May 6, 2024   11:05:34 PM ICT
ไขรหัสความมั่งคั่งแบบฉบับของธีระ ภู่ตระกูล

โดย สรวิศ อิ่มบำรุง

กุญแจหลักของการจัดพอร์ตการลงทุน คือต้องรู้ว่าสินค้าแต่ละอย่างคืออะไร ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยากเวลาเราจัดพอร์ต

สำหรับ "ธีระ ภู่ตระกูล" ประธานกรรมการ บลจ.ฟินันซ่า ถือว่าเป็นผู้บริหารหนุ่มใหญ่ที่มากความสามารถและเปี่ยมด้วยประสบการณ์ในธุรกิจกองทุนรวม นอกจากหมวกของผู้บริหารแล้ว เขายังได้รับการยอมรับว่าเป็นนักวางแผนทางการเงินมือทองคนหนึ่งของวงการ ไม่เพียงเท่านี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร Money&Wealth ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนได้อย่างน่าสนใจอีกคนหนึ่งเลยทีเดียว วันนี้เราจะมาเปิดมุมมองในเรื่องของการออมและการลงทุนส่วนตัวของเขากันดูบ้าง

ธีระ บอกว่า การจัดพอร์ตการลงทุนของแต่ละคนย่อมจะแตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขและความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคน เช่นเดียวกับพอร์ตการลงทุนของตัวเองนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ปัจจุบันแบ่งพอร์ตการลงทุนออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นพอร์ตเกษียณอายุ ซึ่งกระจายอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 70% กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) 20% และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 10% ส่วนที่สองเป็นพอร์ตค่าใช้จ่ายซึ่งจะลงทุนอยู่ในเงินฝากธนาคารและตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องสูงทั้ง 100% และส่วนที่สามซึ่งถือเป็นพอร์ตการลงทุนหลักที่สร้างผลตอบแทนให้กับตัวเองอย่างจริงจังนั้นเป็นการลงทุนในต่างประเทศหมดทั้ง 100% โดยลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ 44% กองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge Fund) 15% พลังงานทางเลือก 11% กลุ่มประเทศ BRIC 10% ญี่ปุ่น 6% ยุโรป 6% อสังหาริมทรัพย์ 4% สหรัฐ 2% และเอเชียแปซิฟิก 2% จะเห็นว่าการจัดพอร์ตส่วนตัวมีทั้งที่เป็นเป้าหมายระยะยาวเพื่อการเกษียณ พอร์ตค่าใช้จ่ายประจำ 20% และพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศอีก 80%

"กุญแจหลักของการจัดพอร์ตการลงทุน คือต้องรู้ว่าสินค้าแต่ละอย่างคืออะไร ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยากเวลาเราจัดพอร์ต เรารู้ว่าฝากเงินได้ผลตอบแทน 1% สินทรัพย์แต่ละประเภทในอดีตให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หรือว่าทองคำ ประเด็นปัญหาคือ "คนรู้...แต่ไม่ทำ" เหมือนคุณจะเอารถเมล์แล้วให้วิ่งได้ ความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณอยากจะได้อะไรที่วิ่งได้ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ต้องเป็นรถสปอร์ต ซึ่งไม่ใช่ว่ามันไม่มี"

แม้ธีระจะยอมรับว่าผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถที่จะบอกถึงผลตอบแทนในอนาคตได้ แต่อย่างน้อยก็เชื่อว่าน่าจะพอบอกถึงแนวโน้มของผลตอบแทนของการลงทุนประเภทนั้นๆ ได้บ้าง เพราะผลตอบแทนไม่น่าจะหนีกันมากนัก ถ้าคุณอยากได้ผลตอบแทน 5% ก็ไปซื้อพันธบัตร ผลตอบแทน 30% ก็ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้ามีทางเลือกด้วยการผสมตัวสินค้าโภคภัณฑ์เข้าไป ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นในขณะที่ความเสี่ยงเท่าเดิม หรือผลตอบแทนเท่าเดิม แต่ช่วยให้ความเสี่ยงลดลงได้ ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา สินทรัพย์ 3 ประเภทที่ให้ผลตอบแทนได้ดี คือการลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์ การกระจายการลงทุนช่วยลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนของคุณได้ด้วยการนำสินทรัพย์หลายประเภทเข้ามาผสมกัน ในพอร์ตมีสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ประมาณ 44% เพราะมองว่าในระยะยาวจะดี เนื่องจากมีดีมานด์จริงที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ซัพพลายยังค่อนข้างจำกัด ซื้อน้ำมันก็คือน้ำมัน ทองคำก็คือทองคำ

"ปีที่แล้วพอร์ตใหญ่ได้ผลตอบแทนประมาณ 28% ซึ่งถือว่าค่อนข้างดีทีเดียว ด้วยการจัดพอร์ตแบบนี้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ก็โอเคแล้ว อันนี้เป็นการจัดพอร์ตเพื่อลงทุนระยะยาว จึงไม่มีการปรับเปลี่ยนพอร์ตบ่อย นอกจากสถานการณ์จะมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้นมา พอร์ตนี้เอาไว้ลงทุน 10-20 ปีข้างหน้า"

