May 7, 2024   3:56:12 AM ICT
จัดพอร์ต 4 แบบ สู้มหันตภัยเงินเฟ้อ

โดย สรวิศ อิ่มบำรุง

กลับมาอีกครั้งกับ “เงินเฟ้อ” มหันตภัยร้ายที่คอยบั่นทอนความมั่งคั่งของเงินในกระเป๋าของคุณ

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ 4.3% และล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5.4% แล้วนั้น ทำให้หลายฝ่ายมองว่าอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีอาจจะอยู่ที่ 4.0%

แต่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ (21 มี.ค.2551) กลับไล่ไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ โดยดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 0.25-2.75% ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน อยู่ที่ 1.5-3.0% ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน อยู่ที่ 1.5-3.13% และดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี อยู่ที่ 1.5-3.25%

ทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงของคนฝากเงินติดลบไปแล้วสำหรับเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ย 2.65-5.15% เงินฝากประจำ 3 เดือน ติดลบ 2.4-3.9% เงินฝากประจำ 6 เดือน ติดลบ 2.27-3.9% และเงินฝากประจำ 1 ปี ติดลบ 2.15-3.9%

เมื่อเงินเฟ้อสูงแต่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่า จนส่งผลให้ผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบ ผู้มีเงินออมจะจัดการรับมือกับสภาวะการลงทุนที่อึมครึมเช่นนี้ได้อย่างไร Fundamentals สัปดาห์นี้ มีวิธีการบริหารพอร์ตการลงทุนเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อมานำเสนอ

.......................................

เติมสินค้าโภคภัณฑ์ในพอร์ตช่วยต่อสู้เงินเฟ้อ

ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่อัตราผลตอบแทนของดอกเบี้ยเงินฝากเติบโตไม่ทัน และผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงได้อีก หลังจากที่ธนาคารกลางของสหรัฐ (FED)ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 2.25% ในปัจจุบัน ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 3.25% อยู่ 1.0% ในปัจจุบัน

หากมองผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบัน (21 มี.ค.2551) ก็ปรับตัวลดลง โดยผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 3 เดือน อยู่ที่ 2.89% พันธบัตรอายุ 6 เดือน อยู่ที่ 2.86% และพันธบัตรอายุ 1 ปี อยู่ที่ 2.85% เท่านั้น เรียกว่าลงทุนไปในตอนนี้ก็ยังมีผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบเช่นเดียวกัน

ถ้าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 เดือน จะมีผลตอบแทนติดลบ 2.51% พันธบัตรอายุ 6 เดือนติดลบ 2.54% และพันธบัตรอายุ 1 ปี ติดลบ 2.55%

@ภาวะการลงทุนที่อึมครึม

เมื่อจะมองหาช่องทางลงทุนที่จะต่อสู้ เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อในยามนี้ก็ดูไม่ง่ายนัก "ธีระ ภู่ตระกูล" ประธานบริหาร บลจ.ฟินันซ่า บอกว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2548-2550) ตลาดหุ้นสำคัญของโลก สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับตัวเลข 2 หลักได้ โดยตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทน 36% ตลาดหุ้นสหรัฐบวก 21% ตลาดหุ้นยุโรปบวก 56% ตลาดหุ้นญี่ปุ่น 22% ตลาดหุ้นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) บวก 130% ตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) บวก 113% และตลาดหุ้นไทยบวก 49%

แต่เมื่อมีการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 2 สัปดาห์แรกของปี 2551 ที่ผ่านมา ทุกคนก็ทำราวกับว่าโลกทั้งใบจะดับสิ้นลงไป ทั้งที่จริงๆ แล้วตลาดหุ้นส่วนมากปรับตัวลดลงไม่ถึง 10% โดยตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง 8% ตลาดหุ้นสหรัฐลบ 6% ตลาดหุ้นยุโรปลบ 8% ตลาดหุ้นญี่ปุ่นลบ 7% ตลาดหุ้นตลาดเกิดใหม่ลบ 8% ตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ลบ 9% และตลาดหุ้นไทยลบ 8%

"ความผิดพลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งของนักลงทุนคือ ขาดการกระจายการลงทุนและมักทำการซื้อขายบ่อยครั้งเกินไป ในฐานะของนักลงทุน คุณไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะซื้อๆ ขายๆ ระหว่างวัน แต่เป็นการลงทุนระยะยาว กลยุทธ์หนึ่งที่น่าจะได้ผลคือการสร้างพอร์ตลงทุนแบบที่มีแกนกลางและมีดาวเล็กๆ ล้อมรอบ (Core-satellite portfolio) โดยให้พอร์ตแกนกลางหรือพอร์ตการลงทุนหลัก (Core)ประกอบไปด้วยหุ้นที่ถือลงทุนระยะยาว ส่วนพอร์ตดาวเล็กๆ (Satellite) นั้น สามารถเป็นหุ้นเก็งกำไรได้ ซึ่งการจัดพอร์ตเช่นนี้จะทำให้นักลงทุนพอใจที่ได้ลงทุนทั้งสองแบบ คือ มีการลงทุนเชิงรุกควบคู่ไปกับการลงทุนในระยะยาว ในลักษณะของการกระจายความเสี่ยงด้วย"

ในภาวะการลงทุนที่อึมครึมเช่นนี้ มองไปตลาดหุ้นก็ไม่ค่อยดี ตลาดตราสารหนี้ก็ผลตอบแทนไม่มากนัก ดอกเบี้ยเงินฝากก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ช่วงที่ดินฟ้าอากาศทางการลงทุนดูไม่ดี เราจะทำยังไง

บางคนก็ว่าหันเรือเข้าฝั่งปลอดภัยไว้ก่อน เพราะดูบรรยากาศการลงทุนไม่ค่อยสดใสเท่าไรนัก เพราะสิ่งที่รออยู่เงินเฟ้อที่ 5.3% คือคุณซื้อพันธบัตร ฝากธนาคาร เงินเฟ้อกินหมด ที่สำคัญเงินเฟ้อที่แท้จริงของเราเป็นเลข 2 หลัก จากมกราคม 2550 ถึงมกราคม 2551 ก๋วยเตี๋ยวข้างถนนราคาขึ้นมาแล้วจาก 20 บาท เป็น 25-30 บาท เพิ่มขึ้น 25-50% ไข่ไก่ 3 ฟอง ขึ้นจาก 2.15 บาท เป็น 2.30 บาท หรือเพิ่มขึ้น 7% เนื้อไก่ 1 กก. ขึ้นจาก 48 บาท เป็น 17% หรือเพิ่มขึ้น 56 บาท เนื้อหมู 1 กก. ขึ้นจาก 83 บาท เป็น 95 บาท หรือเพิ่มขึ้น 14% น้ำมันพืช 1 ลิตร ขึ้นจาก 25.19 บาท เป็น 28.89 บาท หรือเพิ่มขึ้น 15% และน้ำมันดีเซล 1 ลิตร ขึ้นจาก 22.54 บาท เป็น 29.34 บาท หรือเพิ่มขึ้น 30%

"ถ้าเรามัวแต่ไปกลัวๆ กล้าๆ ผลตอบแทนน้อยหน่อยก็ไม่เป็นไร ขอมั่นคงไว้ก่อน ผลตอบแทนจะเจอเงินเฟ้อกินหมด เหมือนหนีเสือปะจระเข้ตัวใหญ่ คือตอนอายุ 60 ปีแล้ว พอรู้ว่าเงินไม่พอก็ทำลำบากแล้ว เราบอกผู้ลงทุนว่าการลงทุนหลายอย่างไม่ใช่อะไรที่เราไม่รู้มาก่อนว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทเป็นเท่าไร ตรงนี้เรามีวิธีที่เราจัดพอร์ตให้โต 7-10% ได้ โดยที่มันไม่เสี่ยงเกินไป"

@"กระจายความเสี่ยง"เรื่องจำเป็น

ธีระยังบอกถึงความจำเป็นของการกระจายความเสี่ยงให้ฟังว่า จากข้อมูลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2541-กันยายน 2550 พบว่าการลงทุนในตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.25% โดยช่วงที่ดีอาจได้ผลตอบแทนถึง 4.0% และช่วงที่แย่อาจได้ 2.5% โดยมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.95% เมื่อคิดเป็นผลตอบแทนต่อความเสี่ยง (Sharpe ratio) อยู่ที่ 0.33 เท่านั้น ในขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาเดียวกัน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 13.4% โดยช่วงที่ดีได้ผลตอบแทนสูงถึง 43.6% และในช่วงที่แย่ให้ผลตอบแทนติดลบ 16.8% และมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ที่ 30.0% เมื่อคิดเป็นผลตอบแทนต่อความเสี่ยงอยู่ที่ 0.35

