May 19, 2024   5:22:51 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ทุนนิยม ประตูสู่ยุคล่าอาณานิคมใหม่ (Neo-colonialism)
 

Toon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 973
วันที่: 21/02/2007 @ 12:38:36
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

โดย ปรวิชย์ มะกรวัฒนะ อัยการประจำกรม สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด

การนำพาประเทศไปสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจนั้นไม่เพียงแต่ผู้นำประเทศต้องมีความรู้ความสามารถทันโลกทันเหตุการณ์เท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้นำที่รู้ระบบรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่ตนปกครองเป็นอย่างดี

หรือกล่าวง่ายๆ ว่าต้องรู้จักระดับขีดความสามารถของตนเองก่อนที่จะพัฒนาไปสู่เป้าหมายได้

การเร่งรัดประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยมโดยไม่หันมามองความพร้อมของประชาชาติส่วนใหญ่ นับเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจอธิปไตยในยุคแห่งการล่าอาณานิคมใหม่ (Neo-colonialism) อย่างแท้จริง

ภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทั่วโลกได้ล้มเลิกลัทธิการล่าอาณานิคม (Decolonization) เพื่อให้แต่ละประเทศมีเสรีภาพในการปกครองประชาชนของตัวเอง

กฎหมายระหว่างประเทศได้ถูกนำมากล่าวอ้างและบังคับใช้อย่างแพร่หลายเพื่อสร้างความชอบธรรมในอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนตามประเพณีระหว่างประเทศบนหลัก uti possedetis

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ยุทธศาสตร์การล่าอาณานิคมได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม

สงครามในโลกใหม่แห่งเสรีนิยมได้ก่อตัวขึ้นในรูปแบบของสงครามทางเศรษฐกิจ การนำระบบทุนนิยมมาบังคับใช้ผ่านข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นเครื่องมือและกลยุทธ์ในการต่อสู้ยื้อแย่งให้ได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจของแต่ละชาติ

และนับว่าเป็นมาตรการสำคัญของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในการแสวงหาทรัพยากรจากประเทศโลกที่สามผ่านวิธีการล่าอาณานิคมใหม่นี้

ในทางทฤษฎี ประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าอีกประเทศหนึ่งย่อมถือว่ามีอำนาจอธิปไตยเชิงเศรษฐกิจเหนือกว่าอีกประเทศหนึ่ง

ความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจและกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศผู้ล่าอาณานิคมย่อมเปรียบเสมือนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไปวางประจำการไว้ ณ ประเทศที่เป็นเหยื่อแห่งการถูกล่าอาณานิคม

การนำประเทศไทยเข้าสู่ระบบทุนนิยม ผู้นำประเทศต้องไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบว่าในท้ายที่สุดแล้วประเทศจะตกอยู่ในภาวะของผู้ล่าอาณานิคมหรือผู้ถูกล่ากันแน่

หากคำตอบยังคลุมเครืออยู่และยังไม่ได้ศึกษาให้ชัดเจน แต่เสี่ยงที่จะตัดสินใจเข้าต่อสู้กับทุนนิยมต่างชาติเพื่อหวังเพียงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ชั่วคราวของนักธุรกิจไทยเฉพาะกลุ่ม ก็คงเปรียบไปไม่ต่างจากการนำบริษัทไปลงทุนระยะสั้นที่ดำเนินกิจการได้ 5-6 ปี เมื่อได้กำไรแล้วก็ขายกิจการทิ้งไปให้กับนักลงทุนต่างชาติในที่สุด

เพียงแต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจในระดับบริษัทเป็นเพียงแค่พนักงานและลูกจ้างเท่านั้น

แต่ในระดับประเทศ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือ stakeholder คือ ประชาชนและอธิปไตยของประเทศที่บรรพบุรุษได้เคยรักษาไว้เป็นเวลาช้านาน

ประชาชนที่เป็น stakeholder ในสังคมไทยอาจแบ่งแยกได้เป็น 3 ชนชั้น คือ ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง ซึ่งทั้ง 3 ชนชั้นนี้มีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน

คือ พิจารณาจากขีดความสามารถในการใช้จ่ายจากมากไปสู่น้อย การสร้างค่านิยมที่ฟุ่มเฟือยทางเศรษฐกิจของชนชั้นสูงย่อมส่งผลกระทบให้ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเดินตาม เพื่อเป็นการผลักดันตัวเองให้ข้ามไปอยู่ในอีกชนชั้นหนึ่งและเพื่อให้ได้เป็นที่ยอมรับในสังคม ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไปในลัทธิแบบทุนนิยมและวัตถุนิยม

รัฐบาลในระบบทุนนิยมมักจะรณรงค์ให้ประชาชนนำเงินออกมาใช้จ่ายมากกว่าที่จะออกเงิน เพราะเชื่อว่าเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สูงขึ้น

