April 29, 2024   2:00:23 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์: ?บาทอ่อนเล็กน้อย ขณะ.....
 

samjin
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 352
วันที่: 06/01/2007 @ 09:24:41
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ตลาดเงิน
ในสัปดาห์แรกของปี 2550 อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินทรงตัว ท่ามกลางปริมาณสภาพคล่องที่มีอยู่มาก เนื่องจากมีการทยอยไหลกลับของสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินหลังผ่านเทศกาลปีใหม่ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการปิดสำรองรายปักษ์ในวันศุกร์ ส่วนเหตุระเบิดในกรุงเทพฯในวันส่งท้ายปี 2549 ไม่มีผลกระทบมากนักต่อสภาพคล่องในตลาดเงิน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทข้ามคืน (Overnight) ยังคงหนาแน่นทั้งสัปดาห์อยู่ที่ระดับ 4.95% เช่นเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ปิดทรงตัวตลอดสัปดาห์อยู่ที่ 4.9375% เทียบกับระดับปิดในช่วง 4.90625-4.9375% ในสัปดาห์ก่อนหน้า

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ระดับ 5.04% ในวันศุกร์แรกของปี 2550 ลดลงจาก 5.12% ณ สิ้นปี 2549 ในสัปดาห์แรกของปี 2550 อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยระยะปานกลางซึ่งมีสภาพคล่องสูงปรับตัวลง โดยมีแรงหนุนจากความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำหลังเกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ รวมทั้งจากการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ในขณะที่ อัตราผลตอบแทนระยะสั้น (อายุไม่เกิน 1 ปี) และระยะยาว (อายุมากกว่า 10 ปี) ปรับขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณอุปทานตราสารหนี้ระยะยาวที่อาจมีมาก ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 4.61% ในวันพฤหัสบดีแรกของปี 2550 ปรับลงจาก 4.70% ณ ปลายปี 2549 หลังตลาดหยุดทำการในวันจันทร์เนื่องในวันปีใหม่ ในวันอังคาร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯขยับลงเล็กน้อยจากวันศุกร์ก่อนหน้า ท่ามกลางธุรกรรมที่เบาบาง เพราะตลาดปิดทำการเร็วเพื่อไว้อาลัยให้กับอดีตประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ดของสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดรอการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจเพิ่มเติม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงต่อในวันพุธ หลังจากที่ ADP National Employment Report รายงานการลดลงของการจ้างงานภาคเอกชนในเดือนธันวาคม ซึ่งนำไปสู่การคาดการณ์ว่าข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่ทางการสหรัฐฯจะประกาศในวันศุกร์อาจจะไม่ดีนัก อีกทั้งบันทึกการประชุมรอบหลังสุดในเดือนธันวาคมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังสะท้อนว่าเฟดมีความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วย แต่การลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้ถูกจำกัดไว้จากรายงานดัชนีภาคการผลิตเดือนธันวาคมที่แข็งแกร่งกว่าคาด ต่อมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงปรับลงอีกในวันพฤหัสบดี โดยได้รับแรงหนุนจากรายงานดัชนีภาคการบริการเดือนธันวาคมที่ลดลง การคาดการณ์ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่อาจจะออกมาไม่ดี รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อ

เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์แรกของปี 2550 โดยเมื่อตลาดต่างประเทศเปิดทำการเป็นวันแรกของปีนี้ในวันอังคาร เงินบาทแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับเงินเยน/ดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ตาม เงินบาทมีทิศทางที่อ่อนค่าลงหลังจากนั้น โดยในวันพุธที่ตลาดในประเทศเริ่มเปิดทำการนั้น เงินบาทถูกกดดันในช่วงแรกจากเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ เมื่อช่วงสิ้นปี 2549 แต่ก็ฟื้นตัวขึ้นได้ในระยะต่อมาจากแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ จากผู้ส่งออก ในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังลังเลที่จะทำธุรกรรม เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางความมั่นคง และรอดูการประเมินผลกระทบการออกมาตรการควบคุมเงินไหลเข้าระยะสั้นของธปท. ส่งผลให้ปริมาณธุรกรรมเบาบาง สำหรับในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทได้รับผลกระทบเป็นระยะๆ จากข่าวลือการปฏิวัติซ้อน ก่อนที่บรรยากาศปรับตัวดีขึ้นบ้าง เมื่อประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติยืนยันว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์การเมืองได้ สำหรับในวันศุกร์ที่ 5 มกราคม เงินบาทมีค่าเฉลี่ยในการซื้อขายช่วงบ่ายที่ 35.967 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 36.020 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

