April 30, 2024   2:54:49 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > SET Index เลือดแดงฉาน
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 09/08/2007 @ 21:18:14
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

SET Index ยังฟื้นยาก ร่วงหนักเกือบ 20 จุด หรือ 2.38% นักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าขายไม่หยุดยั้ง 9 วันทำการขายแล้ว 1.9 หมื่นลบ. ส่งผลค่าบาทวานนี้แข็งค่าแตะ 34 บาท/ดอลลาร์ได้ เหตุยังกังวลตลาดซับไพร์มสหรัฐฯ ฉุดศก.ดิ่งเหว ขณะที่ข่าว สนช. สั่งพาณิชย์เพิ่มนิยาม"นอมินี" เข้มขึ้นกว่าเดิม เป็นตัวสกัดดาวรุ่งบรรยากาศการลงทุน สอดคล้องความเห็นตลท.-ภาคเอกชน เชื่อกระทบลงทุนจากต่างชาติ อีกทั้งตลาดไร้ปัจจัยบวกใหม่หนุน แนวโน้มจึงยังปรับฐานต่อ แต่ระยะยาวเชื่อยังน่าจะเป็นขาขึ้นต่อ เพราะมองจีดีพีครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น และตลาดฯยังมีความคาดหวังเรื่องเลือกตั้ง

กลายเป็นสัปดาห์ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ผันผวนเหลือเกินตั้งแต่วันแรกของสัปดาห์ เมื่อวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม ที่ดัชนีฯปรับตัวลดลง ก่อนจะรีบาวน์ในวันอังคาร และวันพุธ ที่ผ่านมา จนมาปรับตัวลดลงอีกครั้งเมื่อวาน ซึ่งประเมินความเคลื่อนไหวดัชนีฯ ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ดัชนีฯ ปิดที่ 837.33 จุด เพิ่มขึ้น 7.44 จุด หลังจากนั้นเปิดการซื้อขายในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม ดัชนีฯปิดที่ 815.87 จุด ลดลงถึง 21.86 จุด ก่อนจะรีบาวน์ขึ้นมาในวันอังคารที่ 7 สิงหาคม ปิดที่ 814.40 จุด ลดลงแค่ 1.47 จุด และมาปิดที่ 831.64 จุด เพิ่มขึ้นถึง 17.24 จุด ก่อนที่จะมาปรับตัวลดลงเมื่อวานนี้ (9 ส.ค.) 19.81 จุด หรือ 2.38% ปิดที่ 811.83 จุด โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวม 21,546.77 ทั้งที่ในช่วงเปิดตลาดภาคเช้านั้นดัชนีฯ ปรับขึ้นมาได้กว่า 10 จุด และมูลค่าตลาดรวม หรือ มาร์เก็ตแคป ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2550 อยู่ที่ 6,421,618.77 ล้านบาท

อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติก็มีปริมาณขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมาจนถึงล่าสุดวานนี้ ขายสุทธิรวมกันแล้วถึง 19,424.31ล้านบาท โดยจะเห็นได้จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยวานนี้ค่าเงินบาท ปิดที่ระดับ 34.00-34.03 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าลงอีก ในขณะที่โบรกเกอร์บางสำนักมองว่านักลงทุนต่างชาติยังไม่หยุดการขายแน่นอน ซึ่งคาดว่าจะยังขายสุทธิได้ถึง 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเมื่อมองแนวโน้มและสถานการณ์ในตอนนี้แล้วจะเห็นได้ว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีฯ ในช่วงนี้ ยังได้รับการกดดันจากการขายของนักลงทุนกลุ่มนี้อยู่ แม้ว่าดัชนีฯจะปรับขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่สามารถต้านแรงขายจำนวนมากของต่างชาติได้

