May 2, 2024   4:38:05 PM ICT
หลักการ VS วิธีการ
   มีการพูดคุยกันมาก ในเรื่องการลงทุน ว่าลงทุนแบบไหน จะให้ผลตอบแทนดีกว่ากัน บางครั้งเกิดเป็นเรื่องเป็นราว ถกเถียงกันไม่รู้จบ จริงๆ แล้วต่างก็สับสน ระหว่างหลักการลงทุน และวิธีการลงทุน ไม่แปลกที่จะมีความสับสนในเรื่องนี้เพราะเราๆ ท่านๆ ก็สับสนกับเรื่องที่ใกล้ๆ กัน บ่อยๆ ไป จริงๆ แล้วเรื่องมันเริ่มมาจากที่เราลงทุนตามแบบที่เราคิดว่าถูก แต่ผลออกมามันจะถูกจะผิดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง จากนั้นเราก็จะพยายามมองหา วิธีการ ในการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนที่เราพอใจ แต่หลายท่านมักจะยังไม่พบกับมัน

บางท่านหงุดหงิดกับเรื่องการลงทุนมาก เพราะต้องการจะประสบความสำเร็จให้เร็ว อยากจะพบอิสรภาพทางการเงินอย่างรวดเร็ว จึงพยายามมองหา สูตรสำเร็จ กันให้วุ่นวาย จนลืมส่วนสำคัญที่สุดของการลงทุนไป

นั่นคือ หลักการ

สำหรับผมเองได้เคยประสบกับเรื่องราวอย่างนี้มาแล้ว เมื่อสมัยเริ่มต้นลงทุนใหม่ๆ เรื่องมันเริ่มที่ว่า ผมเริ่มหันมาดูตัวเองว่า ผมมีความรู้อะไร มีจุดแข็งอะไรอีก พบว่า ผมมีความรู้เรื่องการเงินการบัญชีเล็กๆ น้อยๆ จากการที่ช่วยภรรยาทำบัญชีและสอบบัญชี เคยประเมินการลงทุนสมัยทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน มีความรู้เรื่องการลงทุนที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัย ผมก็เลยหันหน้าเข้าตลาดหุ้น

ความตั้งใจจะใช้จุดแข็งที่มีทั้งหมดเพื่อใช้ในการลงทุน ก่อนจะเริ่มนำเงินจริงๆ เข้าซื้อหุ้น ผมได้ลองติดตามข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ฟังรายการวิทยุ อ่านหนังสือข้อมูลตลาดหุ้นมากมาย จนเริ่มมั่นใจแล้วว่า ผมจะทำได้ดี มีหุ้นที่ผมศึกษาเอาไว้อย่างดีและตั้งใจจะเข้าซื้อ

วันแรกที่เริ่มซื้อหุ้น ตลาดปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง ผมไม่ได้ซื้อหุ้นตามที่คิดเอาไว้ ผมเข้าไปซื้อหุ้นที่กำลังมีการไล่ราคากัน ได้กำไรมากครับ!! จนคิดว่าเล่นหุ้นมันต้องเล่นหุ้นที่กำลังขึ้นแรงๆ เราจะได้กำไรมาก High risk high returns ผมทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจริงๆ แต่มันก็ไม่ได้มากมายอะไร จนกระทั่ง กระทิง มันหมดแรง แต่ผมยังไม่หมดความฮึกเหิม ผมเริ่มเสียหาย และหนักขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มขาดทุน และอีกครั้งที่ผมต้องหยุดคิดอีกแล้ว...

