May 2, 2024   4:32:17 PM ICT
ผู้บริหารกับการลงทุน แบบ เน้นคุณค่า
      สำหรับนักลงทุนระยะสั้น คงให้ความสำคัญกับ ผู้บริหาร ของบริษัทจดทะเบียนไม่มากนัก ถ้าเทียบกับความสำคัญของ ราคาหุ้น ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่บนกระดาน แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว ความสำคัญของผู้บริหารนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการพิจารณาหาหุ้นที่จะลงทุน นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าบางท่านถึงกับนำเรื่องของผู้บริหารมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาลงทุนเป็นอันดับแรกๆ เลยทีเดียว เรียกว่าถ้าไม่ไว้ใจผู้บริหารเสียแล้ว ก็ขอเลี่ยงที่จะไม่ลงทุนในบริษัทนั้น

ทำไมนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าถึงให้ความสำคัญกับผู้บริหารบริษัทมากขนาดนั้น

อาจจะเป็นเพราะว่า การลงทุนแบบเน้นคุณค่าเปรียบเสมือนการเข้าถือหุ้นร่วมกับเจ้าของบริษัท โดยที่นักลงทุนไม่มีโอกาสได้บริหารบริษัทนั้นด้วยตัวเอง นักลงทุนจะถือหุ้นของบริษัทเหมือนกับเป็นบริษัทของตนเองโดยไม่มีอำนาจบริหารแต่อย่างใด ดังนั้นอนาคตของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหารโดยตรง

ถ้าผู้บริหารมีความรู้ความสามารถ นักลงทุนก็จะมั่นใจได้ว่า ผู้บริหารสามารถนำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บริษัทได้ ปัจจุบันนอกจากความรู้ความสามารถแล้ว นักลงทุนยังให้ความสำคัญกับ?ธรรมาภิบาล? ของผู้บริหารเหล่านั้นด้วยว่ามีความโปร่งใสน่าไว้วางใจได้แค่ไหน

แต่ในทางกลับกัน ถ้าผู้บริหารไม่มีความซื่อสัตย์ หรือไม่มีความน่าเชื่อถือ อาจจะเกิดความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นกับบริษัท โดยที่นักลงทุนรายย่อยไม่สามารถล่วงรู้ก่อนได้เลย ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารบางบริษัทต้องการทำให้งบการเงินของบริษัทดูดี ด้วยการ ซุกหนี้? ของบริษัทไว้กับบริษัทลูก โดยที่นักลงทุนไม่สามารถหาเจอได้ เพราะมีการถือหุ้นไขว้กันไปมาทำให้ไม่สามารถตรวจสอบบริษัทลูกเหล่านั้นได้อย่างดีเพียงพอ จนเมื่อมีการตรวจสอบพบในภายหลัง อาจทำให้บริษัทนั้นถึงกับล้มละลายได้ ดังกรณีของบริษัทเอนรอนในสหรัฐอเมริกา

บางบริษัทผู้บริหารทำการยักย้ายถ่ายเทเงินของบริษัทเพื่อเข้ากระเป๋าตนเอง ด้วยการให้บริษัทลูกที่ตั้งขึ้นมาทำการกู้ยืมเงินโดยที่ไม่มีหลักประกันแต่อย่างใด กรณีนี้ตรวจสอบพบได้บ่อยๆ ในบริษัททั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ตราบใดที่การดำเนินงานลักษณะเช่นนี้ผ่านการเห็นชอบจากมติคณะกรรมการบริษัท ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่มักจะเป็นบุคคลเดียวกับผู้บริหารบริษัท

นอกเหนือจากนั้น ผู้บริหารบริษัทบางบริษัทยังใช้ข้อมูลภายในทำการขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมาก โดยที่นักลงทุนรายย่อยยังไม่ได้รับทราบข้อมูลที่ยังไม่ได้ถูกเปิดเผยแต่อย่างใด ซึ่งในต่างประเทศถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและผู้บริหารจะต้องถูกดำเนินคดี

ดังกรณีของมาร์ธา สจ๊วต ผู้บริหารบริษัท ImClone Systems ที่ใช้ข้อมูลภายในทำการขายหุ้นทำกำไรและขณะนี้กำลังถูกพิจารณาคดีอยู่ในชั้นศาลที่นิวยอร์ก สำหรับเมืองไทยข่าวผู้บริหารถูกดำเนินคดีเพราะ ใช้ข้อมูลภายในทำการซื้อขายหุ้นอย่างผิดปกติมีน้อยมากจนแทบจะนับได้ อาจเป็นเพราะถือว่าผู้บริหารซื้อขายหุ้นเป็นเรื่องปกติ และนักลงทุนต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเอง

ผู้บริหารบางคนทำการเทขายหุ้นของบริษัท จากเดิมที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยภายในเวลาไม่นาน บางบริษัทผู้บริหารลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 25% เป็น 5% ในเวลาแค่ไม่กี่เดือน การขายหุ้นจำนวนมากเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ราคาหุ้นจะต้องลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในกรณีนี้ผู้ที่เสียหายก็คือนักลงทุนรายย่อยที่ไม่ทราบว่าผู้บริหารกำลังระบายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัดจากการกระทำดังกล่าว ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว ขณะเดียวกันผู้บริหารก็รับเงินจากการขายหุ้นเข้ากระเป๋าไปแล้วหลายร้อยล้านบาท

จะเห็นได้ว่า ผู้บริหารเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการดำเนินงานของบริษัท รวมทั้งอาจจะต้องนำมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจาณาก่อนการลงทุน แล้วนักลงทุนรายย่อยจะมีวิธีตรวจสอบผู้บริหารก่อนลงทุนได้อย่างไร

มีวิธีการอยู่สามวิธีที่นักลงทุนสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบผู้บริหารได้