นอกจากนี้ยังมีข่าวด้วยว่า การขาดทุนจากการลงทุนในตลาดซับไพร์ม หรือตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ความเสี่ยง ของบรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์ และกองทุนในต่างประเทศอีกหลายกองทุน ทำให้ต้องขายหุ้นในประเทศแถบเอเซียรวมถึงตลาดหุ้นไทยไปชดเชยส่วนที่ขาดทุนในตลาดซับไพร์ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันให้ดัชนีฯ ลดลงรุนแรง แม้ว่าในช่วงเช้าเปิดตลาดฯ ดัชนีจะปรับตัวขึ้น แต่แรงขายทำกำไรออกมาอย่างต่อเนื่องในหุ้นขนาดใหญ่ก็ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงในที่สุด แม้ว่าก่อนหน้านั้นการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด จะกล่าวถ้อยแถลงยืนยันว่าตลาดซับไพร์มมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ และมั่นใจว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะดูแลและควบคุมปัญหาของตลาดดังกล่าวได้ แต่ดูเหมือนว่าถ้อยแถลงนั้นจะคลายความกังวลให้นักลงทุนแค่ระยะสั้นเท่านั้น เมื่อเทียบกับแรงเทขายที่มีออกมา หลังจากที่ปัญหาการขาดทุนของกองทุนจะหนักหนาสาหัสมากกว่าที่คาดคิดไว้

ซึ่งปัจจัยปัญตลาดซับไพร์ม น่าจะกดดันตลาดฯ อีกซักพัก จนกว่ารัฐบาลของสหรัฐฯจะมีการประกาศนโยบายหรือการแก้ปัญหาที่ชัดเจน รวมไปถึงการเปิดเผยตัวเลขรายละเอียดของตลาดดังกล่าว เพราะตอนนี้ปัญหาดังกล่าวดูจะหนักหนาสาหัสไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้ออสังหาฯ เพื่อมาเก็งกำไร แต่กลับไม่สามารถเก็งกำไรได้อีก เพราะภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลง ปริมาณความต้องการบ้านมือสองของสหรัฐฯเองก็ลดลงด้วย และอีกไม่นานหากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจิง การเกิดเอ็นพีแอลในระบบสินเชื่อของสหรัฐที่ลุกลามไปจนกระทบภาพรวมเศรษฐกิจก็อาจจะเกิดขึ้นมาจริงๆ ตามที่คาดก็เป็นได้เช่นเดียวกัน

เท่านั้นยังไม่พอมติของสภานิติบัญญัติ หรือ สนช. ให้แก้ไขคำนิยามของ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ร.บ. ต่างด้าว ในส่วนของนอมินี ให้เข้มข้นขึ้น โดยให้กระทรวงพาณิชย์ขยายความให้ครอบคลุมไปถึงอำนาจในการควบคุมกิจการ แทนที่จะเป็นการควบคุมการออกเสียงและดูสัดส่วนการถือหุ้นหรือโหวตติ้งไรท์ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเพียงอย่างเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้ต่างชาเข้ามาประกอบธุรกิจที่ทางการสงวนไว้อย่างแท้จริง โดยสนช. อ้างว่าต่างชาติสามารถมีวิธีอื่นนอกจากการออกเสียงคะแนนได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎเพื่อในส่วนของนิยามให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ แม้แต่นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ หรือแม้แต่กรรมาธิการพาณิชย์ของ สนช. รวมไปถึงเอกชนหลายแขนง ยังยอมรับว่าการเพิ่มคำนิยามดังกล่าวอาจจะกระทบการลงุทนต่างชาติ และการลงทุนใหม่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้ต่างชาติหักไปลงทุนในจีนหรือเวียดนามแทน อีกทั้งล่าสุดบรรดาสถานฑูตต่างประเทศก็เตรียมที่จะยื่นเรื่อง พ.ร.บ.ต่างด้าว ฉบับใหม่ของไทย ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพราะถือว่าไม่เป็นธรรมกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

