May 8, 2024   8:10:42 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์: ?บาทแข็งปลายสัปดาห์ ขณะที
 

samjin
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 352
วันที่: 11/11/2006 @ 11:19:12
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ตลาดเงิน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นทรงตัวถึงขยับลงเล็กน้อย โดยสภาพคล่องในตลาดเงินยังมีอยู่มาก และแทบไม่ได้รับผลกระทบจากการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคารและการนำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายในช่วงปลายสัปดาห์ของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทข้ามคืน (Overnight) หนาแน่นทั้งสัปดาห์ที่ระดับ 4.95% เทียบกับ 4.94-4.96% ในสัปดาห์ก่อน ส่วนอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ปิดในกรอบที่ลดลงเล็กน้อยมาที่ 4.875-4.9375% เทียบกับ 4.90625-4.9375% ในสัปดาห์ก่อน

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ระดับ 4.89% ในวันศุกร์ ร่วงลงจาก 4.98% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยปรับตัวลงในทุกประเภทอายุ อันเป็นผลจากความต้องการลงทุนทั้งในและนอกประเทศที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การตอบรับเป็นอย่างดีต่อการประมูลตราสารหนี้ภาครัฐระหว่างสัปดาห์ และการคาดการณ์แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 4.63% ในวันพฤหัสบดี ดิ่งลงจาก 4.72% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับลงเกือบทั้งสัปดาห์ โดยในวันจันทร์ ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบางเนื่องจากนักลงทุนหลีกเลี่ยงการประกอบธุรกรรมก่อนการชำระคืนหนี้ไตรมาสสุดท้ายของปีของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และก่อนการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันศุกร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยับขึ้นก่อนในช่วงแรก จากสุนทรพจน์ของผู้ว่าการเฟดที่ระบุว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออาจยังเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็ปิดลง ณ สิ้นวัน จากปัจจัยทางด้านเทคนิค ต่อมาในวันอังคาร การร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้รับแรงหนุนจากการรายงานและคาดการณ์ผลกำไรที่ลดลงของบริษัทรับก่อสร้างบ้าน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงของภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ จากนั้นในวันพุธ ผลการเลือกตั้งกลางเทอมซึ่งพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้กระตุ้นแรงซื้อพันธบัตรทั้งจากในและนอกประเทศ ส่งผลตามมาให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลงต่อ เพราะนักลงทุนคาดหวังว่าจะเห็นแนวโน้มการใช้จ่ายและการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลที่ลดลง ส่วนในวันพฤหัสบดี แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับขึ้นในช่วงแรก จากข่าวที่ทางการจีนมีแผนชัดเจนว่าจะกระจายการลงทุนในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็ปิดต่ำลง จากแรงหนุนผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้รับการตอบรับดีจากนักลงทุน

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแกว่งตัวในกรอบที่อ่อนค่าลง ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นปลายสัปดาห์ โดยในวันจันทร์ เงินบาทขยับอ่อนค่าลงจากระดับที่ทำไว้เมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า เมื่อข้อมูลการจ้างงานจากตลาดสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาด ประกอบกับเงินบาทอยู่ในช่วงปรับฐาน ก่อนที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในวันอังคาร เนื่องจากกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม เงินบาทขยับอ่อนค่าลงในวันพุธและพฤหัสบดี เพราะได้รับปัจจัยลบทางจิตวิทยาบางส่วน จากการออกประกาศของธปท.เพื่อควบคุมการเก็งกำไรค่าเงินบาท ประกอบกับผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า อาจออกมาตรการดูแลเพิ่มเติม หากพบการเก็งกำไรค่าเงินบาทอีก อีกทั้ง ธปท.พร้อมที่จะดูแลเงินบาท เพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวเร็วเกินไป โดยปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว กระตุ้นให้มีแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ กลับในต่างประเทศ สำหรับในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน เงินบาทแข็งค่าขึ้น ตามเงินสกุลภูมิภาคและเงินเยนที่ได้รับแรงหนุนจากข่าวที่ธนาคารกลางจีนระบุว่า กำลังพิจารณาเพิ่มความหลากหลายให้กับทุนสำรอง ทั้งนี้ เงินบาทมีค่าเฉลี่ยในการซื้อขายช่วงบ่ายที่ 36.620 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 36.667 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

