May 12, 2024   4:19:58 AM ICT
ก.ล.ต.เปิดทางกองทุนรวม ใช้เครดิตดิริฟวทีฟส์Q1

ทันหุ้น-ก.ล.ต.ไฟเขียวกองทุนรวมทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า คุมความเสี่ยงด้านเครดิต หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกอาจก่อให้ให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในเครดิต   โดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์หรือเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า  คาดประกาศใช้ไตรมาสแรกปีนี้  พร้อมเล็งปรับเกณฑ์กองทุนอสังหาที่ลงทุนในลีสโฮลให้จ่ายปันผลหรือผลตอบแทนจากกองทุนถือเป็นการลดทุน  เพื่อสร้างความชัดเจนให้ผู้ถือหน่วย


                     นายประเวช  องอาจสิทธิกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังการประชุมระหว่างสำนักงานก.ล.ต. และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน(สมาคมบลจ.) ได้มีการอนุญาตให้กองทุนเข้าไปทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิต(credit derivatives) เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิตของกองทุนจากผู้ออกตราสาร


                   ทั้งนี้จะมีสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงเข้ามาทำหน้าที่รับประกันความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งความเสี่ยงจะถูกถ่ายโอนไปยังผู้ที่เข้ามารับประกันความเสี่ยง แต่กองทุนจะมีต้นทุนเพิ่มจากการเสียค่าธรรมเนียมเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินที่เข้ามารับประกันอีกต่อหนึ่ง
            “การทำสัญญาเครดิตดิริฟวทีฟส์นี้เป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิตเพราะบริษัทที่เข้าไปลงทุนในตราสารต่างๆ อาจจะล้มละลาย หรือมีความเสี่ยง เราจึงอนุญาตให้กองทุนเหล่านี้ใช้ในการป้องกันความเสี่ยงเท่านั้น ไม่ได้ให้ใช้ในการเก็งกำไร  ซึ่งเราจะมีขั้นตอนการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง” นายประเวช กล่าว
                    อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการให้เครดิตดิริฟวทีฟส์เข้ามาใช้ในการป้องกันความเสี่ยงนั้น อาจจะทำให้ผลตอบแทนของผู้ลงทุนลดลงไปบ้าง แต่จะทำให้ผู้ลงทุนลดความเสี่ยงด้านเครดิตลง  สำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาจะต้องดีกว่าหรือเทียบเท่ากับสินทรัพย์ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยง


                     โดย ก.ล.ต. คาดว่าจะอนุญาตให้ใช้เครดิตดิริฟวทีฟส์ได้ภายในไตรมาส 1/2552  ซึ่งข้อกังวลที่ว่าอาจจะก่อให้เกิดปัญหาวิกฤติการทางการเงินของโลกนั้น ก.ล.ต. จะอนุญาตให้ทำธุรกรรมได้ตามจำนวนของตราสารหนี้เท่านั้นไม่ได้ปล่อยให้เก็งกำไรจนสูงเกินกว่ามูลค่าตราสารที่มีอยู่จริง


                    ด้านนายประกิด  บุณยัษฐิติ  ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงผลการประชุมรายไตรมาสระหว่างก.ล.ต. และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ว่า ได้มีการหารือเพื่อให้เกิดการพัฒนาในธุรกิจจัดการลงทุนดังนี้


                    ประการแรก ให้มีการอนุญาตจัดตั้งแบบอัตโนมัติ (Auto Approved) สำหรับกองทุนที่ไม่มีความซับซ้อนเพื่อให้การอนุญาตกองทุนรวมเร็วและทันต่อสภาวะตลาด ก.ล.ต. จึงปรับปรุงแนวทางให้มีการอนุญาต โดยไม่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้ายกเว้นกรณีเพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) อีกทั้งไม่มีการลงทุนในตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงและไม่มีการแบ่งประเภทการลงทุนเป็นต้น โดยก.ล.ต. จะกำหนดแนวทางและวิธีการปฏิบัติเป็นการทั่วไป


                    ประการที่สอง เพิ่มหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินและทรัพย์สินประเภทใหม่ๆให้มีความหลากหลาย
                    ด้านความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infra Stucture Mutual Fund) หลังจากก.ล.ต. ได้รับฟังความคิดเห็นในด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน ทั้งนี้จากการที่ภาครัฐมีแผนลงทุนในโครงการพื้นฐานเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นการระดมทุนผ่านกองทุนรวมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของภาครัฐ โดยก.ล.ต. จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาด้านนี้ โดยจะมีการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กรมสรรพากร และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยหลักการเบื้องต้นขนาดกองทุนจะมีระดับตั้งแต่ 10,000 ล้านบาทขึ้นไป อย่างไรก็ตามจะมีการพูดคุยและหารือและมีการเฮียริ่งถึงกฏเกณฑ์และความเป็นไปได้กับคณะทำงานอีกครั้ง


                 นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุนรวมอสังหาฯ โดยประเด็นที่แก้ไขสำคัญคือ การกำหนดให้กองทุนรวมอสังหาฯที่ลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาฯ (Leasthold) ต้องจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิ ซึ่งหากรายการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น (Unrealized Loss) จากการประเมินราคาสิทธิการเช่าอสังหาฯแล้ว หากบลจ. ต้องการจะนำสภาพคล่องจาก Unrealized Loss คืนแก่ผู้ถือหน่วยก็สามารถทำได้โดยการลดทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ซึ่งการดำเนินการต่างๆจะช่วยให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถประเมินผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนได้ง่ายและชัดเจนขึ้น

เข้าชม: 1,088

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com