May 5, 2024   8:04:27 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เปิดจุดตำหนิ..งบการเงิน "IEC" เจ๊งหุ้น-เงินสดอันตร
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 02/06/2007 @ 13:20:32
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

แกะงบการเงิน..หุ้นร้อน "ไออีซี" พบ "รอยตำหนิ" เยอะมาก เริ่มตั้งแต่เงินลงทุนใน Non-Core Business ที่บริษัทไม่เชี่ยวชาญ ตั้งบริษัทย่อย..ซื้อหุ้น "ขาดทุน" หรือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่มีใบเสร็จมายืนยัน เป็นต้น



จุดเริ่มต้นของ บมจ.แนเชอรัล พาร์ค (เอ็นพาร์ค) บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น (ปิคนิค) และ บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิล เอนจีเนียริง (ไออีซี) แทบจะไม่แตกต่างกัน นั่นคือ การขยายอาณาจักร..ภายใต้ยุทธศาสตร์ "ดาวกระจาย" แตกการลงทุนออกไปหลากหลายช่องทาง

ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน สร้างข่าว..ผลักดัน "ราคาหุ้น" แล้วใช้ราคาหุ้นไปสร้าง "ทุน" มาต่อยอดธุรกิจ

..และสร้างสตอรี่ธุรกิจ ไป "ต่อทุน" อีกทอดหนึ่ง

จุดพลาด ก็คือ "ทุน" ที่ได้มาก้อนแล้วก้อนเล่า แทนที่จะนำไป "ลดหนี้" หรือลงทุนใน Core Business ผู้บริหารกลับนำไปลงทุนใน Non-Core Business ที่ตัวเองไม่เชี่ยวชาญ และมีวัตถุประสงค์..แอบแฝง ที่ไม่บริสุทธิ์

วันนี้ ทุกคนเห็น "จุดจบ" ของอาณาจักร..เอ็นพาร์ค กับ อาณาจักร..ปิคนิค แล้วว่าเป็นอย่างไร? อาณาจักร..ไออีซี ก็กำลังจะเป็นเช่นนั้น

เหตุก็เพราะ..ตัวเลขขาดทุน กำลัง "กินทุน" ไออีซี ให้ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ เมื่อไรที่ "สายป่าน" (เงิน) ขาดมือ เมื่อนั้น..เกมก็จบ!!!

ในงบการเงินไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2550 พบ "จุดตำหนิ" อยู่ในงบการเงินฉบับนี้ ของ "ไออีซี" หลายจุดมาก

เริ่มตั้งแต่ ส่วนที่ 1 รายงานการสอบทานงบการเงิน โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต "อธิพงศ์ อธิพงศ์สกุล" จาก บริษัท เอเอ็นเอส ออดิท ลงความเห็นว่า "ข้าพเจ้าไม่อาจแสดงความเห็นต่องบการเงินที่สอบทาน (ของไออีซี) ได้"

จุดตำหนิที่หนึ่ง..บริษัท คริสตัล อะโกร บริษัทย่อยของไออีซี ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศกัมพูชา ประกอบธุรกิจทำสัมปทานป่าไม้ (Non-Core Business) โดยเล็งไปที่ค่าใช้จ่าย จำนวน 54 ล้านบาท ที่ไม่มีเอกสารประกอบ และเงินค่าสิทธิสัมปทานอีก 1 ล้านดอลลาร์ (38.45 ล้านบาท) เป็นรายจ่ายที่เหมาะสมหรือไม่

จุดตำหนิที่สอง..บริษัท ไออีซี บิซิเนส พาร์ทเนอร์ส บริษัทย่อยอีกแห่งของไออีซี กรณีทำสัญญาซื้อทรัพย์สินกับบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำนวน 465 ล้านบาท (Non-Core Business) ซึ่งบริษัทดังกล่าวถูกฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล ในข้อหาฐานความผิด "ยักยอก" ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1464/2550

ซึ่งคดีนี้ฝ่าย "โจทก์" (สมิทธิ์ จึงวิวัฒน์อนันต์) ค่อนข้าง "ถือไพ่" เหนือกว่า

อย่างไรก็ตาม ไออีซี ไม่ได้มี "จุดตำหนิ" เพียงเท่านี้ โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปดูใน "หมายเหตุประกอบงบการเงิน..ข้อที่ 4 "เงินลงทุนชั่วคราว" (ในตลาดหุ้น) ผ่าน..พอร์ตไออีซี เอง และพอร์ตของ..บริษัทย่อย ไออีซี บิซิเนส พาร์ทเนอร์ส

รายการนี้ ถือเป็น Non-Core Business "ตัวเอ้" เป็นอีกจุดสำคัญที่ทำให้กระแสเงินสดของบริษัท "อันตรธาน" ไปจำนวนมาก..

