April 29, 2024   7:20:04 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ลุ้นวิกฤติค่าเงินรอบ2รีเทิร์นหรือไม่งานหนักธปท.หลังเพิ่งได้บ
 

arthor
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 803
วันที่: 05/01/2007 @ 09:51:59
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ลุ้นวิกฤติค่าเงินรอบ2รีเทิร์นหรือไม่งานหนักธปท.หลังเพิ่งได้บทเรียนสอนใจ [/size:c09a94886b">

กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงปลายปีก่อนปิดฉากปี2549ไปเสียแล้ว สำหรับข่าวค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วันที่ 25 ตุลาคมเป็นต้นมาค่าบาทแข็งค่าทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี พ.ย.โดยแตะที่ระดับ37.06 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากนั้นไม่กี่วันในช่วงปลายเดือน ต.ค. ค่าเงินบาทได้แข็งค่าแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์อีก โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36.50 - 40 บาท ทำสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี แต่ดูเหมือนค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าต่อเนื่องไม่หยุดจนทำให้เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ออกมาตรการดูแลค่าบาทเป็นครั้งแรกของปีนี้ โดยสั่งห้ามไม่ให้สถาบันการเงินขายตั๋วแลกเงิน (B/E) แก่บุคคลที่มีถิ่นฐานนอกประเทศ (NR) ทุกอายุสัญญาหลังพบมีเงินทุนไหลเข้าส่วนใหญ่ไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น
แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังไม่บรรเทาอาการแข็งค่าของเงินบาท ค่าเงินยังคงแข็งค่ามาแตะที่ระดับ 36 บาทต้นๆ จนธปท.ได้ออกมาตรการเพิ่มอีก โดยเปิดช่องให้ภาคธุรกิจฝากเงินกับสถาบันการเงินเป็นสกุลต่างประเทศได้
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นและขยายการถือครองเงินดอลลาร์จาก 7 วันเป็น 15 วัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ ธปท. พยายามดำเนินการนั้นดูจะไม่เห็นผลนัก เพราะค่าเงินบาทยังไม่หยุดแข็งค่า จนทำให้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาตรการอีกระลอก โดยขยายเวลาให้สถาบันการเงินกู้ยืมเงินบาทจากบัญชีผู้มีถิ่นฐานต่างประเทศ หรือ นอนเรสซิเดนท์ (NR) ได้เฉพาะสัญญาที่มีอายุเกิน 6 เดือนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อยืดอายุการซื้อขายให้ยาวขึ้น แต่ในสัปดาห์ดังกล่าวค่าเงินบาทก็แตะ 35 บาทต่อดอลลาร์จนได้ และแข็งค่าขึ้นมาที่ 35.50-35.60 บาท และปรับขึ้นแข็งค่าไม่หยุด โดยเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ค่าบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 9 ปีที่ 35.06 บาท
และก่อนที่จะแข็งค่าจนแตะระดับ 34 บาท นั้น ธปท. จึงได้ตัดสินใจใช้ยาแรงประกาศมาตรการสกัดการไหลเข้าของเงินทุนเพื่อควบคุมการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. โดยให้สถาบันการเงินหักเงินทุนนำเข้าระยะสั้นไว้ 30% ของเงินทุนนำเข้าทั้งหมดซึ่งหมายความว่าหากมีเงินดอลลาร์มาแลก100เหรียญฯ ธปท.จะต้องหักเพื่อสำรองไว้ 30 เหรียญฯ และจะให้แลกเป็นเงินบาทได้แค่ 70 เหรียญฯ แต่มาตรการนี้ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างรุนแรง ดัชนีร่วงลงไป 140 จุด โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. และทันทีที่มาตรการยาแรงดังกล่าวออกมา จนในวันเดียวกันช่วงค่ำ ธปท.จึงได้ยกเลิกหักเงิน 30% ในส่วนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นส่งผลให้วันต่อมาดัชนีเริ่มกระเตื้องขึ้น ส่วนค่าเงินบาทก็เริ่มอ่อนลงมาอยู่ที่ระดับ 36.10 บาท(21 ธ.ค.49)