มันต้องมีอะไรผิดอีกแน่ๆ เพราะความสำเร็จที่ได้มามันไม่คงทนเลย มันเกิดเร็วและจากเราไปเร็วจริงๆ ตามคำเดิมคือ High risk high return

คำถามในใจจึงเกิดขึ้นว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็น low risk high return ผู้ใหญ่และเพื่อนๆ หลายคนที่ผมปรึกษาหารือก็บอกว่า มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นกฎธรรมชาติ เราหลีกเลี่ยงมันไม่ได้ ทุกอย่างมีความเสี่ยง

จนวันหนึ่งผมได้พบกับรุ่นน้องและได้คุยกัน เขาก็ลงทุนเช่นกัน เขาซื้อหนังสือให้ผมอ่านเล่มหนึ่งเรื่อง ?วาทะของ วอเร็น บัฟเฟตต์?

เขาบอกว่า เขาอ่านเล่มนี้และลองปฏิบัติตามมันได้ผลดี ผมอ่านและทำความเข้าใจและสุดท้ายก็ลองทำตาม สิ่งที่ผมพบก็คือ วิธีการที่เขาใช้นั้นมันสามารถเอาจุดแข็งที่ผมมีแต่เริ่มแรกเลยมาประยุกต์ใช้ได้ แต่ผมก็ทิ้งมันเอาไว้โดยไม่หันกลับมามองมันตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มซื้อหุ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

ด้วยวิธีการเลือกหุ้นพื้นฐานดี มูลค่าสูงกว่าราคา และถือยาวๆ ผมก็ได้ผลตอบแทนที่ไม่เลว และที่แน่ๆ ผมไม่ขาดทุนครับ

เพราะหลังจากที่ซื้อราคามันก็ค่อยๆ ขึ้น และแล้ววันหนึ่งผมก็ตะบะแตก เพราะเห็นหุ้นที่ซื้อไว้ราคาไม่ค่อยไปไหนเมื่อเทียบกับหุ้นเก็งกำไรที่วิ่งแรงๆ จึงขายหุ้นเดิมและซื้อหุ้นใหม่ ผลออกมาก็เหมือนเดิม ขาดทุนไม่เป็นท่า จึงกลับมาที่วิธีการเดิมที่ได้ผล

คราวนี้ซื้อหุ้นดี ราคาก็ขึ้น แต่เมื่อเห็นราคาขึ้นสูงแล้วก็ขายออก แต่ราคามันกลับขึ้นต่อจึงเกิดอาการเจ็บใจ ผมว่าผมเดินมาถูกทางแล้ว แต่คงจะถูกแค่ครึ่งทาง ดังนั้นจึงเริ่มศึกษาหาความรู้ต่อ จนบ้านผมจัดเป็นห้องสมุดเกี่ยวกับการลงทุนขนาดย่อมได้เลยทีเดียว

ในที่สุดผมก็อ่านและฝึกฝนจนพบคำว่า หลักการ เข้าจนได้ ต้องขอขอบคุณเพื่อนรุ่นน้องท่านนั้นที่แนะนำหนังสือดีๆ และนักเขียนอีกหลายๆ ท่านที่เขียนหนังสือเหล่านี้ให้เราอ่าน หน้าที่ของเราคืออ่านแล้วย่อยออกมาให้ได้

หลักการลงทุนง่ายมากครับของ วอเร็น บัฟเฟตต์ มีสองข้อคือ ข้อที่หนึ่ง อย่าขาดทุน ข้อที่สอง อย่าลืมข้อที่หนึ่ง?

เอาหลักการของนักลงทุนที่มีวิธีการคนละขั้วกับวอเร็น บัฟเฟตต์ ก็ได้ครับ เขาคือ จอร์จ โซรอส

หลักการของเขาคือ ?อยู่ให้รอดก่อน แล้วทำกำไรทีหลัง? ผมสรุปเองก็คือ ?อย่าขาดทุน? นั่นเอง ไม่ขาดทุนก่อน แล้วจะมีกำไร ถ้าดูแล้วทำท่าจะขาดทุน หรือขาดทุนแล้วและทำท่าจะหนักเข้าไปอีกต้อง รีบถอย

สำหรับนักลงทุนคล้ายๆ โซรอสในบ้านเราผมชอบ ทพ.ยรรยง ครับ ท่านมีหลักการลงทุนหลายข้อ แต่ที่ผมชอบและยึดเอามาปฏิบัติด้วยคือ ?อย่าให้กำไรกลายเป็นขาดทุน?