การที่พอร์ตลงทุนหลักทั้งหมดลงทุนในต่างประเทศ และส่วนใหญ่อยู่ในสินค้าโภคภัณฑ์นั้น เพราะตัวเองสามารถที่จะรับความเสี่ยงได้ นอกจากนี้ การรับความเสี่ยงได้ขึ้นกับเวลาด้วย เพราะว่าปัจจุบันตัวเองมีเงินใช้ประจำวันอยู่แล้ว ตรงนี้ขึ้นกับแต่ละคน ถ้ากระแสเงินสดเป็นบวกแล้วไม่มีหนี้มากอย่างนี้ ก็สามารถที่รับความเสี่ยงได้มาก อย่างในพอร์ตก็มี BRIC 10% ความเสี่ยงยอมรับได้ ปีที่แล้วจีนขึ้นมา 100% มกราคมลงไป 20% เรายอมรับได้ เพราะนี่คือการจัดพอร์ตเพื่อการลงทุนในระยะยาว หุ้นก็มีอสังหาริมทรัพย์ก็มี ทองก็มี เพราะช่วยกระจายความเสี่ยง ราคาน้ำมันขึ้น หุ้นไทยลง มันสวนทางช่วยได้ หรือการลงทุนในเฮดจ์ฟันด์ถือเป็นการลงทุนทางเลือกที่ใช้แทนการลงทุนในพันธบัตรซึ่งช่วยได้มาก เป็นสินทรัพย์ตัวใหม่ที่น่าสนใจในฐานะของการลงทุนทางเลือก

ธีระ มองว่า การเป็นผู้จัดการกองทุนที่ดีต้องเป็นคนเจ้าชู้ ต้องชอบไปหมดเพราะคุณไม่รู้หรอกว่าอะไรจะดี สินค้าโภคภัณฑ์จะดีหรือเปล่า แต่ก็มีอย่างละนิดอย่างละหน่อย ยุโรปก็มี ญี่ปุ่นก็มี อเมริกาก็มี กระจายไป อะไรที่ชอบมาก อะไรที่พอเข้าใจก็ลงมากหน่อย ที่สำคัญ ส่วนตัวเป็นคนขี้เกียจแล้วคิดว่าคนอื่นเก่งกว่า ยกตัวอย่างหุ้นในประเทศไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีบลจ.ที่ทำผลตอบแทนได้มากกว่า 300% หรือถ้าไปซื้อกองทุนดัชนี SET50 ของบลจ.ทหารไทยในช่วง 5 ปีให้ผลตอบแทน 254% หาร 5 คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 40% เรียกว่าไปทำธุรกิจส่วนตัวกำไรยังไม่เท่านี้ มันมีวิธีทำเงินได้โดยไม่ต้องลำบาก แทนที่จะนั่งบริหารเงินเองก็ให้ผู้เชี่ยวชาญเขาบริหารเงินแทนเรา ดังนั้นการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด เป็นการลงทุนโดยผ่านกองทุนรวมทั้งสิ้น

"ผมเคยไปทำธุรกิจเหนื่อยมาก ตอนนี้ไม่เอาแล้ว ให้คนอื่นเหนื่อยแทน มีคนอื่นที่เก่งกว่าตั้งมาก ผมไปเปิดโรงถลุงเหล็ก ไปเปิดโรงกลั่นน้ำมัน จะไปสร้างคอนโดแข่งกับบมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ไม่ได้ ให้คนอื่นลงทุนแทนเราดีกว่า เราก็มาเลือกกองทุนอีกครั้งหนึ่งโดยมีการแรงกิ้งกองทุนทั้งหมด แทรคดูตลอดเวลา ใครที่สนใจสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.finansa-asset.com ผลตอบแทนของคนที่ได้ที่ 1 และที่โหล่มันต่างกันมาก ดูในเวบได้เป็นบริการของเรา แล้วโดยทฤษฎีก็ไม่ควรจะลงหลายบลจ. หลักการง่ายๆ ในการเลือกกองทุน คือระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน"

ธีระ บอกว่า เรื่องของการใช้จ่ายวิธีใช้เงินกับวิธีลงทุนมันคล้ายกัน วิธีใช้กับวิธีหามันคล้ายๆ กัน ก็กลับมาเรื่องเดิมในเรื่องของการกระจายการลงทุนในพอร์ตว่า สมมติคุณจะซื้อเสื้อแจ๊คเก็ตสักตัว อยู่ดีๆ ไปซื้อที่ฮ่องกงถูกกว่าซื้อที่สยามพารากอน ก็กลับมาเรื่องเดิมแทนที่จะซื้อสยามพารากอนเราสามารถที่จะซื้อที่เหมือนกันได้ในราคาที่ถูกกว่าที่ฮ่องกง แล้วทำไมเราต้องจ่ายเงินซื้อของแพงที่ไทยในเมื่อมีวิธีการที่สามารถจะทำได้หลายอย่างในเมืองไทยมองว่าแพงมาก รถยนต์ในประเทศไทยแพงที่สุดในโลก ซึ่งถือว่าแย่มาก เราจ่ายเงินซื้อรถโตโยต้าแคมรี่แพงกว่าต่างประเทศ 3 เท่าตัว เขาบอกว่าอยากได้รถดีๆ ให้ไปขับต่างประเทศคุ้มกว่า อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเริ่มแพงมาก ตารางเมตรละแสนกว่าบาท สมัยนี้คุณซื้อคอนโด 20 ล้านบาท ได้นิดเดียว หลายอย่างในประเทศไทยเริ่มแพงมาก การใช้จ่ายเราก็ต้องเลือกเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

นี่คือ สไตล์การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง สูตรการลงทุนง่ายๆ ในแบบฉบับของธีระ ภู่ตระกูล

เข้าชม: 2,267

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com