อย่างไรก็ตามการผ่อนมาตรการดังกล่าว ดูเหมือนไม่ได้ช่วยำให้ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ ที่เสียความรู้สึกกับมาตรการยาแรงดังกล่าวของ ธปท. กลับคืนมาได้ เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงมียอดขายสุทธิในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ตอนนี้คงต้องมาลุ้นตามเชียร์กันว่าต่างชาติจะกลับมาอีกครั้งเมื่อไหร่ แม้ช่วงนี้หลายต่อหลายฝ่ายอาจมองโลกในแง่ดีว่า ช่วงนี้เป็นช่วงปลายปี ฝรั่งอาจขายหุ้นลดพอร์ต เพราะเป็นวันหยุดยาวก่อนจะกลับเข้ามาอีกครั้งหลังปีใหม่ แต่นั่นก็ยังการันตีไม่ได้ว่าพวกเขาจะกลับมาจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรอต่อไปเท่านั้นเอง ขณะที่มาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าของ ธปท. นั้นทำให้เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาตรการเพิ่มเติมให้แยกบัญชี NR สำหรับซื้อขายหุ้นกันไปเลย เพื่อจะได้เห็นของชัดเจนของเม็ดเงินในส่วนนี้ และเพื่อสร้างความสบายใจกับนักลงทุนต่างชาติว่าเงินในบัญชีดังกล่าวจะไม่โดนหัก 30% แน่นอน ส่วนจะเป็นยาดีแค่ไหน เรื่องนี้ก็ต้องตามติดกันไปอีกหนึ่งเรื่อง จนกว่าเมื่อเห็นเม็ดเงินต่างชาติเป็นซื้อสุทธิในตลาดหุ้นแล้วก็พอจะสบายใจกันได้บ้าง
ทั้งนี้ เรื่องที่น่าติดตามมากกว่านั้น และน่าจะเป็นปัญหาระยะยาว ที่ดูจะส่งผลกระทบกระเทือนเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศเหนือสิ่งอื่นใด ก็คงเป็นเรื่องของค่าเงินบาทในตอนนี้มากกว่าว่า การอ่อนค่าลงหลัง ธปท.มีมาตรการออกมาแล้วนั้น จะอ่อนค่าลงได้อีกนานแค่ไหน และเป็นการอ่อนค่าลงแล้วจริงหรือ หรือเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะแม้บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ทั้ง นายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ และรมว.คลัง รวมไปถึงผู้ว่าการธปท. จะพออกพอใจกับการที่เงินบาทอ่อนค่าลงแล้ว แต่ในใจลึกๆ ก็ยังไม่อาจนิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าวว่า จากนี้ไป 3 เดือน 6 เดือนจะเป็นอย่างไร เพราะที่สำคัญประเด็นจากนี้ก็คือเงินบาทอ่อนค่าเพราะมาตรการแบงก์ชาติ หรือว่าเพราะฝรั่งขาดความไว้วางใจ หรือว่าหมดศรัทธากับนโยบายของธปท. และรัฐบาลไปแล้ว จึงเริ่มถอนเงินออก และไม่กลับเข้ามาลงทุนอีก นั่นต่างหากที่จากนี้ไป ธปท.จะต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่ว่าดีใจว่ามาตรการของตัวเองได้ผลแล้วเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ที่ ธปท. จะออกมาตรการยาแรงดังกล่าว จนสั่นสะเทือนวงการไปทั่วนั้น มีการตั้งข้อสังเกตุว่า เงินบาทแข็งค่ารอบนี้ ควรมีการจับตามองเป็นพิเศษหรือไม่ ฝรั่งเริ่มกลับมาสั่นสะเทือนความมั่นคงเศรษฐกิจของไทยอีกครั้งแล้วหรือ หลังจากผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าเพื่อรอวันขายทำกำไรล็อตใหญ่แล้วขนเงินออกนอกประเทศ สร้างความบอบช้ำให้เศรษฐกิจของไทยอย่างหนักหรือไม่ ทำให้เงินบาทแข็งค่าจนหนำใจแล้วรอวันทุบให้บาทอ่อนค่า เสร็จแล้วก็โบกมือลาหรือไม่ นั่นเป็นการตั้งสมมติฐานว่าต่างชาติเข้ามาไล่ซื้อเงินบาทในช่วง 2-3 เดือนนี้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรหรือไม่ และในรอบนี้ธปท. เองก็ดูเหมือนจะรู้ทันว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น จึงออกมาตรการตั้งแต่เนิ่นๆ เพียงแต่ก่อนหน้านี้ มาตรการที่ฉีดเข้าไปในระบบไม่ได้ผล จึงทำให้ต้องหาทางปิดกั้นเส้นทางด้วยการใช้วิธีรุนแรงเพื่อไม่ต้องการให้เกิดการซ้ำรอยวิกฤตค่าเงินเหมือนปี 2540 อีก แม้ว่ากรณีนี้กับปี 40 จะเป็นกรณีที่ต่างกัน คราวนั้นบาทอ่อนค่า คราวนี้แข็งค่า แต่ถามว่าการอ่อนค่ามากไป กับการแข็งค่ามากไปในระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพและความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยที่ไม่พอเหมาะพอดี ก็ ย่อมส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจได้เหมือนกัน ธปท.เองก็คงไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์ย้อนรอยเดิมอีก เพียงแต่การดำเนินการดังกล่าวนั้น ธปท.ไม่คาดคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จนทำให้ต้องมาแก้กันเพียงยังไม่ถึงข้ามคืนด้วยซ้ำ
