May 3, 2024   4:13:05 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์
 

samjin
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 352
วันที่: 21/10/2006 @ 13:52:00
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน




(21 ต.ค.49) ตลาดเงิน : ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินขยับขึ้นในช่วงกลางถึงปลายสัปดาห์ โดยธนาคารพาณิชย์มีความต้องการเงินสดเพื่อรองรับการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันศุกร์ และเพื่อรองรับการเบิกถอนของลูกค้าในช่วงวันหยุดยาว อีกทั้ง ธนาคารบางแห่งยังมีความต้องการเงินเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทข้ามคืน (Overnight) มีระดับหนาแน่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.95% ในช่วงต้นสัปดาห์ มาที่ 4.96% ในช่วงปลายสัปดาห์ เช่นเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ปิดปรับขึ้นจาก 4.875% ในช่วงต้นสัปดาห์ มาที่ 4.90625-4.9375% ในช่วงกลางถึงปลายสัปดาห์ ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันไว้เท่าเดิมที่ 5.00% ตามความคาดหมาย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ระดับ 5.02% ในวันศุกร์ ปรับลงจาก 5.07% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยปรับตัวลงในประเภทระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) โดยได้รับแรงหนุนจากมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและความต้องการลงทุนจากนอกประเทศที่แข็งแกร่งในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนระยะสั้นขยับขึ้นเล็กน้อย โดยที่ยังคงมีความต้องการลงทุนจากกลุ่มกองทุนรวมอย่างต่อเนื่อง

ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 4.79% ในวันพฤหัสบดี ขยับลงเล็กน้อยจาก 4.80% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ปรับลดลงในวันจันทร์ จากแรงซื้อพันธบัตรทางเทคนิค หลังจากที่แรงขายทำกำไรได้ทำให้อัตราผลตอบแทนขยับขึ้นไปเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ต่อมาในวันอังคารและพุธ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไม่เปลี่ยนแปลงมาก โดยในวันอังคาร การลดลงของอัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้ผลิตและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน อีกทั้ง การเพิ่มขึ้นของยอดซื้อสุทธิในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ของนักลงทุนต่างชาติในเดือนสิงหาคม ซึ่งช่วยให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลงในช่วงแรก ได้ถูกหักล้างด้วยความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านที่ฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนตุลาคม

สำหรับในวันพุธ การปรับตัวลงของอัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้บริโภคได้ถูกชดเชยด้วยตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้ปรับเพิ่มขึ้นในวันศุกร์ อันเป็นผลจากการลดลงเหนือความคาดหมายของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ องค์ประกอบของดัชนีชี้วัดกิจกรรมภาคการผลิตของธนาคารกลางสหรัฐ สาขาฟิลาเดลเฟียในเดือนตุลาคมที่ยังคงแข็งแกร่ง ตลอดจนการปรับพอร์ตการลงทุนก่อนการประมูลพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมากในสัปดาห์ถัดไป

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่ามากสุดในรอบ 1 เดือน โดยตลอดสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามลำดับ และสัมผัสระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยทางเทคนิค และแรงขายเงินดอลลาร์ ในตลาดต่างประเทศ ประกอบกับการแข็งค่าของเงินสกุลภูมิภาคและเงินเยน หลังจากที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ปะปน ทำให้ตลาดไม่แน่ใจเกี่ยวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและเงินดอลลาร์ ส่วนการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันของธปท.ไว้ที่ 5.0% นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม เงินบาทมีค่าเฉลี่ยในการซื้อขายช่วงบ่ายที่ 37.253 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 37.430 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

ในสัปดาห์นี้ (23-27 ตุลาคม 2549) การทยอยไหลกลับของสภาพคล่องเข้าสู่ระบบหลังผ่านวันหยุดยาว อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขยับลงได้บ้างในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์คงจะเริ่มทยอยเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงสิ้นเดือน นอกจากนี้ ตลาดคงจะจับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 24-25 ตุลาคม

ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 37.10-37.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่จากทิศทางของค่าเงินในภูมิภาค ในขณะที่ ในสัปดาห์นี้ ตลาดคงจะพุ่งความสนใจไปที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ในวันพุธ และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะจีดีพีไตรมาส 3/2549 ในวันพฤหัสบดี การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนแกว่งตัวแข็งค่าขึ้น โดยในวันจันทร์ เงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อย เพราะเงินดอลลาร์ ยังคงได้รับปัจจัยบวกจากข้อมูลยอดค้าปลีก (ไม่รวมยอดขายน้ำมัน) เดือนกันยายน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเดือนตุลาคมที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้ตลาดลดการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ยต้นปีหน้าลง อย่างไรก็ตาม เงินเยนแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยได้รับปัจจัยบวกจากข่าวที่ธนาคารกลางรัสเซียระบุว่า ได้เข้าซื้อเงินเยนเพื่อสะสมเป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ และรมว.คลังของญี่ปุ่นมีท่าทีที่ยินดีต่อความเป็นไปได้ดังกล่าว ประกอบกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของญี่ปุ่น รายงานว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นวางแผนที่จะเพิ่มการตรวจสอบการทำ Carry Trade (การที่นักลงทุนกู้ยืมเงินเยนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในต่างประเทศ) ที่เคยทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงแรงในช่วงก่อนหน้านี้ ถึงแม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะออกมาปฏิเสธในระยะเวลาต่อมา

นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สับสน ทำให้เงินดอลลาร์ ขาดทิศทางที่ชัดเจนด้วย โดยยอดการเริ่มก่อสร้างบ้านใหม่เพิ่มสูงขึ้นเกินคาดในเดือนกันยายน แต่ตัวเลขการอนุญาตสร้างบ้านใหม่กลับลดลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี อีกทั้ง ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน หดตัวมากกว่าคาด สำหรับในวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม เงินเยนแข็งค่าขึ้นต่อ หลังจากที่เงินดอลลาร์ ถูกถ่วงลงจากการที่ดัชนีชี้วัดกิจกรรมภาคการผลิตของธนาคารกลางสหรัฐ สาขาฟิลาเดลเฟีย หดตัว 0.7% ในเดือนตุลาคม ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่เชื่อว่าจะขยายตัวเหนือ 7% อีกทั้งจากคำกล่าวของเกาหลีเหนือที่ว่า หากสหรัฐ ยังคงกดดันเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ต่อไป ก็อาจนำไปสู่สงครามได้ ทั้งนี้ เงินเยนมีค่าเฉลี่ยที่ 118.26 เยน/ดอลลาร์ เทียบกับ 119.20 เยนต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินยูโรมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้น โดยแม้ว่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงในวันจันทร์ เพราะเงินดอลลาร์ ได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่แข็งแกร่งในวันศุกร์ก่อนหน้า สวนทางกับข้อมูลจากยูโรโซนที่มีทิศทางปะปนกัน แต่เงินยูโรก็ทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เพราะได้รับแรงหนุนบางส่วนจากคำกล่าวของสมาชิกสภาปกครองของธนาคารกลางยุโรปหลายท่านในทำนองที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในเดือนธันวาคมจาก 3.25% มาที่ 3.50% และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ให้ทิศทางสับสน ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม เงินยูโรมีค่าเฉลี่ยที่ 1.2624 ดอลลาร์ เทียบกับ 1.2559 ดอลลาร์ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

ภาวะตลาดทุน
ตลาดหุ้นไทย : ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 724.98 จุด เพิ่มขึ้น 1.82% จากระดับปิดที่ 712.05 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า และ 1.58% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 1.50% จาก 66,657.95 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 67,657.71 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มจาก 13,331.59 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 13,531.54 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 172.21จุด ขยับขึ้น 2.14% จาก 168.6 จุดในสัปดาห์ก่อน และ 8.84% จากสิ้นปีก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 6.38 พันล้านบาท ส่วนนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิที่ 4.73 พันล้านบาท และ 1.65 พันล้านบาท ตามลำดับ ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในภูมิภาค โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ตลาดหุ้นแกว่งตัวในแดนบวกตลอดวันจากแรงซื้อหุ้นในกลุ่มหลัก ทั้งกลุ่มพลังงาน ธนาคาร และสื่อสาร เพื่อเก็งกำไรก่อนการรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2549 ขณะที่ดัชนีอ่อนตัวลงในวันอังคาร จากแรงขายทำกำไรหุ้นขนาดใหญ่เกือบทุกกลุ่มหลังจากที่ราคาทะยานขึ้นไปในช่วงก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ก่อนที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง 3 วันติดต่อกัน

โดยในวันพุธนั้น แรงซื้อในหุ้นขนาดใหญ่ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มธนาคาร ซึ่งถึงแม้จะมีการรายงานผลประกอบการรายไตรมาสที่ลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับที่ดีกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ ในขณะที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นไปตามที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้จึงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากนัก ส่วนในวันพฤหัสบดีนั้น ตลาดปรับตัวอยู่ในกรอบแคบ จากแรงซื้อหุ้นบางตัวที่คาดว่าจะรายงานผลประกอบการที่น่าพอใจ สลับกับมีแรงขายทำกำไรออกมาเป็นระยะๆ ขณะที่ในวันศุกร์นั้น ดัชนียังรักษาแรงบวกได้อย่างต่อเนื่องไปปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน โดยการปรับลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคได้ช่วยหนุนราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานอย่างชัดเจน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายปานกลางก่อนวันหยุดยาวช่วงสุดสัปดาห์