แต่การใช้จ่ายเงินที่เกินตัวของชนชั้นล่างจะทำให้เกิดภาวะรากหญ้าที่อ่อนแอซึ่งนับเป็นสัญญาณของการถูกคุกคามและความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ชนชั้นล่างจึงเป็นเหยื่อรายแรกของระบบทุนนิยมที่ล้มเหลว

การนำเงินในอนาคตมาใช้หรือการนำสินทรัพย์มาแปลงเป็นทุนนับเป็นการทุบหม้อข้าวหม้อแกงของตัวเองทิ้งและพร้อมจะเข้าเสี่ยงต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจหากได้กระทำไปโดยปราศจากความพร้อมและการวางแผนที่ดี

แนวคิดทางธุรกิจที่ขาดความรอบคอบดังกล่าวเคยเกิดขึ้น เมื่อครั้งนึงปรัชญาทางการทำธุรกิจในอดีตเชื่อว่า ธุรกิจ คือ การสร้างเงิน (making money) บริษัททุกบริษัทต่างตั้งเป้าหาเงินโดยไม่มีระบบการตรวจสอบความโปร่งใสของผู้บริหาร จึงเป็นเหตุให้นานาประเทศต้องปรับเปลี่ยนปรัชญาทางธุรกิจใหม่คือ การสร้างธรรมาภิบาลในบริษัท (Good Corporate Governance) ไม่ใช่เป็นการสร้างขั้นตอนและอุปสรรคเพื่อหยุดยั้งความเจริญเติบโตของบริษัท แต่เป็นการปรับโครงสร้างใหม่และเพิ่มการตรวจสอบภายในของบริษัทอย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อความก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพของบริษัทในระยะยาว (มากกว่าความก้าวหน้าของผู้บริหารอย่างเดียว)

อีกทั้งยังเป็นการรับผิดชอบต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ หรือ stakeholders อันได้แก่ ลูกค้า ลูกจ้าง ประชาชน รัฐบาล และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

แนวความคิดในการสร้างธรรมาธิบาลมิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับภาคธุรกิจเท่านั้น แต่มีรากฐานมาจากการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศของรัฐบาล (Good Government) ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

Stakeholders ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จึงได้แก่ภาคประชาชนที่มีรายได้ต่ำและชนชั้นกลาง

หากการนำระบบทุนนิยมมาปรับใช้แล้ว สามารถจะนำพาบุคคลเหล่านั้นให้มีอาชีพที่มั่นคงในระยะยาวได้ก็คงเป็นเรื่องที่ดี

แต่หากทุนนิยมเป็นเพียงปรากฏการณ์สร้างรายได้เพียงในระยะสั้น (short-term benefit) แต่ในระยะยาวแล้วกลับทำให้บุคคลเหล่านั้นต้องถูกกดขี่จากนายทุนต่างชาติ เราคงต้องกลับมาไตร่ตรองถึงระดับความเหมาะสมและความพอดี

ในประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย ประชาชนส่วนใหญ่เกิน 80% ของประเทศยังอยู่ในภาวะที่ขาดความพอเพียงในการดำรงชีวิต

ความพอเพียงอาจเทียบได้กับทางสายกลางในพุทธศาสนาในสังคม แต่ละบุคคลจึงมีความพอเพียงในการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน ความพอเพียงจึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนระหว่างครอบครัวหนึ่งกับอีกครอบครัวหนึ่ง

ความพอเพียงไม่อาจกำหนดให้เป็นตัวเลขได้ชัดเจนเหมือนกับจีดีพี (GDP)

และที่สำคัญความมีอยู่อย่างพอเพียงไม่ได้หมายความเพียงแค่ มีเพียงพอ หรือ มีพอดี เท่านั้น

ความพอเพียงให้ความสำคัญต่อความผาสุกของคนในประเทศในระยะยาวเป็นหลัก เป็นปรัชญาซึ่งสอดคล้องกันกับ GDH (Gross Domestic Happiness)

กล่าวคือ ความสุขมวลรวมของคนในประเทศขึ้นอยู่กับความกินดีอยู่ดีของประชาชน รวมไปถึงความเข้มแข็งทางร่างกาย จิตใจ และความรู้รักสามัคคีของคนในชาติด้วย

ความสุขของชนชาติจึงนับเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดที่ผู้นำประเทศในหลายยุคหลายสมัยพยายามหาวิธีการและวางกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะสร้างให้เกิดรายได้ประชากรมากขึ้น เพราะรัฐเชื่อว่ารายได้ที่มากขึ้นน่าจะนำความผาสุกมาให้กับประชาชน

ตัวเลขจีดีพีจึงเป็นเพียงเกณฑ์หนึ่งที่ช่วยชี้วัดความเป็นอยู่ที่น่าจะดีขึ้นของประชาชนในประเทศ แม้กระนั่นก็ตาม ตัวเลขจีดีพีที่สูงขึ้นไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ

ประวัติศาสตร์และศาสนาของประเทศในซีกโลกตะวันออกมักมองสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ให้อยู่บนความสมดุลในระดับที่เหมาะสม