ในสัปดาห์นี้ (8-12 มกราคม 2550) เป็นช่วงเริ่มต้นของปักษ์สุดท้ายก่อนที่การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับช่วงเวลาให้สอดคล้องกับกำหนดการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มกราคมเป็นต้นไป โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงกรอบการเคลื่อนไหวเดิม ในขณะที่ปัจจัยทางการเมืองยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 35.80-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยในระยะนี้ ตลาดคงจะติดตามสถานการณ์ด้านเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง การทบทวนมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นของธปท. มากกว่าปัจจัยภายนอกประเทศ ดังนั้น ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์ใหม่ๆ ค่าเงินบาทคาดว่าจะแกว่งตัวตามคำสั่งซื้อขายจากผู้นำเข้าและผู้ส่งออกเป็นหลัก

การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร
ในสัปดาห์แรกของปี 2550 เงินเยนแกว่งตัว โดยแม้ว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปิดตลาดในวันอังคาร แต่เงินเยนก็อ่อนค่าลงในวันพุธและพฤหัสบดี จนสัมผัสระดับอ่อนค่าสุดในรอบสองเดือนครึ่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เพราะได้รับปัจจัยลบจากการกลับมาทำ Carry Trade ของนักลงทุน ซึ่งกู้ยืมสกุลเงินที่ให้อัตราผลตอบแทนต่ำอย่างเงินเยน เพื่อไปซื้อสินทรัพย์ในสกุลเงินที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า ถึงแม้ว่าหนังสือพิมพ์โยมิอุริของญี่ปุ่นรายงานในวันจันทร์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะพิจารณาเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ ก็ตาม ในขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ได้แรงหนุนจากการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ เดือนธันวาคมที่ขยายตัวเกินคาด ประกอบกับ ข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ ยอดขายบ้านคงค้าง (Pending Home Sales) และดัชนีภาคบริการของสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) ล่าสุด ซึ่งแม้จะลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ก็บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ คงจะไม่ชะลอตัวลงรุนแรง อย่างไรก็ตาม เงินเยนฟื้นตัวขึ้นในวันศุกร์ โดยนักลงทุนบางส่วนกลับมามีความหวังอีกครั้งว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงในการประชุมวันที่ 17-18 และมองว่าเงินเยนได้ถูกเทขายมากเกินไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ สำหรับในวันศุกร์ที่ 5 มกราคม เงินเยนมีค่าเฉลี่ยที่ 118.18 เยน/ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 118.91 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

เงินยูโรเคลื่อนไหวผันผวนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงต้นสัปดาห์ เงินยูโรแข็งค่าขึ้น เนื่องจากการเข้าซื้อของนักลงทุนที่ต้องการถือสกุลเงินที่ให้อัตราผลตอบแทนดี โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 3.5% ในปัจจุบัน มาที่ 3.75% ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ในขณะที่ ดัชนีของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของ RBS/NTC เขตยูโรโซนประจำเดือนธันวาคม 2549 ที่ออกมาแย่กว่าคาด ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเงินยูโร อย่างไรก็ตาม เงินยูโรทยอยลดช่วงบวกลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังสหรัฐฯ รายงานเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี ซึ่งทำให้ตลาดเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ในขณะที่ เงินยูโรได้รับปัจจัยลบจากการที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังทรงตัวอยู่ที่ 1.9% ซึ่งต่ำกว่าเพดาน 2% ของธนาคารกลางยุโรปเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน อีกทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการเดือนธันวาคมลดลงต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด สำหรับในวันศุกร์ที่ 5 มกราคม เงินยูโรมีค่าเฉลี่ยที่1.3087 ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 1.3153 ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า[/color:574ba47bfb">[/size:574ba47bfb">

 กลับขึ้นบน
samjin
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 352
#1 วันที่: 06/01/2007 @ 09:26:17 : re: สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์: ?บาทอ่อนเล็กน้อย ขณะ.
ภาวะตลาดทุน
ตลาดหุ้นไทย
ในสัปดาห์แรกของปี 2550 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 628.19 จุด ลดลง 7.6% จากระดับปิดที่ 679.84 จุดในสิ้นปีก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 20.18% จาก 37,522.04 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 45,092.73 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มจาก 7,504.41 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 15,030.91 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 179.51 จุด ขยับลง 7.2% จาก 193 จุดในสิ้นปีก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างหนักในสัปดาห์แรกของปีนี้ โดยนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติเป็นกลุ่มที่ขายสุทธิจำนวน 2.73 พันล้านบาท และ 521 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยเป็นกลุ่มที่ซื้อสุทธิที่ 3.25 พันล้านบาท ตามลำดับ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 3 วันติดต่อกัน โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมานั้น ดัชนีร่วงลงอย่างมากถึง 3.03% หรือ 20.59 จุด ไปปิดที่ 659.25 จุดในการซื้อขายเป็นวันแรกของปี โดยมีแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มธนาคาร พลังงาน วัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และหุ้นในกลุ่มอื่นๆที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุวินาศกรรมเมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม เช่น กลุ่มโรงแรม ห้างสรรพสินค้าและขนส่ง เป็นต้น อีกทั้ง ตลาดหุ้นยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากการออกมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินของธปท.เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นออกมา ขณะที่ในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์นั้น ดัชนีตลาดหุ้นรูดลงอย่างต่อเนื่องจากแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ หลังจากข่าวลือเกี่ยวกับการวางระเบิดยังคงมีเข้ามาโดยตลอด ขณะที่ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงตามทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ได้ปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง นอกจากนั้น การที่ตลาดหุ้นภูมิภาคส่วนใหญ่ปรับตัวลงในวันนี้เป็นอีกปัจจัยที่ถ่วงบรรยากาศการซื้อขาย โดยดัชนีร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ในวันศุกร์ โดยลดลง 20.03 จุด ไปปิดที่ 628.19 จุด

