May 6, 2024   12:07:20 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > รักที่หลุดลอย ประชัย & IRPC
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 30/10/2006 @ 09:13:48
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย(ทีพีไอ)จำกัด (มหาชน) ได้ลงมติในการประชุมวิสามัญของบริษัท รับรองการเปลี่ยนชื่อของบริษัทจากเดิมเป็น บมจ. ไออาร์พีซี.( IRPC)

นั่นหมายถึงการเริ่มต้นยุคใหม่อย่างเป็นทางการของบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่สุดของประเทศไทยภายใต้ชื่อใหม่เสียที หลังจากผ่านพ้นยุคของความผันผวนของการแก้ปัญหาหนี้ที่กลายเป็นตำนานโกลาหลที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย

พร้อมกันนี้ ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ภาพของบริษัท(ในชื่อใหม่)นี้ กับคนชื่อ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จะไม่ปรากฏร่วมกันอีกต่อไปอย่างสมบูรณ์ทั้งโดยนิตินัย และพฤตินัย

โดยนิตินัย เกิดขึ้นนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นมา ซึ่งวันนั้น ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ได้ลงคะแนนด้วยเสียงท่วมท้นด้วยคะแนนเสียง 98.86% ( 12,847 ล้านหุ้น)ปลดนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ ก่อนออกตามวาระ เนื่องจากนายประชัยถูกกล่าวโทษโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการปั่นหุ้นทีพีไอโพลีน หากบริษัทฯ ไม่ดำเนินการปลดนายประชัย ก็อาจเป็นเหตุให้ทีพีไอถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนได้ และไม่สามารถดำเนินการออกหลักทรัพย์ให้พนักงาน (ESOP) ได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการด้วย

โดยพฤตินัย มีข้อเท็จจริงชัดเจนว่า นายประชัย และคนในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ได้ทยอยขายหุ้นมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม (ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่เขาถูกปลดจากกรรมการของบริษัทฯพอดี) ทำให้สัดส่วนของการถือครองหุ้นที่เคยอยู่ทีระดับเกือบ 14% ลดลงมาฮวบฮาบเหลือไม่ถึง 1% ของสัดส่วนหุ้นทั้งหมด

การขายหุ้นดังกล่าว ซึ่งหากคิดคำนวณจะมีมูลค่าประมาณมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทซึ่งเชื่อกันว่า บางส่วนถูกนำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทที่กลุ่มเลี่ยวไพรัตน์มีอำนาจการบริหารเต็มตัวคือ ทีพีไอ โพลีน (TPIPL)

ผลจากการขายหุ้นทิ้งจำนวนมาก ทำให้นายปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ยากที่นายประชัย จะกลับเข้ามาเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่อีกครั้ง

สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็คงจะเป็นแค่ตำนานเก่าๆ และความรู้สึกส่วนตัวของนายประชัย ที่ยังคงยืนยันเสมอมาว่า สมบัติใคร ก็ต้องเป็นของคนนั้น

มุมมองดังกล่าว แตกต่างจากมุมมองของนักธุรกิจคนดังอีกคนหนึ่งคือ สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ที่ยืนยันว่า เขาจะไม่ติดยึดกับเรื่องดังกล่าว หลังจากที่ธุรกิจเหล็กของเขาถูกซื้อไปโดยกลุ่มธุรกิจอื่นๆ I shall return?

ความพยายามของนายประชัย และคนในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ เพื่อที่จะทวงคืนบริษัทที่กลุ่มตนก่อตั้งมานั้น แม้จะห่างไกลจากความจริงมากนักในยามนี้ แต่ดูเหมือนเขาก็ยังหวังว่าการเดินงานมวลชน และ งานการเมือง โดยผ่านสื่อมวลชนที่เป็นพันธมิตรบางรายนั้น จะสามารถทำให้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณกลายเป็นโมฆะได้ง่าย

