May 3, 2024   12:53:03 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ไขปริศนา IEC-D1 ใครอยู่เบื้องหลังเกมนี้
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 24/08/2006 @ 09:00:20
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ภาพจิ๊กซอว์ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงสายใยที่ผูกโยงกันระหว่าง บริษัทอินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือIEC กับบริษัท ดราก้อน วัน จำกัด(มหาชน)หรือ D1 เริ่มมีความเด่นชัดเพิ่มมากขึ้น
ภายหลังจากที่ จเรรัฐ ปิงคลาศัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร D1 เข้าไปถือหุ้นใน บริษัท แอพพลิเคชั่น โฮสติ้ง เซอร์วิส จำกัด หรือA-HOST ซึ่งเคยเป็นบริษัทย่อยของ IEC มาก่อน
การเดินเกมไล่ซื้อบริษัทของคนรู้จักเข้ามาเป็นบริษัทลูก ถือเป็นเส้นทางที่จเรรัฐปรารถนา ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยที่ว่า การซื้อหุ้น A-HOST ด้วยมูลค่า 270 ล้านบาท ถือเป็นการซื้อแพงเกินไปหรือไม่ เพราะเท่าที่ดูข้อมูลต่างๆ จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของการประเมินมูลค่าในอนาคตทั้งสิ้น
การขายA-HOST ครั้งนี้ จะเห็นเลยว่ากลุ่มผู้ขาย (IEC) จะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน ส่วนผู้ถือหุ้นD1ในฐานผู้ซื้อ จะได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ คงต้องเป็นเรื่องของอนาคตต่อไป
เมื่อมองเกมผลประโยชน์ครั้งนี้ เชื่อแน่ว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นจากมันสมองของบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งของแบบนี้ต้องทำกันเป็นทีม และมีความเชื่อว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ ล้วนมีความช่ำชองจากการหาเงินจากตลาดหุ้นมาก่อนทั้งนั้น
เพราะเส้นทางการเดินที่กำลังจะเผยออกมาให้เห็นที่ละเล็กละน้อยแบบนี้ จะต้องเป็นกลุ่มที่มีความฉลาดถึงขั้นสามารถเข้าไปทำการเปลี่ยนแปลงทางเคมี เพื่อให้เกิดการเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งกรรมวิธีเหล่านี้เป็นกลวิธีที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน และเหนือชั้นกว่านักลงทุนรายใหญ่ทั่วไปที่สักแต่ว่ามีเงินถุงเงินถังจะทำได้
งานนี้คงต้องเป็นฝีมือของ ม้าแก่ชำนาญทาง อย่างแน่นอน !!!
-ของถูกหรือของแพง
ประเด็นหลักที่ จเรรัฐ ปิงคลาศัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดราก้อน วันหรือD1 ต้องการเข้าถือหุ้นในบริษัท แอพพลิเคชั่นโฮสติ้ง เซอร์วิส จำกัด หรือ A-HOSTจำนวน 75 % นั้น เพื่อให้มีแกนหลักของธุรกิจ ซึ่งจะสามารถทำให้ D1 มีคุณสมบัติของการบริษัทจดทะเบียน โดยไม่ถูกเพิกถอน หลังจากที่ได้มีการโอนธุรกิจหลักเดิมทั้งหมดออกไปให้กับกลุ่มตระกูล จันทรรัศมี
การเข้าซื้อกิจการของจเรรัฐ ถูกเปรียบเปรยจากคนในแวดวงตลาดหุ้นว่า เป็นการซื้อกระดองของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งมาปั้นใหม่ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาเนื้อในที่เป็นส่วนของการดำเนินธุรกิจเข้ามาประกอบให้เกิดความสมบูรณ์ และถูกต้องตามคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียน
สิ่งที่เกิดขึ้นของธุรกรรมดังกล่าว มีมุมมองที่สามารถมองได้หลายทาง ซึ่งที่เห็นๆ กันจะมีเพียงแต่ข้อมูลด้านดีเท่านั้นที่ผู้บริหาร D1 ออกมาเปิดเผยเท่านั้น แต่เมื่อพูดถึงในเรื่องของเม็ดเงินลงทุนที่มากถึง 270 ล้านบาท กับการเข้าถือหุ้น 75 %ของA-HOST นั้น เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนต้องให้ความสำคัญเป็นหลัก ว่าจะเป็นการซื้อแพงหรือไม่
เหตุที่ต้องมีการตั้งข้อสังเกตเช่นนั้น เพราะเมื่อดูงบการเงินของ A-HOSTในอดีตที่ผ่าน จะเห็นว่าในความเป็นจริง ผลการดำเนินงานไม่ได้เลิศเล่อ เมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ D1 ลงทุนซื้อบริษัทนี้เข้ามาครอบครอง เพราะผลการดำเนินงานประจำปี 2547ที่ทำกำไรได้เป็นจำนวน 4.07 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.58 ล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเกินไป
อีกทั้ง A-HOST ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดต้นทุนขายเพิ่มขึ้นเป็น 206.94 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จากการขายมีเพียง 256.77 ล้านบาท หรือต้นทุนขายคิดเป็น 80% ของยอดขาย และช่วงเดียวกันของปีก่อนมีต้นทุนจากการขาย 157.60 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการขายมีแค่ 205.49 ล้านบาท หรือต้นทุนขายคิดเป็น 76% ของยอดขาย สิ่งนี้ย่อมกระทบต่อผลทำกำไรของบริษัทอย่างเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้บริษัทยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่มีอยู่ 39.10 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.41 ล้านบาท ย่อมทำให้ผลกำไรของบริษัทหดหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องไม่ลืมว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มักผันแปรตามยอดขายที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
นั่นแสดงว่าโอกาสในการทำกำไรเป็นจำนวนมากของบริษัทจะตีบตันลง และไม่น่าทำให้ D1 รับรู้รายได้และผลกำไรตามเป้าที่ผู้บริหารเคยให้ข่าวไว้อย่างแน่นอน หลังองค์ประกอบด้านต่างๆไม่เอื้อให้เป็นเช่นนั้น
เมื่อดูงบการเงินของ A-HOST ในช่วงที่ผ่าน ทำให้เห็นว่าการประเมินมูลค่าราคาหุ้น A-HOST ที่ต้องใช้เงิน 270 ล้านบาท เป็นภาวะที่มีอัตราเสี่ยงพอสมควร ส่วนจะเสี่ยงแค่ไหนนั้น คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
-ใครอยู่เบื้องหลัง?
การเดินเกมสร้างมูลค่าสินทรัพย์ให้มีขนาดใหญ่โต แบบอึ่งอ่าง หลังการประกาศการเป็น โฮลดิ้ง กัมปะนีของหุ้น D1 นั้น มีแนวโน้มจะต้องอาศัยแหล่งเงินทุนตลาดหุ้นอย่างไม่รู้จบ ซึ่งในไม่ช้าเราคงได้เห็นการออกหุ้นเพิ่มทุนอย่างแน่นอน ซึ่งวิธีการเพิ่มทุนแบบไม่ให้เกิดผลกระทบกับหุ้นเดิมที่มีอยู่ คงหนีไม่พ้นการเพิ่มทุนที่ต้องมีราคาหุ้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และแน่นอนเลยว่า ราคาหุ้นในกระดานก็ต้องตอบรับกับราคาเพิ่มทุนที่สูงขึ้นแบบเป็นเงาตามตัว
เมื่อเห็นเส้นทางเดินของ D1 ที่อาศัยการดึงพันธมิตรและการเพิ่มทุนเข้ามาเป็นสตอรี่แบบนี้ จนมีการตั้งข้อสังเกตจากคนในวงการตลาดหุ้นว่า เกมนี้อาจจะมีกุนซือมือดี ที่มีความช่ำชองคอยกำกับอยู่ ส่วนจะเป็นจริงหรือไม่นั้น ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ
เห็นได้ชัดว่าความสำเร็จขั้นแรกของ D1 มาจากสายสัมพันธ์ที่ดีกับ IEC และการปรากฏชื่อ สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งรองประธานกรรมการ IECโดยอดีตเคยเป็นซีอีโอ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร หรือ ซีมิค ที่เป็นสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งแห่งหนึ่งในจำนวนไฟแนนซ์คัมปะนีที่มีอยู่ในประเทศไทยก่อนปี 2540 นั้น ย่อมถือว่าไม่ธรรมดาซะแล้ว(ดูล้อมกรอบ)