แม้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนที่ดี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของความเสี่ยงตั้ง 30% เมื่อเอาผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงเหลือ 0.35 ซึ่งต่างกับการลงทุนในตราสารหนี้ 0.33 เพียงนิดเดียว ซึ่งแทบจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

"ถ้าเรามีการกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงลดลง แล้วที่สำคัญการออกไปในต่างประเทศเราควรจะกระจายความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ไม่จำกัดตัวเองเฉพาะตลาดใดตลาดหนึ่ง ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยบวก 49% ถือว่าดี แต่ก็ยังน้อยกว่าตลาดอื่น แต่ต้นปีพอตลาดหุ้นทั่วโลกตก เรากลับตกใกล้เคียงกับเขา ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2530-2540 ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่แล้ว ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยเคียงบ่าเคียงไหล่กับตลาดหุ้นทั่วโลก แต่พอเจอวิกฤติเศรษฐกิจจากวันนั้นถึงวันนี้ ตลาดหุ้นไทยไม่เคยฟื้นเลย ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทย 20 ปี (ปี 2531-2550) อยู่ที่ 4.1% ในขณะที่ตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทน 7.0% ตลาดหุ้นตลาดเกิดใหม่ 13.4% ตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 8.7% เราจึงควรกระจายการลงทุนไปในหลายตลาดและหลายสินทรัพย์ด้วย"

@ผลตอบแทนของสินทรัพย์

ธีระยังบอกอีกว่า แม้ว่าผลตอบแทนในอดีตจะไม่สามารถบอกถึงผลตอบแทนในอนาคตได้ก็ตาม แต่ผลตอบแทนในอดีตสามารถที่จะบอกถึงแนวโน้มการเคลื่อนไหวของผลตอบแทนในอนาคตได้เพราะผลตอบแทนในอดีตกับในอนาคต ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก

ทั้งนี้จากข้อมูลผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2546-2550 พบว่า เงินฝากให้ผลตอบแทน 1.9% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.0% ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทน 3.6% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.2% หุ้นและตราสารหนี้โลกให้ผลตอบแทน 10.0% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 8.3% หุ้นไทยให้ผลตอบแทน 19.2% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 19.8% สินค้าโภคภัณฑ์ให้ผลตอบแทน 14.8% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 14.4%

หุ้นโครงสร้างพื้นฐานโลกให้ผลตอบแทน 22.2% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 9.4% หุ้นตลาดเกิดใหม่โลกให้ผลตอบแทน 27.2% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 16.2% และหุ้นพลังงานทางเลือกโลก ให้ผลตอบแทน 45.6% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 22.7%

"การผสมการลงทุนเหล่านี้เข้าไว้ในพอร์ตลงทุนในสัดส่วนที่แตกต่างกัน จะทำให้เราสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคาดหวังส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และผลตอบแทนต่อความเสี่ยงในระดับที่แตกต่างกันได้"

@พอร์ตปลอดภัยผลตอบแทน 7.1%

เป็นการจัดพอร์ตการลงทุนที่ต้องการรายได้และความปลอดภัยของเงินลงทุน ถือเป็นรูปแบบที่เสี่ยงน้อย โดยจะมีการลงทุนในกองทุนตราสารตลาดเงิน 20% ตราสารหนี้ 50% หุ้นไทย 5% กระจายการลงทุนในโลก 10% สินค้าโภคภัณฑ์ 10% และหุ้นที่มีรูปแบบการลงทุนเฉพาะ (Thematic) อีก 5% โดยใน 5% นี้ จะแบ่งเป็นการลงทุนในตลาดเกิดใหม่โลก 3% และหุ้นโครงสร้างพื้นฐานโลก 2%

ด้วยการจัดพอร์ตแบบนี้จะทำให้ผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 7.1% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 3.0% โดยมีผลตอบแทนต่อความเสี่ยง 1.39

