May 11, 2024   12:15:06 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ยุทธศาสตร์ลงทุน ไม่ให้ชวดในปีหนู
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 06/01/2008 @ 21:40:06
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

โดย สรวิศ อิ่มบำรุง




อาการเจ็บป่วยของเศรษฐกิจโลก ย่ำแย่หรืองอมแงมแค่ไหน เราก็ต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตา

ทุกวันนี้โลกเราแคบและเล็กลงเรื่อยๆ เกิดอะไรขึ้นที่ฟากหนึ่งของโลก ก็สามารถรับรู้ได้ทันทีในอีกสถานที่หนึ่งของโลก เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจโลก หากสหรัฐเปรียบเป็นพี่ใหญ่ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเกิดจามขึ้นมา ประเทศอื่นก็คงติดหวัดกันไปหมด

โดยเฉพาะในปี 2551 นี้เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาซับไพร์มทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งคงไม่มีใครสงสัยในเรื่องนี้กันแล้ว หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นเพียงการชะลอตัวลงในลักษณะของ "Soft Landing" มากกว่า

ตรงนี้คงต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของธนาคารกลางสหรัฐ ว่าจะหามาตรการใดมาบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นนี้

ในปีที่โจทย์ของการลงทุนถูกผูกปมด้วยประเด็นของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงเช่นนี้ เราในฐานะนักลงทุนควรจะเข้าใจ เพื่อวางแผนรับมือในการลงทุนได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

Fundamentals ฉบับแรกหลังปีใหม่ มีเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบและกลยุทธ์ในการรับมือ มาช่วยเป็นเข็มทิศการลงทุนในปีหนูทองนี้

............................................

แนะสร้างสมดุลระหว่างตราสารหนี้และหุ้น

แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงไปในปี 2551 แต่เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงขยายตัวอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยเองแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2551 นี้ก็มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นกว่าปี 2550 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การเตรียมรับมือไว้สำหรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ถือเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ ซึ่งเรามีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนมาฝากกัน ทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้การลงทุนในปีหนูทองของคุณบาดเจ็บน้อยที่สุด หรือไม่สะดุดกับอาการเจ็บป่วยของเศรษฐกิจโลก

@ลดสัดส่วนเงินฝาก-เพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ "ดร.ศุภกร สุนทรกิจ" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ บลจ.เอ็มเอฟซี มองว่า ปี 2551 กระแสการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนจะสูงกว่าปี 2550 ไม่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวก็ตาม แต่ถ้านักลงทุนไม่มั่นใจราคาหุ้น ก็อาจจะไม่ขยับไปไหนมากมายนัก

จากสภาพคล่องที่ยังล้นระบบอยู่ในปัจจุบัน ยังจะคงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะสภาพคล่องที่ล้นระบบอยู่ ย่อมจะไม่ดีต่อเงินฝากอยู่แล้ว แต่อาจจะช่วยการลงทุนในรูปแบบอื่นในส่วนของการลงทุนในตราสารหนี้เองแม้ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลก็ยังเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนโดยเปรียบเทียบที่ดีกว่าเงินฝากอยู่ดี ซึ่งยังจะเป็นทางเลือกที่สำคัญในการลงทุนของนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยอยู่ต่อไปในปี 2551 นี้

นอกจากนี้ ดอกเบี้ยที่ต่ำยังส่งผลดีต่อการลงทุนประเภทอื่น คือ "หุ้น" และ "อสังหาริมทรัพย์" อย่าลืมว่าถ้าดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำอสังหาริมทรัพย์ น่าจะเป็นการลงทุนทางเลือกที่ดีขึ้น แต่อสังหาริมทรัพย์ของไทยมีข้อเสียในเรื่องของสภาพคล่อง ในส่วนของ "ตลาดหุ้น" ปี 2551 จะมีความผันผวนมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ดีกว่าเงินฝาก หากผู้ลงทุนสามารถที่จะยอมรับความเสี่ยงได้

ในขณะที่ "ทองคำ" ช่วงที่ผ่านมาราคาปรับตัวขึ้นไปมากแล้วทะลุ 800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เหตุผลสนับสนุนที่สำคัญคือ เรื่องของการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ไม่ดีนัก เพราะฉะนั้นการที่เศรษฐกิจสหรัฐจะแย่ลงก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา

นอกจากนี้การที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับลดดอกเบี้ย ยิ่งช่วยส่งเสริมให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงไปอีก เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ทั่วไป เพราะฉะนั้น เมื่อเงินดอลลาร์อ่อน คนก็จะหนีไปหาทองคำ ราคาทองคำจะสูงขึ้นเพราะสามารถที่จะนำมาใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้ แม้ราคาทองคำในระยะยาวยังไปได้ แต่เชื่อว่าราคาทองคำในปี 2551 อาจจะไม่ปรับตัวขึ้นหวือหวาเหมือนในปี 2550 ถ้ามองเป็นการลงทุนระยะยาว ทองคำยังสามารถที่จะลงทุนได้ แต่ราคาทองคำในปี 2551 น่าจะเริ่มอืดๆ แล้ว