บทวิเคราะห์ขนาดยาวหลายตอนเรื่อง ล้างบางระบอบทักษิณ ล้างมลทินทีพีไอ ในผู้จัดการรายวัน นั้น มีสาระที่ชุดเจนว่า ต้องการให้เรื่องรื้อฟื้นความไม่ชอบมาพากลของระบอบทักษิณที่กระทำต่อนายประชัยและตระกูลเลี่ยวไพรัตน์โดยผ่านกฎไกของ ก.ล.ต. และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

โดยมีเป้าหมายคือ เพื่อให้รัฐบาล สุรยุทธ์ 1 ดำเนินการให้เรื่องราวของความไม่ถูกไม่ต้องตามทำนองครองธรรมจะต้องได้รับการแก้ไขในทันทีโดยหวังอาศัยเครื่องมือของผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา

สาระโดยย่นย่อของบทความดังกล่าว ระบุว่า กรณีเรื่องของ มหากาพย์แห่งการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนของทีพีไอ ได้ถูกลิ่วล้อของระบอบทักษิณปล้นกลางแดดจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมไปอย่างท้าทายกฎหมายบ้านเมือง โดยฝีมือของนายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตหนึ่งในตัวแทนของกระทรวงการคลังในการเข้าไปบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ที่ไฟเขียวให้พล.อ.มลคล อัมพรภิสิฎร์ ในฐานะประธานของคณะผู้บริหารแผนทีพีไอ และขณะนี้ประธานกรรมการบริษัท กับ บริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด นอกจากนั้นยังร่วมมือโยงใยกับเลขาธิการ ก.ล.ต. และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในสมัยนั้น เผยแพร่ข่าวอันเป็นเท็จว่า นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ได้กระทำการปั่นหุ้น ทีพีไอ โพลีน และในคดีการเช่าอาคารทีพีไอ

ข้อกล่าวหาดังกล่าว เปิดช่องให้ สำนักงานก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในยุคเดียวกัน กินยาผิดขนาน ร่วมกันดำเนินการบีบบังคับให้ ประชัยเลี่ยวไพรัตน์ พ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด(มหาชน)หรือทีพีไอ และบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) และบริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด(มหาชน)

ประเด็นคำถามก็คือ ทำไมนายประชัย และพวก ยังคงเชื่อว่า เรื่องราวที่ผ่านการพิจารณาและต่อสู้มายาวนานและผ่านกระบวนการศาลที่ยืดเยื้อ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นกลุ่ม ทีพีไอ และเปลี่ยนชื่อบริษัทไปแล้วอย่างเป็นกระบวนการ ยังจะสามารถแก้ไขได้โดยกระบวนการอื่นของอำนาจรัฐ(เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา หรือ ป.ป.ง. หรือป.ป.ช.) หลังรัฐประหารอยู่อีก?

ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องดังกล่าว ได้เคยผ่านกระบวนการเหล่านี้มามากพอสมควรแล้ว และมีคำยืนยันชัดเจน
หรือว่านี่คือ การถวิลหาอดีตเพื่อปลอบใจตนเองในอนาคตเท่านั้น?ข้อเท็จจริงที่ไม่เคยบอกเล่า

ข้อเท็จจริงที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน และปรากฏอยู่ในเอกสารที่ข่าวหุ้นธุรกิจ รวบรวมมาได้ตลอดหลายปีนี้ พบว่า กระบวนการต่อสู้ของนายประชัย กับคณะผู้ฟื้นฟูแผนฯที่ศาลแต่งตั้งหลังกรณี เอฟเฟคทีฟ แพลนเนอร์(อีพีแอล)

โดยการปฎิบัติงานของคณะผู้บริหารแผนในระยะเริ่มต้น ค่อนข้างยุ่งยากเนื่องจากเอกสารที่ผู้บริหารแผนลงนามมีเป็นจำนวนมากและยังมีปัญหาจากความสลับ ซับซ้อนและความไม่มาตรฐานในระบบการบริหารจัดการและการจัดองค์กรของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขัดขวางทุกวิถีทางจากประชัย เลี่ยวไพรัตน์

