May 6, 2024   6:37:59 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เปิดโผแชมป์รอบ10เดือน บล.กิมเอ็งกอดเก้าอี้แน่น
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 29/10/2006 @ 01:15:04
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

เปิดโผแชมป์ 10 เดือนแรกปี 49 บล.กิมเอ็ง ยังกอดเก้าอี้แชมป์โบรกเกอร์มาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ด้าน EVER เว่อร์ สมชื่อราคาพุ่ง 2,750% ขณะที่ ITV-IEC-GBX ผิดโผหุ้นร่วง ส่วนดัชนีในภาพรวมยังไปไม่ถึงดวงดาว แม้แตะจุดสูงสุดเกือบ 800 จุด แต่ไปไม่รอดร่วงตกสวรรค์มาอยู่ที่ 725 จุดอีกครั้ง มาร์เก็ตแคปเพิ่มแค่ 2.6 แสนล้านบาทจากสิ้นปีก่อน แต่ต่างชาติลุยซื้อกว่าแสนล้านบาท ค่าบาทแข็งโป๊กจนแบงก์ชาติยอมรับเข้าแทรกแซง

ผ่านมาเป็นเวลา 10 เดือนแล้วสำหรับปี 2549 ซึ่งตั้งแต่ต้นปีต้องยอมรับว่าประเทศไทย รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์เจออุปสรรคและมรสุมต่างๆมากมาย ส่งผลให้ทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี รวมไปถึงเป้าหมายของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์และคาดหวังกันเอาไว้ ซึ่งก่อนที่จะหมดเวลาของปีนี้ซึ่งเหลืออีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น eFinanThai.com ขอรวบรวมสถิติที่สำคัญเพื่อฉายภาพให้เห็นว่า ในช่วงระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างไร ภาพรวมของโบรกเกอร์และราคาหุ้นต่างๆเป็นอย่างไร

ซึ่งข้อมูลที่ได้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะหากพิจารณาจากระดับดัชนีตลาดหลักทรัพย์หรือ SET Index ถือว่าไม่ได้ก้าวไปไหนมากนัก จาก ณ สิ้นปี 2548 SET Index ปิดที่ระดับ 713.73 จุด มาในปีนี้แม้ว่าดัชนีปรับตัวขึ้นไปใกล้ระดับ 800 จุดในช่วงกลางปี แต่สุดท้ายก็มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้หุ้นไทยต้องร่วงลงอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ต่างประเทศอย่างการทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ หรือนิวเคลียร์อิหร่าน รวมไปถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดเห็นทางการเมืองอย่างรุนแรงในประเทศ ทำให้เกิดการแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย และนำมาซึ่งการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะไม่ได้ตอบรับในทางลบมากนักเหมือนอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่บรรยากาศมาคุก่อนเกิดการปฏิรูปก็ทำให้ดัชนีอ่อนตัวลงและไม่สามารถที่จะพลิกกลับขึ้นมาได้เป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน

โดยล่าสุดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27 ต.ค.) ที่ระดับ 725.77 จุด ซึ่งก็ห่างจากดัชนีเมื่อปลายปีก่อนที่ 713.73 จุด ไม่มากเท่าไหร่ ในขณะที่หากเทียบมูลค่าตลาดรวมหรือมาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นปลายปีก่อนอยุ่ที่ 5.10 ล้านบาท ขณะที่ล่าสุดมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 5.36 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นมาเพียง 2.6 แสนล้านบาทเท่านั้น
แต่สิ่งที่ยังถือเป็นสัญญาณดีคือแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ยังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หากนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบันต่างชาติมียอดซื้อสุทธิถึง 112,704.63 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 30,143.68 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปขายสุทธิ 82,560.93 ล้านบาท

ทิศทางเม็ดเงินไหลเข้าอย่างรุนแรง สะท้อนจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าทะลุ 37 บาทไปเรียบร้อยแล้วถือเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบ 7 ปี และยังเป็นการเคลื่อนไหวแข็งค่าที่ผิดปกติและเกินไป จนกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายอมรับว่ามีการเข้ามาแทรกแซงเพื่อไม่ให้ค่าเงินแข็งค่าเร็วเกินไป