จริงๆแล้วการแข็งค่า หรืออ่อนค่าของเงินบาทนั้นเป็นได้หลายกรณี และก็ส่งผลดีผลเสียต่างกันออกไป สำหรับประเทศไทย ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังต้องการพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างประเทศอยู่นั้น เป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศยังต้องพึ่งพาเงินไหลเข้ามาอยู่ เพียงแต่สิ่งที่รัฐบาลต้องการไม่ใช่เงินในแบบเก็งกำไร แต่ต้องการเงินตราต่างประเทศที่เกิดจากการส่งออก เพราะตั้งแต่ในช่วงรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลพึ่งพาการส่งออกเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งในรัฐบาลยุค คมช. นี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะบอกว่าเน้นเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เน้นตัวเลขจีดีพี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลต้องหวังการส่งออกมาช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโตต่อไปให้ได้ เพื่อไม่ให้ประเทศขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนัก เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ดังนั้นเมื่อค่าบาทแข็ง ผู้ส่งออกย่อมเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบต้นๆ และหนักหนาสาหัสมากที่สุด ถึงขนาดรวมตัวกันร้องเรียนรัฐบาลให้กามาตรการมาช่วยบรรเทาค่าบาทที่แข็งค่า มิฉะนั้นพวกเขาอาจจะต้องหยุดผลิต และส่งออก ซึ่งเท่ากับจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะงักไปด้วย ดังนั้นธปท.จึงไม่มีทางเลือกมากนักที่จะต้องหาทางออก เพราะถ้าส่งออกของประเทศไม่โต รายได้ที่ต้องพึ่งพาถึง 60% ของจีดีพี ก็จะขาดหายไป เศรษฐกิจจะระส่ำระสายมากแค่ไหน อีกทั้งหากปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปเรื่อยๆ ยิ่งไม่ส่งผลดีต่อกลุ่มผู้ส่งออกมากขึ้นไปอีก และก็อาจจะลามไปถึงภาพรวมทั้งหมดของประเทศด้วยเช่นกัน เท่านั้นยังไม่พอเม็ดเงินที่ใช้ในการแทรกแซงค่าเงินของ ธปท. ในช่วงหลังๆก็เพิ่มขึ้นมหาศาล ( แม้จะออกมายืนยันว่ามาตรการที่ออกมาไม่ใช่เพื่อลดขาดทุนเรื่องนี้ก็ตาม) แต่แบงก์ชาติก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าใช้เงินเพื่อปกป้องค่าเงินบาทไปมาก
ตลอดจน ธปท. อาจจะมองว่าเจตนาเข้ามาเก็งกำไรค่าบาทของนักลงทุนต่างชาติรอบนี้ อาจจะอันตรายเพราะขืนปล่อยไปเรื่อยๆ ประเทศอาจจะบอบช้ำหนัก ภาพรวมเศรษฐกิจย่ำแย่ วิกฤติปี 40 อาจจะกลับมาตามหลอกหลอน เพราะอาจไม่มีใครรู้ว่าการปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งก็อ่อนค่าฉับพลัน มีคนได้ประโยชน์แค่ไม่กี่กลุ่ม แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศลำบากนั้น ก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้บริหารธปท. กำลังคิดอยู่ เพียงแต่ธปท.ไม่ได้มองย้อนไปอีกตลาดหนึ่ง ที่ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นก็คือตลาดทุน เพราะตลาดดังกล่าว
ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นตลาดที่ชี้วัดอะไรหลายๆอย่างของโลกยุโลกาภิวัฒน์นี้ ดังนั้นเมื่อความเชื่อมั่นส่วนนี้หายไป ธปท.จึงเสียรังวัดไม่ใช่น้อย แต่เรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นคงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มากไปกว่านี้ สายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ เพราะฉะนั้นจากนี้ ธปท.