May 19, 2024   2:40:44 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > รูดม่านสถานี ITV .....รอศาลปกครองพรุ่งนี้ เฮือกสุดท้าย
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 06/03/2007 @ 21:54:58
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ครม.รูดม่านสถานีโทรทัศน์ไอทีวี มีมติระงับการออกอากาศชั่วคราว ตั้งแต่เที่ยงคืนวันนี้ถึงวันศุกร์ หลังจากไม่สามารถจ่ายหนี้กว่าแสนล้านบาท คืนให้ สปน.ได้ภายใน 6 มี.ค.ตามกำหนด ระบุศุกร์นี้ชัดเจนรอกฤษฎีกาตีความให้กรมประชาสัมพันธ์บริหารผิดกฎหมายหรือไม่ หากสามารถทำได้ไอทีวีจะแพร่ภาพต่อได้ทันทีในวันที่ 9 มี.ค.50 โดยบริษัทฯ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องบุคลากรเอง และให้พนักงานได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย ส่วนรัฐยันต้องฟ้องร้องต่อเพื่อรักษาผลประโยชน์กรณีไอทีวีผิดสัญญามีมูลค่ารวม 100,350 ล้านบาท ในขณะที่นายกฯ รับ อะไรที่เคยพูดไปแล้วขัดกับแง่กฏหมายก็ต้องขออภัย แต่ยังยืนยันให้ความสำคัญของการดำเนินงานของสื่อมวลชนเช่นเดิม ขณะศาลปกครองรับเรื่องรองเรียน หลังพนง.ไอทีวียื่นขอคุ้มครองฉุกเฉิน

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ว่า ครม.มีมติระงับการออกอากาศชั่วคราวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยมีผลตั้งแต่เวลา 24.00 น.ของวันที่ 7 มี.ค.2550 ทั้งนี้เพื่อให้คณะกฤษฎีกาได้ตรวจสอบข้อกฎหมายตามสัญญาสัมปทานว่าสามารถให้กรมประชาสัมพันธ์เข้าดำเนินการบริหารคลื่นวิทยุโทรทัศน์ของสถานีไอทีวี ในฐานะหน่วยงานในกำกับของเจ้าของคลื่นคือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามั่นใจจะได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุดในวันศุกร์ที่ 9 มี.ค.2550

คุณหญิงทิพาวดี กล่าวด้วยว่า หากกฤษฎีกาตีความว่ากรมประชาสัมพันธ์สามารถรับช่วงบริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้ทันที ไอทีวีจะสามารถออกอากาศได้ทันทีในวันที่ 9 มี.ค.

ทั้งนี้ ครม.มีมติให้กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการบริหารคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ UHF ของสถานีไอทีวีต่อ หากมีการยึดคืนสัมปทาน บมจ.ไอทีวี (ITV) แล้ว ส่วนกรมประชาสัมพันธ์จะไปจ้างหน่วยงานอื่นในกำกับของรัฐต่อหรือไม่นั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไปตามข้อกฎหมายว่าสามารถยกเว้นได้หรือไม่

ในการบริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ สิ่งสำคัญมี 3 ประการ คือ คลื่นความถี่ อุปกรณ์ และบุคลากร โดยหลังจากที่ไอทีวีสามารถออกอากาศได้ตามปกติ รัฐบาลในฐานะผู้กำกับดูแลไอทีวี โดยกรมประชาสัมพันธ์จะต้องพิจารณาในรายละเอียดเรื่องการบริหารบุคลากร โดยคาดว่าจะพิจารณาพนักงานเก่าเข้ามาช่วยทำงาน เพราะจะทำให้ง่ายในการบริหารและดำเนินการต่อไป ซึ่งเบื้องต้นการดำเนินการทุกอย่างจะเป็นแบบชั่วคราว และพนักงานจะถูกว่าจ้างตามสัญญาจ้าง คุณหญิงทิพาวดี กล่าว

ด้านการดูแลบุคลากรของบมจ.ไอทีวี (ITV) ครม.มีมติให้ยึดตามข้อกฎหมาย คือบริษัทจะต้องรับผิดชอบดูแลพนักงานตามกฎของกระทรวงแรงงาน โดยมีกฎหมาย 2 ฉบับคือ 1. กฎหมายแรงงาน และ2. กฎหมายประกันสังคม