การต่อสู้ของประชัยกับผู้บริหารแผนฯนั้น เริ่มต้นในหลายระดับนับแต่
- การยื่นคำคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขของคณะผู้บริหารแผน ในประเด็นต่างๆคือ
1.กระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการหรือดำเนินการแทรกแซงกิจการของเอกชน
2.ข้อเสนอขอแก้ไขแผนขัดรัฐธรรมนูญ
3.การเรียกประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีตามที่คณะกรรมการเจ้าหนี้ร้องขอภายหลังวันออกจากแผนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4.การเพิ่มทุนที่ลูกหนี้คำนวณว่าจะขายที่ราคาหุ้นละ 2.28 บาทเป็นการเอาเปรียบลูกหนี้เพราะต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี
5.เงินทีได้จากการเพิ่มทุนไม่ได้นำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการของลูกหนี้
6.การเพิ่มทุนทำให้เจ้าหนี้เข้ามาครอบงำกิจการของลูกหนี้
7.การออกหลักทรัพย์ให้พนักงานของลูกหนี้ไม่เกิน 975 ล้านหุ้นเป็นการก่อภาระให้ลูกหนี้ เป็นการให้สินบนพนักงาน
8.การระบุคุณสมบัติของผู้ร่วมทุนไม่เป็นธรรม
9.ไม่มีกำหนดประมาณค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการ

ท้ายสุด ศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหาข้างต้นทั้งหมดเนื่องจากเหตุผลตามลำดับดังนี้
คือ 1. กระทรวงการคลังอยู่ในฐานะผู้บริหารแผนตามคำสั่งศาล ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ดังนั้นสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้โดยไม่ได้แทรกแซงกิจการเอกชน 2.การเสนอขอแก้ไขแผนไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญแม้จะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของลูกหนี้บ้างก็ตาม 3.เจ้าหนี้ร้องขอให้มีการประชุม แต่ไมได้ทำหน้าที่จัด 4.ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้นหุ้นจึงไม่ได้มีมูลค่าทางบัญชีสูงถึง 23 บาท 5.เงินทีได้จากการเพิ่มทุนนำไปลดผลการขาดทุนสะสมของลูกหนี้และเจ้าหนี้ จึงเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ 6.ลูกหนี้นั้นต่างจากผู้ถือหุ้น ผู้บริหารลูกหนี้อาจเคยเป็นผู้ถือหุ้น แต่หลังปรับโครงสร้างด้วยการลดทุนและเพิ่มทุนและออกจากแผนฯแล้วผู้ถือหุ้นอาจเปลี่ยนไปเพื่อให้การฟื้นฟูสำเร็จ ไม่ได้เป็นการเอาเปรียบลูกหนี้

-การยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ว่าคำวินิจฉัยของศาลล้มละลายกลางนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนซึ่งได้รับการเสนอโดยเจ้าหนี้ ทำให้ลูกหนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยถูกจำกัดสิทธิในทรัพย์สิน และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผลปรากฎว่า ตุลาการรัฐธรรมนูญเสี่ยงข้างมาก 13 คนจาก 15 คน ได้วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการตัวแทนกระทรวงการคลังไม่ได้มีปัญหาหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

- การยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีการใช้จ่ายเงินโดยมิชอบ ทุจริตและเอื้อประโยชน์ต่อคู่แข่ง เสนอแผนที่ไม่เป็นธรรม ได้รับค่าตอบแทนสูงเกินควร และมีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากนายพละ สุขเวช เป็นผู้บริหารของบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจ
ศาลฯได้ยกคำร้องเนื่องจากวินิจฉัยแล้วว่าคณะผู้บริหารแผนมีความสุจริต ถูกต้องเหมาะแล้ว

- การยื่นคำร้องต่อกรรมาธิการปกครอง ว่าได้รับความเสียหายอย่างมากจากการเข้ามาบริหารแผนของอีพีแอลและคณะผู้บริหารแผนจากกระทรวงการคลัง ซึ่งคณะกรรมาธิการปกครอง วุฒิสภา กำหนดให้มีคณะทำงานตรวจสอบเรื่องนี้ โดยมีพลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตยเป็นประธานคณะทำงาน
คณะทำงานนี้ ได้ออกสมุดปกขาวถึง 3 เล่มซึ่งเนื้อหาล้วนแต่สอดคล้องกับข้อกล่าวหาของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษ และทำให้เกิดความเคลื่อบแคลงสงสัยต่อความสุจริตคณะทำงานเป็นอย่างยิ่ง

