ้านเราแม้ว่าดัชนีราคาหลักทรัพย์ได้ปรับตัวลดลงจากสิ้นปี 2550 ประมาณร้อยละ 13 แต่ก็ถือว่ายังมีเสถียรภาพมากกว่าอีกหลายตลาดหุ้นเชื่อว่าอีกไม่นานปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มิได้เลวร้าย ประกอบกับจะเริ่มมีการรีบาวน์ทางเทคนิค (Technical rebound) ในหลายตลาด รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็น่าจะช่วยทำให้ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการลงทุนขอให้ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดและขอให้ตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยใช้เหตุและผลและให้คำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานของหุ้นเป็นหลัก?นายปกรณ์กล่าว


* ขุนคลัง เชื่อ หุ้นไทยจะดีขึ้นหลังเฟดลด ดบ. 0.75%
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องหารือถึงมาตรการเร่งด่วน เพื่อรับมือกับการปรับตัวลดลงอย่างหนักของตลาดหุ้นไทยช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นในภูมิภาคจะปรับตัวดีขึ้น ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% เกินความคาดหมาย ขณะที่ยังไม่จำเป็นที่ต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อหามาตรการรับมือตลาดหุ้นตก เพราะค่าเงินบาทยังเคลื่อนตาม

การลดดอกเบี้ยของเฟดที่สูงถึง 0.75% ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดหมาย เป็นสิ่งที่ดี โดยการที่เฟดเป็นผู้นำในการลดดอกเบี้ยจะมีผลต่อตลาดเงินทั่วโลก และแสดงถึงการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน นายฉลองภพ กล่าว
สำหรับทิศทางค่าเงินบาท อาจจะอ่อนค่าลงบ้าง จากการเทขายหุ้นของต่างชาติและมีเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นปกติตามกลไกตลาด ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็ดูแลค่าเงินบาทได้ดีขึ้น


* UBS รับตั้งแต่ต้นปีที่ต่างชาติขายหุ้นผ่านบริษัทแล้ว 8 พันลบ.
นายคีท เนรูดา หัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค เช่น จีนและอินเดีย ตลาดหุ้นไทยยังถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ และน่าสนใจมากกว่า รวมถึงมีค่า P/E ที่ต่ำในระดับน่าสนใจด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจัยลบขณะนี้ยังคงเป็นเรื่องของผลกระทบจากนอกประเทศและหากระดับดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถยืนเหนือ 740-750 จุดได้อย่างมั่นคงแล้ว เชื่อว่าหลังปัจจัยลบคลี่คลายลงระดับดัชนีฯ จะรีบาวน์ขึ้นอย่างรวดเร็วมีโอกาสสูงที่จะสามารถปรับเพิ่มเกินระดับ 800 จุดได้

อย่างไรก็ดี มองว่าหากที่ผ่านมาไม่มีปัญหาด้านการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจนอกประเทศ ปัจจุบันระดับดัชนีตลาดหุ้นไทยควรที่จะอยู่ที่ระดับ 900 จุดแล้ว ซึ่งการที่ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการก็จะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้คาดหวังให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนความเชื่อมั่นภายในประเทศ และส่งเสริมการลงทุนเป็นสำคัญ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของภาวะการลงทุนในขณะนี้ ทั้งนี้ 15 วันทำการตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 22 ม.ค. 2551 บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) ได้ขายหุ้นไทยขายสุทธิออกมาแล้ว เป็นจำนวนเงินมูลค่า 8082.39 ล้านบาท