ในสัปดาห์นี้ (13-17 พฤศจิกายน 2549) นอกจากการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบธนาคารแล้ว คาดว่าจะยังไม่มีปัจจัยชี้นำใหม่ในตลาดเงิน ดังนั้น ภาวะสภาพคล่องคงจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงกรอบเดิม

ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 36.50-36.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทน่าจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากสหรัฐฯ มีกำหนดการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ค่อนข้างหนาแน่น อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีกเดือนต.ค. และรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดเมื่อวันที่ 24-25 ต.ค.ที่ผ่านมา ตลอดจนข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิเดือนก.ย. นอกจากนี้ ตลาดคงจะติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับข่าวการเพิ่มความหลากหลายให้กับทุนสำรองของจีน และการประชุมจี-20 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.ที่อาจมีการหารือเรื่องค่าเงินสกุลหลัก ในขณะที่ ความวิตกเกี่ยวกับการเข้ามาดูแลค่าเงินของธปท.อาจจำกัดการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนผันผวนในกรอบที่อ่อนค่าลง โดยในวันจันทร์ เงินเยนอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ เนื่องจากสหรัฐฯ ประกาศข้อมูลการจ้างงานที่ออกมาดีเกินคาด และอัตราการว่างงานเดือนตุลาคมที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่งที่ 4.4% ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม เงินเยนแข็งค่าขึ้นในวันอังคารและพุธ ระหว่างที่ตลาดรอคอยผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสภาคองเกรสในสหรัฐฯ โดยเงินเยนได้รับปัจจัยบวกจากการแสดงความคิดเห็นของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น และสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นท่านหนึ่งในเชิงที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ กลับไม่ได้รับปัจจัยบวกจากถ้อยแถลงของนายเจฟฟรีย์ แล็คเกอร์ ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ที่ส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป สำหรับในวันพฤหัสบดี เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้น โดยตอบสนองเพียงเล็กน้อยต่อผลการเลือกตั้งที่พรรคเดโมแครตได้รับเสียงข้างมากในสภาคองเกรส แม้นักลงทุนบางส่วนจะกังวลว่า ท่าทีของพรรคเดโมแครตที่แข็งกร้าวต่อจีนมากกว่าพรรครีพับรีกันของปธน.จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ในระยะถัดไปก็ตาม ส่วนในวันศุกร์ เงินเยนดีดตัวขึ้น หลังจากที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐฯ ประจำเดือนพฤศจิกายน ลดลงต่ำกว่าคาด ประกอบกับ จีนประกาศว่ามีแผนชัดเจนที่จะกระจายการถือครองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น และผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นแสดงความวิตกเกี่ยวกับการระบาย Carry Trade สกุลเงินเยนอย่างรุนแรง ทั้งนี้ เงินเยนมีค่าเฉลี่ยที่ 117.54 เยน/ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 117.09 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินยูโรมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้น และแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ โดยแม้ว่าในวันจันทร์ เงินยูโรจะลดช่วงบวกลง เมื่อสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลในวันศุกร์ก่อนหน้าที่ชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงตึงตัว ซึ่งทำให้ตลาดเลื่อนการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดออกไป แต่เงินยูโรก็มีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นหลังจากนั้น โดยได้รับปัจจัยบวกที่สำคัญจากถ้อยแถลงของนายฌอง-คล็อต ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป และนายโลเรนโซ บินี สแมกี กรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรป ซึ่งมีมุมมองในเชิงบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป และส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับ นายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ระบุถึงแผนการกระจายทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งทำให้ตลาดวิตกว่าทางการจีนอาจเปลี่ยนการถือครองเงินดอลลาร์ฯ บางส่วนไปเป็นเงินสกุล/สินทรัพย์อื่นๆ แทน นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภานั้น ส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์ฯ บางส่วน แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จากปัจจัยดังกล่าว จะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากตลาดมองว่าอาจไม่ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญ ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน เงินยูโรมีค่าเฉลี่ยที่ 1.2859 ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 1.2769 ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