เพราะฉะนั้นเมื่อรวมปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน จึงไม่แปลกที่ดัชนีฯในสัปดาห์นี้จะผันผวน และยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงต่อไปอีก หากยังไม่มีปัจัยบวกใดๆ เข้ามาสนับสนุนให้บรรยากาศการลงทุน และภาพรวมของดัชนีฯ ดีขึ้น และยังมีปัจจัยลบที่ยังต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด คือการประกาศผลนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ วันที่ 23 สิงหาคมนี้ ส่วนการเมืองในประเทศนั้น ตราบใดที่การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 สิงหาคม ยังไม่เกิดขึ้นก็คาดว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศคงจะยังอึมครึมกันอยู่ ยิ่งตอนนี้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตขับไล่เผด็จการ หรือ นปก. รุ่นที่ 2 เตรียมจะมีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ แม้ว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาล น่าจะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่บรรยากาศก็ยังไม่สดใสมากนัก

ในช่วง 1-2 สัปดาห์จากนี้ จึงอาจเป็นช่วงที่ตลาดฯ ต้องรอคอยสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้คลี่คลายและกลับสู่จุดที่สมดุลโดยเร็วที่สุด ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เรื่องภาวะเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งนักลงทุนที่ต้องการลงทุนก็คงต้องใจเย็นและรอดูก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน นักลงทุนระยะยาว รวมไปถึงระยะกลางคงใจเย็นรอได้เพราะเน้นถือลงทุนอยู่แล้ว โดยอาจจะหาช่วงจังหวะขายทำกำไรได้ดัชนีปรับตัวขึ้น แต่นักลงทุนระยะสั้น หรือบรรดาพวกที่ชอบเก็งกำไรก็อาจจะต้องใจถึง หาโอกาสและจังหวะของตลาดฯ ตามกรอบการขึ้นลงของดัชนีฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหุ้นเมื่อวานนี้จะปรับตัวลดลงแต่เมื่อดูจากหุ้นน้องใหม่อย่าง บมจ.ไทยง้วนเมทัล (TYM) ที่เข้าซื้อขายเป็นวันแรก กลับยืนเหนือจองได้ โดยในช่วงเปิดตลาดฯ ที่ดัชนีฯยังปรับขึ้นนั้น ราคาหุ้นเปิดตัวที่ 3.60 บาท เพิ่มขึ้นถึง 0.60 บาท จากราคาไอพีโอ หรือราคาจองที่ 3 บาท และขึ้นไปสูงสุดที่ 3.70 บาท แต่หลังจากนั้นในช่วงบ่ายราคาก็ปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยลดลงไปต่ำสุดที่ระดับ 3.22 บาท ก่อนที่จะรีบาวน์ขึ้นมาปิดที่ 3.26 บาท มีมูลค่าการซื้อขาย 322.58 ล้านบาท


* TYM ฝ่าด่านยืนเหนือจองได้ ให้ผลตอบแทนนลท. 8.66%
นายบุญชัย จิระพงษ์ตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยง้วนเมทัล จำกัด (มหาชน) (TYM) เปิดเผยถึงราคาหุ้น TYM ซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันนี้เป็นวันแรกว่ารู้สึกพอใจเป็นอย่างมาก เพราะในการเข้าซื้อขายวันแรกสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับนักลงทุนได้ถึง 8.66% ทั้งๆ ที่สภาพการซื้อขายโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ในวันนี้ไม่เอื้ออำนวย

?แม้ว่าบรรยากาศการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ในวันนี้ค่อนข้างจะผันผวนและปิดตลาดในแดนลบ โดย SET INDEX ปิดที่ระดับ 811.83 จุด ลดลง 19.81จุด แต่นักลงทุนก็ยังมีความมั่นใจในธุรกิจของบริษัท ซึ่งที่ผ่านมาผลประกอบการก้าวกระโดดมาโดยต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาหุ้น TYM เมื่อปิดตลาดก็สามารถยืนเหนือราคาจองได้ในวันนี้? นายบุญชัยกล่าว