-การยื่นคำร้องให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 โดยกล่าวหาว่า การอนุมัติโครงการและงบประมาณสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับการเพิ่มศักยภาพของผู้บริหารและพนักงานไม่เป็นการสมควร และการที่ผู้บริหารแผนฯบอกเลิกสัญญาเช่าเรือทักโบ๊ตและงดการจ่ายค่าเช่าถังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของบริษัท ระยอง แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกหนี้เป็นอย่างมาก
ศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องและประชัย ได้ยื่นอุทธรณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อมูลที่ยืนยันว่า นายประชัยได้ปฏิบัติการรบกวนขัดขวางการปฎิบัติงานของคณะผู้บริหารแผนด้วยวิธีการต่าง ๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การลักลอบสั่งการให้พนักงานและผู้บริหารของบริษัทนำเอกสารให้ตนพิจารณาก่อนเสนอคณะผู้บริการแผนให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนโจมตีคณะผู้บริหารแผนตลอดเวลา รวมทั้งได้สร้างภาพให้เห็นว่าพนักงานทีพีไอไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการจ้างคนมาชุมนุมต่อต้าน

ทั้งหมดนี้ นายประชัย ไม่เคยกล่าวชี้แจงให้ใครรับทราบ และไม่พูดถึง ในขณะที่ผู้บริหารแผนก็ค่อนข้างนิ่งเงียบเสมอมาอย่างมีน้ำอดน้ำทน
ปล่อยให้ใครต่อใครตั้งคำถามว่า ใครกันแน่ ที่ไม่ได้รับความยุติธรรม? และใครกันแน่ ที่ควรได้ครอบครองบริษัทปิโตรเคมีใหญ่ที่สุดของประเทศโดยชอบธรรม เมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนาน?

 กลับขึ้นบน
อาฟง
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
#1 วันที่: 30/10/2006 @ 09:14:33 : re: รักที่หลุดลอย ประชัย & IRPC
การต่อสู้ของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เพื่อรักษา และทวงคืนบริษัทที่กลุ่มตนก่อตั้งขึ้นมาเป็นเรื่องที่รับทราบกันโดยทั่วไป

ปมปัญหาของอาณาจักรแสนล้าน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ ทีพีไอ ซึ่งพลิกผันจากธุรกิจเอกชนเข้าสู่การที่รัฐวิสาหกิจได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่เพียงแต่มีคำถามตามมามากมายภายในช่วงรัฐบาลทักษิณเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการต่อสู้ทั้งแนวดิ่งและแนวระนาบหลายระดับ ดังนั้นเมื่อระบอบทักษิณถูกโค่นลง ปฏิบัติการทวงคืน ก็ถือว่ายังคงต้องดำเนินการต่อไป
หนึ่งในทางเลือกก็คือ ใช้เส้นทางการเมือง เป็นแนวทางการต่อสู้

ประชัยสู่ถนนสายการเมือง
เส้นทางเดินสู่ถนนสายการเมืองของนายประชัย จากผู้สนับสนุนเบื้องหลัง สู่การยืนแถวหน้า โดยมีกรณี ทีพีไอ.เป็นแรงขับ ทำให้ชื่อของเขา ถูกพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบ่อยครั้งอย่างอ้อมๆ ให้ประชาชนและผู้สนับสนุนเขาเข้าใจว่าทุน ที่ใช้ขับเคลื่อนการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาจากคนผู้นี้

ข้อกล่าวหาดังกล่าว เกิดขึ้นมานับแต่การตั้งเวทีที่ท้องสนามหลวงในนาม กลุ่มคนรู้ทันต้นปี 2548 ซึ่งหน้าฉากอาจจะเป็น เอกยุทธ อัญชันบุตร ประธานบริหารเครือโอเรียลเต็ล มาร์ท กรุ๊ปน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และนายประพันธ์ คูณมี แล้ว