ไอทีวีจะต้องดำเนินการดูแลรับผิดชอบพนักงาน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมายของกระทรวงแรงงานที่ได้กำหนดไว้ โดยพนักงานจะต้องได้รับค่าชดเชยและการดูแลที่กำหนดไว้ตามกฎหมายทุกประการ คุณหญิงทิพาวดี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดให้เอกชนประมูลคลื่นความถี่ของบมจ.ไอทีวี ได้ เนื่องจากยังติดข้อกฎหมายมาตรา 80 ของพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่กำหนดไว้ว่า ไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนมือใบอนุญาตบริหารคลื่นความถี่ หรือโอนไปให้นิติบุคคลอื่นใดถือแทนได้ มีเพียงหน่วยงานของรัฐเพียงหน่วยงานเดียวในฐานะเจ้าของคลื่นความถี่ คือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะมอบหมายให้หน่วยงานในกำกับสามารถดูแลบริหารได้

สาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบมจ.ไอทีวี (ITV) ทั้งหมด เนื่องจากไอทีวีไม่ได้ปฎิบัติตามสัญญาสัมปทานร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนตั้งแต่ต้น ทำให้รัฐต้องรับภาระและต้องดำเนินตามกฎหมายเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติไว้ในฐานะเจ้าหนี้

หลังจากนี้จะต้องมีการฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายที่ยังคงค้างตามสัญญา ทั้งสัมปทานและค่าปรับอีกจำนวน 100,350 ล้านบาท เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐในฐานะเจ้าหนี้ให้ได้ และคงจะเรียกค่าเสียหายกันนาน

นอกจากนี้ ไอทีวียังมีทรัพย์สินและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ยังค้างการส่งมอบและการรายงานต่อสปน.ตามเงื่อนไขสัญญาอีกจำนวน 551.2 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 31 ม.ค.2550 ไอทีวีมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 4012 ล้านบาท ตามที่สปน.ตรวจและพิจารณา

อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้พิจารณาการดำเนินการระงับการออกอากาศชั่วคราวของไอทีวีอย่างรอบคอบแล้ว โดยทั้งหมดเป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาและปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐเอาไว้ และรักษารูปคดี

สำหรับการดำเนินการกับไอทีวีในระยะยาวนั้น ครม.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์เป็นผู้พิจารณาแนวทางทั้งหมดในระยะเวลา 1 เดือน โดยเฉพาะภาพรวมและโครงสร้างการบริหาร ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง


 กลับขึ้นบน
kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
#1 วันที่: 06/03/2007 @ 22:00:46 :
- นายกฯขอโทษหากอะไรที่เคยพูดแล้วขัดต่อกฎหมาย

ด้านพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมครม.ในวันนี้ว่าในที่ประชุมได้มีการพิจารณาแก้ไขปัญหาบมจ.ไอทีวี (ITV) นานพอสมควรเนื่องจากจะได้เห็นทุกแง่มุมว่าควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรทั้งนี้ทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับหลักกฏหมายเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม
อะไรที่ผมเคยพูดไปแล้วขัดกับแง่กฏหมายก็คงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ซึ่งผมไม่มีเจตนาซึ่งผมจะให้ความสำคัญของการดำเนินงานของสื่อมวลชน แต่ก็จะเดินหน้าตามกฏหมายเข้าข้างกฏหมายที่มีอยู่ พลเอกสุรยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ยืดเวลาให้ไอทีวีชำระค่าสัมปทานที่ติดค้างและค่าปรับเนื่องจากผิดสัญญากว่าแสนล้านบาท ภายในวันที่ 6 มี.ค. และเมื่อครบกำหนดแล้วหากไอทีวีไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่สำนักปลัดฯ ได้ ก็ต้องบอกเลิกสัญญาและจะมีผลในวันที่ 7 มี.ค. ทันที จนนำไปสู่การลงมติสั่งงดออกอากาศของ ไอทีวีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะลงมติสั่งให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ระงับการออกอากาศทันทีตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.บรรดาพนักงาน เจ้าของรายการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับไอทีวี หลายฝ่ายได้เข้ายื่นขอความเห็นใจจากพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี, คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้ระงับการออกอากาศของไอทีวีดังกล่าว แต่ก็ยังไม่เป็นผล โดยครม.ได้ลงมติระงับการออกอากาศในเวลาต่อมา

- พนักงานไอทีวีเข้ามอบดอกไม้ให้กำลังใจนายกฯ- คุณหญิงทิพาวดีและปลัด สร.