* บีเอ็นพีพาริบาส์ ระงับการไถ่ถอนหน่วยลงทุน 3 กองทุน หลังขาดทุนตลาดซับไพร์สสหรัฐฯ
รายงานข่าวต่างประเทศระบุว่า บีเอ็นพีพาริบาส์ สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ประกาศระงับการไถ่ถอนหน่วยลงทุน 3 กองทุนวันนี้ เนื่องจากขาดทุนจากการลงทุนในตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง หรือ ซับไพร์มในสหรัฐฯ

โดยการชี้แจงของบีเอ็นพีพาริบาส์ระบุว่า จะยุติการให้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุน Parvest Dynamic ABS, BNP Paribas ABS Euribor และ BNP Paribas ABS Eonia เป็นการชั่วคราวเพื่อคำนวณผลขาดทุนจากการลงทุนในระยะที่ผ่านมา

สภาพคล่องที่ขาดหายไปในตลาดตราสารรองของสินเชื่อซับไพร์มสหรัฐฯทำให้ไม่สามารถประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่มีอยู่โดยไม่พิจารณาถึงอันดับความน่าเชื่อถือและคุณภาพของสินทรัพย์นั้นๆได้ ในการชี้แจงของบีเอ็นพีพาริบาส์ระบุ


* ภัทรียา เผยช่วง 2-3 เดือนนี้มีเงินไหลเข้า 2-3 หมื่นลบ.
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุนที่ไหลเข้าประเทศในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา (พ.ค.มิ.ย.ก.ค.) ที่มีจำนวนมากถึง 2-3 หมื่นล้านบาท เป็นเพราะความชัดเจนทางการเมืองในประเทศไทยที่เตรียมพร้อมในเรื่องของการเลือกตั้งมีความชัดเจนและมีรูปธรรมมากขึ้น จึงทำให้ต่างชาติมั่นใจและนำเงินเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ถอนร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวเพื่อกลับไปแก้ไขใหม่หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้เพิ่มคำนิยามคนต่างด้าวให้ครอบคลุมถึงอำนาจการบริหารจัดการนั้น การเพิ่มคำนิยามดังกล่าวต้องมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากไม่มีความชัดเจนอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศมีความกังวลในการเข้ามาลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย
?พ.ร.บ.ต่างด้าวนี้ ครอบคลุมการถือหุ้นและสิทธิออกเสียงของนักลงทุนต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นห่วงเรื่องความไม่ชัดเจนในนิยามเพราะหากขยายนิยามครอบคลุมไปถึงเรื่องใช้อำนาจ ต้องทำให้ชัดเจนเพราะอาจสร้างความกังวลให้นักลงทุนต่างประเทศในการเข้าลงทุนได้?นางภัทรียากล่าว

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีแนวคิดว่าควรทบทวนบัญชีแนบท้ายใหม่ โดยเฉพาะบัญชี 3ให้ครอบคลุมธุรกิจน้อยที่สุดเนื่องจากบริษัทฯจดทะเบียนส่วนใหญ่อยู่ในบัญชีนี้ โดยคิดว่าการทบทวนบัญชีดังกล่าวน่าจะเหมาะสมกว่ามาเพิ่มนิยามใหม่ ซึ่งขณะนี้ประเด็นดังกล่าวผ่าน สนช. แล้วแต่ต้องนำกลับมาให้กรรมาธิการพิจารณาอีกครั้งและคาดว่าต้องมาเจจากันอีกครั้งก่อนประกาศใช้แต่ก็คาดว่าใช้เวลาอีกระยะกว่าจะประกาศใช้

?บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่อยู่บัญชี 3ไม่มีต่างชาติควบคุมฉะนั้นจะไม่กระทบ หรือกระทบน้อย ส่วนบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในบัญชี 1และ 2 ก็มีเวลาปรับตัว? นางภัทรียา กล่าว


