May 5, 2024   5:58:35 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ปตท.พุงกาง ไอพีพีมีแต่โรงไฟฟ้า "ก๊าซ"
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 23/06/2007 @ 16:19:51
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

"การประมูลไอพีพีรอบนี้ คงจะมีแต่โรงไฟฟ้าก๊าซเท่านั้นที่ชนะการประมูล ซึ่งเสี่ยงมากหากนำเรื่องความมั่นคงของประเทศไปผูกติดกับบริษัทเดียวคือ ปตท. เนื่องจาก ปตท.ต้องเป็นผู้จัดหาก๊าซ ป้อนให้กับโรงไฟฟ้า



เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการประมูลไอพีพีในรอบนี้ว่า การเปิดประมูลไอพีพี 3,200 เมกะวัตต์รอบนี้ รัฐไม่ได้กำหนดประเภทเชื้อเพลิง เปิดกว้างให้เอกชนสามารถเสนอโรงไฟฟ้าประเภทไหนก็ได้ ทำให้เอกชนส่วนใหญ่มุ่งเสนอตัวประมูลเฉพาะโรงไฟฟ้าก๊าซเท่านั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงจากการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจากมวลชน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าหินกรูดและบ่อนอกมาแล้ว

โรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิต 2,800 เมกะวัตต์ ที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นผู้ลงทุนเอง แม้ยังไม่เห็นปัญหาในแง่เสถียรภาพด้านพลังงาน การกระจายความเสี่ยงแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าไม่ให้ผูกติดกับก๊าซธรรมชาติมากจนเกินไป เพราะปัจจุบันยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.มาขัดตาทัพ

แต่นโยบายดังกล่าว จะเกิดปัญหาในการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว ไม่ต่างกับการ "ทิ้งปัญหา" ให้รัฐบาลชุดถัดไป เป็นผู้สะสาง

การผูกติดการผลิตไฟฟ้าไว้กับเชื้อเพลิงใดเชื้อเพลิงหนึ่งมากจนเกินไป หากระบบการผลิตไฟฟ้าของเชื้อเพลิงชนิดนั้นมีปัญหา จะไม่สามารถ "สวิตช์" ไปให้เชื้อเพลิงอื่นได้เพียงพอและทันท่วงที การผูกขาดเชื้อเพลิงยังจะส่งผลกระทบต่อ "ค่าไฟฟ้า" ในอนาคต

เขาเชื่อว่า ผู้ที่จะชนะการประมูลไอพีพีรอบนี้ จะเป็นโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมด โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นบริษัทลูกของ กฟผ.อย่างราชบุรีโฮลดิ้งและเอ็กโก เมื่อทีโออาร์เปิดทางให้บริษัทเหล่านี้สามารถเข้าร่วมประมูลไอพีพีได้ แม้จะกำหนดสัดส่วนหุ้น กฟผ.ที่ถือหุ้นในบริษัทลูกต้องไม่เกิน 50%ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟที่ 25 ปีก็ตาม เนื่องจาก กฟผ.ได้สิทธิในการผลิตไฟฟ้า 50% ของความต้องการไปแล้ว การได้กำลังการผลิตเพิ่มเติมจากบริษัทลูก จึงมีข้อกังวลว่าจะเข้าข่ายการผูกขาดกิจการไฟฟ้าหรือไม่

"ถ่านหินเกิดขึ้นได้ยาก ประชาชนยังต่อต้านสูง จึงเป็นเรื่องที่ยากจะดำเนินการ อีกทั้งคงต้องใช้ระยะเวลาในการชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงของการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า เมื่อประชาชนเข้าใจดีแล้ว ต่อไปก็ไม่ใช่ปัญหาของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน"

ส่วนการประมูลไอพีพีรอบใหม่นี้ จะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเก่าจากความพร้อมด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ (ทำเลที่ตั้ง-สายส่ง-น้ำดิบ) มากกว่าเอกชนรายใหม่หรือไม่นั้น แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน "ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์" ยังออกปากแบ่งรับแบ่งสู้ทำนองว่า...

