May 5, 2024   7:01:51 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ทุ่งคา เดิมพันอนาคตที่ "ภูทับฟ้า"
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 23/06/2007 @ 16:24:53
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ภายหลัง "ทุ่งคาฮาเบอร์" (THL) ได้ประทานบัตรสำรวจและขุดแร่ทองคำที่ "ภูทับฟ้า" พื้นที่รอยต่อ 2 อำเภอ (วังสะพุง-เมือง) จังหวัดเลย และเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 จนสามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง



เป็นผลให้หุ้น THL สามารถหลุดออกจากกลุ่มฟื้นฟูกิจการ กลับเข้ามาเทรดในกระดานปกติ เมื่อ 4 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา

โรนัลด์ อึ้ง วาย ซอย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทุ่งคาฮาเบอร์ กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ฐานะการเงินของบริษัทมีความมั่นคงมากขึ้น และเหมืองทองคำที่ภูทับฟ้า ก็ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่จะมีรายได้ต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปี...แต่ราคาหุ้นของเรา หลังออกจากจุดสตาร์ทใหม่ ที่ราคาเกือบๆ 4 บาท กลับปรับลดลงเหลือเพียง 2.30-2.40 บาท ทั้งๆ ที่รายได้ในอนาคต ค่อนข้างจะแน่นอน

เขาเชื่อว่าสาเหตุที่ราคาหุ้นตกลงอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะเกิดจากข่าวลือเรื่องผู้บริหารทิ้งหุ้น!! แต่ไม่เป็นความจริง เพราะทั้งผู้บริหาร กรรมการ และพนักงานทุกคน ยังไม่มีใครขายหุ้นออกมาแม้แต่หุ้นเดียว ทั้งๆ ที่ใน 6 เดือนแรก เรามีสิทธิจะขายหุ้นได้ 25% ของหุ้นที่ติดไซเลนท์ พีเรียด

ขณะเดียวกัน การดิ่งลงของราคาหุ้น ยังเกิดจากการขายทำกำไรของกองทุนต่างๆ ที่ถือหุ้นบริษัทอยู่ เมื่อราคาหุ้นปรับลงอย่างหนัก นักลงทุนที่ซื้อหุ้นด้วยบัญชีเงินกู้ ก็จะถูกฟอร์ซเซล (บังคับขาย) ก็ยิ่งทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงไปอีก

อึ้ง วาย ซอย ย้อนภาพธุรกิจเหมืองทองคำ ว่า เมื่อปี 2546 บริษัทได้ประทานบัตรสำรวจและขุดทองคำ และปัจจุบัน บริษัท ทุ่งคำ (บริษัทย่อย) เริ่มดำเนินการขุดแร่ทองคำบนพื้นที่ภูทับฟ้า ซึ่งมีประทานบัตรที่ได้รับอนุมัติแล้วจำนวน 6 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 2 ตารางกิโลเมตร เป็นระยะเวลา 25 ปี และยังอยู่ระหว่างการขอประทานบัตรเพิ่มอีก 53 ตารางกิโลเมตร

โดยอายุประทานบัตรจะหมดลงในปี 2570 และปี 2571 แต่บริษัทยังสามารถยื่นขอต่ออายุประทานบัตรได้อีกหากยังมีปริมาณสินแร่เหลืออยู่

ส่วนธุรกิจโรงโม่หินแอนดีไซท์ ของบริษัทชลสิน (บริษัทย่อย) ก็ต้องรอความชัดเจนจากโครงการรถไฟรางคู่ เนื่องจากหินแอนดีไซท์ส่วนใหญ่จะต้องนำไปใช้ในกระบวนการสร้างทางรถไฟ (ปูทาง) ซึ่งปี 2549 ก็ทำรายได้ให้บริษัทเพียง 7.3% เท่านั้น

หมายความว่า แหล่งรายได้หลักของบริษัท จะได้มาจากการดำเนินธุรกิจ "เหมืองแร่ทองคำ" โดยรายได้จากการขายทองคำ จะมีสัดส่วนประมาณ 95% ของรายได้รวม