*บัวหลวง ระบุ นลท.กังวลซับไพร์มสหรัฐฯ ลุกลาม ฉุดดัชนีฯร่วง
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.บัวหลวง กล่าวว่า การขายทำกำไรในตลาดฯ วานนี้ โดยเฉพาะช่วงบ่ายที่ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงมาก เป็นผลมาจากนักลงทุนในประเทศยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องตลาดซับไพร์ม ในสหรัฐฯ ว่าอาจจะมีปัญหาลุกลามมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงมีประเด็นเรื่องที่ สนช.ให้ทางกระทรวงพาณิชย์ไปแก้ไขร่าง พ.ร.บการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยให้เพิ่มเรื่องอำนาจในการบริหารจัดการลงไปในคำนิยามด้วย จึงส่งผลกดดันดัชนีฯให้มีการปรับตัวลดลงตาม

ในขณะที่แนวโน้มวันพรุ่งนี้ ค่อนข้างจะประเมินยาก เนื่องจากตลาดฯ ยังคงมีความผันผวน และนักลงทุนมีประเด็นความกังวลที่หลากหลาย แต่มองว่านักลงทุนในประเทศเองน่าจะยังมีความกังวลเกี่ยวกับตลาดซับไพร์มอยู่ แม้ว่าทาง เฟดเองได้กล่าวแล้วว่า ตลาดซับไพร์มนั้นอยู่ในวงที่จำกัด แต่ทั้งนี้อาจจะด้วยเหตุผลที่นักลงทุนในประเทศมีข้อมูลไม่เพียงพอ ดังนั้นประเด็นดังกล่าวจึงอาจจะยังคงส่งผลกดดันบรรยากาศการลงทุนได้ โดยให้รอติดตามเรื่องการประกาศงบในไตรมาส 2 ต่อ หากว่าผลที่ออกมาเกินกว่าที่คาดการร์อาจจะส่งผลต่อการปรับตัวของราคาหุ้นของแต่ละบริษัทฯได้

ทั้งนี้ มองว่าตลาดฯในระยะยาวน่าจะยังคงเป็นขาขึ้นต่อ โดยมองว่าการปรับฐานช่วงนี้เป็นการสร้างฐานเพื่อขึ้นต่อ ด้วยเหตุผลที่ตัวเลขจีดีพีในช่วงครึ่งหลังนั้นน่าจะปรับตัวดีขึ้น และตลาดฯเองมีความคาดหวังเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

กลยุทธ์การลงทุน ซื้อหุ้นในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มในเครือปตท.รวมถึงหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมี และธนาคารพาณิชย์ ประเมินแนวรับไว้ที่ 810 จุด แนวต้าน 830 จุด และให้แนวต้านถัดไปไว้ที่ 840 จุด


*เคจีไอ ชี้ ต่างชาติยังขายไม่เลิกกดดันดัชนีฯ แนะนลท.รอดูสถานการณ์
นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการส่วนวิจัยเศรษฐกิจ และกลยุทธ์ ฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของตลาดฯในช่วงนี้ เป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยที่ดัชนีฯปรับลดลงหนักนั้น ก็เป็นเพราะปัจจัยลบภายในประเทศ ทั้งเรื่องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้เพิ่มคำนิยามเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการลงไปในพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รวมถึงเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีเงินทุนไหลออก จึงกกดดันบรรยากาศการลงทุน

นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนทางฝั่งยุโรป ซึ่งตอนนี้สภาพเศซรษฐกิจของทางฝั่งยุโรปเริ่มอ่อนลง จึงทำให้มีการขายหุ้นออกมาด้วย
โดยประเมินภาวะตลาดนต่อจากนี้ไปว่า จะยังคงมีการปรับตัวลดลงต่อ ซึ่งหากพิจารณาจากสัญญาณทางเทคนิค จะเห็นได้ว่าดัชนีฯอยู่ในช่วงขาลง โดยในวันพรุ่งนี้ดัชนีฯจะมีแนวรับที่ 820 จุด ซึ่งเป็นแนวรับที่แข็งแกร่ง และมีแนวรับถัดเไปไว้ที่ 790-795 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 820-824 จุด

ทั้งนี้การปรับลดลงแรงของดัชนีฯในช่วงนี้ ยังไม่มีผลต่อการปรับประมาณการเป้าดัชนีฯในปีนี้ เนื่องจากได้ประเมินไว้อยู่แล้ว ดัชนีฯในปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 740-790 จุด

