May 2, 2024   6:59:10 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > แมงเม่าเฮ! เงินนอกทะลักถึงปีหน้า
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 26/10/2006 @ 11:00:23
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ภาวะการซื้อขายหุ้นในปีนี้ดูเหมือนดัชนีจะไม่สามารถที่จะไต่ระดับไปไหนได้ไกล โดยย่ำอยู่ที่ 700 จุดต้นๆเท่านั้น เพราะมีเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยลบเข้ามากระทบอยู่ตลอดทั้งปี เริ่มตั้งแต่การซื้อขายหุ้น SHIN ของตระกูลชินวัตร ซึ่งเกี่ยวโยงโดยตรงกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ที่นำมาซึ่งการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งถึงแม้ว่าขณะนี้เหตุการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีมากขึ้น แต่ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ตอบสนองในทางที่นักลงทุนต้องการมากนัก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องตั้งเป็นข้อสังเกตก็คือ แรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลังจากการปฏิรูปการปกครองฯ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าฝรั่งรอบนี้เป็นของจริงหรือของปลอม แรงซื้อที่เข้ามาแค่การพักเงินหรือลงทุนระยะยาว ล้วนเป็นสิ่งที่นักลงทุนสงสัยและต้องการคำตอบ

แต่หากพิจารณาจากเม็ดเงินต่างชาติที่เข้ามาในประเทศแถบเอเชียในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับแนวโน้มและการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่มีแนวโน้มจะปรับลดลงในปีหน้า คงทำให้นักลงทุนรายย่อยยิ้มออก เพราะนั่นหมายถึงทิศทางของเงินไหลเข้ามายังตลาดหุ้นไทยน่าจะยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากค่าเงินบาทที่ตอนนี้แข็งค่าแตะระดับ 37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และกูรูในวงการการเงินอย่างดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ยังคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปถึงปลายปี โดยมองว่าสิ้นปีนี้ค่าเงินมีโอกาสแตะ 37 บาทต่อดอลล์ได้ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่าค่าเงินที่แข็งขึ้นเป็นเพราะมีเงินไหลเข้าจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าในจำนวนนี้มีเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วย

โดยในวันที่ 25 ต.ค. ค่าเงินบาทขึ้นไปแตะระดับแข็งค่าที่ 37.06 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 7 ปีนับตั้งแต่เดือน ม.ค.43
ข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศ เกี่ยวกับการเข้าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ พบว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างประเทศเข้าซื้อสุทธิใน 6 ประเทศเอเชียรวมมูลค่า 1.12 พันล้านเหรียญ ภายหลังจากที่ Dow Jones ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กำลังปรับลด และต้นทุนพลังงานที่ลดลง ยังผลให้ MSCI Ex Japan ปรับตัวขึ้นไป 0.5% โดย เกาหลี (+1.2%), ไทย (+1.8%) และฟิลิปปินส์ (+2.4%) มีการปรับตัวดีที่สุดในกลุ่ม C-6

อย่างไรก็ดีการปรับตัวขึ้นของไทยเกิดจากแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ ขณะที่เกาหลี และฟิลิปปินส์เกิดจากการซื้อสุทธิสถาบันในประเทศ
การอ่อนตัวของดอลลาร์หลังขาดดุลการค้าอย่างเรื้อรัง ส่งผลให้ US Dollar Index อ่อนค่าลง 1% สวนทางกับดัชนีค่าเงินบาทที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% อย่างไรก็ตามการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นอายุ 2 ปี และ 10 ปีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13% และ 2.3% เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และเกิดเงินทุนไหลจากตลาดเงินเข้าตลาดทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงชะลอการลงทุนในเกาหลีใต้หลังสถานการณ์ในเกาหลีเหนือยังคงตึงเครียด โดยมีการซื้อสุทธิในเดือนนี้ 509 ล้านเหรียญ และมีเงินทุนเคลื่อนย้ายจากเกาหลีสู่ไต้หวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 371ล้านเหรียญ และมียอดซื้อสุทธิสูงที่สุดในเอเชียประจำเดือนตุลาคม 1.1 พันล้านเหรียญ

