May 17, 2024   4:04:34 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ช่องโหว่อันตรายเล่นหุ้นผ่านเน็ต
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 16/05/2007 @ 14:02:43
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ตรวจพบปมปริศนาของ "อินเทอร์เน็ต เทรดดิ้ง" หลังหุ้นจำนวนมากถูกโอนมาพักในบัญชีของลูกค้าอื่นแบบไม่รู้ตัวและ บ่อยครั้ง ข้อสำคัญหุ้นที่ถูกโอนเข้ามาล้วนเป็นหุ้นเก็งกำไรทั้งนั้น ด้านตลาดฯยอมรับ อาจเป็นช่องทางของการหลบเลี่ยงอะไรบางอย่าง แต่ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าผิด เพราะต้องขอดูข้อเท็จจริงทั้งหมด ขณะที่ก.ล.ต.แนะให้ผู้ลงทุนแจ้งฝ่ายดูแล และกำกับของโบรกเกอร์ แต่ถ้ายังไม่คืบ ให้แจ้งกลับ ก.ล.ต.

ช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนหลายรายร้องเรียนผ่านโบรกเกอร์ต่างๆ ถึงความผิดปกติในการซื้อขายหุ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็ได้รับการแก้ไขมาโดยตลอด จนถึงกรณีล่าสุด ได้มีนักลงทุนร้องเรียนผ่านทาง "ข่าวหุ้นธุรกิจ"ในประเด็นของความผิดปกติของการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตว่า มีรายการของหลักทรัพย์ที่ถูกโอนเข้ามาในพอร์ตของตนเอง ทั้งๆนักลงทุนรายนั้นไม่ได้มีการซื้อขายหุ้น หรือได้รับการโอนหุ้นจากบุคคลอื่นที่รู้จักกันเลย

ประเด็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนเกิดความไม่สบายใจ ถึงแม้ธุรกรรมดังกล่าวไม่ได้สร้างความเสียหาย หรือผลประโยชน์ของการมีรายชื่อหลักทรัพย์ที่ตนเองไม่ได้ซื้อโผล่เข้ามาในสลิปของการซื้อขายหุ้นแต่ละครั้ง แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติของการลงทุนทั่วไป เพราะหุ้นที่โอนเข้า -ออกส่วนใหญ่เป็นหุ้นเก็งกำไรทั้งนั้น

สำหรับหุ้นที่โอนเข้าออก ส่วนใหญ่จะมีอยู่ประมาณหลักหมื่นหุ้นขึ้นไป มากน้อยแต่ละวันไม่เท่ากัน แต่ช่วงนี้มีเข้ามามากอย่างต่อเนื่อง และถี่กว่าปกติ ทางโบรกเกอร์ต้องมีการตรวจสอบรายการดังกล่าวว่าเกิดจากความผิดพลาดที่ส่วนใด

"ผมได้มีการชี้แจงข้อมูลเหล่านี้ ไปยังโบรกเกอร์ต้นสังกัด ว่าทำไมถึงมีหลักทรัพย์หลายรายการโผล่เข้ามาในสลิปทุกครั้งที่ผมมีการสั่งซื้อขายหุ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งช่วงแรกทางโบรกบอกว่าเป็นความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ แต่ครั้งหลัง เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ กัน ชักจะไม่ค่อยดีแล้ว ซึ่งทางโบรกรับปากว่าจะดูให้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า"นักลงทุนรายหนึ่งกล่าว

ด้านนายสุชาติ สีตวาริน ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับบริษัทสมาชิก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ 2 กรณี คือ 1. เกิดจากความผิดพลาดในระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ 2.การจงใจให้เกิดขึ้น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่า การโอนหุ้นเข้าออกในพอร์ตของคนอื่น โดยที่เจ้าของพอร์ตไม่รู้เรื่องนั้นมาจากไหน

ถ้ามาจากภายในโบรกเกอร์เดียวกัน ก็ต้องดูว่า มาจากพอร์ตของใคร ซึ่งทางโบรกเกอร์เองจะมีข้อมูล ซึ่งถ้าเรื่องดังกล่าวผิดปกติจริง ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ แต่ถ้าหุ้นจำนวนดังกล่าวโอนมาจากโบรกเกอร์อื่น ก็คงต้องดูว่ามาจากโบรกเกอร์ไหน

ถ้าการโอนเกิดขึ้นในโบรกเกอร์เดียวกันจะดูยาก กว่าการโอนระหว่างโบรกเกอร์เนื่องจากรายการ ฝาก โอน หุ้นระหว่างโบรกเกอร์ จะต้องมีเลขที่ รายชื่อ ผู้โอน และผู้รับโอน แต่ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการโอนผิด แล้วโอนกลับไปยังบัญชีเดิม ซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อผิดพลาด(error)ของทางโบรกเกอร์ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นบ่อยๆ ก็ถือว่าเป็นความผิดปกติที่ต้องติดตามดูเหมือนกันว่า อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการโอนหุ้นมาพักไว้ในพอร์ตของคนอื่นที่ไม่รู้จัก