"รายใหม่เข้ารอบนี้ไม่ทัน ก็เข้ารอบหน้าได้ ซึ่งจะเปิดประมูลอีกรอบในอีก 3 ปีข้างหน้า ก็น่าจะดีกว่า"

เขายอมรับว่า รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เป็นปัจจัยหนึ่งในการให้คะแนน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของภาคเอกชนรายเดิม ที่มักจะเตรียมพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยผ่านอีไอเอแล้ว แต่ก็ยังมีปัจจัยในการเสนอราคา ที่ทำให้ภาคเอกชนรายใหม่เข้ามาได้เช่นกัน

"ไอพีพีไม่เงื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตรายเดิม แต่เอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภค แต่ต้องยอมรับว่าบางรายเขาเตรียมตัวมา 5 ปีแล้ว ก็ทำอีไอเออนุมัติไปแล้ว ถือว่าเขาเตรียมการไปพอสมควรแล้ว คนใหม่ยังไม่พร้อม รอไปอีก 3 ปีก็ไม่นานเกินไปไม่ใช่เหรอ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ย้ำ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังบอกด้วยว่า แม้จะมีนักวิชาการบางคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับแผนการเปิดประมูลไอพีพี คงต้องย้อนถามไปว่านักวิชาการเหล่านั้นเป็นกลุ่มไหนและใคร แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเปิดรับฟังความเห็นไปเรียบร้อยแล้ว

?คุณต้องแยกให้ออกว่านักวิชาการกลุ่มใด หรือเอ็นจีโอกลุ่มใด อย่าไปเหมารวม ว่าไม่เห็นด้วยกับการเปิดประมูลไอพีพีในรอบนี้ แม้เขาจะไม่เห็นด้วย รัฐบาลเองก็ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปหลายรอบแล้ว และเชื่อว่าคงไม่มีผลกระทบอย่างใดต่อการเปิดประมูลไอพีพีในรอบนี้? เขากล่าว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หาก กฟผ.ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ จะทำอย่างไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า... "กฟผ.ต้องทำได้ เพราะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ย้ำนะว่า... แห่งประเทศไทย?

ขณะที่นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่า ยังมีเงื่อนไขในการประมูลไอพีพีรอบนี้ ที่สมควรต้องแก้ไข

โดยเฉพาะเรื่องที่รัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยเงื่อนไขการประมูลที่ระบุถึงความรับผิดชอบของภาคเอกชนต่อ "ประเด็นสิ่งแวดล้อม" ที่สังคมต้องการรับทราบว่า ท้ายที่สุดแล้วภาคเอกชนจะต้องลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ และจะผลักภาระส่วนหนึ่งเข้ามาในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนหรือไม่

ในเงื่อนไขเดิมระบุว่า ภาคเอกชนรายเดิมที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว สามารถรับการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปได้ แนวทางคือ การเรียกเก็บในบิลค่าไฟฟ้าจากประชาชน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเข้าใจว่าสำหรับเอกชนรายใหม่ที่จะเข้าร่วมประมูลไอพีพีรอบนี้ สามารถนำไปคิดรวมเป็นต้นทุนของบริษัทได้ด้วย จึงอยากจะให้รัฐบาลชี้แจงข้อมูลในส่วนนี้ให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบทั่วกัน

เขายังบอกอีกว่า ได้เสนอแนวทางให้รัฐบาลกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในการผลิตไฟฟ้าใหม่ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าที่เอกชนดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน แต่ภาคเอกชนไม่ยอมรับแนวทางนี้ เพราะกลัวว่าจะเสียเปรียบ

ด้าน สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เปิดใจว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเปิดประมูลไอพีพีรอบนี้ เพราะเหมือนกับให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงก๊าซมากไป เท่ากับว่าเป็นการเน้นการจัดหาเชื้อเพลิงมากกว่าการ "บริหารจัดการเชื้อเพลิง" ให้มีประสิทธิภาพ

เธอยังเชื่อว่า ในการประมูลไอพีพีรอบนี้ คงจะมีแต่โรงไฟฟ้าก๊าซเท่านั้นที่ชนะการประมูล ซึ่งเสี่ยงมากกับการนำเรื่องความมั่นคงของประเทศไปผูกติดกับบริษัทเดียวคือ ปตท. เนื่องจาก ปตท.ต้องเป็นผู้จัดหาก๊าซป้อนให้กับโรงไฟฟ้า ผ่านการผูกขาดกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ หากเกิดอะไรขึ้นกับ ปตท.คงจะลำบาก

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่ายังมีการประมูลไอพีพีในรอบถัดไปอีกที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ และยังได้ให้สิทธิ กฟผ.สร้างโรงถ่านหินเพียงรายเดียว แต่ก็เหมือนกับว่ารัฐบาลชุดนี้ผลักภาระให้กับรัฐบาลชุดต่อไปให้ต้องตัดสินใจอีกครั้ง

สิ่งเดียวที่คิดว่ารัฐบาลชุดนี้ได้ก็คือ เสียงชื่นชมจากนักลงทุน ขณะที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้โยงเข้ากับการเมืองได้ทั้งหมด ต้องดูให้ดีว่าใครเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดกับโครงการนี้

************************************

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com