ในส่วนของประเทศไทยนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในไทย 171 ล้านเหรียญ ขณะที่ซื้อสุทธิในช่วง 15 วัน ที่ผ่านมา342 ล้านเหรียญ ซึ่งหากเปรียบเทียบเงินทุนไหลเข้มาในกลุ่ม TIP เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 371 ล้านเหรียญ เป็นการไหลเข้าอินโดนีเซียในสัดส่วนถึง 49%หลังเงินเฟ้อในประเทศลดลง เช่นเดียวกับไทย โดยรวมการลงทุนในฟิลลิปปินส์ค่อนข้างทรงตัว และดูแย่เมื่อเทียบกับไทย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ฟิลิปปินส์กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยภายในประเทศอินเดียครองอันดับหนึ่งการลงทุนด้วยมูลค่าสูงสุดใน 6 ประเทศ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 386 ล้านเหรียญ และซื้อสะสมตลอด เดือนนี้ 867 ล้านเหรียญ

นี่คือเม็ดเงินในปัจจุบันที่เห็นๆอยู่แล้วว่ามีการไหลเวียนอยู่ในประเทศแถบเอเชียค่อนข้างมาก ส่วนประเด็นที่ทำให้คนในวงการส่วนใหญ่คาด การณ์ถึงทิศทางของเงินไหลเข้าว่าน่าจะต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้านั้น หลักๆแล้วน่าจะมาจากทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐหรือเฟด ที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าน่าจะเริ่มปรับลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 โดยเหตุผลหลักมาจากฟองสบู่ที่อยู่อาศัยของสหรัฐที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2549 ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผล ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลง รวมทั้งการปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของจีนที่ลดการใช้น้ำมันและหันไปใช้ถ่านหินมากขึ้น ตลอดจนท่าทีที่ประนีประนอมมากขึ้นระหว่างอิหร่านและกลุ่มชาติตะวันออกกดดันให้ราคาน้ำมันลดลง

จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่า เฟดจะเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ลงภายในครึ่งแรกของปี 2550 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดความรุนแรงของการแตกของฟองสบู่ที่อยู่อาศัย ฟองสบู่ที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลไกหลักในการผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว

นอกจากนี้ปัจจุบันมีสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯค่อนข้างชัดเจนซึ่งนอกจากการหดตัวของการลงทุนในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแล้วดัชนีชี้นำอื่นๆ ก็แสดงถึงการชะลอตัวเช่นเดียวกัน เช่น การจ้างงานใหม่นอกภาคเกษตรกรรม จากที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 160,000 รายต่อเดือนในปีที่ผ่านมาลดลงเหลือร้อยละ 140,000 รายโดยเฉลี่ยระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมในปีนี้ ขณะที่ดัชนี PMI ที่แสดงการซื้อสินค้าใหม่ก็ลดลงจาก ประมาณ 62 จุดในเดือนกุมภาพันธ์เหลือ 54 จุด ในเดือนสิงหาคม และที่สำคัญคือดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ของสหรัฐฯที่จัดทำโดยองค์กรความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.59 จากที่ขยายตัวสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ถึงร้อยละ 4.7 ดัชนีโดยรวมชี้ให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชัดเจน

จากประเด็นที่รวบรวมมาทั้งหมด บรรดาแมงเม่าน่าจะสบายใจได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าโดยภาพรวมของดัชนีอาจจะไม่ได้พุ่งขึ้นอย่างหวือหวา อันเนื่องมาจากการปรับพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติที่อาจจะโยกเงินจากหุ้นใหญ่ๆมายังหุ้นที่มีขนาดเล็กลง แต่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าพอใจ ซึ่งทำให้ดัชนีฯค่อยๆปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับนโยบายพอเพียงของรัฐบาล ส่วนหุ้นกลุ่มไหนน่าจะเป็นที่หมายปองของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเทเม็ดเงินเข้ามาอย่างเต็มๆ การเลือกซื้อหุ้นเพื่อความคุ้มค่าต่อการลงทุนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผลตอบแทนงอกเงย ซึ่งทีมข่าวหุ้น-การเงินของ eFinancethai.com จะได้นำข้อมูลเชิงเจาะลึกรายกลุ่มมานำเสนอต่อไป....ติดตามภาค 2 ได้เร็วๆนี้

eFinanceThai.com

.000002
[/color:dad8871a5e">[/size:dad8871a5e">

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com