* KGI มองเฟดลดดอกเบี้ยไม่ช่วยอะไร คาดกระทบหุ้นไทยยาวถึงปี Q2/51
นางสาวนฤมล อาจอำนวยวิภาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) (KGI) กล่าวกับ eFinanceThai.com ว่า การที่เฟดลดดอกเบี้ย 0.75% เมื่อคืนนี้ช่วยให้สถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกดีขึ้นช่วงสั้นๆเท่านั้น แต่ในระยะยาวยังน่าเป็นห่วง เพราะเม็ดเงินที่อัดฉัดเข้ามา หรือมาตรการต่างๆที่ออกมายังไม่เพียง สังเกตจากประเทศไทยตอนช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งก็อันดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเป็นจำนนมากแต่ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาซับไพร์มยังลุกลามไปยังกลุ่มประชาชนทั่วไปแล้ว จากเดิมที่อยู่ในวงการไฟแนนซ์ โดยขนาดนี้พลเมืองของสหรัฐผิดนัดชำระหี้เพิ่มขึ้น หรือไม่มีเงินมาชำระหนี้บัตรเครดิต ต่อจากนี้อาจมีการไล่พนักงานออก และเข้าสู่ช่วง Down Side

ตอนนี้ยังวางใจอะไรไม่ได้ KGI มองว่าหุ้นจะปรับตัวลดลงถึงไตรมาส 2 ตอนนี้แนะนำนักลงทุนอย่าเล่นหุ้น 6 เดือนต่อจากนี้ห้ามดูเลยยิ่งดี รอให้ตลาดเริ่มมีเสถียรภาพก่อนแล้วค่อยกลับมา ถ้าหากทางการไทยปลดล็อคมาตรการกันสำรอง 30% จะยิ่งเป้นการซ้ำเติมตลาดมากกว่านี้ เพราะจกระทบต่อไทยในระยะยาวนางนฤมลกล่าว


* เลขา ส.นักวิเคราะห์ เล็งปรับลดเป้าดัชนีฯ ปีนี้ลงจากเดิมที่ 1030 จุด
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสมาคมกำลังพิจารณาที่จะปรับลดเป้าหมายดัชนีฯสิ้นปี โดยจะเริ่มสำรวจความเห็นจากนักวิเคราะห์กลางสัปดาห์หน้า ซึ่งเดิมได้ประเมินระดับดัชนีฯปีนี้ไว้ที่ 1,030 จุด แต่การที่ปัญหาซับไพร์มรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่แรกทำให้ทางสมาคมต้องรอดูการขยายวงของปัญหาและการแก้ไขปัญหาของทางสหรัฐประกอบกัน

อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นยังประเมินดัชนีฯไทยยังมีโอกาสเคลื่อนไหวที่ระดับ 850-900 จุดได้ เพราะปัจจุบันถือว่าการปรับลดลงของดัชนีฯมากเกินไปกว่าพื้นฐานที่เป็นจริงแล้ว
ทั้งนี้ด้วยการประเมินทางเทคนิคและจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าตลาดหุ้นไทยมีแนวรับสำคัญอยู่ที่ 711 จุด ซึ่งเป็นแนวรับที่แข็งแกร่ง จึงเชื่อว่าแรงขายที่มีต่อเนื่องในช่วงนี้จะไม่สามารถทำให้หุ้นไทยปรับลดไปกว่าระดับดังกล่าวได้มากนัก อย่างไรก็ดีหากปัจจัยลบมีมากกว่าที่ทางสหรัฐฯ และประเทศไทยจะบรรเทาปัญหาได้ ก็อาจจะทำให้มีแรงขายรุนแรงจนดัชนีฯ หลุดระดับ 711 จุด ลงไปถึง 680 จุดได้
ในอดีตจากการที่ต่างชาติซื้อหุ้นสะสมแล้วทยอยขายออกมานั้นคำนวณว่ายังมีหุ้นในมือเหลืออีกกว่า 40,000 ล้านบาท ที่อาจจะมีการขายออกมาได้อีกระลอกหากเศรษฐกิจโลกเลวร้ายเช่นเดียวกับวิกฤติในอดีตคาดว่าทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50-1.00% เป็นอย่างน้อย เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งการที่ล่าสุดสหรัฐลดดอกเบี้ย 0.75% ไปแล้วถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนดอกเบี้ย R/P 1 วันของประเทศไทยเชื่อว่าจะต้องมีการปรับลดไปในทิศทางเดียวกันด้วยเช่นกันจากปัจจุบันอยู่ที่ 3.25% จะลดลงได้อีก 0.25-0.50% ในประมาณกลางไตรมาส 2/2551 อีกทั้งดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นทิศทางเดียวกันด้วย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลดีให้ช่วงดังกล่าวตลาดหุ้นไทยจะปรับขึ้นอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการประคับประคองตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ แม้ว่าระยะที่ผ่านมาจะเกิดความผันผวนมากกว่าปกติ แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯควรเน้นการสนับสนุนด้านข้อมูลพื้นฐาน และประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนรับทราบ เพื่อให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจได้ด้วยความถูกต้องมากที่สุด

