May 6, 2024   2:33:47 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > จุดบรรจบ "ภัทร" ควบ "เมืองไทย" สู่ปลายทา
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 23/06/2007 @ 16:22:58
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

แม้ต้นทางการควบรวมกิจการ ระหว่าง "ภัทรประกันภัย" กับ "เมืองไทยประกันภัย" จะอยู่ที่ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ แต่ปลายทางที่ลึกซึ้งกว่านั้น ของ "โพธิพงษ์ ล่ำซำ" จุดบรรจบของแม่น้ำ 2 สาย กลับแฝงไว้ซึ่งการวางขุมอำนาจทางการเมือง ควบคู่กัน



ที่ผ่านมา Core-Business ของตระกูลล่ำซำ ถูกแบ่งออกเป็น 3 สายหลัก คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มการค้า (ล็อกซเล่ย์) และกลุ่มประกันภัย/ประกันชีวิต จนเมื่อสองกลุ่มแรกถูกจัดโครงสร้างไว้ชัดเจน ภายใต้แบรนด์ "เค-กรุ๊ป" และ "ล็อกซเล่ย์" ภารกิจถัดมาจึงต้องรวมสายประกันที่เคยแตกเป็น 2 สาย เข้าไว้ด้วยกัน

โพธิพงษ์ ล่ำซำ ประธานกรรมการ บมจ.ภัทรประกันภัย (PHA) และประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท เมืองไทยประกันภัย อธิบายไว้ว่า แต่ละสายธุรกิจจะแยกหน้าที่บริหารกันอย่างชัดเจน

"เส้นทางธนาคารพาณิชย์ (เครือธนาคารกสิกรไทย) แรกทีเดียวมี บัญชา-บรรยงค์ ล่ำซำ เป็นผู้ดูแล พอท่านบัญชาก้าวออกไป ลูกชายของท่าน (บัณฑูร) ก็ขึ้นมาดูแลธุรกิจต่อ ส่วนบริษัทในกลุ่มการค้า หรือ "ล็อกซเล่ย์" จะมีทาง ไพโรจน์-ธงชัย ล่ำซำ ทำหน้าที่ดูแลกิจการ

ซึ่ง 2 Core-Business แรก (เค-กรุ๊ป และล็อกซเล่ย์) จะมีการรวมกลุ่มกันชัดเจน ทำให้เป้าหมายธุรกิจจะอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกัน และสำหรับ "กลุ่มประกัน" ตัวผม (โพธิพงษ์) เป็นคนดูแล และจะเห็นได้ว่าตัวผมมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจทั้งหมด"

เจ้าสัววัย 73 ปี ที่หันเหชีวิตเข้าสู่แวดวงการเมือง อธิบายต่อว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา พี่น้องในตระกูลล่ำซำ จะไม่เคยทะเลาะกัน เพราะเราแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันชัดเจน เพราะฉะนั้น จึงไม่เคยมีศึกสายเลือด

ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจประกันภัยของตระกูล ถูกแยกออกเป็น 2 สาย คือ บมจ.ภัทรประกันภัย และ บริษัทเมืองไทยประกันภัย ซึ่งถูกแยกออกมาจากบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2541 ในสมัยรัฐบาล "ชวน 2" ซึ่งโพธิพงษ์ มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ อยู่ในขณะนั้น

ก่อนที่จะมีการแยกฝ่ายประกันวินาศภัย ออกมาจากบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต และตั้งเป็น บริษัทเมืองไทยประกันภัย

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ และแรงกระตุ้นจากอนาคตการเมือง ส่งผลให้กลุ่มประกัน ภายใต้การดูแลของโพธิพงษ์ ทั้งสองแห่ง (ภัทรประกันภัย-เมืองไทยประกันภัย) จำเป็นต้องควบกิจการเข้าด้วยกัน ในซีกหนึ่งอาจเพื่อปูทางสายการเมืองให้กับบุตรสาวคนโต "คุณแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ แต่การควบกิจการรอบนี้ ย่อมแน่นอนว่า ฐานธุรกิจของกลุ่มประกันต้องแข็งแกร่งขึ้น