ภาวะตลาดทุน
ตลาดหุ้นไทย
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 740.42 จุด เพิ่มขึ้น 1.1% จากระดับปิดที่ 732.30 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า และ 3.7% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 63% จาก 59,383.66 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 96,809.72 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มจาก 12,992.26 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 21,077.99ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 187.1 จุด ขยับขึ้น 3.3% จาก 181.1 จุดในสัปดาห์ก่อน และ 18.2% จากสิ้นปีก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 เดือนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิเป็นสัปดาห์ที่ห้าติดต่อกันที่ 3.84 พันล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันเป็นกลุ่มที่ซื้อสุทธิที่ 872 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิที่ 4.71 พันล้านบาท ตามลำดับ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดบวกขึ้นได้ 4 วันติดต่อกัน โดยในวันจันทร์และวันอังคารที่ผ่านมา ดัชนียังได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาค และแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่องในหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มพลังงาน ธนาคาร ไฟแนนซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทางในวันอังคาร ขณะที่ในวันพุธ ดัชนีปรับตัวขึ้นในช่วงเช้า ก่อนที่จะปิดตลาดแทบไม่เปลี่ยนแปลง เพราะมีแรงขายทำกำไรหุ้นในกลุ่มธนาคาร และกลุ่มเทคโนโลยี หลังบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส การรายงานยอดลูกค้าใหม่ที่ลดลงในไตรมาส 3/2549 ทั้งนี้ ดัชนียังสามารถรักษาแรงบวกได้อย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ในวันพฤหัสบดี จากแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยี อีกทั้ง การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่มีทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม ซึ่งปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ได้เป็นปัจจัยบวกต่อบรรยากาศการซื้อขาย ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 7 สัปดาห์ที่ 23,869 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยปิดตลาดลดลงในวันศุกร์ โดยดัชนีสามารถปรับตัวขึ้นได้ในช่วงเช้า ก่อนที่จะร่วงลงในช่วงบ่าย จากแรงขายทำกำไรหุ้นหลายตัวในกลุ่มต่างๆ ที่รายงานผลประกอบการต่ำกว่าที่คาดไว้ ขณะที่การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นต่างประเทศ เป็นอีกปัจจัยที่ถ่วงบรรยากาศการลงทุน

