May 11, 2024   4:58:48 PM ICT
หุ้นไทยรอมาตรการรัฐเยียวยา ผลงานบจ.ครึ่งแรกฉุดดัชนีดิ่ง

ทันหุ้น – ฟันธงตลาดหุ้นไทยยังรอความหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเยียวยา คาดครึ่งปีแรกผลงานบริษัทจดทะเบียนฉุดดัชนีดิ่งเหว หลังภาวะวิกฤตโลกยังตกต่ำ ลั่นไตรมาส 2/51 ดัชนีมีสิทธิ์รูดต่ำสุด 380- 360 จุด เพื่อรอดีดตัวรอบใหม่ ขณะที่กลยุทธ์ลงทุนแนะเก็บหุ้นค่าปลีกและสาธารณูปโภค เหตุเป็นแหล่งพักเงินชั้นเยี่ยมพ่วงปันผลจูงใจ


 นายสุกิจ  อุดมศิริกุล  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย เปิดเผยถึงทิศทางตลาดหุ้นไทยว่า ปัจจัยในระยะสั้นตลาดคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะสามารถกระตุ้นดัชนีให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่แนวโน้มต่อจากนี้ไปยังคงไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน ซึ่งการเคลื่อนไหวของดัชนียังคงต้องพึ่งพิงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ หลังจากที่สหรัฐอเมริกาออกมาตรการกระตุ้นสถาบันการเงินมาโดยตลอด


   ทั้งนี้คาดว่าในช่วงไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม มีโอกาสที่ตลาดจะปรับตัวลดลงมากสุด เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ตอบรับกับมาตราการที่ออกมาก่อนหน้านี้มากแล้ว นอกจากนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1 ยังคงตกต่ำ และในระยะสั้นไม่น่าจะเห็นการฟื้นตัวได้


 สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 4/2551 ประเมินว่าจะออกมาลดลงทำให้ปีนี้ทั้งปีแนวโน้มของผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรก จะยังคงทรุดตัวอยู่ โดยช่วงที่ทรุดหนักที่สุดมองว่าเป็นช่วงไตรมาส 1 และต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 2 หรือตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเมษายน ขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศออกมา จึงประเมินดัชนีในกรณีที่ตลาดทรุดตัวลงหนักที่สุดไว้ที่ระดับ 380 จุด และมีโอกาสที่จะลงมาถึง 360 จุด


 “ คาดผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้คงออกมาแย่ และจะแย่ที่สุดในไตรมาสแรก ไม่เกินไตรมาส 2 ดัชนีอาจจะกลับไปที่จุดต่ำสุดเดิมที่ 380 จุด และลงมาที่ 360 จุด เพื่อรอดีดตัวขึ้นรอบใหม่” นายสุกิจ กล่าว


 ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นระยะสั้นมองกลุ่มค้าปลีกมีความน่าสนใจ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นแหล่งพักเงินในระยะสั้น และกลุ่มสาธารณูปโภค ที่มีความปลอดภัยสูงสามารถฟื้นตัวได้เร็ว รวมถึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ที่มีหุ้นจ่ายปันผลสูง ก็เป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ


   สำหรับเรื่องที่น่ากังวลใจสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยในขณะนี้สะท้อนผ่านตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตพบว่าโดยภาพรวมแล้วการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 58.9% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 แสดงให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยกำลังเผชิญกับปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินสูง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก


          อย่างไรก็ตามประเด็นที่นักลงทุนจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดก็คือ เมื่อพิจารณาตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตแบบเจาะลึกจะพบว่าในเดือนธันวาคม 2551 มีบางอุตสาหกรรมที่มีตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 44% ต่ำกว่าปี 41 ซึ่งอยู่ที่ 65% เช่นเดียวกับเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมยาง โดยทั้งหมดเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกมากกว่า 60% ของกำลังการผลิต


 ทั้งนี้แม้จะเป็นตัวเลขเพียงเดือนเดียว อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสถานการณ์ตอนนี้เลวร้ายกว่าวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 40 แต่เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่กดดันการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งในขณะนี้และในอนาคต ต้องยอมรับว่ามีความกังวลว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความอ่อนไหวสูง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ เหล็ก ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดพลาสติก รวมถึงแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลควรเข้ามาดูแลมากขึ้น


 ท้ายที่สุดแล้วโครงสร้างภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมไทยจะเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของภาคการเงินหลังวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ดังนั้นในส่วนของภาครัฐจึงควรที่จะเน้นการดูแลในเชิงการวางกลยุทธ์ เพื่อที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ประโยชน์มากที่สุดในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นหรือยังคงตกต่ำต่อไป โดยจะต้องวางแผนรองรับล่วงหน้า อีกทั้งจะต้องมีนโยบายเพื่อที่จะส่งเสริมด้านการลงทุนอย่างชัดเจนอีกด้วย

เข้าชม: 1,143

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com