โพธิพงษ์บอกว่า หลังรวมกันแล้ว เราจะกลายเป็นบริษัทประกันที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ติด 1 ใน 7 รายแรกของประเทศ ทันที พร้อมกับวางเป้าหมายอนาคตว่า ภายใน 5 ปี ต้องขึ้นเป็นบริษัทประกันภัยติด TOP 5 ของประเทศ ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม อย่างต่ำๆ 7,000 ล้านบาท

"ไอเดียควบกิจการมันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เพราะเห็นว่าการแยกธุรกิจในเครือเดียวกันออกเป็น 2 สาย มันไม่ค่อย Make Sense (สมเหตุสมผล) ก็จับรวมกันซะ และการตัดสินใจครั้งนี้ก็มีการปรึกษากับพี่น้องในตระกูลแล้วว่าเห็นด้วยหรือไม่

เพราะไม่ว่าจะเป็น "บัณฑูร-บรรยงค์-ไพโรจน์" ทุกคนเห็นพ้องกันว่า ควบกิจการเป็นบริษัทเดียวกันดีกว่า..ผมก็รับลูกต่อมา เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบในสายงานนี้"

นายทุนคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธด้วยคำอธิบายว่า การเทคโอเวอร์ครั้งนี้ไม่ใช่ว่า บริษัทเมืองไทยประกันภัย อ่อนแอกว่า เพราะทั้งคู่ต่างก็มีคุณสมบัติเด่นที่ต่างกัน คือ บมจ.ภัทรประกันภัย จะเด่นในธุรกิจ "แนวลึก" ส่วนบริษัทเมืองไทยประกันภัย ก็เก่งในธุรกิจ "แนวกว้าง"

"ภัทรประกันภัยจะมีพอร์ตส่วนใหญ่เป็นเบี้ยรับจากประกันอัคคีภัย งานเบ็ดเตล็ด และประกันภัยทางทะเล ซึ่งลูกค้าเป็นกลุ่มองค์กรและสถาบัน ขณะที่เมืองไทยประกันภัย ก็เก่งในงานมอเตอร์ (ประกันภัยรถยนต์) ซึ่งทางนั้นเขามีฐานลูกค้ารายย่อยมาก"

โพธิพงษ์อธิบายขั้นตอนการควบกิจการไว้ว่า จากนั้นบริษัททั้ง 2 แห่ง จะคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ แล้วจะขอใบอนุญาตของบริษัทที่จะเกิดขึ้นใหม่

ทั้งนี้ การรวมกิจการกันยังส่งผลให้บริษัทเมืองไทยประกันภัย ถูกจัดเข้าไปลิสต์อยู่ในตลาดหุ้นโดยอัตโนมัติ ภายใต้บริษัทแห่งใหม่ที่จะมีการตั้งชื่อใหม่

"บางคนอาจมองได้กลายๆ ว่า นี่เป็นวิธีเอาบริษัทเมืองไทยประกันภัยเข้าตลาดหุ้น แต่แท้จริงแล้วบริษัทในกลุ่มเมืองไทย เราไม่จำเป็นต้องเข้าตลาดหุ้นก็ได้ แต่เมื่อทางภัทรประกันภัย เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอยู่ก่อนแล้ว เราก็ต้องมาทางนี้ มันก็อาจทำให้บางคนมองไปทางนั้นได้" โพธิพงษ์ ชี้แจง พร้อมอธิบายต่อว่า

ตอนนี้ทางกรมการประกันภัย ก็สนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยเกิดการควบรวมกิจการกันมากขึ้น และส่วนตัวเองก็เห็นด้วย เพราะขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยเพียงระดับนี้ ไม่ควรมีบริษัทประกันภัยจำนวนมากถึง 74 แห่ง มันมากเกินไป