ก็ต้องเดินหน้ากับมาตรการที่มีอยู่ให้ได้ ทำอย่างไรเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ไม่ให้กระทบเศรษฐกิจจนเกิดวิกฤตอีกรอบ พร้อมๆกับพยายามดึงความมั่นใจของต่างชาติกลับคืนมา เงินไหลเข้าสำคัญหรือไม่ต้องบอกว่าสำคัญ เพราะสื่อให้เห็นถึงความมั่นใจต่อประเทศไทย ภาพพจน์ ภาพลักษณ์ของประเทศ แต่จะจัดการกับเงินไหลเข้าอย่างไรไม่ให้กระทบภาพรวมของประเทศ เป็นการบ้านที่ธปท. ต้องทำจากนี้ และถือเอาความผิดพลาดเป็นบทเรียน ทั้งที่บางทีการใช้นโยบายดอกเบี้ย หรือทางอื่นอาจจะดีกว่าก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากธปท.รายหนึ่ง กล่าวกับ eFinanceThai.com ว่า ธปท.ยังไม่เชื่อว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นในตอนนี้ต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรง เพราะต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยโดยสิ้นเชิงและได้ขนเงินออกนอกประเทศ ขณะที่ปัญหาค่าเงินบาทปัจจุบันคือแข็งค่าผิดปกติเพราะมีต่างชาติไหลเงินเข้ามามาก โดยเข้ามาเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้มากที่สุด เพราะเป็นตลาดที่ค่อนข้างจะมีช่องทางทำกำไรได้มากกว่าตลาดหุ้นซึ่งมีความผันผวนสูง และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง ทำให้นักลงทุนโยกเงินมายังภูมิภาคเอเชียดังนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงวิกฤติกับตอนนี้จึงไม่สามารถเทียบกันได้
? เทียบกันไม่ได้ เพราะสถานการณ์ต่างกัน กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบก็แตกต่างกัน และในปี 2540 ความเชื่อมั่นขาดหายไปมากแทบไม่มีเลย 2540 และตอนนั้นดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลต่อเนื่องหลายปีประมาณ 8-9 %ของจีดีพี เงินทุนสำรองมีน้อยมากแต่ปัจจุบันความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่? แหล่งข่าวกล่าว
แต่เขาก็กล่าวยอมรับ ถึงการออกมาตรการสกัดค่าเงินบาทว่า ? แม้หลายฝ่ายจะมองว่าเป็นการใช้ยาแรงแต่หากไม่ป้องกันไว้ก่อน ประเทศอาจจะย้อนรอยสู่วิกฤติเหมือนปี 2540 ได้ เพราะในช่วงนั้น ธปท.แทบจะไม่ได้ออกมาตรการอะไรสกัดค่าเงินบาทเลย แต่ใช้การเข้าแทรกแซงเป็นหลัก ทำไห้ปัญหาเกิดขึ้นมากกว่าที่คิด?
ขณะที่ ดร.บรรลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้จัดการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปคือดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุนเป็นบวกทั้งคู่ต่างจากช่วงหลังวิกฤติที่ดุลบัญชีเงินทุนเป็นลบเนื่องจากต้องนำเงินไปใช้หนี้ต่างประเทศ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกเพราะไม่ค่อยมีการลงทุน นอกจากนี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เพราะต้องการสกัดการเร่งตัวของเงินเฟ้อ
ดังนั้นในกรณีที่ดุลบัญชีทั้ง 2 ประเภทเป็นบวก จะต้องปรับที่ค่าเงิน ซึ่งอาจจะใช้วิธีลดดอกเบี้ยนโยบายเพราะปัจจุบันปัญหาเงินเฟ้อก็เริ่มคลี่คลายแล้ว และคาดว่าจะเห็นดอกเบี้ยเป็นขาลงในไตรมาสแรกปีหน้าและที่สำคัญต้องจับตาดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 17 ม.ค.นี้ อาจมีเซอร์ไพรส์
จากนี้ไป ต้องยอมรับว่า ธปท. มีงานหนักให้รออยู่อีกมากทีเดียว บทเรียนที่ผ่านมา ผ่านไปแล้ว และธปท.เองก็ต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น พื้นฐานเศรษฐกิจตอนนี้ยังไม่เลวร้ายความเชื่อมั่นแม้จะถดถอยลงไป แต่ถามว่าดีกว่าปี40 หรือไม่ ดีกว่ามากแน่นอน หวังว่าวิกฤตค่าเงินคงไม่เกิด หรือถ้ามีวี่แววว่าจะเกิด นั่นคือสิ่งที่ ธปท. รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องหาทางจากนี้ ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม เพราะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจดจำเอาเสียเลย เช่นเดียวกับผู้ว่าการธปท. จากนี้ไป การออกมาตรการอะไรคงต้องระวังหนักกว่าเดิมมาตรการดีจริง แต่หากใช้ไม่ถูกจังหวะและเวลา ก็ไม่ต่างจากความล้มเหลวเช่นกัน

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com