เรื่องนี้ นายประชัย แม้ไม่ได้ยอมรับโดยตรง แต่ก็ไม่ปฏิเสธ เนื่องจากเขาเคยตอบคำถามว่า พวกนี้รักชาติ ไม่ขายชาติ ผมสนับสนุนคนรักชาติ ไม่ขายชาติ

ต่อมา การตัดสินใจลงทุนออกอากาศกระจายเสียงวิทยุชุมชนคลื่นความถี่ เอฟเอ็ม92.25 เมกกะเฮิร์ซ คลื่นประชาธิปไตย และ เว็บไซท์ fm9225.net โดยอ้างเหตุผลว่า มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตย เผยแพร่ข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นและความเป็นเผด็จการทางการเมือง โดยเชื่อมโยงกับนายประมวล รุจนเสรี ผู้เขียนหนังสือ พระราชอำนาจ (ต่อมาสถานีนี้ถูกปิดดำเนินการ) ก็ถือเป็นก้าวย่างที่ชัดเจน

การเคลื่อนไหวดังกล่าว เพราะนายประชัยเห็นว่า การเลือกออกมายืนแถวหน้าไม่ต้องให้ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาแต่เพียงข้างเดียว เป็นหนทางที่ต้องกระทำ และยิ่งเด่นมากขึ้นเมื่อ การเข้าร่วมจัดตั้งพรรคประชาราชอย่างเป็นทางการ โดยจับมือกับนักการเมือง ภายใต้แกนนำของนายเสนาะ เทียนทอง และยังคว้าตำแหน่งเลขาธิการพรรค นั้น ถือว่าฮือฮาที่สุด เพราะจากนั้นเป็นต้นมา นายประชัย ได้สวมหมวก 2 ใบ(ธุรกิจ-การเมือง)อย่างเต็มตัว

ความสัมพันธ์ดังกล่าว ถูกเชื่อมโยงไปกับนายประมวล รุจนเสรี ซึ่งประชัย ใช้กระแสของหนังสือนี้มาเป็นตัวปลุก ชุมชนคนรักประชาธิปไตย ผ่านทางคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 92.25เมกกะเฮิรซ์

นอกจากนั้น น้องชายของนายประชัยที่ชื่อ ประมวล เลี่ยวไพรัตน์ ก็เป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ตำแหน่งผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในเวลานี้ด้วย

บนก้าวย่างสู่เส้นทางการเมืองนี้ นายประชัยเคยให้สัมภาษณ์สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่งว่าเหตุผลหลักเพราะ ทุกคนก็จ้องแต่จะบอกว่า ไม่มีคนที่ จะมาแทนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ผมมองว่า ถ้า เป็นเรื่องเศรษฐกิจนี่เป็นเรื่องหมูมาก ช่วงที่เราเริ่มทำปิโตรเคมีเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ยังแลกเช็คอยู่เลยใบละ 50,000บาท ผมดูแล้วฝีมือคุณฺทักษิณ ไม่ ค่อยเท่าไหร่ ....ผมเลยคิดว่า เรามาช่วยท่าน(-เสนาะเทียนทอง-) ช่วยให้ท่านดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้ประเทศไปรอดได้ พร้อมกับเสริมความมั่นใจของตนเองอย่างเต็มที่ว่า ประสบการณ์ของผม การเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง เราก็มีประสบการณ์ เป็นวุฒิสมาชิกมา 9 ปี อนุมัติงบประมาณต่างๆ มาเยอะแล้ว เรื่องการเงินผมก็เคย เป็นประธานเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟแนนซ์ และบริษัทประกันภัย ผมผ่านธุรกิจอื่นๆ มาแทบจะทุกอย่าง ผมยังเคยพูดเล่นๆ กับพรรคพวกเพื่อนฝูงว่า ผมขายทุกอย่างได้ตั้งแต่ สากกะเบือยันเรือรบ แต่มีอย่างเดียวที่ผมขายไม่ได้คือ ขายชาติ ซึ่งคนอื่นเขาทำได้ตรงนี้แหละเป็นจุดอ่อนของผม