ฉะนั้น ความพอเพียงในระดับที่เหมาะสมไม่ได้ตั้งอยู่บนความเชื่อว่าสังคมจะต้องหยุดนิ่งและไม่กระตือรือร้นที่จะหารายได้ให้เพิ่มขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ความสมดุลและความพอเพียงจะทำให้เกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและความมั่นคงในระยะยาว โดยพยายามลดอัตราความเสี่ยงทางธุรกิจ (business risk) ให้น้อยลงไปซึ่งแตกต่างจากแนวความคิดแบบทุนนิยม

การพัฒนาการที่ต่อเนื่องและยั่งยืนย่อมก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตที่มีความชัดเจนมากกว่า บรรพบุรุษไทยนับแต่โบราณกาลจึงได้รู้จักอดออมและเลือกตัดสินใจลงทุนใช้จ่ายเต็มที่ในยามเมื่อโอกาสที่ดีมาถึง อย่างถูกต้อง รอบคอบ และเหมาะสม

การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบทุนนิยม ไม่ได้หมายถึงการเปิดประเทศทั้งหมดเพื่อตอบรับเข้าสู่ระบบทุนนิยมของต่างชาติโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ได้รับจากมัน

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า ไม่ว่าจะชอบหรือไม่เราไม่อาจเลี่ยงที่จะนำพาประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยมได้ มีนัยคล้ายกับว่าผู้นำประเทศย่อมไม่มีทางเลือกและต้องนำพาประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามทุกครั้งเสมอไป

แท้จริงแล้วการปรับกลยุทธ์เศรษฐกิจภายในประเทศบางส่วนเพื่อตอบรับลัทธิทุนนิยมน่าจะเป็นคำตอบที่ดีหากมีความจำเป็นต้องนำพาประเทศเข้าต่อสู้กับระบบทุนนิยมต่างชาติ

แม้กระนั้นก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องนำพาประเทศทั้งประเทศและสร้างความเชื่อให้ทุกชนชั้นในสังคมเข้าสู่ระบบทุนนิยมทั้งหมดด้วยกัน

ทุนนิยมเป็นปรัชญาของผู้ซึ่งมีอำนาจทางการเงินสูง ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่จะซื้อ จะขาย อยู่หรือไปจากธุรกิจ แน่นอนผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้ขนาดนั้นย่อมไม่ใช่คนชั้นกลางหรือชนชั้นล่าง ดังนั้นการนำแนวความคิดนี้มาสร้างความคิดประชาชาติ (Self-determination) จะทำให้เกิดความสับสนทางเศรษฐกิจในสังคมทุกระดับชั้น

ในภาวะทุนนิยมอย่างแท้จริงจะไม่มีผู้ใดมีความพอดีในชีวิต ไม่มีมากไปก็มีน้อยไป เพราะทุกคนจะหันมามองหาความสุขที่เกิดเฉพาะจากรายได้หรือจากวัตถุเพียงอย่างเดียว และหากทุกคนต่างระดมทุนจนเกินขีดความสามารถหรือเกินความพอดีแล้ว จะทำให้เกิดภาวะวัตถุนิยมที่ไม่มีวันสิ้นสุด หนี้สินและความลำบากของประชาชนจะเป็นตัวแปรทำให้ปัญหาอาชญากรรมในสังคมสูงขึ้นอย่างทวีคูณ

สังคมที่เจริญเฉพาะด้านวัตถุเพียงอย่างเดียวจะทำให้ความเจริญในด้านจิตใจจะลดถอยลง ส่งผลกระทบให้ความรุนแรงและความขัดแย้งในสังคมสูงขึ้นเป็นลำดับ โครงสร้างสังคมที่อ่อนแอจะนำมาซึ่งความตกต่ำทางสังคม วัฒนธรรม ดังที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกในขณะนี้

ทุนนิยมจะเป็นประโยชน์กับบุคคลเฉพาะกลุ่ม คือ บุคคลที่มีความพร้อมทางธุรกิจ หรือผู้ที่มีรากฐานที่มั่นคงอยู่แล้ว หรือนักเสี่ยงโชคซึ่งพร้อมจะเผชิญผลเสียหายทางธุรกิจ

ทุนนิยมจะเกิดประโยชน์เมื่อเราได้คำนึงและระมัดระวังถึงผลกระทบที่เกิดจากตัวมันเป็นอย่างดี

ทุนนิยมอาจนำพามาซึ่งหายนะในโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ทุนนิยมอาจทำให้ประเทศชาติต้องเผชิญต่อการสูญเสียอำนาจอธิปไตยในยุคแห่งการล่าอาณานิคมใหม่

บุคคลรายแรกผู้เป็นเหยื่อแห่งสงครามในระบบทุนนิยมจึงเป็นประชาชนผู้ที่เดินตามหลัง ไม่ใช่แม้กระทั่งบุคคลที่เป็นผู้ตัดสินใจนำประเทศไว้บนวิถีแห่งความเสี่ยงของตนเอง

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com