นายสมบัติ กล่าวว่า สมาคมฯต้องการให้รัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เร่งทำงานทันทีหลังรับตำแหน่งแล้ว ซึ่งเศรษฐกิจในประเทศยังคงรอการแก้ไข ขณะที่ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศก็ยังมีอยู่จากการชะลอตัวของภาพรวมเศรษฐกิจโลก ซึ่งในที่สุดก็จะกระทบมายังตลาดทุนไทย


* สถาบันวิจัยตลาดทุน มอง SET Index ผันผวนหนักจากซับไพร์ม
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ในปีนี้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะยังคงผันผวนอย่างหนัก เพราะผลเสียหายจากวิกฤติซับไพร์มยังมีโอกาสสูงที่จะแผ่วงกว้างไปยังสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งนี้โดยปกติความเสียหายของสถาบันการเงินจะใช้ระเวลาการแก้ไขนาน เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อเนื่องจากการที่สถาบันการเงินเหล่านี้ได้นำเงินไปซื้อต่างๆ ทั่วโลก โดยเมื่อราคาหุ้นตกสถาบันการเงินก็จำเป็นต้องขายเพื่อป้องกันการขาดทุน ส่งผลต่อเนื่องให้หุ้นที่บริษัทหรือสถาบันการเงินอื่นถืออยู่ราคาลดลงตามไปอีกเป็นลูกโซ่

อย่างไรก็ดีในส่วนของประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่น เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมาเริ่มมีโครงสร้างที่ดีขึ้น รายได้ของประเทศลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกลงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ปัญหายังไม่จบง่ายๆ สิ่งที่เห็นคงเป็นแค่รอบแรก เพราะความอ่อนแอของสถาบันการเงินต้องใช้เวลาแก้ไขนาน ยังมีข่าวร้ายอีกเยอะรออยู่ ซึ่งสถาบันการเงินต่างๆ ยังไม่แน่ว่าผลประกอบการจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งเฟดอาจไม่สามารถลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาได้ทุกครั้งดร.กอบศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยไปถึง 0.75% แล้ว แต่ในส่วนของประเทศไทยยังคงไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตาม เพราะนโยบายดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลดีกับการควบคุมเงินทุนที่ไหลเข้าออกในตลาดหุ้นได้โดยตรง แต่การปรับดอกเบี้ยของประเทศไทย ปัจจัยสำคัญจะต้องอิงเรื่องความสัมพันธ์กับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ต้องคำนึงถึงผลที่จะไม่สะท้อนไปยังค่าเงินบาทให้แข็งค่ามากขึ้นจนเกินไปด้วย

ทั้งนี้การศึกษาแนวทางเพื่อแปรรูปตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในเดือนมี.ค. - เม.ย. นี้ ซึ่งหลังจากได้แนวทางแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการปรับปรุงการดำเนินงานของตลาดหุ้นไทยในทุกด้าน และจะต้องมีการยื่นเสนอภาครัฐบาลเพื่อให้มีการผ่านกฎหมาย จึงยังต้องใช้ระยะเวลาในการแปรรูปจริงอีกนานหลายปี


*DBSV ระบุ 7 วันหุ้นไทยยังแกว่งตัว แนะทยอยซื้อหุ้นพื้นฐาน

นางสาวอาภรณ์ แสวงพรรค รองผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส(ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับตัวลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ซึ่งสวนทิศทางกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงแรง 0.75% เป็นผลมาจากนักลงทุนรายย่อยในประเทศเทขายทำกำไรในช่วงภาวะตลาดดีดกลับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการซื้อเก็งกำไรเข้ามาสูงประมาณ 5 พันล้านบาท ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นทิ้ง เนื่องจากมีความกังวลถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐและคาดว่าแม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ก็ไม่น่าช่วยภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐได้ในทันทีทันใด ซึ่งประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนตัวลง

ส่วนกรณีการพิจารณาคดีของบมจ.ปตท.(PTT) เรื่องค่าเช้าท่อก๊าซแม้ว่าจะยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าไม่มีผลกดดันภาวะตลาดฯ เนื่องจากเป็นประเด็นเก่า ซึ่งนักลงทุนรับรู้ไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญต่อการปรับตัวของดัชนีฯ สำหรับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างไรบ้างคงต้องรอดูว่าจะปรับประมาณตัวเลขเศรษฐกิจใดและเพราะอะไรแต่มองว่าน่าจะเป็นการปรับตัวเลขเงินเฟ้อให้สูงขึ้นตามระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมากกว่า

นอกจากนี้ต้องรอจับตาดูหน้าตาของคณะรัฐบาลใหม่ว่าจะมีใครดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการในกระทรวงสำคัญๆและจะมีนโยบายการบริหารอย่างไร ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้ประเมินดัชนีฯในช่วงระยะ 7 วันน่าจะมีการแกว่งตัวอยู่ในกรอบโดยให้แนวรับไว้ที่ 730 จุด แนวต้านให้ไว้ที่ 750-770 จุด ส่วนกลยุทธ์การลงทุนให้ทยอยซื้อหุ้นพื้นฐานดี เช่น KBANK PS AMATA QH MCOT PTT ส่วนเป้าหมายดัชนีฯในปีนี้จากปัจจัยลบทั้งในและนอกประเทศที่มีอยู่มากจึงอาจจะพิจารณาปรับลดเป้าหมายจาก 1,021 จุด มาอยู่ที่ 934 จุด


* KEST ระบุต่างชาติยังทิ้งหุ้นไทย สัปดาห์หน้ายังไม่มีลุ้นฟื้นตัว
นายพงศ์พันธุ์ อภิญญากุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กิมเอ็ง(ประเทศ) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีการปรับตัวลดลงสวนทิศทางกับตลาดหุ้นในภูมิภาคแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติยังคงมีแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่มั่นใจว่าการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะสามารถช่วยกู้ปัญหาการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในสหรัฐประกอบกับในประเทศไทยเองก็ยังไม่มีปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนเท่ากับตลาดฯต่างประเทศ ซึ่งมีการพัฒนามากกว่า จึงทำให้เม็ดเงินจากต่างชาติไหลกลับไปยังอเมริกและกระจายไปทางจีนและอินเดียมากกว่า

ส่วนกรณีการตัดสินอัตราค่าเช่าท่อก๊าซของบมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งยังไม่ชัดเจนเชื่อว่าไม่มีผลกดดันต่อการปรับตัวของดัชนีฯเพราะค่าเช่าท่อก๊าซที่ทางภาครัฐจะคิดกับปตท.นั้นไม่ว่าจะเป็นอัตราเท่าใดก็ไม่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ

โดยประเมินแนวโน้มของดัชนีฯในสัปดาห์หน้าว่าจะยังคงไม่เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังเป็นประเด็นหลักที่เข้ามากดดันบรรยากาศการลงทุน ทั้งนี้แม้จะได้คณะรัฐมนตรีใหม่มาบริหารประเทศแต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นได้มากน้อยเท่าใด เพราะนโยบายและประสบการณ์ของผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีนั้นยังไม่ทราบว่าจะเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตามกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดประมาณการค่าเฉลี่ยดัชนีฯปีนี้จากเดิมที่อยู่ที่ 1,000 จุด มาอยู่ที่ 800-900 จุด จากปัจจัยลบทั้งในและนอกประเทศที่ประดังเข้ามา กลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้นักลงทุนซื้อขายในลักษณะเก็งกำไรตามรอบ ส่วนนักลทุนระยะยาวหากต้องการเข้าลงทุนให้เข้าซื้อสะสมไว้ได้



:lol:

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com