"ปี 2551 ตลาดหุ้นยังน่าสนใจอยู่ ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงยังอยู่ในระดับที่ยังน่าลงทุนอยู่ ถ้ามีจังหวะให้เราเล่นได้เมื่อมีข่าวหรือมีกระแสใหญ่ๆ ก็เป็นจังหวะให้เข้าไปลงทุน แต่เมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาก็เป็นจังหวะที่ควรจะขายทำกำไรออกมาบ้าง ในปี 2551 นี้อยากให้นักลงทุนรู้จักในเรื่องของการจัดสรรเงินลงทุน(Asset Allocation)ไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ อยู่ในเงินฝากบ้าง อยู่ในตราสารหนี้บ้าง บางครั้งก็เข้าไปอยู่ในหุ้นบ้าง เมื่อเห็นว่าราคามาถึงจุดๆ หนึ่งที่เราพอใจแล้ว หรือผลตอบแทนถึงจุดที่เราพอใจแล้ว ก็ขายทำกำไรออกมาบางส่วนโยกเงินกลับไปไว้ในตราสารหนี้ แล้วค่อยดูจังหวะในการเข้าลงทุนใหม่อีกครั้ง ที่สำคัญอยากให้นักลงทุนมีเป้าหมายในการลงทุน"


:lol:

 กลับขึ้นบน
kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
#1 วันที่: 06/01/2008 @ 21:40:49 :
@สร้างสมดุลระหว่างตราสารหนี้และหุ้น

ในขณะที่ "ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ธนชาต บอกว่า ปี 2551 ผู้ลงทุนควรจะสร้างสมดุลให้กับพอร์ตการลงทุนของตัวเองระหว่างการลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ก่อนที่จะไปลงทุน เพราะตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นต่างประเทศต่างก็มีความเสี่ยงอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ตลาดที่โตก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป

สิ่งที่คุณต้องระวังคือ ตลาดหุ้นนั้นแพงไปหรือยัง บางตลาดอาจจะแพงไปแล้ว บางตลาดอาจจะโอเค เพราะฉะนั้นจะต้องเลือกให้มากขึ้นสำหรับการไปลงทุนในต่างประเทศ ตลาดหุ้นไทยก็มีความเสี่ยงเฉพาะของตัวเองในระดับหนึ่ง ดังนั้นการผสมผสานระหว่างสินทรัพย์ที่หลากหลายจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนในปี 2551 นี้ ตราสารหนี้และหุ้นในระยะยาวเป็นการลงทุนที่ดีด้วยกันทั้งคู่ แต่อาจจะไม่ได้ดีพร้อมกันซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ต การลงทุนของตัวคุณได้

"สหรัฐอเมริกาเศรษฐกิจชะลอตัวก็จริง แต่ก็ใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด ภาคส่งออกของสหรัฐยังเติบโตได้ดีมากเราคงต้องไปดูเป็นรายอุตสาหกรรมไป ไม่ใช่ว่าจะแย่ไปทุกอุตสาหกรรม บริษัทในสหรัฐที่มีรายได้ในระดับโลกเป็นบริษัทข้ามชาติก็ยังเติบโตได้ดี ดังนั้นปี 2551 นี้นักลงทุนควรจะมีการผสมผสานพอร์ตการลงทุนระหว่างตราสารหนี้และหุ้นให้สมดุล 50-50 โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ควรจะมีการกระจายการลงทุนออกไปในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยในประเทศไทยต่ำแต่ต่างประเทศไม่ได้ต่ำเหมือนเราทุกที่ แม้จะมีโอกาสที่ดอกเบี้ยในประเทศจะปรับตัวขึ้นได้แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นในเร็วนี้อาจจะเป็นในช่วงกลางปี 2551 ไปแล้ว แล้วคงจะปรับขึ้นมากไม่ได้เว้นแต่จะมีเงินเฟ้อเกิดขึ้นรุนแรง ดังนั้นผสมผสานพอร์ตการลงทุนให้สมดุลจะดีที่สุด"

@แนะลงทุนในหุ้นที่พึ่งพิงความต้องการในประเทศ

ด้าน "สุขวัฒน์ ประเสริฐยิ่ง" ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน บลจ.แมนูไลฟ์(ประเทศไทย) บอกว่า เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การชะลอตัวของการบริโภคอาจจะลดลงได้ระดับหนึ่ง เวลาเราจะลดการบริโภคเราจะตัดการใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน แต่สินค้าไทยที่ส่งออกไปเมืองนอกส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ค่อนข้างจำเป็น เช่น ข้าว อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นโลว์เทค อะไรที่มันง่ายๆ เช่น พัดลม เราไม่ได้ไปส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง เวลาคนจะตัดๆ อะไรที่ไม่จำเป็นออก ฉะนั้นการที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจไทยมากนัก

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยในปัจจุบันยังมีการกระจายตัวที่ดี ไม่ได้พึ่งพิงตลาดหนึ่งตลาดใดมากนักและปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐเหลืออยู่ประมาณ 20% เท่านั้น โดยการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ในขณะที่อีกหลายประเทศพึ่งพิงการส่งออกมากกว่า 100% เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะส่งผลกระทบกับประเทศเหล่านั้นมากกว่าประเทศไทย

ปี 2551 ยังให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ เพราะในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นหลายแห่งในโลกได้ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่ของสถิติสูงสุดเดิมกันเป็นว่าเล่น ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีสถิติสูงสุดเดิม 1,700 จุด ในปี1993 ซึ่งตลาดหุ้นไทยยังอยู่ห่างจากจุดนั้นอีกประมาณ 1 เท่า เมื่อไรที่ตลาดหุ้นไทยกลับไปอยู่ตรงนั้นได้เราอาจจะเริ่มอยู่ในสภาพใกล้เคียงกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน

ฉะนั้น โอกาสการเติบโตของตลาดหุ้นไทยยังมีอีกมาก ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหนไม่ได้เป็นเพราะเรามีปัญหากับโลกภายนอก แต่เรามีปัญหาภายในของเราเอง ซึ่งวันหนึ่งเมื่อปัญหาจบโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะเดินหน้าต่อไปก็มี ในปี 2550 ในช่วงเวลาที่ไม่ดีนักประชาชนไม่บริโภค นักลงทุนหยุดลงทุน เศรษฐกิจประเทศไทยยังโต 4-5% เพราะฉะนั้นถ้าการบริโภคการลงทุนกลับมาเมื่อไร ประชาชนใช้จ่ายเมื่อไร เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยจะไปได้ไกลกว่านี้

"ควรจะเลือกหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับในประเทศผมเชื่อว่ายังโต สมมติว่าดอกเบี้ยยังต่ำคนเริ่มมีความมั่นใจ คนเริ่มกล้าซื้อบ้าน ของที่ขายในประเทศ เช่น ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้างอะไรที่เกี่ยวกับในประเทศผมว่ายังไปได้และไปได้ดีด้วย เพราะเมื่อคนเริ่มมั่นใจไม่กลัวตกงานแล้ว อะไรที่เกี่ยวกับในประเทศจะเป็นหุ้นที่สามารถลงทุนได้ สำหรับคนที่มีเงินเหลือๆ การลงทุนในหุ้นน่าจะเป็นอะไรที่ดี เพราะมันอาจจะโตไปได้อีกมาก แต่ตลาดตราสารหนี้ผลตอบแทนต่ำมากไม่น่าสนใจ ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ต่ำมาก 2-3% ต่อปี เราไม่เอาก็ได้ เราไปเอาในหุ้นๆ ขึ้นแป๊บเดียวคอฟเวอร์ 4-5 เท่า หรือขึ้น 10% ก็คอฟเวอร์ 5 เท่าของดอกเบี้ยแล้ว เพราะฉะนั้นพูดถึงความน่าจะเป็นและความเสี่ยงที่เรารับได้แล้วหุ้นยังน่าสนใจ"

@กระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย

ด้าน "วนา พูลผล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี(ไทย) แนะนำว่า การจัดสรรเงินลงทุนขึ้นกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคน ถ้าโดยรวมๆ แล้วในปี 2551 ความผันผวนในตลาดการเงินจะมีมากขึ้น เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐแล้วผลกระทบของซับไพร์มซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครทราบว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดมากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องจับตาดูต่อไป

แต่ในแง่ของผู้ลงทุนเองคงต้องพยายามไปลงทุนในอะไรที่ "จำกัดความเสี่ยง" ของตัวเองเอาไว้ ถ้าไม่อยากรับความเสี่ยงควรลงทุนในตราสารหนี้ที่เป็นพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้นๆ ถ้าสามารถลงทุนหุ้นได้ควรจะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีผลกระทบน้อยหรือไม่มีผลกระทบเลยจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หรือลงทุนในประเทศที่เขาพึ่งพาการเติบโตด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออก เช่น ประเทศที่แทบไม่มีการส่งออกไปสหรัฐ เป็นต้น หรือเลือกประเทศที่เน้นรายได้จากการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญคือ คนเขามีการจับจ่ายใช้สอย รัฐบาลมีการใช้จ่ายไม่ต้องไปพึ่งสหรัฐมาก ที่เหลือคงเป็นเรื่องของการเลือกตราสารให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเองเลือกหุ้นใหญ่พื้นฐานดีพวกบลูชิพดีๆ ที่มีความมั่นคงหรือเลือกพื้นฐานของบริษัทให้ดีๆ

