May 12, 2024   12:06:28 PM ICT
ผ่าความเสี่ยงอุตสาหกรรมการผลิต หลังส่งออกส่งสัญญาณขั้นวิกฤต

ผศ.ดร.นฤมล สอาดโฉม รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา NIDA Business School และผู้บริหารสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และวิเคราะห์ความเสี่ยง (ISTAR) กล่าวในงานเสวนา Crisis Watch series 5 จับตาความเสี่ยงภาคอุตสาหกรรม : ความเสี่ยงระลอกใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญ ซึ่ง NIDA Business School ร่วมกับสถาบันวิจัยนครหลวงไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ว่า หลังจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ โดยคาดว่าในปีนี้จะมีการเติบโตเพียงแค่ 0.5%  ขณะที่หลายๆ ชาติในเอเชียได้เปิดเผยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่บ่งชัดถึงการถดถอยอย่างรุนแรง ทำให้เชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะยังคงเป็นความเสี่ยงหลักที่กดดันเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
 ?สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเป็นความเสี่ยงระลอกใหม่   แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะพิจารณาผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 789,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแผนกอบกู้วิกฤติการเงินมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าแผนดังกล่าวโดยเฉพาะแผนกอบกู้วิกฤติการเงินยังไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น   และจะทำให้สถาบันการเงินต้องทำการตัดขาดทุนอีกครั้งและพบกับภาวะขาดทุนจนต้องดำเนินการเพิ่มทุนครั้งใหญ่อีกระลอก ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะจุดชนวนให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินและตลาดทุนรอบใหม่Ž ผศ.ดร.นฤมล


 ผศ.ดร.นฤมล กล่าวว่าเศรษฐกิจไทย ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้ในการประชุม World Economic Forum ครั้งล่าสุดที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมล้วนมีความกังวลในประเด็นการกีดกันทางการค้า เพราะจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้าออกไป ผนวกกับการที่นานาประเทศทั่วโลกเริ่มหันมากระตุ้นเศรษฐกิจโดยงบประมาณภาครัฐและเน้นให้วงเงินดังกล่าวซื้อวัตถุดิบในประเทศ ทำให้รูปแบบการกันกีดกันทั้งทางด้านการค้าเริ่มปรากฏขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


 นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย กล่าวถึงเรื่องที่น่ากังวลใจสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยในขณะนี้ สะท้อนผ่านตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capital Utilization Rate) ซึ่งสถาบันวิจัยนครหลวงไทยพบว่า โดยภาพรวมแล้วการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 58.9% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยกำลังเผชิญกับปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินสูง (excess capacity)  โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกนั้นอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงอย่างมาก


 ?แม้ว่า จะเป็นตัวเลขเพียงเดือนเดียว ซึ่งอาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า สถานการณ์ตอนนี้เลวร้ายกว่าวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 แต่เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่กดดันการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งในขณะนี้และในอนาคต ก็ต้องยอมรับว่า เรามีความกังวลว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความอ่อนไหวสูง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ เหล็ก ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า   ยานยนต์ เม็ดพลาสติก รวมถึงแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลควรเข้ามาดูแลมากขึ้นŽ นายสุกิจกล่าว


 นายสุกิจกล่าวถึงประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด พบว่าตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตแบบเจาะลึก จะพบว่า ในเดือนธันวาคม 2551 มีบางอุตสาหกรรมที่มีตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 44% ต่ำกว่าปี 2541 ซึ่งอยู่ที่ 65% เช่นเดียวกับเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมยาง โดยทั้งหมดเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกมากกว่า 60% ของกำลังการผลิต


 ?โครงสร้างภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมไทยจะเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของภาคการเงินหลังวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ดังนั้น ในส่วนของภาครัฐจึงควรที่จะเน้นการดูแลในเชิงการวางกลยุทธ์ เพื่อที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ประโยชน์มากที่สุดในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นหรือยังคงตกต่ำต่อไป โดยจะต้องวางแผนรองรับล่วงหน้า รวมทั้งจะต้องมีนโยบายเพื่อที่จะส่งเสริมด้านการลงทุนอย่างชัดเจนŽ นายสุกิจกล่าว

เข้าชม: 1,169

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com