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (24-27 ต.ค.2549) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงจะได้รับผลกระทบจากการคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 3/2549 ของบริษัทจดทะเบียนและจากเงินลงทุนที่คาดว่าจะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในภูมิภาค ขณะที่มองว่าการที่ดัชนีปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา อาจจะส่งผลให้กรอบการปรับขึ้นในระยะต่อไปเป็นไปอย่างจำกัด โดยอาจมีแรงขายทำกำไรออกมาเป็นระยะๆ ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศที่นักลงทุนคงจะให้ความสนใจ ได้แก่ การประชุม FOMC ของสหรัฐ และรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐหลายตัว โดยเฉพาะตัวเลขจีดีพีไตรมาส3/2549 ในวันศุกร์ ตลอดจน ทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทางด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 710 และ 718 ส่วนแนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 727-732 และ 740 ตามลำดับ

ตลาดหุ้นสหรัฐ : ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่เป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2549 ดัชนี DJIA ปิดที่ 12,011.73 เพิ่มขึ้น 0.43% จาก 11,960.51 จุดเมื่อสัปดาห์ก่อน และ 12.08% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,340.94 จุด ลดลง 0.69% จาก 2,299.99 จุดในสัปดาห์ก่อน และเพิ่มขึ้น 6.15% จากสิ้นปีก่อนหน้า ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐขยับขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยหนุนหลายประการทั้งจากการคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังการแสดงความคิดเห็นของบริษัทต่างๆและการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงที่ผ่านมา การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีได้รับปัจจัยบวกจากการที่บริษัทโบรกเกอร์ปรับเพิ่มอันดับความน่าลงทุนของหุ้นไอบีเอ็ม อย่างไรก็ตาม ดัชนีปิดปรับตัวลงเล็กน้อยในวันอังคาร จากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น หลังการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน กันยายน ที่เพิ่มขึ้นเกินความคาดหมายและตัวเลขดัชนีการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบปี ขณะที่ดัชนี DJIA สามารถฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้งในวันพุธ จากการรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทไอบีเอ็ม ซึ่งช่วยหนุนให้ราคาหุ้นดังกล่าวปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในรอบ 19 เดือน แต่ดัชนี NASDAQ ยังคงปิดตลาดลดลงตามการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นในกลุ่มผู้ผลิตชิพสื่อสาร หลังการเปิดเผยยอดขายโทรศัพท์ที่ต่ำกว่าคาดของบริษัทโมโตโรล่า ส่วนในวันพฤหัสบดีนั้น ดัชนี DJIA สามารถทะยานขึ้นปิดเหนือระดับ 12,000 จุดได้เป็นครั้งแรก โดยปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 12,011.73 จุด จากการรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง เช่น บริษัทโคคาโคลา กูเกิล อิงค์ และยูพีเอส อิงค์ ซึ่งช่วยชดเชยปัจจัยลบจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันหลังจากที่กลุ่มโอเปคมีมติให้ลดการผลิตน้ำมันลง

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น : ปิดที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 เดือนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2549 ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 16,651.63 จุด เพิ่มขึ้น 0.7% จากปิดตลาดที่ 16,536.54 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า และ 3.35% จากสิ้นปีก่อนหน้า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นแกว่งตัวผันผวนตลอดสัปดาห์ โดยดัชนีทะยานขึ้นถึง 156.22 จุดสู่ 16,692.76 จุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จากแรงซื้อเพื่อเก็งกำไรผลประกอบการบริษัทเอกชน ตลอดจน การทะยานขึ้นของหุ้นโซนี่ คอร์ป หลังจากที่เมอร์ริล ลินช์ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าลงทุนของบริษัท และการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มลิสซิ่งจากข่าวเกี่ยวกับการควบรวมกิจการของบริษัทในกลุ่มดังกล่าว ก่อนที่ดัชนี NIKKEI จะร่วงลงอีกครั้งในวันอังคาร โดยค่าเงินเยน ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐได้ถ่วงหุ้นในกลุ่มส่งออกขนาดใหญ่ เช่น หุ้นฮอนด้า มอเตอร์ ขณะที่มีแรงขายทำกำไรหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมากในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นขยับขึ้นได้เล็กน้อยในวันพุธ โดยมีแรงซื้อหุ้นซอฟต์แบงก์ คอร์ป และหุ้นโตชิบา คอร์ปจากแนวโน้มผลประกอบการที่สดใส ขณะที่การซื้อขายเบาบางลง โดยนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อก่อนการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ ทั้งนี้ ดัชนี NIKKEI ปรับตัวลดลงในวันพฤหัสบดีจากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มชิพ เช่น หุ้นโตเกียว อิเลคตรอน หลังจากที่บริษัทอินเทล คอร์ปได้ปรับลดการคาดการณ์รายจ่ายด้านทุน และจากแรงขายทำกำไรหุ้นโฮย่า คอร์ป ส่วนในวันศุกร์ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 100.27 จุด ไปปิดที่ 16,651.63 จุด จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นในกลุ่มพลังงานและกลุ่มเทรดดิ้ง หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกได้พุ่งขึ้นอีกครั้ง และจากแรงซื้อหุ้นในกลุ่มส่งออกที่คาดว่าจะรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่ง เช่น หุ้นโตโยต้า มอเตอร์


- กรมประชาสัมพันธ์





[/color:ee3cc9525b">

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com