May 19, 2024   6:08:28 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับประชาชน ความสำเร็จแค่เอื้อมกับ...
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 20/02/2007 @ 14:55:21
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ทีมข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งได้ร่วมกับ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้การสนับสนุนของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดทำการวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ?ทัศนคติของประชาชนต่อเศรษฐกิจพอเพียง : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชน 18 จังหวัด? และได้นำเสนอผลการสำรวจด้านความรู้ความเข้าใจ ของประชาชนในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคแรกไปในสัปดาห์ที่แล้ว

โดยข้อค้นพบที่ได้ คือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวของกลุ่มตัวอย่าง ยังมีความแตกต่าง และไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

(ตัวอย่าง เช่น ในประเด็นคำถามว่า ในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ธุรกิจทำกำไรได้ หรือไม่ กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มใหญ่ในจำนวนใกล้เคียงกัน มองต่างกัน กลุ่มหนึ่งมองว่า ธุรกิจสามารถทำกำไรได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ธุรกิจไม่ควรทำกำไร เป็นต้น)

ผลการสำรวจได้ชี้ให้เห็นถึงความ จำเป็นที่แนวคิดพื้นฐานด้านเศรษฐกิจพอเพียงจะต้องทำให้เกิดความกระจ่าง รวมถึงต้องมีการถ่ายทอดที่เป็นรูปธรรม พร้อมตัวอย่างที่หลากหลาย เพื่อให้คนไทยได้รับรู้และมีภาพเศรษฐกิจพอเพียงในใจใกล้เคียง และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

สำหรับรายงานที่อยู่ในมือท่านผู้อ่านฉบับนี้ เป็นผลการสำรวจในภาคที่สอง หรือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนต่อจากรายงานฉบับที่แล้วที่จะ นำเสนอความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง เกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทัศนะเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ และความสำเร็จของหลักเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในระดับตนเอง ชุมชน และประเทศ

รวมถึงภาคส่วนต่างๆ จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วย คุณลักษณะหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ความพอประมาณ การมีเหตุมีผล และ การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ในตัว ซึ่งหลักการทั้งสามจะตั้งอยู่บนสองเงื่อนไขที่สำคัญ คือ การมีความรู้ และการมีคุณธรรม

การเปิดใจรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินชีวิตประจำวัน

ข้อค้นพบที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับการสำรวจในครั้งนี้ คือ คนไทยเปิดรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเต็มที่ ในการนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน และการประกอบธุรกิจ

กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่าง 65.6% มีความเชื่อมั่นในระดับมากว่า ตนสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนอีก 28.8% เชื่อว่า สามารถนำไปใช้ได้ ในระดับปานกลาง มีเพียง 4.6% ที่เชื่อว่า ใช้ได้ในระดับน้อย และ 1.0% เท่านั้น ที่คิดว่า ไม่สามารถนำไปใช้ได้เลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับประเทศไทย แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างจะตอบในลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ 48.2% มีความเชื่อมั่นในระดับมากว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้ได้กับประเทศไทย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีก 39.9% เชื่อว่า สามารถนำไปใช้ได้ในระดับปานกลาง 10.8% เชื่อว่า ใช้ได้ในระดับน้อย และ 1.1% คิดว่า ไม่สามารถนำไปใช้ได้เลย

จะสังเกตได้ว่า ในทัศนะของกลุ่มตัวอย่าง การประยุกต์ใช้ในระดับประเทศ สามารถปรับใช้ได้น้อยกว่าการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล

เมื่อสอบถามถึงจุดเริ่มต้นว่า ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เมื่อไร กลุ่มตัวอย่าง 50.7% ตอบว่า ได้ใช้ปรัชญานี้มานานพอสมควรแล้ว ขณะที่ 48.3% ตอบว่า เพิ่งเริ่มต้นทำในช่วงนี้ และ 1.0% ตอบว่า ยังไม่ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ผลการสำรวจใน 2 ประเด็นข้างต้น ฉายภาพทัศนคติเชิงบวกที่คนไทย มีต่อการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีจำนวนผู้ตอบว่า สามารถนำไปใช้ได้สูงถึง 99.0% และมีผู้ตอบเพียง 1.0% เท่านั้นที่ไม่ได้ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตของตน

.000005

 กลับขึ้นบน
kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
#1 วันที่: 20/02/2007 @ 14:56:25 : re: เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับประชาชน ความสำเร็จแค่เอื้อมกับ...
สะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจคนไทยที่เปิดใจเต็มร้อยให้กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจที่พบในประเด็นต่อๆมา ดูเหมือนจะขัดแย้งกับภาพบวกข้างต้นซึ่งตอกย้ำน้ำหนักของ ปัญหาและอุปสรรคปัจจุบันในการผลักดันหลัก เศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติกับทุกภาคส่วนของประเทศที่ผู้เกี่ยวข้องควรนำมาพิจารณา

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาลงลึกในรายละเอียด กลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่า ได้ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่อดีตกับกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำในปัจจุบันซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงถึง 99.0% ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมดแล้ว พบว่าในบรรดากลุ่มคนเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถึง 79.4%เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของการประหยัด ไม่ใช้จ่าย หรือใช้จ่ายน้อยลง

52.6% เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ควรกู้เงิน 62.2% เห็นว่า การดำเนินเศรษฐกิจพอเพียงไม่ควรซื้อสินค้าโดยใช้บัตรเครดิต 40.7% เห็นว่า ธุรกิจที่เน้นกำไรขัดต่อหลักเศรษฐกิจพอเพียง และ 88.2% เห็นว่า การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยขัดต่อเศรษฐกิจพอเพียง

สิ่งที่ค้นพบเกี่ยวกับแนวคิดของผู้ที่ตอบว่าได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในประเด็นต่างๆเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นประเด็นที่ต้องการการตีความให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความหมายของคำว่า ประหยัด การกู้เงิน หรือการทำกำไร เป็นต้น

การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของคนในประเทศ

ผู้จัดทำการจัดสำรวจได้สอบถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่า ในปัจจุบันได้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้มากน้อยเพียงใด โดยให้มองทั้งในระดับจุลภาค คือตนเอง ไปจนถึงระดับมหภาค คือ ชุมชน และประเทศ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ได้มีการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในระดับปานกลาง โดยให้คะแนนประมาณ 6 จากคะแนนเต็ม 10 แสดงให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าทุกภาคส่วนยังมีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ไม่มากนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่หนึ่ง (คือ การประยุกต์ใช้กับระดับบุคคล) ไปสู่ขั้นที่สอง และขั้นสาม (คือ การประยุกต์ใช้กับระดับชุมชน และระดับประเทศ) ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์มากนักในสายตาของประชาชน



จากตารางข้างต้น จะพบว่า ทัศนะของกลุ่มตัวอย่าง เห็นว่า ในปัจจุบันนั้น ตนเอง ชุมชน และประเทศมีการนำลักษณะและเงื่อนไขของ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือธุรกิจในระดับปานกลาง โดยให้คะแนนในด้านต่างๆ โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 6 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ทั้งนี้ จะสังเกตได้ว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าตนเองมีการใช้ลักษณะ และเงื่อนไขสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงสูงกว่าชุมชนและประเทศในทุกกรณี

ยกเว้น การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวที่ให้คะแนนต่ำกว่าประเทศ แต่สูงกว่าชุมชน แสดงให้เห็นว่า การสร้างแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวให้กับประชาชน เป็นสิ่งที่ควรเน้นประชาสัมพันธ์ หรือให้ความรู้เพิ่มเติม

สิ่งที่ได้จากการสำรวจ จะเห็นว่า กลุ่มตัวอย่างคิดว่าประเทศมีความพอเพียง มีเหตุผล และมีคุณธรรมในระดับคะแนนที่ไม่สูง และน้อยกว่าระดับบุคคล หรือชุมชน