บรรยากาศช่วงเช้าที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ก่อนที่ ครม.จะลงมติระงับการออกอากาศชั่วคราว กลุ่มพนักงานรวมตัวกันเพื่อเดินทางไปยัง
ทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี, คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยหนึ่งในผู้ดำเนินรายการข่าวเช้าไอทีวี กล่าวว่า โดยส่วนตัวยอมรับว่า ขณะนี้พนักงานไอทีวีมีความวิตกกังวล เกรงว่าการถูกงดออกอากาศ 1 เดือนจะยาวนานกว่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและศรัทธาของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เอเจนซี่โฆษณา

นอกจากนี้ พนักงานไอทีวีบางคนกล่าวด้วยสีหน้าวิตกกังวล ว่า เงินชดเชยที่จะได้รับ ไม่คุ้มกับความรู้สึกที่เสียไป เพราะทำงานร่วมกันมานานกว่า 10 ปี พร้อมทวงสัญญาจากนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่า จะไม่ทอดทิ้งพนักงานไอทีวี

- ไตรภพ วอนรัฐบาลอย่าปิด ITV มั่นใจทุกฝ่ายพร้อมเดินหน้าต่อ
ขณะที่นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ ผู้บริหาร บริษัทบอร์น ในฐานะตัวแทนผู้ผลิตรายการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีระบุว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีให้โอกาสและความเห็นใจในการให้สถานีไอทีวีเดินหน้าการทำงานต่อไปอย่างไม่หยุดชะงักการออกอากาศและมั่นใจว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสถานีไอทีวีพร้อมที่จะทำงานและพนักงานทุกคนกว่าหมื่นคนยังต้องการความเห็นอกเห็นใจจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ผมขอร้องอย่าปิดสถานีของพวกเรา ขอแค่ให้เราได้ทำงานต่อ ผมมั่นใจว่าวันนี้ทุกฝ่ายยังพร้อมที่จะทำงาน ที่เรามากันวันนี้ ไม่ใช่การรวมพลหรือแสดงพลัง แต่เราเพียงต้องการที่จะทำงานที่เรารักและต้องการขอความกรุณาจากที่ประชุมครม.เท่านั้น นายไตรภพ กล่าว

- ปลัดสปน. ยัน ITV งดออกอากาศชั่วคราวไม่กระทบพนง. เผยมีแผนสำรองแล้วหาก MCOT ไม่เข้าบริหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การบริหาร ITV นับจากนี้ไป มีการมองกันว่าอาจโยกไอทีวี ให้ บมจ.อสมท (MCOT) เข้ามาบริหารงานแทน โดยให้ MCOT ใช้เงินทดรองจ่ายเพื่อการบริหารงาน ITV ไปก่อน 400 ล้านบาท และเมื่อมีกำไรให้ MCOT หักออกไปได้ 10% อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวนี้ทางสหภาพแรงงาน อสมท ไม่เห็นด้วยและไม่พอใจกับเงินจำนวน 400 ล้านบาท และผลตอบแทนที่จะได้รับ

นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่า ITV อาจต้องไปอยู่ภายใต้การบริหารงานของ กรมประชาสัมพันธ์ และอาจนำคลื่น ITV ออกเปิดประมูลครั้งใหม่ แต่ประเด็นนี้คงต้องรอให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่แห่งชาติ หรือ กสช. ขึ้นมาเสียก่อน ซึ่งคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกนาน

อย่างไรก็ดี จากกรณีสหภาพ บมจ. อสมท (MCOT) ได้ออกมาคัดค้านที่จะไม่ให้ อสมท.เข้าไปบริหารบมจ.ไอทีวี(ITV) เนื่องจากติดขัดเรื่องรายได้ของ อสมท นั้น นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวว่า ได้เตรียมแผนสำรองอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ได้ชี้แจงถึงรายได้ในระยะ 4 เดือนแรกว่าอาจขาดเงินสด แต่หากมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจะมีรายได้เข้ามาทันทีเดือนละประมาณ 100 ล้านบาท

