April 30, 2024   8:40:02 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เฟ้นหุ้นเด็ดศาลาพักใจ ยาม "โดมิโน ซับไพร์ม"
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 15/08/2007 @ 22:25:17
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

"ซับไพร์ม" ทำนักลงทุนเจ็บหนัก ล่าสุดตลาดทุนทั่วโลกกำลังเจอวิกฤต "โดมิโน ซับไพร์ม" รวมทั้งตลาดหุ้นไทยที่ทำให้เกิดแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง จนดัชนีฯ หลุดแนวรับสำคัญ 777 จุดไปแล้ว SCIBS เฟ้น 10 หุ้นเด็ดแนะนำไว้เป็นศาลาพักใจชั่วคราวทั้ง BAY, KBANK, ATC, RRC, SPALI, BEC, SCC, CK, PTT และ HANA

ปัญหาตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ หรือตลาดซับไพร์ม กำลังกลายเป็น "โดมิโน ซับไพร์ม" ที่กำลังฉุดรั้งการขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และทั่วโลกในทิศทางเดียวกัน เมื่อนับวันยิ่งมีการประกาศการขาดทุนของกองทุนต่างๆ ออกมาเป็นระยะไม่ขาดสาย

นอกจาก กองทุนแมควอรี่ฟอร์เทรสอินเวสเมนท์ ภายใต้การกำกับดูแลของแมควอรี่แบงก์ของออสเตรเลีย ที่ประกาศเป็นรายแรกๆ ว่าขาดทุนจากการลงทุนถึง 25% ตามด้วยกองทุนประกันความเสี่ยง หรือ เฮดจ์ฟันด์ 2 แห่งของ แบร์ สเติร์นส์ แล้ว ยังตามมาด้วยการประกาศของ เอ็นไอบีซีโฮลดิ้ง วาณิชธนกิจสัญชาติดัทช์ ที่เปิดเผยว่า บริษัทขาดทุนจากการลงทุนในตลาดซับไพร์มสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 137 ล้านยูโร (189 ล้านดอลลาร์) ในปีนี้

ขณะเดียวกัน แม้ เจพี มอร์แกน จะออกมาระบุว่า ปัญหาซับไพร์มในอเมริกาจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศลงทุนในระยะสั้น 1 เดือนเท่านั้น และหลังจากนั้นเงินทุนจากต่างชาติก็น่าจะเริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในไทยอีก และมองว่าทางการสหรัฐฯไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว เพราะคงจะต้องรีบชี้แจงความเสียหายที่เกิดขึ้นของตลาดซับไพร์มให้เร็วที่สุด แต่ก็ไม่ได้ทำให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลลง


ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุดวันนี้มีรายงานข่าวต่างประเทศ ระบุว่า เซ็นตินอลแมเนจเมนท์กรุ๊ป บริษัทจัดการลงทุนในอิลินอยส์ ได้ประกาศระงับการไถ่ถอนหน่วยลงทุน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ รวมทั้ง เบซิสแคปิตอลฟันด์แมเนจเมนท์ บริษัทจัดการกองทุนประกันความเสี่ยง หรือ เฮดจ์ฟันด์ สัญชาติออสเตรเลีย ได้แจ้งต่อผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนยิลด์ฟันด์ว่า กองทุนดังกล่าวอาจขาดทุนเกินกว่า 50% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มของสหรัฐฯ

รวมทั้ง บีเอ็นพีพาริบาส์ ยังคาดว่าค่าเงินเยนจะแข็งค่าแตะ 116 เยน/ดอลล์สิ้นก.ย.นี้ สาเหตุเพราะเฮดจ์ฟันด์แห่ถอนการลงทุนนำเงินไปชำระหนี้เงินเยน หลังทำแคร์รี่เทรดมานาน ขณะเดียวกันยังลดความเสี่ยงจากผลกระทบที่จะเกิดจากวิกฤตซับไพร์สในสหรัฐฯ ด้วย

ด้านนายโคจิ โอมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นกล่าววันที่ 15 ส.ค.นี้ ว่า วิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ ผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว หลังกองทุนประกันความเสี่ยงหลายแห่งทั่วโลกปิดตัวลงหลังได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการลงทุน

วิกฤตซับไพร์ม สหรัฐฯ ผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว หลังจากธนาคารกลางยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้ตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็วด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ นายโอมิ กล่าว