ในขณะที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างออกโรงเตือนนักลงทุนระวังแรงขายทำกำไร เพราะการที่ค่าเงินเคลื่อนไหวผันผวน และแข็งค่าเร็วเกินไป อาจเกิดการทำกำไร 2 ต่อ คือขายหุ้นฟันกำไรค่าเงินได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ดัชนีจะยังคงอ่อนตัวลงกว่า 2 จุด แต่นักลงทุนต่างชาติยังลุยซื้อหนักมืออีกกว่า 1.7 พันล้านบาท

การที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมากในปีนี้ กระทบถึงมาร์เก็ตแชร์ของบริษัทหลักทรัพย์ ถึงแม้ว่าบล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) (KEST) จะสามารถครองแชมป์มาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แต่หากดูในรายละเอียดจะพบว่าสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ลดลงจาก 10.36% ในช่วง 10 เดือนปีที่แล้ว เหลือเพียง 8.69% ในปีนี้ ในขณะที่โบรกเกอร์ต่างสัญชาติต่างประเทศทั้งหลายเรียงแถวขึ้นชั้นติดอันดับ TOP 10 ไม่ว่าจะเป็น SCBS PHATRA CSFB UBS

ด้านหุ้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด ปรากฎว่าเป็นหุ้นร้อนอย่าง บริษัท เอเวอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน) (EVER) ครองตำแหน่งอันดับ 1 ราคาปรับตัวขึ้น 2,750% ตามด้วยหุ้นที่ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการอย่าง SAICO TWP และ EPCO ล้วนติดอันดับ TOP 10 ทั้งสิ้น ในขณะที่ TWZ ถือเป็นหุ้น IPO ตัวเดียวที่ติดโผราคาพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา

หุ้นที่ราคาปรับตัวลดลงไปมากที่สุด หลายตัวเกิดจากการแตกพาร์ ยกเว้นแต่ ITV IEC และ GBX ที่เจอมรสุมข่าวร้ายจนทำให้ราคาหุ้นรูดลงติดอันดับ TOP 10 เช่นเดียวกัน

***ผู้ว่า ธปท. ยอมรับแทรกแซงค่าบาท
เหตุแข็งค่าเร็วเกินไปหวั่นกระทบศก.
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้เข้าดูแลค่าบาทแล้ว หลังจากค่าเงินบาทแข็งค่ามากและเร็วเกินไป เนื่องจากเกรงว่าหวั่นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หลังมีเงินทุนไหลเข้าโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทยังแข็งค่าเกาะกลุ่มกับค่าเงินในภูมิภาค จึงยังไม่กระทบการแข่งขัน

ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า เงินไหลเข้าดังกล่าว เป็นเงินลงทุนในตลาดหุ้นและกองทุน ซึ่งธปท.จะยังติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าเงินบาท
เงินบาทแข็งค่าเกาะกลุ่มค่าเงินในภูมิภาคนี้ แต่ไม่ได้แข็งค่าสุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นผลจากเงินที่ไหลเข้ามาโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาหลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ผู้ว่าธปท. กล่าว

***วิจิตร มองทุนนอกไหลเข้าถึงปีหน้า
เตรียมขอคลังยืดอายุภาษี บจ.
นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ปลายเดือนนี้เตรียมที่จะเดินทางเข้าไปหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการยืดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่ออีก 1 ปี เพื่อประโยชน์ของบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเพิ่มสินค้าให้กับตลาด ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น

ทางตลาดฯ จะเข้าไปหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเรื่องของการต่อภาษีออกไปอีก 1 ปี สำหรับบริษัทใหม่ที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯรวมถึงการแก้ไขข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ซึ่งจะเดินทางไปกับ ดร.ก้องเกียรติ ซึ่งอยู่ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยภายในสิ้นเดือนนี้นายวิจิตร กล่าว

นอกจากนี้ ตลท.เตรียมที่จะเดินทางเข้าไปหารือกับกระทรวงการคลังประมาณปลายเดือนนี้ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการปรับแผนตลาดหลักทรัพย์จาก 5 ปีเป็น 3 ปี เพื่อพัฒนาตลาดทุนให้ได้มาตรฐานและน่าสนใจเร็วขึ้น ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติน่าจะยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2549 เนื่องจากแนวโน้มของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 4/2549 คงจะออกมาในทิศทางที่ดีหลังจากที่ได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายของภาครัฐที่มีความชัดเจน รวมทั้งตลาดหุ้นไทยยังคงมี P/E ที่ต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักลงทุนสนใจในตลาดหุ้นไทย
นายวิจิตร กล่าวต่อไปว่ามีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้มาตรฐาน CG สูงเกินกว่า 70% เป็นส่วนใหญ่และมีบางส่วนที่มีมาตรฐานต่ำกว่า 70% ทั้งนี้ประโยชน์ของบริษัทที่มี CG มากกว่า 70% จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น รวมทั้งนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ และลูกค้าที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจเกิดความเชื่อมั่นและจะส่งผลบวกต่อภาพลักษณ์ที่ดี ของบริษัทอีกด้วย
อย่างไรก็ตามบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมาตรฐานด้าน CG ต่ำกว่า 70% ตลาดหลักทรัพย์มีแผนที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะเข้าพบผู้บริหารเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงและยกระดับบริษัทจดทะเบียนของไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับสากล

ผลการสำรวจ 5 ปีที่ผ่านมา 2 ปีสุดท้ายพบว่า บริษัทจดทะเบียนมี CG เกิน 70% เป็นส่วนใหญ่ และมีบางส่วนที่มี CG ต่ำกว่า 70% ซึ่งเป็นจุดอ่อนและตลาดฯ ก็จะแก้ไขปัญหานี้โดยเดินทางเข้าไปพบเพื่อให้ปรับปรุงการบริหารงาน โดยเฉพาะคณะกรรมการบริษัทที่เป็นระบบครอบครัว ซึ่งจะทำให้การใช้ระบบ CG เป็นไปด้วยความยากลำบาก และคาดว่าภายใน 3 ปีบริษัท ที่มี CG ต่ำกว่า 70% จะเปลี่ยนมาเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานเกินกว่า 70%นายวิจิตร กล่าว

ด้านนายชาญชัย จารุวัสตร์ กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยเปิดเผยผลการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2549และประกาศรายชื่อบริษัทที่มีผลการประเมินดีเลิศ ซึ่งประกอบด้วย บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (BCP) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB)
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) บริษัทปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) โดยมีช่วงคะแนนอยู่ระหว่าง 90-100 คะแนน

***โบรกเกอร์ที่มีมาร์แก็ตแชร์สูงสุด 10 อันดับแรก 10 เดือนแรก
อันดับ 1 KIMENG มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 8.69%
อันดับ 2 SCBS มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 6.49%
อันดับ 3 ASP มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 6.18%
อันดับ 4 PHATRA มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 5.82%
อันดับที่ 5 CS มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 5.26%
อันดับที่ 6 UBS มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 4.78%
อันดับที่ 7 KGIมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 3.94%
อันดับที่ 8 ZMICOมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 3.76%
อันดับที่ 9 BFITSECมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 3.61%
อันดับที่ 10 BLSมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 3.42%

***หุ้น 10 อันดับแรกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด ในช่วง 10 เดือนแรก
อันดับ 1 EVER เปลี่ยนแปลง 2,750%
อันดับ2 SAICO เปลี่ยนแปลง 811.76%
อันดับ 3 TWP เปลี่ยนแปลง 525.93 %
อันดับ4 TWZ เปลี่ยนแปลง 306.74%
อันดับ 5 TFI เปลี่ยนแปลง 290.32 %
อันดับ6 PE เปลี่ยนแปลง 277.50%
อันดับ 7 PRECHA เปลี่ยนแปลง 234.29 %
อันดับ8 CSP เปลี่ยนแปลง 209.73%
อันดับ 9 GRAND เปลี่ยนแปลง 199.40 %
อันดับ10 EPCO เปลี่ยนแปลง 195.00%

***หุ้น 10 อันดับแรกที่ปรับตัวลดลงสูงสุดในช่วง 10 เดือนแรก
อันดับ 1 TR เปลี่ยนแปลง -91.79%
อันดับ2 RCI เปลี่ยนแปลง -90.76%
อันดับ 3 SST เปลี่ยนแปลง -90.45%
อันดับ4 NNCL เปลี่ยนแปลง -79.23%
อันดับ 5 CENTEL เปลี่ยนแปลง -76.61%
อันดับ6 PTTEP เปลี่ยนแปลง -76.27%
อันดับ 7 POWER เปลี่ยนแปลง -75.51%
อันดับ8 ITV เปลี่ยนแปลง -73.45%
อันดับ 9 IEC เปลี่ยนแปลง -69.26%
อันดับ10 GBX เปลี่ยนแปลง -66.4

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


.000002 [/color:5c8ce91230">

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com