สิ่งนี้ คือ ประเด็นที่ภาครัฐบาลและบุคคลสำคัญในบ้านเมืองต้องปรับตัว และแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ประเทศไทยมีความพอเพียงจริง มีเหตุมีผลในการตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่างๆ และมีคุณธรรม (ปราศจากการคอรัปชัน)



เมื่อมองลึกลงไปในข้อมูลถึงผู้ที่พูดว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ได้น้อย น้อยที่สุด ถึงใช้ไม่ได้เลย (ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลอันจะเอื้อต่อประสิทธิผลการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ปฏิบัติ) ว่าเป็นคนกลุ่มไหน ก็พบว่า กระจายในทุกกลุ่ม วัย และรายได้

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่น่าสนใจ โดย 2 กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนต่ำ (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย) ได้แก่ กลุ่มคนที่มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 5,001-10,000 บาท และกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทลงมา

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนของผู้ตอบว่า ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงได้น้อย น้อยที่สุด ถึงใช้ไม่ได้เลย มีจำนวนสูงสุด (24.0%)

ส่วนกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทลงมา มีผู้ที่ตอบว่า ใช้ได้น้อย น้อยที่สุด จนถึงใช้ไม่ได้เลย 17.9% อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ที่ตอบว่า ไม่สามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับตนเองได้เลย มีจำนวนสูงสุด (2.0%)

ผลการสำรวจนี้ สะท้อนภาพอะไรบ้าง เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนครัวเรือนตามโครงสร้างของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2547 กลุ่มคนที่มีรายได้ 5,001-10,000 บาทต่อเดือน จะเป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนสูงสุดในโครงสร้างครัวเรือน (30.2%) และผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท จะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนสูงสุดเป็นอันดับสาม (17.7%)

ถ้าพิจารณาเฉพาะ 2 กลุ่มนี้ จะมีครัวเรือนถึง 48.0% ของประเทศ นั่นหมายถึงจะมีประชากรชาวไทยส่วนใหญ่ที่ยังมีปัญหาในการประยุกต์ใช้ เศรษฐกิจพอเพียงกับชีวิตของเขา

ปัจจัยความสำเร็จของการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ อาจต้องมาพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตพื้นฐาน ของครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ต่อครัวเรือนค่อนข้างต่ำเป็นสำคัญ

ทัศนะการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง

การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลและคนไทยทุกคน อย่างไรก็ตาม มุมมองของแต่ละคนเกี่ยวกับการนำเศรษฐกิจ พอเพียงไปใช้ให้เกิดผลสำเร็จในแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจอาจไม่เหมือนกัน

ผลการสำรวจนี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงสามารถประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรกรรมได้มากที่สุด รองลงมาได้แก่ ภาคการศึกษา ภาคราชการ ภาคการค้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากภาคเกษตรกรรมเป็นเพียงภาคเด่นภาคเดียว ที่ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้และเห็นถึงผลสำเร็จจากการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้ และสามารถเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

แต่ในส่วนของภาคการศึกษา ภาคราชการ ภาคการค้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประเมินระดับความสามารถในการประยุกต์ใช้อยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น สังเกตได้จากคะแนนในการประเมิน และระดับการนำไปประยุกต์ใช้ จะอยู่ต่ำกว่าภาคการเกษตรอย่างมาก[/color:8a20383c44">


.00020
 กลับขึ้นบน
kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
#2 วันที่: 20/02/2007 @ 14:57:04 : re: เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับประชาชน ความสำเร็จแค่เอื้อมกับ...
ผลจากการสำรวจนี้ ย่อมเป็นภาพสะท้อนว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้ดำเนินการโดยใช้ หลักเศรษฐกิจพอเพียง ยังไม่มีภาพที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมของการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับภาคส่วนต่างๆ

ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร แนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนกรณีตัวอย่างความสำเร็จของการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับภาคส่วนอื่นๆ นอกภาคการเกษตร เป็นสิ่งที่สังคมไทยควรร่วมกันดำเนินการทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน

นอกจากนี้ จากการสำรวจถึงปัญหาสำคัญที่ทำให้การ ดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทยยังไม่เกิดผลสำเร็จอย่างกว้างขวางนั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า ปัญหาสำคัญอันดับแรก คือ การที่คนขาดความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง 27.8% ของความเห็นของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด

กลุ่มตัวอย่าง 23.6% เห็นว่า คนมีหนี้สินมาก ทำให้การดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำได้ยาก ขณะที่ 17.9% ตอบว่า เพราะคนไม่รู้ว่าจะเริ่มดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร กลุ่มส่วนอีก 16.3% บอกว่า เป็นปัญหาของการประยุกต์ใช้ไม่เป็น และ 13.6% เห็นว่า นโยบายของรัฐในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไม่ชัดเจน ที่เหลืออีก 0.9% มีความเห็นอย่างอื่น

จากคำตอบข้างต้น สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงการขาดแคลนความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ภาคประชาชนจึงไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร และจะประยุกต์ใช้ แบบไหน จุดนี้ถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อผลักดันให้คนมีความรู้ความเข้าใจในเศรษฐกิจพอเพียง และทราบถึงแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้

ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของตนคือ การมีหนี้สินมากเกินกว่าจะแก้ไขได้ควบคู่กันไปด้วย จึงจะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้

การได้รับองค์ความรู้



จากผลการสำรวจข้างต้น จะเห็นได้ว่า ปัญหาสำคัญของกลุ่มตัวอย่าง ก็คือ เรื่องของการขาดองค์ความรู้ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในประเด็นนี้ ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงช่องทางการรับความรู้ข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้สามารถเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้วิจัยจึงได้ออกแบบสอบถามถึงช่องทางการรับรู้ข้อมูลความรู้ของกลุ่มตัวอย่าง โดยเมื่อสอบถามว่าได้รับความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงจากที่ใด สื่อใด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่า 80.7% ได้รับความรู้โดยผ่านทางสื่อโทรทัศน์ 26.2% ได้รับความรู้ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งได้แก่ หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสารต่างๆ 22.7% ได้รับความรู้จากวิทยุ 16.6% ได้รับความรู้จากสถาบันการศึกษา 8.9% ได้จากสื่ออินเตอร์เน็ต 7.4% ได้รับความรู้จากการอบรมของภาครัฐ และ 5.6% ได้รับความรู้จากการสัมมนา

จากผลการสำรวจ จะเห็นได้ว่า คนส่วนใหญ่จะได้รับความรู้จากสื่อทางโทรทัศน์ และเมื่อสอบถามถึงระดับความรู้ที่ได้รับจากสื่อโทรทัศน์ ก็พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 39.8% ได้รับความรู้ในระดับมาก 49.2% ได้รับความรู้ระดับปานกลาง 10.4% ได้รับความรู้ในระดับน้อย และ 0.6% ไม่ได้รับความรู้เลย

การที่ความรู้ที่คนส่วนใหญ่รับ ผ่านมาจากการถ่ายทอดของสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่นำเสนอข้อมูลได้จำกัด ทั้งในเรื่องของเวลาการถ่ายทอดและปริมาณเนื้อหาสาระที่ถ่ายทอด เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดที่ค่อนข้างสูงนั้น ทำให้ความรู้ที่ได้ อาจไม่สามารถครอบคลุมรายละเอียดครบถ้วนตามเนื้อหาหลักของเศรษฐกิจพอเพียง และในบางครั้ง บางส่วน หรือบางตอน ผู้ชมอาจจะต้องตีความคาดเดาเอาเองก็ได้ และผลการสำรวจที่ได้นำเสนอมาแล้วในข้างต้น ได้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างต่างมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่แตกต่างกัน

ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับความรู้จากสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ วารสาร หรือนิตยสารต่างๆนั้น คิดว่า ตนเองได้รับความรู้มากถึง 40.8% ได้รับความรู้ ปานกลาง 48.3% ได้รับความรู้น้อย 10.2% และไม่ได้รับความรู้เลย 0.7% ซึ่งถ้าหากลองทำการเปรียบเทียบกับสื่อโทรทัศน์ จะเห็นว่า กลุ่มคนที่อ่านหนังสือพิมพ์ คิดว่า ตนเองได้รับความรู้ความเข้าใจมากกว่าการดูโทรทัศน์ ทั้งนี้อาจเนื่องจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือวารสารต่างๆนั้น สามารถที่จะลงรายละเอียดได้มากกว่าโทรทัศน์

แต่กระนั้นก็ตามเมื่อเทียบสัดส่วนของคนที่ได้รับความรู้แล้ว สื่อโทรทัศน์ถือว่ามีความสำคัญ มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ในการที่จะสร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป เพราะโทรทัศน์สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายกว่า

ใครควรเป็นผู้เริ่มต้น

ภาคประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า การเริ่มดำเนินการในการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตและธุรกิจนั้น พวกเราทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตนเอง แต่ภาครัฐบาลควรเป็นแกนนำในการประสานงาน หรือผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ



ความสำเร็จอยู่แค่เอื้อม

หากคนไทยร่วมมือกันอย่างจริงจัง

คนไทยส่วนใหญ่ประมาณ 82.6% มีความเห็นว่า หากมีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จใน ผลักดันนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และส่วนใหญ่ (58.7%) ยังมีความเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จภายใน 1-5 ปี ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 31.8% เห็นว่า สามารถบรรลุผลได้ภายใน 6-10 ปี

ทัศนะเกี่ยวกับการใช้เศรษฐกิจพอเพียงว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และเมื่อไร

จากผลการสำรวจ จะสังเกตได้ว่า คนไทยพร้อมน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ โดยเปิดรับและพร้อมใจอย่างเต็มที่ในการเริ่มดำเนินการด้วยตนเอง อีกทั้งยังมีความเห็นว่าการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ จะประสบผลสำเร็จได้ภายในระยะเวลาอันใกล้ หากมีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยมีภาครัฐบาลเป็นแกนนำส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ที่ถูกต้อง พร้อมหาแนวทางการประยุกต์ใช้กับภาคส่วนต่างๆในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน พร้อมทั้งหยิบยกกรณีศึกษาของประชาชน องค์กร หรือหน่วยงานที่นำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้จน ประสบผลสำเร็จเผยแพร่ให้ประชาชนได้ศึกษาและเรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป



อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดผลสำเร็จกับทุกกลุ่ม ประชาชนส่วนหนึ่งจะต้องได้รับ การแก้ไขปัญหาพื้นฐานคือการมีหนี้สินมากเกินกว่าที่ตนเองจะแก้ไขได้เองตามลำพัง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท จำนวนหนึ่งที่ตอบในการสำรวจครั้งนี้ว่านำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้น้อยจนถึงใช้ไม่ได้เลย เนื่องจากมีภาระหนี้สินสูงมาก ดังนั้น จึงต้องมีการเยียวยาแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับคนกลุ่มนี้ ควบคู่ไปกับการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้

วินาทีนี้ คงเป็นเวลาที่คนไทยต้องร่วมใจกันนำเศรษฐกิจพอเพียงไปดำเนินการในทุกภาคส่วนของสังคม จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของบุคคล หน่วยงาน พื้นที่ หรือชุมชน

การสร้างชาติให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ภูมิปัญญาไทย ด้วยพลังของคนไทยเพื่อความผาสุกของมหาชนชาวสยาม คือความสำเร็จ และความภาคภูมิใจที่รอพวกเราอยู่แค่เอื้อม หากเราร่วมใจกันไขว่คว้ามา.[/color:13d27a754d">


.00020
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com