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (13-17 พ.ย.2549) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยยังคงจะได้รับผลกระทบจากแรงซื้อและขายเพื่อทำกำไรตามการคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 3/2549 ของบริษัทจดทะเบียนซึ่งจะมีการรายงานเป็นสัปดาห์สุดท้าย รวมทั้ง การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการปรับตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าเงินลงทุนที่ยังคงจะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในภูมิภาคน่าจะยังเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า เช่นเดียวกันกับความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึก แต่มองว่ากรอบการปรับขึ้นในระยะต่อไปอาจจะได้รับแรงกดดันจากการปรับฐาน และแรงขายทำกำไรออกมาเป็นระยะๆ ทางด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 726 และ 735-738 จุด แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 744-750 และ 765 จุด ตามลำดับ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯและญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันพุธ โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2549 ดัชนี DJIA ปิดที่ 12,103.30 จุด เพิ่มขึ้น 0.98% จาก 11,986.04 จุดเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่เพิ่มขึ้น 12.93% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,376.01 จุด ลดลง 1.94% จาก 2,330.79 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่เพิ่มขึ้น 7.74% จากสิ้นปีก่อนหน้า ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯแกว่งตัวขึ้นได้ 3 วันติดต่อกัน โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนี DJIA ทะยานขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 เดือนถึง 119.51 จุด หรือ 1.0% ไปปิดที่ 12,105.55 จุด จากปัจจัยบวกเรื่องการเสนอซื้อกิจการระหว่างบริษัทจดทะเบียนหลายราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่บริษัทสหรัฐฯ มีเงินสดจำนวนมากสำหรับการลงทุน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง ก่อนการเลือกตั้งรัฐสภาของสหรัฐฯ ขณะที่ในวันอังคาร การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันได้ช่วยหนุนหุ้นในกลุ่มขนส่งและส่งผลให้ดัชนี DJIA ปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทางด้านดัชนี NASDAQ ขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง โดยได้แรงหนุนจากการที่บริษัทโบรกเกอร์ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายของหุ้นหลายตัวในกลุ่มเทคโนโลยี เช่น อะโดบี ซิสเทมส์ อิงค์ และซิสโก ซิสเทมส์ ทั้งนี้ ดัชนี DJIA สามารถปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ต่อเนื่องเป็นวันที่สองในวันพุธ โดยผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในขณะนั้น ซึ่งพรรคเดโมแครตได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้มีการคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการทำสงครามกับอิรัก และการใช้จ่ายภาครัฐที่น่าจะลดลงในอนาคต นอกจากนั้น ข่าวเกี่ยวกับการที่บริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ป กำหนดวันขายระบบปฏิบัติการใหม่ที่ชื่อ Vista ได้ช่วยหนุนราคาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีตัวอื่นๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงในวันพฤหัสบดี จากการร่วงลงของหุ้นในกลุ่มผู้ผลิตเวชภัณฑ์รายใหญ่และบริษัทด้านการดูแลสุขภาพ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการออกกฎหมายมากขึ้นในอุตสาหกรรมดังกล่าว หลังจากที่พรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในทั้งสองสภาได้เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ร่วงลงอย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2549 ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 16,112.43 จุด ลดลง 1.45% จากปิดตลาดที่ 16,350.02 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่แทบไม่เปลี่ยนจากสิ้นปีก่อนหน้าที่ 0.01% ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นได้เมื่อวันจันทร์และวันอังคารที่ผ่านมา โดยในวันจันทร์ ดัชนี NIKKEI ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยหลังการรายงานผลประกอบการที่ดีเกินความคาดหมายของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง เช่น โคนิก้า มินอลต้า โฮลดิงส์ และคาสิโอ คอมพิวเตอร์ อิงค์ ขณะที่ การพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนหุ้นในกลุ่มส่งออกขนาดใหญ่หลายตัวในวันอังคาร เช่น หุ้นฮอนด้า มอเตอร์ และหุ้นฟานุค แต่นักลงทุนยังคงมีความระมัดระวังในการเข้าซื้อ ก่อนการรายงานผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และการรายงานข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่นหลายตัวในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ดัชนี NIKKEI ร่วงลง 3 วันติดต่อกันหลังจากนั้น โดยหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ร่วงลงจากความวิตกกังวลว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวว่า ต้องการที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของเศรษฐกิจ ส่วนหุ้นในกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภคปรับตัวลงหลังการรายงานผลประกอบการที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ขณะที่การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนกันยายน ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นเดือนที่สาม และความระมัดระวังของนักลงทุนก่อนที่จะทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้เป็นปัจจัยที่กดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น นอกจากนั้น การรายงานตัวเลขคำสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดการใช้จ่ายด้านทุน ที่ออกมาต่ำกว่าความคาดหมายเมื่อวันศุกร์นั้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจ และกระตุ้นให้มีแรงขายหุ้นในกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักร ส่งผลตามมาให้ดัชนีร่วงลงไปปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา


Have a nice weekend Krub !!

[/color:a0f6160b3d">[/size:a0f6160b3d">

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com