"ตอนนี้เรากำลังหาคำตอบอยู่ว่า อะไรคือเหตุผล หรือแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการโอนหุ้นไปพักไว้ในบัญชีอื่น ซึ่งถ้าเกิดผู้โอนมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ ก็สามารถที่จะเปิดบัญชีที่เป็นนอมินี และโอนผ่านไปยังบัญชีดังกล่าวก็ได้ แต่ทำไมต้องโอนเข้าบัญชีอื่น ที่ไม่ใช่บัญชีตัวเอง"

อย่างไรก็ตามเขายังให้มุมมองว่า ถ้าเกิดเป็นกรณีการโอนหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ที่จะเข้ามาตรวจสอบบัญชีการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่บางคน ก็คงจะไม่ใช่ เพราะการตรวจสอบของปปง. จะตรวจสอบตั้งแต่เริ่มแรกของการลงทุน ไม่ใช่วันใดวันหนึ่ง รวมถึงต้องมีการตรวจสอบไปยังกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายเป็นนอมินีของนักลงทุนรายนั้น

นายสุชาติ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีนี้มีสิทธิที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ยังคงไม่ฟันธงลงไปทีเดียวว่า กรณีนี้จะเป็นการกระทำที่มีอะไรแอบแฝงหรือไม่ แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติเมื่อกรณีอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งจุดอ่อน หรือช่องโหว่ ของการโอนหุ้นเข้าบัญชีของผู้อื่น หรือนำมาฝากไว้แบบชั่วคราวนั้น สามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นบัญชีที่ซื้อขายหุ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือผ่านทางเจ้าหน้าที่การตลาด(มาร์เก็ตติ้ง)

เพราะที่ผ่านมาทางตลาดหลักทรัพย์ฯเคยตรวจพบข้อมูลการยุ่งเกี่ยวกับบัญชีของนักลงทุนที่ไม่รู้จักกัน ซึ่งก็ได้มีการทำเรื่องของพฤติกรรมดังกล่าว ส่งผ่านไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ให้ตรวจสอบไปแล้ว ซึ่งทางตลท.และก.ล.ต.ได้ประสานงานกันในเรื่องของส่งต่อในการตรวจสอบข้อมูลที่ประเมินว่าอาจเข้าข่ายของที่ไม่สุจริต

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานก.ล.ต. กล่าวว่า ในฐานะที่ก.ล.ต. เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ และหน่วยงานที่ป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการกระทำอันไม่โปร่งใสของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน รวมถึงความเสียหายด้านทรัพย์สินของนักลงทุน ก็พร้อมที่จะรับเรื่องร้องเรียนจากนักลงทุน

"กรณีนี้นักลงทุนควรที่จะไปร้องเรียนกับฝ่ายดูแลและกำกับการปฏิบัติงานของโบรกเกอร์ก่อน แต่ถ้ายังไม่มีอะไรคืบหน้า ก็สามารถที่จะมายื่นเรื่องผ่านทางก.ล.ต.ได้ เพราะกรณีความผิดปกติดังกล่าว เป็นเรื่องที่ก.ล.ต.จะเข้าไปตรวจสอบ ถึงแม้ว่ากรณีนี้นักลงทุนยังไม่เกิดความเสียหาย ก็ตามที"

แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการมีหุ้นเข้ามาฝากในพอร์ตใด ถ้าไม่ได้รับการยินยอม หรือรู้พาสเวิร์ด ของพอร์ตนั้น คงไม่สามารถที่จะเข้าไปคีย์ออร์เดอร์ โอนหุ้นผ่านเข้ามาได้เลย

"มีความเป็นไปได้ ที่อาจจะมีความผิดพลาดในเรื่องของระบบข้อมูลทางคอมพิวเตอร์แต่ขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้รับโอน กับผู้โอนไม่รู้จัก เพราะพาสเวิร์ดเป็นสิ่งที่เจ้าของพอร์ตรู้แต่เพียงผู้เดียว"

ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่การตลาดจะมีส่วนรู้เห็นในเรื่องดังกล่าวหรือไม่นั้น แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์ กล่าวว่า คงต้องดูกันเป็นรายๆ ไป แต่ทั้งนี้กฎระเบียบของแต่ละโบรกเกอร์ ก็มีความเข้มงวดอยู่ในตัวอยู่แล้ว ซึ่งคงจะเป็นไปได้ยากที่จะมีการกระทำดังกล่าวหลุดรอดออกไป

"ที่ผ่านมาทางโบรกเกอร์ และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างตลท. และก.ล.ต.ก็ได้ลงโทษเจ้าหน้าที่การตลาดที่กระทำผิดในหน้าที่การงานมาโดยตลอด ซึ่งบทเรียนเหล่านี้คงไม่น่าทำให้มีการกระทำที่เกิดจากความจงใจของเจ้าหน้าที่การตลาด"

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า โบรกเกอร์ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้ง เพียงไม่กี่ราย อาทิ บล.ฟิลลิป ,บล.กิมเอ็ง, บล.บีฟิท และบล.เคจีไอ ส่วนความผิดปกติจะเกิดขึ้น จะไปเกิดที่โบรกเกอร์ไหน คงต้องรอดูกันต่อไป





 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com