"ปี 2551 นี้ อยากให้นักลงทุนกระจายการลงทุนออกไปในสินทรัพย์ให้หลายๆ ประเภท(Asset Class) จากที่ปกติมีแค่การลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนคิดว่าปีนี้อาจจะกระจายไปในตราสารหลายๆ รูปแบบมากขึ้น อาจจะเป็นตราสารที่มีลักษณะที่คล้ายกับการคุ้มครองเงินต้น แต่ว่ามีผลตอบแทนที่อิงกับดัชนีต่างๆ ที่เราคาดว่าจะให้ผลตอบแทนดีไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือจะลงเป็นตราสารพวก Structure Note และอาจกระจายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่เรารู้จักและเข้าใจเป็นอย่างดีซึ่งอาจจะไม่ใช่ตราสารการเงินที่เราคุ้นเคย เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือของสะสมที่เราเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะเราคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงด้วย ถ้าจะลงทุนในสกุลดอลลาร์ก็ไม่ควรจะมีมากนัก"

@อย่าลืมกระจายความเสี่ยง

ในขณะที่ "ดารบุษป์ ปภาพจน์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.พรีมาเวสท์ บอกว่า ช่วงที่ตลาดมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น(Bullish)ผู้ลงทุนมักจะลืมเหมือนกันคือ "การกระจายการลงทุน(Diversify)" แล้วจะมุ่งไปที่ตลาดใดตลาดหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะคิดว่ามีโอกาสที่จะทำกำไรได้ แล้วบอกกับตัวเองว่าขาดทุนตัวเองก็รับได้ เพราะมันไม่เคยขาดทุนจริงๆ จังๆ

ดังนั้น การกระจายการลงทุนต้องดูความสามารถในการรับความเสี่ยง และช่วงอายุของผู้ลงทุนประกอบด้วย ผู้ที่มีอายุน้อยอาจกระจายการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงได้ อายุเพิ่มขึ้นกระจายการลงทุนในกลุ่มเสี่ยงสูงขึ้นมาในระดับปานกลางถึงเสี่ยงน้อยคือ ต้องมีสินทรัพย์ทุกๆ อย่างไม่ใช่ทุ่มเทไปในความเสี่ยงใดความเสี่ยงหนึ่งหรือตลาดใดตลาดหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว ในทุกสภาวะของตลาดไม่ว่าจะเป็นช่วงตลาดขาขึ้นหรือตลาดขาลง(Bearish)ก็ตาม เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตอนนี้ถามว่าภาวะวิกฤติซับไพร์มหมดหรือยังๆ แต่ถามว่าหุ้นขึ้นทุกตลาดมั้ย ขึ้นทุกตลาด แม้แต่อเมริกาที่เป็นต้นตอปัญหา

"สิ่งที่ผู้ลงทุนควรจะทำคือ ไม่ใช่กลัวจนไม่ทำอะไรเลย แต่ควรจะกระจายการลงทุนไปในหลายๆ รูปแบบ แล้วก็เน้นอะไรที่ปัจจัยพื้นฐานที่มีโครงสร้าง มีพื้นฐานไม่ใช่ลงทุนตามกันไปโดยที่ไม่ได้ดูปัจจัยพื้นฐานประกอบ อย่างเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวก็ไม่ใช่ว่าเขาจะแย่ไปทั้งหมด บางอุตสาหกรรมก็ยังเติบโตได้ดี ดังนั้นเราต้องดูเช่นกันเพราะจุดเด่นของสหรัฐคือ มีแขนขาทั่วโลกโดยเฉพาะธุรกิจบางอย่างที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง การคิดเรื่องกรองน้ำ บำบัดน้ำ ก็ต้องเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสูง ซึ่งจะเป็นบริษัทที่มีกำไรได้ไม่ใช่ไม่มี ในสหรัฐเองก็มีโอกาสไม่ใช่ว่าแย่ไปแล้ว นักลงทุนก็คงต้องดูเป็นรายบริษัท รายกลุ่มอุตสาหกรรม คงต้องดูให้ละเอียดขึ้นไปอีก"

ปีหนูที่กำลังเริ่มต้นขึ้นนั้น ยังไม่รู้ว่าจะเป็น "หนูทอง" หรือ "หนูไฟ" แต่การที่ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนเช่นนี้ เชื่อว่ากลยุทธ์การลงทุนเหล่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนอยู่บ้าง


:lol:
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com