"ยิ่งวันข้างหน้า บริษัทประกันภัยที่มันเล็กเกินไป ก็คงจะดำเนินกิจการได้ยากลำบาก คืออยู่ยาก"

ทางด้าน นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทยประกันภัย กล่าวว่า ภายหลังรวมกันแล้ว พอร์ตการลงทุนของบริษัทจะต้องใหญ่ขึ้น ซึ่งมีโอกาสและช่องทางในการลงทุนมากกว่า..แต่ก็ต้องเป็นไปตามสัดส่วนที่กรมการประกันภัยกำหนด

ส่วนความสามารถในการทำกำไรจาก "การรับประกันภัย" และ "การลงทุน" ของบริษัททั้ง 2 แห่ง

"เมืองไทยฯ จะกำไรมากกว่าในด้านของการลงทุน แต่ทางภัทรฯ จะมากกว่าในด้านของกำไรจากการรับประกันภัย...แต่จริงๆ ก็พูดยาก เนื่องจากธุรกิจของเมืองไทยฯ เป็นรถยนต์เกือบ 70% ส่วนของ ภัทรฯ จะเป็นงาน นอน-มอเตอร์ คือไม่มีรถยนต์เลย เพราะเขาจะเน้นธุรกิจประกันอัคคีภัยเป็นหลัก"

นวลพรรณประเมินว่า การควบกิจการครั้งนี้ จะเป็นสูตร 1+1 ได้เท่ากับ 3 โดยเชื่อว่าหลังจากมารวมกันแล้ว พอร์ตลงทุนของบริษัทจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น แต่ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และจากนั้น จะมีการศึกษาโปรดักท์ใหม่ๆ เพื่อที่จะก้าวเข้าไปสู่ช่องทางและโอกาสการลงทุนที่มากขึ้น

 กลับขึ้นบน
อาฟง
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
#1 วันที่: 23/06/2007 @ 16:23:35 :
วิถีใหม่ "นวลพรรณ ล่ำซำ" [/color:53a1e74ab6">

การบรรจบของแม่น้ำทั้งสองสาย ระหว่าง ภัทรประกันภัย และ เมืองไทยประกันภัย ภายใต้แม่น้ำสายหลักเดียวกัน ของตระกูล "ล่ำซำ" เป็นหนทางที่เลี่ยงไม่ได้ว่า นี่คือวิธีการหา "ทางลง" จากภาพนักธุรกิจ แล้วก้าวต่อในเส้นทางการเมืองของ "คุณแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ หลังจากที่เธอเข้าไปเป็น "ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์" ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ หนุนอยู่ข้างหลัง


เป็นที่ทราบกันว่า คุณสมบัติของนักการเมืองยุคใหม่ ต้องฉายภาพลักษณ์ความเป็น "คนรุ่นใหม่" ที่ประสบความสำเร็จอย่างเด่นชัด และยังจำเป็นต้องมี "ทุน" หนุนหลัง...ยิ่งมากยิ่งดี รวมไปถึง ต้องมีคอนเนคชั่นกับ "กลุ่มทุนนักธุรกิจ" ประเด็นนี้ นวลพรรณ ที่พ่วงท้ายด้วยนามสกุล "ล่ำซำ" นับว่ามีความพร้อม

"โพธิพงษ์ ล่ำซำ" (บิดาของนวลพรรณ) กรรมการ และอยู่ในคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรค เริ่มย่างเข้าสู่ช่วงชรา ด้วยวัย 73 ปี นัยครั้งนี้สื่อไปถึงการสืบทอดทายาททางการเมือง อย่างชัดเจน

แม้ว่า นวลพรรณ จะยังคงแบ่งรับแบ่งสู้กับตำแหน่งทายาททางการเมืองสืบจากพ่อ และยังไม่ตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนักการเมืองหรือสมัคร ส.ส. ในตอนนี้ แต่เธอยอมรับว่า...