อย่างไรก็ดี นายโอมิระบุว่า รัฐบาลและธนาคารกลางจะติดตามผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดต่อไป

ประเด็นปัญหา "โดมิโน ซับไพร์ม" ได้กดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 15 ส.ค.50 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 773.92 จุด ลดลง 19.90 จุด หรือ 2.51% หลุดแนวรับสำคัญ 777 จุดไปเรียบร้อยแล้ว และแนวรับถัดไปที่ 765 จุด กำลังรออยู่เบื้องหน้าแล้ว ส่วนนักลงทุนต่างประเทศยังคงขายสุทธิอีก 5,220.29 ล้านบาท

ขณะที่แรงเก็งกำไรยังมีให้เห็นในหุ้นตัวเล็กๆ ซื้อง่าย ขายคล่อง อาทิ TSTH, BLAND-W1, TCC, EWC, ADAM, UEC และ UBIS

นางจันทนา วัฒนกูล ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเพราะอิทธิพลจากตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับลดลง จากความกังวลปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ ที่กำลังลุกลามและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง

ดังนั้น การลงทุนในวันนี้ (16 ส.ค.) ต้องติดตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ, แรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยให้แนวรับดัชนีฯ ไว้ที่ 765 จุด และแนวต้าน 800 จุด ส่วนกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ถือเงินสดรอซื้อหุ้นพื้นฐานดี เช่นหุ้นกลุ่มพลังงาน และหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า


:lol:

 กลับขึ้นบน
kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
#1 วันที่: 15/08/2007 @ 22:26:45 :
บทวิเคราะห์ บล.นครหลวงไทย (SCIBS) ได้เฟ้น 10 หุ้นเด็ดท่ามกลาง Subprime loan crisis อาละวาด มาแนะนำให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนกันในเวลานี้ โดย SCIBS ระบุว่า วิกฤตการณ์ของปัญหาสินเชื่อบ้านของผู้กู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (Subprime loan) เริ่มมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.2550 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มต้นปรับตัวลดลงและมีความผันผวน (Volatile) มากขึ้น โดยเป็นวันแรกที่ VIX Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี 2550

สำหรับต้นเหตุของปัญหา Subprime loan เกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระของผู้ที่กู้เงิน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องส่วนหนึ่งจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอตัว และ ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่สำคัญของปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ความไม่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในช่วงหลายปีที่ผ่านส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อประเภท Subprime เพิ่มขึ้น โดยในเบื้องต้นคาดว่าสินเชื่อประเภทSubprime มีมูลค่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

SCIBS ประเมินว่า การประกาศขาดทุนของกองทุนที่ลงทุนในตราสารที่ผูกผันกับ Subprime loan เป็นปัญหาที่แท้จริงถึงแม้ว่า Subprime loan จะเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุน และทำให้ตลาดการเงินของโลกมีความผันผวนมากขึ้น แต่มีสาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากกว่า คือ การประกาศผลขาดทุนโดยเฉลี่ย 30% ของกองทุนที่ลงทุนในตราสารทางการเงินที่ผูกผันกับ Subprime loan ของสหรัฐฯ เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดแรงขายในสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลก (Global sell-off)

สำหรับกองทุนที่ประสบกับภาวะขาดทุน ได้แก่ Bear Stern ของสหรัฐฯ Macquarie bank ของออสเตรเลีย และ ล่าสุด BNP Paribas ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสและยุโรปก็ประสบปัญหาจนต้องประกาศห้ามไถ่ถอนหน่วยชั่วคราวเช่นกัน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้กองทุนของธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกใน 3 ทวีปต้องประสบกับปัญหาการขาดทุน และกระทบต่อเนื่องถึงตลาดการเงินของโลกและทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง 5-8% เนื่องจาก กองทุนเหล่านั้นนำเงินลงทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในตราสารทางการเงินที่ผูกผันกับ Subprime loan ดังนั้น เมื่อ Subprime loan เกิดความเสี่ยงในการชำระคืนเงินย่อมส่งผลกระทบให้ราคาของตราสารทางการเงินปรับตัวลดลงตามไปด้วย ซึ่งกลายเป็นต้นเหตุของการขายสินทรัพย์ทางการเงินประเภท Subprime loan และสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย ซึ่งมีผลให้นักลงทุนรายย่อยเกิดความกังวลจึงแห่กันไปไถ่ถอนหน่วยลงทุนซึ่งยิ่งเป็นการเร่งให้เกิดการขายสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ เพื่อนำเงินมาคืน ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ NAV ของกองทุนปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์