ก้าวย่างทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งทำให้ทักษิณ ชินวัตร ร่วงจากอำนาจไปสำก็ทำให้ภาพของประชัย ที่ที่เคยถูกมองในฐานะผู้ร้าย กลายเป็นภาพพระเอกได้ในระดับหนึ่ง

ปัญหาก็คือ ภาพลักษณ์พระเอกเช่นนี้ จะสามารถช่วยให้เขาสามารถพลิกผันให้ขั้วอำนาจใหม่ทางการเมืองหลังรัฐประหารยินยอมให้กลุ่มเลี่ยวไพรัตน์ทวงคืนสมบัติเดิมคือ ทีพีไอ.(ในชื่อใหม่ IRPC)กลับสู่อ้อมอกได้หรือไม่?

พระเอกกับฐานะทางนิตินัย?
ข้อเท็จจริงทางนิตินัยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้อีพี พ้นจากการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นกิจการของทีพีไอ. ตามคำร้องของนายประชัย และมีคำสั่งใหม่ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 แต่งตั้งกระทรวงการคลัง เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูชุดใหม่ มีคณะกรรมการ 5 คน พลเอกมงคลอัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธาน และกรรมการได้แก่นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา นายพละสุขเวช นายทนง พิทยะ และ นายอารีย์ วงศ์อารยะ บทบาทของนายประชัยก็ถือได้ว่าถูกลดทอนลงอย่างชัดเจนอย่างเป็นทางการ แม้การต่อสู้จะยังดำรงอยู่

แนวทางการฟื้นฟูของกระทรวงการคลังคือ นำรัฐวิสาหกิจในเครือเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุน ประกอบด้วย ปตท. เข้ามาถือหุ้น 31.5% และ ธนาคารออมสิน กบข. และ กองทุนวายุภักษ์ 1 ถือหุ้น 10% ในขณะที่ทางฝ่ายนายประชัยได้พยายามซื้อหุ้นคืน โดยได้ความสนับสนุนจากซิติก กรุ๊ป (CITIC)จากประเทศจีนเข้ามาซื้อหุ้น โดยฝ่ายนายประชัยเสนอที่จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ทันที 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ(แต่ต่อมาข้อเสนอนี้ล้มไปเพราะ ทางฝ่ายจีนได้ประกาศถอนตัว)

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ศาลฎีกา มีคำตัดสินว่าประชัยไม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนกลุ่มปตท. ส่งผลให้ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ทีพีไอ และต่อมาศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ทีพีไอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2549และมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2549 ที่ประชุมมีมติให้ปลดนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท

การดำเนินการผ่านกระบวนทางกฎหมายอันถึงที่สุดแล้วนี้ แม้จะมีคำถามตามมาว่า จะมีอำนาจใดอีกที่กล้ากลับมติของศาลให้เป็นอย่างอื่น? แต่นั่นไม่ใช่โจทย์ของนายประชัย เนื่องจากเขายังคงมั่นใจว่า ท้ายที่สุด เขาย่อยจะได้รับชัยชนะในท้ายสุดเพื่อทวงความยุติธรรม

อย่างน้อยที่สุด ก็ยังมีเรื่องเก่าที่ค้างคาในศาลอาญาเหลืออยู่ให้ปรากฏ เช่น เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ประทับรับฟ้องกรณีที่บริษัท น้ำมันทีพีไอจำกัด (ทีพีไอออยล์) นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และนายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะโจทก์ได้ยื่นฟ้องผู้บริหารระดับสูงของทีพีไอและทีพีไอ ออยล์ ประกอบด้วย นายวชิรพันธ์ พรหมประเสริฐ นางไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล และนายเฉลิมชัย สมบูรณ์ประกรณ์ ในฐานะจำเลย ในข้อกล่าวหา ยักยอกทรัพย์สินทีพีไอ ซึ่งจำเลยทั้งสามดังกล่าวไม่ยอมคืนทรัพย์สินของทีพีไอทั้งบัญชีทรัพย์สิน ดวงตราประทับและทรัพย์สินอื่น ๆ และในที่สุดศาลอาญากรุงเทพใต้ชี้ชัด คดีมีมูลความผิดและเป็นคดีอาญาและออกหมายเรียกให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย มาแก้ข้อกล่าวหาในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 นี้ ให้ติดตามกันต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้น!!