@พอร์ตเพิ่มค่าเงินลงทุนผลตอบแทน 9.3%

เป็นพอร์ตการลงทุนที่เน้นเพิ่มค่าของเงินลงทุน พร้อมไปกับความปลอดภัยของเงินลงทุน โดยจะมีการลงทุนในกองทุนตราสารตลาดเงิน 10% ตราสารหนี้ 40% หุ้นไทย 7% กระจายการลงทุนในโลก 20% สินค้าโภคภัณฑ์ 15% และหุ้นที่มีรูปแบบการลงทุนเฉพาะ (Thematic) อีก 8% โดยใน 8% นี้จะแบ่งเป็นการลงทุนในตลาดเกิดใหม่โลก 5% และหุ้นโครงสร้างพื้นฐานโลก 3%

ด้วยการจัดพอร์ตแบบนี้ จะทำให้ผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 9.3% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 4.5% โดยมีผลตอบแทนต่อความเสี่ยง 1.42

@พอร์ตเติบโตระยะยาวผลตอบแทน 13.3%

เป็นพอร์ตการลงทุนที่เน้นการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว และมีความผันผวนปานกลาง โดยจะมีการลงทุนในกองทุนตราสารตลาดเงิน 0% ตราสารหนี้ 20% หุ้นไทย 10% กระจายการลงทุนในโลก 35% สินค้าโภคภัณฑ์ 20% และหุ้นที่มีรูปแบบการลงทุนเฉพาะ (Thematic) อีก 15% โดยใน 15% นี้ จะแบ่งเป็นการลงทุนในตลาดเกิดใหม่โลก 8% หุ้นโครงสร้างพื้นฐานโลก 5% และหุ้นพลังงานทางเลือก 2%

ด้วยการจัดพอร์ตแบบนี้จะทำให้ผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 13.3% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 7.0% โดยมีผลตอบแทนต่อความเสี่ยง 1.48

@พอร์ตสร้างผลตอบแทนสูงสุด 16.4%

เป็นพอร์ตการลงทุนที่เน้นการสร้างผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาว โดยจะมีการลงทุนในกองทุนตราสารตลาดเงิน 0% ตราสารหนี้ 0% หุ้นไทย 12% กระจายการลงทุนในโลก 40% สินค้าโภคภัณฑ์ 25% และหุ้นที่มีรูปแบบการลงทุนเฉพาะ (Thematic) อีก 23% โดยใน 23% นี้ จะแบ่งเป็นการลงทุนในตลาดเกิดใหม่โลก 12% หุ้นโครงสร้างพื้นฐานโลก 8% และหุ้นพลังงานทางเลือก 3%

ด้วยการจัดพอร์ตแบบนี้จะทำให้ผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 16.4% ในขณะที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 8.8% โดยมีผลตอบแทนต่อความเสี่ยง 1.52

"ผลตอบแทนจากการจัดพอร์ตลงทุนทั้ง 4 รูปแบบนี้ เป็นการจัดพอร์ตการลงทุนโดยคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาวเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลตอบแทนคาดหวังที่ได้ก่อนหักผลกระทบจากเงินเฟ้อ แต่ด้วยการจัดพอร์ตแบบนี้ จะช่วยให้ผลตอบแทนของเงินลงทุนของคุณ สามารถต่อสู้เงินเฟ้อได้ในระยะยาวได้จริง"

@เติมสินค้าโภคภัณฑ์ช่วยสู้เงินเฟ้อ

ธีระแนะนำว่า นอกเหนือไปจากการลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอสังหาริมทรัพย์แล้ว ผู้ลงทุนควรจะมีการแบ่งพอร์ตการลงทุนมาในสินค้าโภคภัณฑ์บางส่วนประมาณ 10-15% ในภาวะปกติ จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนของคุณมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะโดยปกติแล้ว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะมีค่าสหสัมพันธ์กับหุ้นและตราสารหนี้น้อย ซึ่งเหมาะที่จะเอามาไว้ในพอร์ตเพื่อใช้ในการกระจายความเสี่ยง

โดยเฉพาะปัจจุบัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในโลกยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ซัพพลายมีอย่างจำกัด การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จึงเป็นการลงทุนที่ต่อสู้กับเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี และยังมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตการลงทุนของคุณอีกด้วย

นี่คือแนวคิดและ 4 รูปแบบของพอร์ตการลงทุน ที่จะเอาไว้ต่อสู้กับเงินเฟ้อในระยะยาวให้กับคุณได้ไม่มากก็น้อย

 

เข้าชม: 2,325

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com