สรุปเองอีกแล้วว่า นักลงทุนมือโปรทั้งหลายมีหลักการเดียวกันง่ายๆ คือ อย่ายอมขาดทุน? แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ขาดทุนนะครับ ของมันพลาดกันได้ทั้งนั้น แต่อย่ายอมมันเท่านั้นเอง

ส่วน วิธีการ นั่นของใครของมันครับ ต่างคนก็ต่างวิธีการ และที่แน่ๆ นักลงทุนทุกท่านที่ผมกล่าวมานี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า หลักการของท่านนั้นถูกทางแล้ว บัฟเฟตต์ ใช้วิธีเลือกหุ้นกิจการที่ดี มีจุดแข็งที่ยั่งยืนและถือหุ้นนั้นตราบเท่าที่ยังเป็นกิจการที่ดี

หากราคาหุ้นยังลงต่อ เขาจะถือว่าเขาได้ซื้อกิจการที่ดีในราคาส่วนลดมากเข้าไปอีก ถ้ามันผิด เขาจะขายออกทันทีเพื่อหยุดการขาดทุน ส่วนโซรอสและคุณหมอยรรยงน่าจะใช้วิธีการเดียวกัน (อันนี้ผมคิดเอง) คืออ่านอารมณ์ผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดว่ามีแนวโน้มจะไปทางไหน หากเป็นไปตามสมมติฐานที่ว่านักลงทุนส่วนใหญ่กำลังพากันไล่ราคาท่านจะซื้อเพิ่มและถือต่อให้กำไรเพิ่มขึ้น

แต่หากไม่เป็นไปตามสมมติฐานท่านจะรีบขายออกทันที เพื่อหยุดการขาดทุนหรือไม่ปล่อยให้กำไรที่มีกลายเป็นขาดทุนเช่นกัน

เห็นไหมครับว่า หลักการกับวิธีการมันไม่เหมือนกัน นักลงทุนสองขั้วคิดคล้ายๆกัน แต่วิธีการไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง

ทุกท่านพยายามหาการลงทุนที่ จำกัดความเสี่ยงได้ แต่ถ้าผลตอบแทนเพิ่มจะปล่อยให้มันเพิ่มขึ้นเรื่อยหรือพยายาม ?ควบคุมความเสี่ยง และเพิ่มพูนผลตอบแทน? โดยผ่านวิธีการที่ท่านปฏิบัติมาแล้วได้ผล

พวกเราเองก็เช่นกันครับ เราต้องมีหลักการในการลงทุนและมั่นคงในหลักการ และต้องฝึกฝนวิธีการลงทุนที่เราทำแล้วได้ผล

ผมเน้นว่า เราต้องฝึกฝนนะครับ มีโอกาสน้อยมากที่คุณจะไปตีเทนนิสชนะภราดร หากคุณไม่ได้ฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และคุณคงมีโอกาสน้อยมากที่จะน็อคนักมวยแชมป์โลก ในขณะที่คุณเพิ่งจะเริ่มหัดมวย คุณมีโอกาสชนะมืออาชีพนี้ได้ทางเดียว คือ โชคเท่านั้นครับ

สำหรับผมแล้วโชคเป็นสิ่งที่ผมจะได้มาหลังจากวิธีการของผมได้ผลแล้วเท่านั้น คุณละปล่อยให้โชคของคุณได้ผลก่อนวิธีการของคุณอยู่หรือเปล่าครับ!!!!

 

ที่มา บทความของ คุณ มนตรี นิพิฐวิทยา

จาก นสพ. bangkokbizweek

เข้าชม: 2,031

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com