"อนาคตของเราต่อจากนี้ จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จจากธุรกิจเหมืองทองคำมากที่สุด" ผู้บริหารทุ่งคากล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า

ในปี 2550 คาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากการขายทองคำไม่น้อยกว่า 525 ล้านบาท จากแผนผลิตทองคำในช่วง 4 ปีแรก (2550-2553) ประมาณปีละ 25,000 ออนซ์ และด้วยปริมาณสำรองแร่ที่มีการสำรวจ (เฉพาะที่ได้รับการรับรองแล้ว) ปริมาณถึง 4.49 ล้านตัน เป็นปริมาณที่จะสามารถนำมาผลิตเป็นทองคำบริสุทธิ์ได้ถึงเกือบๆ 600,000 ออนซ์

หรือหากคำนวณที่กำลังการผลิตปัจจุบันที่วันละ 1,200-1,500 ตัน ปริมาณสำรองแร่ดังกล่าว (4.49 ล้านตัน) จะสามารถนำมาใช้ในการผลิตได้เป็นระยะเวลา 10 ปี

อย่างไรก็ตาม อึ้ง วาย ซอย ยอมรับว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 2 ที่ออกมา อาจจะต้อง "ติดลบ" อีกครั้ง หลังจากที่ผลการสกัดทองคำ (Recovery Rate) ที่อยู่ในระดับที่ 80% ผิดไปจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะไม่ต่ำกว่า 90% ขณะที่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา รายได้จากการขุดทองก็ไม่เป็นไปตามคาดมาแล้วครั้งหนึ่ง

เดิมทีบริษัทตั้งเป้าค่าความสมบูรณ์ของแร่ทองคำไว้ไม่ต่ำกว่า 2.00 กรัมต่อตัน แต่ค่าความสมบูรณ์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา กลับทำได้เพียง 1.66 กรัมต่อตัน และ 1.27 กรัมต่อตัน ตามลำดับ

"แต่สินแร่ที่ได้ถือว่ามีคุณภาพดี เพียงแต่กระบวนการทำเหมืองทองคำ มันต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาความสามารถในการสกัด จากนั้นผลลัพธ์มันจะดีขึ้นเอง"

เขาอธิบายต่อไปว่า นักลงทุนในเมืองไทยทั้งรายย่อยและสถาบัน ยังมีความเข้าใจในเรื่องของอุตสาหกรรมเหมืองแร่น้อยเกินไป และในตลาดหุ้นไทยก็มีเพียงแค่ 2 รายคือ "ทุ่งคาฮาเบอร์" และ "ผาแดง อินดัสทรี" ซึ่งเทียบไม่ได้กับตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ตลาดลอนดอน ซึ่งมีหุ้นเหมืองแร่อยู่นับร้อยบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะนำบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่งคือ "บริษัท ทุ่งคำ" (เหมืองทอง) และ "บริษัท ทรัพยากรสมุทร" (เหมืองดีบุก) ไปลิสต์อยู่ที่ตลาดหุ้นไอเอ็มเอที่ลอนดอน โดยที่บริษัทแม่จะยังคงลิสต์อยู่ในตลาดหุ้นไทยต่อไป และจะถือหุ้นอยู่ในบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง ไม่น้อยกว่า 51%

ขณะนี้ บริษัทมีแผนที่จะยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ดีบุกนอกชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยจะเข้าไปถือหุ้นบริษัททรัพยากรสมุทร ประมาณ 84% คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องประทานบัตรและค่าภาคหลวง ประมาณต้นปี 2551 เบื้องต้นจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 25 ล้านดอลลาร์ (875 ล้านบาท) เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเรือขุดเจาะ 1 หัว ซึ่งบริษัทได้เตรียมเงินกู้ยืมจากดอยช์แบงก์ไว้เรียบร้อยแล้ว

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com