ด้านความคืบหน้าการแก้ไข ไอทีวี ในแง่ของการเตรียมการขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 5 ชุด เพื่อประสานการทำงานกับไอทีวี ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากถึง 90% แล้วแต่ยังมีปัญหาข้อสัญญาบางประการที่อาจต้องพิจารณาให้รอบคอบ พร้อมยืนยันหากภาครัฐมีมติยกเลิกการออกอากาศไอทีวีชั่วคราวก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อพนักงาน
นายจุลยุทธ กล่าวถึง การส่งมอบอุปกรณ์ของไอทีวีให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่ประมาณ 4,012 ล้านบาท ขณะนี้ไม่มีปัญหา จะมีปัญหาบ้างในส่วนอุปกรณ์ที่เช่า ซึ่งต้องศึกษาในรายละเอียดให้รอบคอบอีกครั้ง และในแง่ของผู้ถือหุ้นไอทีวีต้องทำหนังสือชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นรับทราบโดยไม่ต้องขออนุมัติ เนื่องจากใช้งบประมาณปกติในการดำเนินการ

- คุณหญิงทิพาวดี ตั้ง 5 คณะทำงานกำกับดูแล ITV ลั่นมีความพร้อมเข้าดำเนินการตั้งแต่ 7 มี.ค. เป็นต้นไป

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารวิทยุโทรทัศน์ ที่จะกำกับดูแล บมจ.ไอทีวี (ITV) ว่าคณะกรรมการได้ตั้งคณะทำงาน 5 คณะ จากคณะกรรมการที่เป็นคณะกรรมการกำกับดูแล ITV ตาม
คำสั่งแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี เพื่อดูแลการบริหารงานในด้านต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย คณะที่ 1 คณะกรรมการดูแลแผนปฏิบัติการมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้กำกับดูแล คณะที่ 2 คณะกรรมการดูแลด้านสัญญา มอบหมายให้ นายคัมภีร์ แก้วเจริญ อดีตอัยการสูงสุด และนายดิสทัต โหตะกิจ ผู้แทนสำนักงานกฤษฎีกา เป็นผู้ดูแล

คณะที่ 3 คณะกรรมการดูแลด้านงบประมาณ รายได้ รายจ่าย มอบให้ นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง และนายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ คณะที่ 4 คณะกรรมการกำกับดูแลอุปกรณ์ต่างๆ มอบให้อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นผู้ดูแล และคณะที่ 5 เป็นคณะกรรมการกำกับบริหารด้านบุคลากร มอบให้นายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองผู้อำนวยการใหญ่ MCOT และนายจิระ หงษ์ลดารมย์ นักวิชาการ เป็นผู้ดูแล
ทั้งนี้ มั่นใจว่าคณะกรรมการต่างๆ 5 คณะมีความพร้อมในการบริหารงาน ที่จะเริ่มต้นขึ้นทันทีในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 7 มี.ค. 2550

- เลขาฯกฤษฎีกา ย้ำยังบอกไม่ได้ต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อกฎหมายกรณีไอทีวีนานแค่ไหน
คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (6 มี.ค.) ว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี นานเท่าใด เพราะยังไม่ทราบว่าสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จะตั้งคำถามอย่างไร คงต้องให้ สปน.ถามมาก่อน กรณีนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ฝากอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่บอกให้ทำเร็วหน่อยเท่านั้น

?ดิฉันจะพยายามให้คำตอบเท่าที่จะทำได้ เพราะเข้าใจว่า เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าล่าช้าจะมีปัญหา หากถามมาภายในวันที่ 6 มี.ค. ก็จะเร่งให้เสร็จภายใน วันที่ 7 หรือ 8 มีนาคม เพราะต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบด้วย? คุณพรทิพย์ กล่าว และว่า ปกติคณะกรรมการกฤษฎีกา จะประชุมเพียง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาด้วย ถ้าได้ข้อยุติ การประชุมครั้งต่อไปก็จะตรวจดูบันทึกการประชุมเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นแล้ว จะสามารถเปิดสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้เลยใช่หรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพียงข้อกฎหมาย คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจ

- บรรยากาศเศร้าโศกที่ไอทีวี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ครม.มีมติสั่งระงับการออกอากาศของ ไอทีวี เป็นการชั่วคราว บรรยากาศที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า มีการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์มติคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ในบางรายการ ก็ได้มีการรายงานการให้กำลังใจของกลุ่มคนทั่วประเทศ และบางครั้งผู้ดำเนินรายการก็กล่าวประชดประชันรัฐบาล หลังมีมติยึดคลื่นสัมปทาน และสั่งระงับการออกอากาศชั่วคราว

- พนง. ITV ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว ให้ ITV ออกอากาศ
พนักงาน บมจ.ไอทีวี(ITV) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยให้สถานีโทรทัศน์ ITV สามารถออกอากาศได้ต่อไป รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่สั่งระงับการออกอากาศของ ITV ด้วย

นายจาตุรงค์ สุขเอียด ในฐานะตัวแทนพนักงาน ITV ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลปกครองกลางช่วงเย็นวานนี้ โดยคำร้องของพนักงาน ITV ระบุว่า "มติคณะรัฐมนตรีที่ออกมานั้น เป็นการสร้างขั้นตอนที่ไม่จำเป็น อันได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมมติคณะรัฐมนตรีที่ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมาย เป็นการสร้างภาระอันเกินควรให้พนักงาน ITV"

"มติคณะรัฐมนตรีให้ยุติการออกอากาศของคลื่นความถี่ระบบยูเอชเอฟ จึงเป็นการกระทำที่เกินสมควร และว่าการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอคณะรัฐมนตรี พร้อมกับคณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดออกอากาศทันทีในวันนี้ (7 มี.ค.) เป็นการกระทำที่เกินสมควร ไม่มีการเตรียมการแต่เนิ่นๆ ส่งผลให้พนักงาน ITV ในฐานะประชาชน ได้รับผลกระทบอย่างมาก"

- ศาลปกครองรับคำร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่พนักงาน บมจ.ไอทีวี(ITV) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยให้สถานีโทรทัศน์ ITV สามารถออกอากาศได้ต่อไป รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่สั่งระงับการออกอากาศของ ITV ด้วยนั้น ล่าสุดศาลปกครองได้รับคำร้องไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการพิจารณาในวันนี้ (7 มี.ค.)

- ตลท. เผย ยังไม่ปลดเครื่องหมาย SP ไอทีวี จนกว่าจะมีความชัดเจนจากภาครัฐ หลังครม.สั่งหยุดออกอากาศ

ด้านนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์จะยังไม่ปลดเครื่องหมาย SP หุ้นบมจ.ไอทีวี (ITV) จนกว่าจะมีความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไรกับ ITV ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ ITV หยุดออกอากาศชั่วคราว นอกจากนี้ต้องรอดูว่าถ้าหากภาครัฐยึดสัมปทานคืน ITV จะหาธุรกิจใดมาแทนที่ธุรกิจหลัก

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์สั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ITV โดยขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของ ITV ตั้งแต่การซื้อขายรอบเช้าของวันที่ 28 ก.พ. 50 จนกว่าบริษัทจะชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนในการดำรงอยู่ของกิจการและการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไป โดยราคาปิดล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.พ.อยู่ที่ 1.05 บาท

- ระบุรัฐยึดไอทีวีคืนสำเร็จเพราะข้อกฎหมายเอื้อ
แหล่งข่าวจากวงการทีวีกล่าวว่า รัฐสามารถยึดคืน ไอทีวี ด้วยการยกเลิกสัญญาสัมปทานกับ ITV ได้สำเร็จ เพราะเป็นไปตามข้อกฎหมายที่รัฐบาลทำได้ เนื่องจากไอทีวีผิดสัญญาที่ทำไว้กับ สปน.

ขณะที่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า สาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบมจ.ไอทีวี (ITV) ทั้งหมด เนื่องจากไอทีวีไม่ได้ปฎิบัติตามสัญญาสัมปทานร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนตั้งแต่ต้น ทำให้รัฐต้องรับภาระและต้องดำเนินตามกฎหมายเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติไว้ในฐานะเจ้าหนี้

หลังจากนี้จะต้องมีการฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายที่ยังคงค้างตามสัญญา ทั้งสัมปทานและค่าปรับอีกจำนวน 100,350 ล้านบาท เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐใน ฐานะเจ้าหนี้ให้ได้ และคงจะเรียกค่าเสียหายกันนาน
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com