"เส้นทางการเมืองในอนาคต ยังไม่กล้ามองไกลขนาดนั้น แต่ถ้าหากเราต้องมีตำแหน่งทางการเมืองจริงๆ แล้วจะไปควบตำแหน่งอยู่ในธุรกิจของตระกูลด้วย...มันก็น่าจะสามารถทำได้ แต่ต้องดูให้ดีๆ เพราะโดยส่วนตัวถ้าคิดจะทำงานในส่วนไหนส่วนหนึ่ง ก็ต้องทำให้ดีที่สุด"

ขณะที่ธุรกิจประกันของตระกูล "กฤตยา ล่ำซำ" กรรมการผู้จัดการ บมจ.ภัทรประกันภัย (ลูกพี่ลูกน้องกับนวลพรรณ) ก็ยอมรับว่า เธอเองคงเข้าไปนั่งบริหารงานในตำแหน่ง "กรรมการผู้จัดการ" อย่างเต็มตัว ภายหลังการควบกิจการเสร็จสมบูรณ์

...มันชัดเจนว่า ถึงนาทีนี้ "นวลพรรณ ล่ำซำ" ได้เลือกแล้ว ที่จะ "ไป" สู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มหัวใจ...ภายใต้โจทย์ที่ "พรรคประชาธิปัตย์" มีโอกาสได้เป็นแกนนำ ตั้ง "รัฐบาลผสม" มากที่สุด

ส่วนข้อถามที่ว่า การที่ลูกสาวคนโต...เริ่มมีบทบาทในพรรคมากขึ้น จะทำให้ภาพธุรกิจประกันไปเกี่ยวโยงกับการเมืองมากเกินไปหรือไม่ ?

โพธิพงษ์ ผู้พ่อ...ตอบชี้แจงว่า "เราไม่ใช่ธุรกิจการเมือง และไม่เกี่ยวกัน การเมืองส่วนการเมือง ธุรกิจก็คือธุรกิจ ซึ่งทางแป้ง (นวลพรรณ) แม้ว่าจะทำงานให้พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นสมาชิกของพรรค แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่ได้ลงสมัครเป็น ส.ส.

"ส่วนภาพธุรกิจของตระกูลที่อาจเข้าไปเกี่ยวโยงกับการเมือง แล้วตัวผมวันนี้ล่ะ เป็นทั้งสมาชิกพรรค และเคยเป็น ส.ส. หรือแม้แต่รัฐมนตรีช่วย (รมช.พาณิชย์) ก็เป็นมาหมดแล้ว ยังไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร ระหว่างหน้าที่ทางการเมืองกับธุรกิจของตระกูล"

โพธิพงษ์ ฝากประเด็นที่น่าคิด ปิดท้ายว่า ตัวเองเคยเป็นมาแล้ว ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน มันน่าคิดหรือไม่ว่า เพราะอะไรธุรกิจและตัวผมถึงยังดำเนินต่อไปได้ (โดยไม่มีศัตรูคู่อาฆาต)

"ถ้าแป้งเขาตัดสินใจที่จะเข้าสู่ชีวิตทางการเมืองจริงๆ ก็อยากจะให้ลูกสาวเลือกวิธีเดินในเส้นทางการเมืองเช่นเดียวกับที่พ่อ (โพธิพงษ์) เดินมาก่อน"

นี่คือ การเล่นการเมือง แบบ "โลกาภิวัตน์" ภายใต้เกมของ "ตระกูลล่ำซำ" ที่บาลานซ์ระหว่าง "ธุรกิจ" และ "การเมือง" ได้อย่างกลมกลืน

---------------------------------
 กลับขึ้นบน
innocent
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 729
#2 วันที่: 23/06/2007 @ 20:23:02 :
ปชป. จะได้ สส. หญิงคนสวยแล้วเหรอเนี่ย... :wink:
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com