SCIBS ชี้ว่า ธนาคารกลางทั่วโลกนำโดยสหรัฐและยุโรปต้องอีดฉีดเงินเข้าสู่ระบบสูงเป็นประวัติการณ์เพื่อแก้ไขวิกฤตการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยรายย่อยเนื่องจากความไม่มั่นใจต่อกองทุนที่ตนเองถืออยู่ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดการของยุโรปและอเมริกาตึงตัวขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารของสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 6% สูงกว่า Fed fund target rate ที่ 5.25% และสูงที่สุดในรอบ 6 ปี เช่นเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยในยุโรปและญี่ปุ่น ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรปรวมถึงญี่ปุ่นต้องอีดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อไม่ให้ผู้กู้เงินประสบปัญหาต้นทุนในการกู้เงินเพิ่มขึ้น

สำหรับปัญหาดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในปี 1998 เมื่อกองทุน Hedge fund ขนาดใหญ่ ชื่อ LTCM ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนต้องปิดกองทุนไปการขาดทุนของกองทุนอื่นๆ และการตึงตัวของตลาดสินเชื่อ (Credit crunch) เป็นความเสี่ยงต่อไป

ความเสี่ยงในเรื่องการขาดทุนของกองทุนอื่นๆ ยังคงเป็นความเสี่ยงในระยะสั้นที่กดดันบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก เนื่องจากจะยังคงทำให้มีการขายสินทรัพย์เพื่อนำเงินไปรองรับการไถ่ถอนหน่วยลงทุนและลดความเสี่ยง ส่วนความเสี่ยงในระยะยาว คือ ความเสียหายของ Subprime loan และอาจนำไปสู่การควบคุมสินเชื่อประเภทอื่นๆ ซึ่งจะมีผลกระทบให้ต้นทุนในการกู้เงินเพื่อดำเนินธุรกิจสูงขึ้น และทำให้สภาพคล่องในตลาดการเงินลดลง โดยรวมจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก และจะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม SCIBS คาดว่า ความเสี่ยงดังกล่าวจะยังคงไม่เกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯจะต้องหาทางแก้ไขหรือบรรเทาได้ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย
SCIBS มองว่าเป็นโอกาสดีของ Valued Investor โดยประเมินทิศทางของ SET index ในเดือนสิงหาคม-กันยายน ว่ามีโอกาสที่จะถูกกดดันจากปัญหา Subprimeloan ต่อเนื่อง และจะทำให้นักลงทุนขาดแรงจูงใจในการเข้าลงทุนในระยะสั้น ดังนั้นจึงคาดว่า เป้าหมาย SET ที่ 936จุด จะยังคงไม่เกิดขึ้นในช่วง ส.ค.-ก.ย. แต่ยังคงมีโอกาสในช่วงไตรมาสที่ 4/2550 หากความเสี่ยงโดยภาพรวมลดลง

สำหรับ SET ที่มีความเป็นไปได้สูงในช่วงนี้คาดว่าจะอยู่บริเวณ 770-815 จุด สำหรับระดับ SET ที่มีความเสี่ยงต่ำโดยเฉพาะนักลงทุนประเภท Valued investor จะอยู่บริเวณ 760-780 จุด เนื่องจากมีค่า PER เพียง 10.5-11 เท่า

SCICBS คัดเลือกหุ้น 10 หลักทรัพย์ ได้แก่ BAY, KBANK, ATC, RRC, SPALI, BEC, SCC, CK และเพิ่ม PTT และHANA เข้าไว้ใน Value Stock ครั้งนี้ แนะนำ ?ซื้อ? เพื่อการลงทุน เนื่องจากการวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental analysis)

SCIBS เลือกหุ้นเพิ่มอีก 2 บริษัท ได้แก่ PTT ที่ได้รับผลบวกจากการควบรวมกิจการของ RRC ? ATC และแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ยังเติบโตโดดเด่นและ HANA ซึ่งเป็นขนาดกลางที่ได้รับผลบวกจากแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าและอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงกว่า 5%

ขณะที่หุ้น 8 บริษัทที่เลือกในครั้งที่แล้ว SCIBS ยังคงยืนยันถึงปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ย 4%พร้อมกับมี Upside Gain สูงถึง 21% โดยเทียบจากราคาปิด ณ วันที่ 10 ส.ค. 2550


:lol:
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com