May 19, 2024   3:52:04 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > รัฐเดินหน้าซื้อคืนสัมปทานดาวเทียม บริหารงานเจ๊งใครรับผิดชอบ
 

arthor
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 803
วันที่: 21/02/2007 @ 01:29:55
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

รัฐเดินหน้าซื้อคืนสัมปทานดาวเทียมไทยคม
วงการถามถ้าบริหารงานเจ๊งใครรับผิดชอบ?[/size:09d810062c">
รัฐได้ข้อสรุปเบื้องต้น ต้องซื้อคืน SATTEL จาก เทมาเส็ก ล่าสุดเผยหลังเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ พบมีแนวโน้มขายคืนสัมปทานดาวเทียมให้ไทย ระบุอาจต้องใช้เงินถึง 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่วงการถาม ถ้ายึดคืนแล้วบริหารขาดทุน งานนี้ใครรับผิดชอบ?...

* รัฐยึดดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของชาติ
รัฐบาลไทยเดินหน้าเต็มสูบยึดสัมปทานดาวเทียมคืนจาก เทมาเส็ก กลุ่มทุนใหญ่จากสิงคโปร์ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง โดยระบุว่าการใช้งานดาวเทียมทั้งหมดของ บมจ.ชิน แซทเทลไลท์ (SATTEL) อาจทำให้ข้อมูลความลับทางราชการรั่วไหล โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้โทรศัพท์ผ่านดาวเทียมของกองทัพ รวมทั้งการประเมินพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศเมื่อมีสงคราม
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (20 ก.พ.) ว่า มีการหารือกันในที่ประชุม ครม.กรณีการซื้อคืนสัมปทานดาวเทียมไทยคมจากเทมาเส็ก และมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะกระทำ โดยจะมีความเป็นธรรม และไม่มีการกลั่นแกล้งหรือกีดกันนักลงทุนต่างประเทศแน่นอน
แนวทางในตอนนี้ต้องดูว่าจะซื้อคืนในส่วนของบริษัทฯ ไหน จะเป็น ชิน คอร์ป. หรือ ชิน แซทเทลไลท์ และต้องดูด้วยว่าซื้อเท่าไร ใครเป็นคนซื้อ จะเป็นเอกชน หรือภาครัฐ หรือจะรัฐร่วมงานกับเอกชน ต้องดูก่อนยังไม่สรุป รมว.ไอซีที กล่าว

* คาดใช้เงิน 1 หมื่นล้านบาท
รมว.ไอซีที ประเมินด้วยว่า การซื้อดาวเทียมคืนในครั้งนี้ อาจจะต้องใช้เงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าวนี้ เป็นการคำนวณโดยใช้ราคาหุ้นในตลาดคูณกับ 100% ของจำนวนหุ้น และรัฐบาลคงต้องหาแนวทางที่จะจัดหาแหล่งเงินทุนที่จะนำมาซื้อสัมปทานคืน ซึ่งในเบื้องต้นวางแนวทางว่า อาจไม่ใช้เงินภาษีของประชาชน เพราะเชื่อว่ายังมีแหล่งให้ระดมทุนอื่นๆ แต่หากจำเป็นต้องใช้เงินภาษีจากประชาชนจริงก็ถือว่านำมาทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกับทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะดำเนินการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ด้วยการทำประชาพิจารณ์ก่อน ว่าต้องการที่จะได้ดาวเทียมไทยคมกลับมาเป็นของไทยหรือไม่

* สภาทนายความแนะใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองความลับในราชการฯ
ด้านสภาทนายความ นำโดย นายอุดมเดช ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีสัมปทานดาวเทียมไทยคม โดยระบุว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีความจำเป็นต้องชี้แจงรัฐบาลสิงคโปร์หรือหน่วยงานสิงคโปร์ และช่องทางทางกฎหมายในการเอาผิดกับบริษัท ชินแซทเทิลไลน์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานดำเนินกิจการดาวเทียมไทยคม และ ทุนข้ามชาติ เทมาเส็กประเทศสิงคโปร์
โดยแนะนำว่า ในเรื่องนี้คงจะต้องให้พนักงานสอบสวน กองปราบปราม ที่นายวีระ สมความคิด ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทชินแซทฯ ว่ากระทำผิดกฎหมายด้านความมั่นคงของชาติ จากการที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้โอนขายหุ้นให้กับ กองทุนเทมาเส็ก อันเป็นเหตุให้ต่างประเทศ ได้รับสิทธิ์ในการใช้ดาวเทียม ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของชาติ โดยขัดต่อกฎหมายการประกอบธุรกิจกิจการโทรคมนาคม
ทั้งนี้ หากในการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด ปรากฎว่ากรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นในบริษัทมีส่วนร่วมในการกระทำผิดกฎหมายความมั่นคงของชาติจริง กรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัทชินแซทฯ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 124 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้ผู้อื่นล่วงรู้ หรือ ได้ไปซึ่งข้อความ เอกสาร หรือสิ่งใดๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับ สำหรับความปลอดภัยของประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ถ้าความผิดนั้นได้กระทำในระหว่างประเทศ อยู่ในการรบหรือการสงคราม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 5 ปี - 15 ปี ถ้าความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเป็นการกระทำ เพื่อให้รัฐต่างประเทศได้ประโยชน์ ผู้กระทำต้องระวางโทษ ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
นายกสภาทนายความ ระบุด้วยว่า กรณีดังกล่าวน่าจะมีความผิดเข้าตามมาตรา 123 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อความ เอกสารหรือสิ่งใดๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับ สำหรับความปลอดภัยของประเทศต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี และสภาทนายความเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาล แถลงการณ์ให้ประชาชนทราบในประเด็นความมั่นคงของชาติ และการซื้อขายหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ของบริษัทผู้รับสัมปทานโทรคมนาคมจากรัฐ โดยผู้ถือหุ้นต่างชาติเป็นสิ่งผิดกฎหมายและไม่อาจทำได้ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะทำให้เกิดภาพลบในการเข้ามาลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ

* รัฐอาจเปิดประมูลหาผู้รับช่วงกิจการ
สำหรับแนวทางบริหารจัดการ SATTEL หลังยึดคืนสัมปทานมาเป็นของรัฐบาลแล้ว มีการวางแผนคร่าวๆ ว่า จะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจรายใหม่เข้าประมูลเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นการดำเนินงานภายใต้คนไทยด้วยกัน
ขณะที่ปัจจุบันได้มีนักวิชาการไทย ออกมาระบุว่า ดาวเทียมของ SATTEL ล้วนแต่ถูกออกแบบมาเพื่อการให้บริการทางธุรกิจเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ ก็ล้วนแล้วแต่เพื่อการพาณิชย์ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงไม่มีผลต่อความมั่นคงของชาติตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างแต่อย่างใด

* ถ้าบริหารงานขาดทุนใครรับผิดชอบ?
แผนการซื้อคืนสัมปทานดาวเทียมไทยคม ถูกมองข้ามช็อตต่อไปว่า หากกลับมาอยู่ในมือของรัฐบาลไทยได้สำเร็จแล้ว หลังจากนี้การบริหารจัดการจะเป็นอย่างไร และการใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้านบาทนั้นจะดำเนินไปโดยวิธีใด เพื่อไม่ให้เป็นการลงทุนที่ล้มเหลว หรือถ้าหากจะล้มเหลวจริงๆ เพราะขาดทุนแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้เนื่องจากการทำธุรกิจอาจไม่ใช่แนวทางที่รัฐบาลถนัดนัก เมื่อเทียบกับการบริหารงานโดยภาคเอกชน และที่สำคัญรัฐบาลไทยหลายรัฐบาลมักอยู่ไม่ครบเทอม ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารค่อนข้างบ่อย ไม่ว่าจะเป็นด้วยการประกาศยุบสภา หรือการเข้ามาด้วยเหตุผลทางการเมืองก็ตาม
ขณะที่การจัดเก็บภาษีของภาครัฐในปัจจุบันก็ค่อนข้างมีปัญหาและมีแนวโน้มที่จะทำไม่ได้เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ โดยปัจจัยหลักจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และมีแนวโน้มที่จะชะลอมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี โดยเห็นได้จากการปรับลดประมาณการณ์เติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาแล้วอย่างน้อย 0.50% จะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชนและการจัดส่งรายได้เข้ารัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ธุรกิจดาวเทียมซึ่งมีมูลค่านับหมื่นนับแสนล้านบาทนี้ จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง และเรื่องที่อยู่ในความคาดหมายของประชาชนทั่วไปก็คือ หากรัฐบาลขาดทุนหรือเกิดภาวะตึงตัวทางด้านเงินทุน สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามมา คือ ความชอบธรรมในการนำเงินภาษีของประชาชน และนิติบุคคลที่ทำธุรกิจในประเทศไทยเข้ามาอุดหนุนจะมีความเหมาะสมหรือไม่ และอาจหมายความว่าทุกคนในประเทศต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือภาษีที่จ่ายไปถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด???.

 กลับขึ้นบน
P_aud
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 531
#1 วันที่: 21/02/2007 @ 09:18:45 : re: รัฐเดินหน้าซื้อคืนสัมปทานดาวเทียม บริหารงานเจ๊งใครรับผิด
.000004 .000004 ขณะที่ปัจจุบันได้มีนักวิชาการไทย ออกมาระบุว่า ดาวเทียมของ SATTEL ล้วนแต่ถูกออกแบบมาเพื่อการให้บริการทางธุรกิจเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ ก็ล้วนแล้วแต่เพื่อการพาณิชย์ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงไม่มีผลต่อความมั่นคงของชาติตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ความเห็นของนักวิชาการนี่ช่างเบาบางเหลือเกิน

ไม่มีใครได้ยินเลย.......
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com