กลยุทธ์การลงทุน ให้รอดูสถานการณ์ไปก่อน และเมื่อดัชนีฯปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 780 จุด ให้รอดู และเลือกซื้อหุ้นเป็นรายตัว เมื่อเห็นว่าระดับราคาดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจ


* เกริกไกร รับ สนช.ตีกลับ พ.ร.บ.ต่างด้าว กระทบจิตวิทยาการลงทุน
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ผ่านร่างพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ในการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าววานนี้ ส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาของนักลงทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายยังไม่มีความชัดเจน แต่ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนักลงทุน ซึ่งรัฐบาลยอมรับความคิดเห็นของสนช.และพร้อมที่จะปรับแก้ไขในบางประเด็นที่สามารถปรับแก้ได้

โดยยืนยันว่าการแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวเป็นไปเพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมในด้านกฎหมาย ให้มีหลักธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ และเป็นการวางระบบให้ประเทศไทยมีความเชื่อถือในระยะยาว


* สภาหอการค้าฯ ระบุ สนช.แก้ไข พ.ร.บ.ต่างด้าวเข้มขึ้น สะเทือนนลท.ต่างชาติ
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ไขคำนิยามของพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต้างด้าวว่า คงต้องใช้เวลา 2-3 วันถึงจะบอกได้ว่านักลงทุนต่างประเทศมีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งยอมรับว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่าคำนิยามเดิมของพ.ร.บ.ดังกล่าวมีความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีการปรับเปลี่ยนคำนิยามก็อาจจะมีผลต่อการลงทุนมากขึ้น

นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยเห็นด้วยกับการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับเดิมที่เคยดำเนินการไปแล้ว เพราะมองว่าน่าจะเพียงพอต่อการดูแลการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทยได้
หากสนช.จะมีการปรับกฎหมายดังกล่าวให้มีความเข้มขึ้น อาจจะมีแรงต้านและน่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุนและการทำธุรกิจของนักลงทุนต่างประเทศได้ นายดุสิต กล่าว


*ม.หอการค้าไทย แนะรัฐแก้กม.ควรคำนึงถึงนลท.ต่างชาติด้วย
ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าวว่า ไม่อยากที่จะให้ภาครัฐดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะจะมีผลต่อการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้นหากภาครัฐจะมีการปรับนโยบายหลักๆ หรือกฎหมายใดควรจะต้องดูความต้องการของนักลงทุนต่างประเทศด้วย


* บิ๊กบจ.วอนรัฐแก้ไขนิยาม ต้องชัดเจน-เข้าใจตรงกันทุกฝ่าย
ร.ศ.มานพ พงศทัต ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท รสาพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (RASA)ในฐานะนักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า การเพิ่มคำนิยามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวดังกล่าวเกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์โดยตรงเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในบริษัทฯต่างๆในตลาดหลักทรัพย์

โดยขณะนี้พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งเป็นการลงทุนโดยนักลงทุนต่างประเทศซึ่งบางแห่งเป็นนอมินีเข้ามาถือหุ้นซึ่งหากมีการเปลี่ยนคำนิยามใหม่ต้องให้มีความชัดเจนและเข้าใจตรงกันในทุกฝ่าย โดยหากสำรวจขณะนี้พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนอย่างน้อย4 บริษัท ที่มีนอมินีเข้ามาถือหุ้นแทน และในอนาคตมีโอกาสมากขึ้น

?บางบริษัทฯเป็นบริษัทฯคนไทย แต่มีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามา Take Overก็ถือเป็นนอมีนีจากต่างประเทศขณะเดียวกันบริษัทฯที่เป็นของนักลงทุนต่างประเทศแต่มีคนไทยนั่งบริหารก็ถือเป็นนอมินีจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นต้องชัดทำอะไรต้องชัดเจน?ร.ศ.มานพ กล่าว




:lol:

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com