ส่วนกุนซือที่ว่านั้น จะเป็นใคร ??? คงไม่มีใครทราบได้ แต่ช่วงนี้คงต้องมีการคาดเดากันไปก่อน เพราะคนๆนั้น ยังทำตัวเป็นไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลัง โดยที่ยังไม่มีการเปิดเผย
ประวัติสุเทพ วงศ์วรเศรษฐ
สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ อดีตนักเรียนเก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และมหาวิทยาลัยวิสคอนซินทางด้านบริหารธุรกิจ ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท (เอ็มบีเอ) คนนี้เริ่มงานกับธนาคารเชสแมนฮัตตันสาขาประเทศไทยเมื่อปี 2515
โดยเริ่มต้นที่ตำแหน่ง STATEMENT ANALYSIS อีกหนึ่งปีต่อมาถูกส่งไปเทรนที่ฮ่องกงซึ่งเป็น REGIONAL OFFICE ปี 2518 กลับเข้าทำงานที่สาขาประเทศไทยอีกครั้งในตำแหน่ง SECOND VICE PRESIDENT และรักษาการผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเชสฯ สาขาประเทศไทย
การได้มีโอกาสผ่านงานทั้งด้านสินเชื่อและทรีทชูรี่ของสุเทพ ถ้าจะสรุปว่าเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ธุรกิจการเงินทั้งระบบ ตั้งแต่เงินที่เข้ามาจนถึงเม็ดเงินที่ปล่อยออกไปอย่างทะลุปรุโปร่ง นั่นก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงแต่ประการใด
ในปี 2520 - 2522 เขาถูกส่งไปประจำที่สำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์คและที่มนิลาประเทศฟิลิปปินส์และกลับมาอีกครั้งในช่วงปี 2520 ได้รับตำแหน่งเป็น VICE PRESIDENT ของเชสฯพร้อมกับถูกส่งให้เข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการซีมิคไฟแนนซ์ และเมื่อเชสฯขายซีมิคออกไปให้กับกลุ่มกสิกรไทย ในปี 2523 ทำให้เขาตัดสินใจเลือกทางเดินด้วยการลาออกจากเชสฯเพื่อทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการให้กับ บงล.ศรีมิตร หรือซีมิคต่อไป
ในระยะ 2-3 ปีแรกภายหลังซีมิคเปลี่ยนเจ้าของแล้วจึงเป็นระยะที่หนักหน่วงพอสมควร
ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องมีการปรับตัวเอง ล้างหนี้เสียที่มีติดค้างอยู่ออกไปให้หมด ปรับภาพพจน์ของบริษัทใหม่หมด จากนั้นก็ลงมือฝึกอบรมพนักงานพร้อม ๆ กับพัฒนาธุรกิจอื่น ๆเข้ามา
ซีมิคนั้นเริ่มตั้งหลัก ในช่วงปี 2527 ซึ่งตรงกับช่วงที่สถานการณ์ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจการเงิน เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังเกิดวิกฤติการณ์ภายหลังพัฒนาเงินทุนของกลุ่มตึกดำล้มพอดี แทนที่จะขยายตัวอย่างพรวดพราดซีมิคภายใต้การนำของสุเทพดำเนินนโยบายไม่ขยายตัวมาก แต่ปรับฐานให้แข็ง โดยมีความต้องการให้ซีมิคโตไปอย่างเข้มแข็งก็เลยค่อนข้างจะพิถีพิถันในการปล่อยสินเชื่อระมัดระวังปัญหาหนี้สูญ และจากธุรกิจเช่าซื้อก็เริ่มขยายฐานออกไปสู่การให้สินเชื่อพาณิชย์อุตสาหกรรม รวมทั้ง
การหารายได้จากค่าธรรมเนียม ไม่ว่าจะเป็นการทำซินดิเคชั่นหรือการอันเดอร์ไรท์หุ้นและพันธบัตรภายหลังจากที่ซีมิคถูกเปลี่ยนมือไปนั้น ชื่อเสียงของซีมิคก็โด่งดังในเรื่องของบริษัทที่รับจัดไฟแนนซ์รถยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่งของไทย ซึ่งถือว่าเป็นฝีมือที่เกิดจากการปลุกปั้นของสุเทพ วงศ์วรเศรษฐล้วนๆ

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com