วิธีที่หนึ่ง ตรวจสอบด้วยการอ่าน

วิธีนี้เป็นวิธีที่วอเร็น บัฟเฟตต์ แนะนำไว้ โดยการอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารนั้นๆ ทางหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือวารสารต่างๆ แล้วทำการเปรียบเทียบกับการดำเนินงานของบริษัทว่า ผู้บริหารเหล่านั้นได้ทำอย่างที่ได้สัมภาษณ์ไว้หรือไม่ ซึ่งจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว นักลงทุนสามารถตรวจสอบถึงทิศทางของบริษัท เป้าหมายในการดำเนินงาน รวมทั้งพิจารณาว่าผู้บริหารมีความสามารถ หรือ มีความน่าไว้วางใจมากน้อยแค่ไหน

ปกติแล้ว ผู้บริหารมักจะชอบให้สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวเกี่ยวกับบริษัทอยู่เสมอ ดังนั้นนักลงทุนสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทที่สนใจได้อย่างไม่ยากเท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่สำคัญคือ จะสามารถแปลความหมายของบทสัมภาษณ์ออกมาได้มากน้อยแค่ไหน วิธีนี้อาศัยข้อมูลจากการอ่านเพียงครั้งเดียวคงไม่เพียงพอ อาจจะต้องใช้ข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง เช่น จากหนังสือพิมพ์ หรือ นิตยสารหลายๆฉบับ

ปีที่แล้วบัฟเฟตต์ได้ลงทุนในบริษัทปิโตรไชน่าไว้หลายหมื่นล้านบาท เมื่อเร็วๆ นี้มีนักข่าวถามผู้บริหารของปิโตรไชน่าว่า รู้จักกับบัฟเฟตต์เป็นการส่วนตัวหรือไม่ ผู้บริหารตอบว่า ?ยังไม่เคยคุยกันสักคำ ไม่เคยรู้จักกัน? นี่แสดงให้เห็นว่า บัฟเฟตต์ตัดสินผู้บริหารของบริษัทปิโตรไชน่าจากการอ่าน โดยที่ไม่ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารด้วยตนเองแต่อย่างใด

วิธีที่สอง สอบถามจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

นักลงทุนรายย่อยอาจจะเข้าพบผู้บริหารได้ไม่ง่ายนัก ไม่เหมือนกับนักวิเคราะห์ที่ผู้บริหารมักจะยินดีให้เข้าพบเพื่อที่จะบอก ?ข่าวดี? อยู่เสมอๆ อย่างไรก็ตาม โอกาสในการตรวจสอบผู้บริหารของนักลงทุนรายย่อยก็ไม่ได้น้อยเสมอไป วิธีหนึ่งที่ใช้กันทั่วไป คือ การสอบถามจากบุคคลที่เรารู้จัก อาจจะเป็นเพื่อน ญาติ เพื่อนของเพื่อน หรือคนที่รู้จักและใกล้ชิดกับผู้บริหารบริษัทเหล่านั้น อีกวิธีหนึ่งคือการหาข้อมูลจากพนักงานของบริษัท ทั้งที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน และที่ลาออกไปแล้ว ในกรณีที่พนักงานที่ไม่ได้ทำงานกับบริษัทเดิมแล้ว จะต้องระวังในข้อมูลที่ได้รับ โดยเฉพาะถ้าพนักงานท่านนั้นไม่ได้ลาออกจากบริษัทด้วยดี อาจจะทำให้มีอคติกับที่ทำงานเดิม

นอกจากนั้น นักลงทุนรายย่อยสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อขอเข้าพบผู้บริหาร ซึ่งจะสามารถทำได้ง่ายกว่าการขอเข้าพบเพียงลำพัง นอกจากนั้นบริษัทมหาชนส่วนใหญ่จะมีแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ ซึ่งมักจะยินดีที่จะให้ข้อมูลกับนักลงทุน รวมทั้งให้การสนับสนุนกลุ่มนักลงทุนรายย่อยเพื่อเข้าพบผู้บริหาร อาจจะมีการพาชมโรงงาน และสำนักงานในรายการเยี่ยมชมบริษัทด้วย

วิธีที่สาม ซื้อหุ้นเพื่อเข้าประชุมผู้ถือหุ้น

วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดในการเข้าพบผู้บริหารด้วยตนเอง เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาในการรอคอย เพราะการประชุมผู้ถือหุ้นมักจะกำหนดไว้เพียงปีละครั้ง นักลงทุนรายย่อยมีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้นได้เพียงแค่ถือหุ้นบริษัทนั้น 100 หุ้น นับว่าเป็นโอกาสอันดีในการที่จะพิจารณาความสามารถและความน่าไว้วางใจของผู้บริหารของบริษัท รวมทั้งมีโอกาสซักถามผู้บริหารด้วยตนเอง นอกจากนั้นนักลงทุนยังสามารถที่จะลงทุนเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะไม่สามารถเข้าพบผู้บริหารบริษัทได้โดยตรง นักลงทุนรายย่อยก็สามารถที่จะตรวจสอบผู้บริหารได้ด้วยวิธีการดังที่กล่าวมาแล้ว

ดังนั้น สำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่ต้องการลงทุนหุ้นแบบระยะยาว จึงไม่ควรมองข้ามประเด็นความสามารถและความน่าเชื่อถือของผู้บริหาร เพราะนับว่ามีความสำคัญกับการดำเนินงานของบริษัทเป็นอย่างมาก ซึ่งท้ายสุดแล้วจะส่งผลต่อ ราคาหุ้น? บนกระดานไม่มากก็น้อย

 

ที่มา บทความ ของคุณ วิบูลย์ พึงประเสริฐ
จาก
www.bangkokbizweek.com

 

เข้าชม: 2,152

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com