และที่สำคัญก็คือ บทบาทของนายประชัยนั้น ไม่ได้มีแต่เพียงภาพของ?พระเอก?ที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมด้านเดียว เขายังมีภาพของผู้ร้ายที่คณะผู้บริหารแผนของกระทรวงการคลังประทับตราอยู่อีกหลายเรื่อง

ผู้ร้ายกับฐานะทางพฤตินัย?
จากหลักฐานของคณะบริหารแผนตัวแทนกระทรวงการคลัง มีการค้นพบว่า นายประชัยเลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะผู้มีอำนาจทำการแทนและผู้บริหารแผนชั่วคราวก่อนคณะผู้บริหารแผนตัวแทนกระทรวงการคลังจะเข้ารับหน้าที่บริหาร ได้กระทำให้?ทีพีไอ?ได้รับความเสียหายและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 7 ประการ คือ
1. กรณีการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ฉบับ นายประชัย ได้ประกาศพักชำระหนี้และก่อตั้งกิจการ ได้แก่ บริษัท พรชัยวิสาหกิจ ทีพีไอ-โฮ,ดิ้ง และ ทีพีไอ อีโออีจี และได้ให้กิจการของตนเองกู้ยืมเงินจากทีพีไอ เป็นจำนวนเงินกว่า 8,000 แม้ว่าได้มีหนังสือทวงถามให้ชะระหนี้คืนแต่บริษัทผู้ออกตั๋วกับนิ่งเฉย จึงได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ และได้มีคำสั่งให้ทั้ง 3 บริษัทชำระเงิน 8,414 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ทีพีไอ
2. กรณีการหักกลบลบหนี้และการดำเนินการที่เอื้อประโยชน์โดยมิชอบแก่นายประชัย ทีพีไอได้ขายสินค้าให้แก่บริษัท น้ำมันทีพีไอ (2001) จำกัด แต่บริษัท น้ำมันทีพีไอ ชำระราคาสินค้าแก่ทีพีไอไม่ครบ มีการหักลบหนี้โดยมิชอบ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่นายประชัย และสร้างความเสียหายให้แก่ทีพีไอ ทีพีไอได้ทำหนังสือถึงบริษัทพรชัยวิสาหกิจ ให้คืนเงินค่าเช่าล่วงหน้า แต่กลับถูกปฏิเสธ
3. กรณีการเช่าอาคารทีพีไอทาวเวอร์เป็นเวลา 60 ปี นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่อาคารทีพีไอกับ บริษัท พรชัยวิสาหกิจ 3 ฉบับ มีพื้นที่ 23,725 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่มากเกินความจำเป็น และทีพีไอได้ชำระเงินกินเปล่าและค่าเช่าล่วงหน้าเป็นเวลา 90 ปีไปแล้ว ต่อมาเมื่อทีพีไอขอลดพื้นที่เช่า และขอให้คืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าแต่กลับถูกปฏิเสธ ทำให้ทีพีไอได้รับความเสียหาย
4. กรณีการซื้อที่ดินที่จังหวัดสงขลา การซื้อที่ดินบริเวณ จังหวัดสงขลา โดยมีที่ดินที่ได้ชำระเงินไปแล้วเป็นเงิน 195 ล้านบาทเศษจากราคาทั้งสิ้น 211 ล้านบาท ทั้งๆที่ที่ดินเหล่านี้ไม่สามารถโอนทางเอกสารได้ จึงไม่สามารถเชื่อได้ว่าได้มีการซื้อขายที่ดินจริงหรือไม่
5. กรณีการเลิกจ้างพนักงาน 62 คนและเลื่อนระดับพนักงานโดยไม่ชอบ นายประชัยมีคำสั่งเลิกจ้างพนักงานของบริษัทและบริษัทในเครือ เป็นผลให้บริษัทและบริษัทในเครือต้องจ่ายค่าเสียหายตามสัญญาจ้างจำนวน 62.27 ล้านบาทและยังถูกพนักงานร้องต่อศาลแรงงานอีก 6คดี
6. กรณีการก่อสร้างถังเก็บน้ำมันโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นายประชัย ได้ก่อตั้งบริษัท ระยอง แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งทีพีไอถือหุ้น 99.99% และได้ก่อสร้างถังน้ำมันที่จังหวัดระยองเพื่อให้ทีพีไอทำการเช่าถังเก็บน้ำมันดังกล่าว แต่ถังน้ำมันสร้างอยู่ในเขตพื้นที่สีเหลืองเป็นที่ต้องห้าม หากถูกหน่วยราชการมีคำสั่งให้รื้อถอนจะสร้างความเสียหายแก่ทีพีไอเป็นอย่างมาก
7. กรณีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นายประชัยทำการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกล่วงล้ำเข้าไปในทะเลในน่านน้ำไทยและบนชายหาด ที่แตกต่างจากแบบก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องต่อศาลจ.ระยอง ทำให้เกิดความเสียหายต่อการประกอยการของบริษัท
นอกจากคำกล่าวหาข้างต้น ยังมีคำกล่าวหาเพิ่มเติมที่ระบุชัดว่า นายประชัย มีพฤติกรรมขัด ขวางการออกจากการฟื้นฟูกิจการและปฏิบัติที่ส่อไปในทางไม่สุจริตหลังออกจากการฟื้นฟูกิจการที่เป็นรูปธรรมหลายครั้ง เช่น
- ขัดขวางการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 27 เม.ย. 2549 เช่น ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะอ่านคำสั่งนี้ นางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งนนทบุรีว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทออกจากการฟื้นฟูกิจการแล้ว ซึ่งเป็นเท็จเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งฉุกเฉิน ห้ามไม่ให้กระทรวงการคลังจัดประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้
- นายประชัยยังออกประกาศ 2 ฉบับ อ้างว่า อำนาจการบริหารกลับมาเป็นของตนแล้ว ให้ยกเลิกคำสั่งใดๆ ที่คณะผู้บริหารได้ลงนามไว้ เพื่อขัดขวางการประชุม
- เมื่อไม่สามารถขัดขวางการประชุมได้ นายประชัยได้ยื่นคัดค้านต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อไม่ให้รับจดทะเบียนคณะกรรมการบริษัทอันเป็นผลจากการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งดังกล่าวแต่ในที่สุดกระทรวงพาณิชย์ก็รับจดทะเบียนรายชื่อคณะกรรมการบริษัทเป็นที่เรียบร้อยโดยมีพลเอกมงคลอัมพรพิสิฎฐ์ เป็นประธานกรรมการและนายปิติ ยิ้มประเสริฐ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
- นายประชัยได้ยื่นคำร้องต่อศาลจ.ระยองว่าการประชุมเมื่อ 27 เม.ย. 2549ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้อำนาจบริหารตกเป็นของฝ่ายตน และเรียกค่าเสียหายจากคณะผู้บริหารแผนตัวแทนกระทรวงการคลังจำนวน 240 ล้านบาท แต่ศาลจังหวัดระยองมีคำสั่งยกคำร้อง
- เมื่อหลังจากคณะกรรมการชุดใหม่ของบริษัทเข้าปฏิบัติหน้าที่ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ยังคงดำเนินการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการไม่ชำระหนี้ค่าน้ำมันบริษัทน้ำมันทีพีไอ จำกัดการสั่งจ่ายเงินของบริษัทในเครือที่ส่อไปในทางไม่สุจริต และการไม่ยอมมอบคืนอำนาจการบริหารบริษัทในเครือแก่ทีพีไอ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ ประกอบกับข้อเท็จจริงทางด้านอื่นๆ ย่อมยืนยันได้ดีว่า ไม่ว่านายประชัยจะเป็นพระเอก หรือ ผู้ร้าย ก็ตาม โอกาสสำหรับการทวงคืน ทีพีไอ(ในชื่อใหม่ IRPC)นับวันจะกลายเป็นแค่ความฝัน ที่ไม่มีโอกาสและมหัศจรรย์ใดๆไม่ว่าทักษิณ ชินวัตร จะกลับมาครองอำนาจอีกหรือไม่!!!
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com