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (8-12 ม.ค.2549) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยจะยังคงได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลของนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยนักลงทุนคงจะรอดูความคืบหน้าของทางการในการดำเนินการและติดตามผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ตลอดจน สถานการณ์ทางการเมืองในสัปดาห์หน้า รวมไปถึงท่าทีของธปท.เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินว่าจะคลี่คลายไปในลักษณะใด ส่งผลให้คาดว่าการปรับตัวของดัชนีคงจะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ทางด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 585 และ 620 จุด แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 636 และ 660 จุด ตามลำดับ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯและญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี DJIA ปรับตัวขึ้นได้ในสัปดาห์แรกของปี 2550 โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2550 ดัชนี DJIA ปิดที่ 12,480.69 จุด เพิ่มขึ้น 0.14% จาก12,463.15 จุดเมื่อสิ้นปีก่อน ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,453.43 จุด เพิ่มขึ้น 1.6% จาก 2,415.29 จุดในสิ้นปีก่อนหน้า ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการในวันจันทร์เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ และในวันอังคารเพื่อไว้อาลัยให้การเสียชีวิตของอดีตประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ขณะที่ หลังจากเปิดตลาดเมื่อวันพุธที่ผ่านมานั้น ดัชนีพุ่งขึ้นในช่วงแรก โดยการร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นปัจจัยลบต่อราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานขนาดใหญ่ เช่น เอ็กซอน โมบิล แต่ช่วยหนุนแนวโน้มผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน ขณะที่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี นำโดยหุ้นกูเกิล อิงค์บวกขึ้นได้หลังจากบริษัทโบรกเกอร์ได้ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายของหุ้นดังกล่าว แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดแรงบวกลงในช่วงท้ายแต่ยังคงปิดบวกขึ้นได้เล็กน้อย หลังรายงานการประชุมเดือนธันวาคมของเฟดบ่งชี้ถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ส่วนในวันพฤหัสบดีนั้น ตลาดหุ้นได้รับแรงหนุน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและสุขภาพ หลังจากที่บริษัทโบรกเกอร์ปรับเพิ่มการคาดการณ์ผลกำไรหุ้นอินเทล คอร์ป และหุ้นแอมเจน อิงค์

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มกราคม 2549 ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 17,091.59 จุด ลดลง 0.78% จากปิดตลาดที่ 17,225.83 จุดเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา โดยในวันพฤหัสบดี ตลาดหุ้นญี่ปุ่นทะยานขึ้นถึง 127.84 จุดหรือ 0.74% สู่ 17,353.67 จุด อันเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนในการซื้อขายวันแรกของปีนี้ ซึ่งตลาดเปิดทำการเพียงแค่ครึ่งวัน ทั้งนี้ ดัชนีได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นในกลุ่มส่งออก ตามการอ่อนค่าของเงินเยน ขณะที่หุ้นโตโยต้า มอเตอร์บวกขึ้นหลังจากที่ได้มีการรายงานยอดขายที่เพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคมในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ดัชนี NIKKEI ร่วงลงอย่างมากในวันศุกร์ โดยลดลงถึง 262.08 จุด หรือ 1.51% สู่ 17,091.59 จุดอันเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม เป็นต้นมา จากแรงขายทำกำไรก่อนวันหยุดยาวช่วงสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 8 มกราคม เนื่องในวันหยุดราชการ นอกจากนั้น การคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ ได้ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ และกดดันราคาหุ้นในกลุ่มส่งออกให้ปรับตัวลดลง ขณะที่การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกถ่วงราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน[/color:30460ddea7">[/size:30460ddea7">
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com