หุ้นตัวที่ 1 "NEP" จำนวน 6,002,600 หุ้น ลงทุน 44.85 ล้านบาท มีต้นทุนเฉลี่ยที่หุ้นละ 7.47 บาท (พาร์ 10 บาท) หุ้นตัวที่ 2 "EMC" จำนวน 20,000,000 หุ้น ลงทุน 72.27 ล้านบาท มีต้นทุนเฉลี่ยที่หุ้นละ 3.61 บาท หุ้นตัวที่ 3 "NNCL" จำนวน 14,000,000 หุ้น ลงทุน 46.054 ล้านบาท มีต้นทุนเฉลี่ยที่หุ้นละ 3.29 บาท

หุ้นตัวที่ 4 "PLE" จำนวน 10,000,000 หุ้น ลงทุน 95.057 ล้านบาท มีต้นทุนเฉลี่ยที่หุ้นละ 9.50 บาท หุ้นตัวที่ 5 "LIVE" จำนวน 11,202,700 หุ้น ลงทุน 19.80 ล้านบาท มีต้นทุนเฉลี่ยที่หุ้นละ 1.76 บาท หุ้นตัวที่ 6 "TCMC" จำนวน 650,000 หุ้น ลงทุน 5.43 ล้านบาท มีต้นทุนเฉลี่ยที่หุ้นละ 8.36 บาท

เงินลงทุนในหุ้น ทั้งหกตัว แจ้งราคาทุนไว้ที่ 205.99 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 ระบุตัวเลขขาดทุน จำนวน 77.47 ล้านบาท

..เงินลงทุนก้อนนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไปรับช่วงต่อ "หุ้นราคาแพง" มาจาก "ไอ้โม่ง" คนใดมาหรือไม่!!

นอกจากนี้ เงินลงทุน "ก้อนใหญ่" ที่ถูกนำไปลงทุนในหุ้น "บลิส-เทล" (BLISS) ก็ถูกตั้งคำถามในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

ทั้งนี้ พบว่า "ไออีซี" มีเงินลงทุนในหุ้น BLISS จำนวน 60,886,900 หุ้น สัดส่วน 19.33% คิดเป็นเงินลงทุน 270.95 ล้านบาท หรือมีต้นทุนเฉลี่ยหุ้นละ 4.45 บาท ขณะที่กิจการของ "บลิส-เทล" ก็มีสถานะ "ขาดทุน" เป็นจำนวนมาก

จุดตำหนิต่อมา ใน.."หมายเหตุประกอบงบการเงิน...ข้อที่ 6 "รายการธุรกิจกับกิจการที่เกี่ยวข้อง" มีการตัด ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ของลูกหนี้บริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น..

หนึ่ง..บริษัท ไออีซี โมบาย ระบุธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และซิมการ์ด (ไออีซี ถือหุ้น 100%) ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ของลูกหนี้รายนี้สูงถึง 136.72 ล้านบาท

สอง..บริษัท คริสตัล อะโกร ระบุธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศกัมพูชา (ไออีซี ถือหุ้น 50%) ทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จากเงินสดที่ ไออีซี ให้กู้ยืมระยะสั้น กับบริษัทแห่งนี้ จำนวน 55.67 ล้านบาท

สาม..บริษัท เอธนิค เอิร์ธ ดอทคอม โฮลดิ้ง (ไออีซี ถือหุ้น 11.80%) ทุนจดทะเบียน 68 ล้านบาท หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จากเงินสดที่ ไออีซี ให้กู้ยืมระยะสั้นกับบริษัทแห่งนี้ จำนวน 35.44 ล้านบาท

..กระแสเงินสดของ ไออีซี หายไปกับ..ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ อย่างไร้ร่องรอย

นอกจากนี้ ใน "หมายเหตุประกอบงบการเงิน..ข้อที่ 19 "ภาระผูกพันและหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้น" จุดที่น่าสนใจ อยู่ในข้อที่ 19.3 ไออีซี และบริษัทย่อยมีภาระผูกพันตามสัญญาเช่าระยะยาว กับเจ้าของอาคาร IEC Complex (ย่านถนนรามคำแหง) ณ วันที่ 16 กันยายน 2548 เป็นระยะเวลา 16 ปี 8 เดือน

โดยมีค่าเช่า จ่ายในปีแรก เดือนละ 1,260,000 บาท และเพิ่มขึ้นตามสัญญา ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2565 รวมค่าเช่าที่ต้องจ่าย ทั้งหมด 644 ล้านบาท

เจ้าของอาคาร IEC Complex คือ บริษัท เดอะพลาซ่า ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ของ "ศิลป์ชัย-พรรณวดี เจริญสินพร" ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า นี่คือ อาคารของไออีซีเอง เป็นต้น

ประเด็น การตั้งค่าเผื่อการ "ด้อยค่า" ของเงินลงทุน ก็น่าสนใจไม่น้อย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 ไออีซีบันทึกเงินลงทุนโดย "วิธีราคาทุน" จำนวน 1,325 ล้านบาท (ดูตามตาราง) แต่กลับมีการตั้งสำรอง "ผลขาดทุน" ที่สูงกว่ามูลค่าเงินลงทุน จำนวนสูงถึง 762 ล้านบาท ทำให้บริษัทเหลือมูลค่าเงินลงทุนเพียง 563 ล้านบาท

..แสดงว่า ไออีซี ลงทุนในกิจการต่างๆ ในราคาที่ "แพงเกินจริง" ใช่หรือไม่!!!

ภาพสะท้อนทั้งหมดนี้ คือ ภาพขยายเพียงบางส่วนที่ปรากฏอยู่ในงบการเงินของไออีซี และเป็นข้อบ่งชี้ว่า กระแสเงินสดของบริษัท อันตรธานไปอย่างไม่สมเหตุสมผล และนี่น่าจะเป็นคำอธิบายว่า ทำไม! ราคาหุ้น IEC จึงหล่นจาก 7.65 บาท ลงมาเหลือ 0.79 บาท และอาจจะหล่นลงไปมากกว่านี้อีก ในอนาคต

-------------------------------

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com