May 6, 2024   9:15:29 PM ICT
เงินทอง&กำไร คือของสะสม

โดย กาญจนา หงษ์ทอง

ในระยะสั้นการลงทุนอาจจะวูบวาบบ้าง ตามปัจจัยการเมืองและภายนอกที่มากดดันเศรษฐกิจ แต่การลงทุนระยะยาวที่เกิน 1 ปี มันได้ผลตอบแทนเหนือ 10%อยู่แล้ว

ถือว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่ถูกจับตามองจากผู้คนรอบด้าน เรากำลังพูดถึง"พชร ปัญญายงค์" คลื่นลูกใหม่ที่มากความสามารถ เรียกว่าเป็นทั้งพิธีกรรายการเรื่องเล่าเช้านี้ทางช่อง 3 และรายงานข่าวด้านเศรษฐกิจทางสถานีโทรทัศน์ Money Channel ในเวลาเดียวกันยังทำหน้าที่ผู้บริหารที่โตโยต้า บางกอก ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวควบคู่กันไปด้วย

เรื่องเงินๆ ทองๆ พชรถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องนี้มาแต่ไหนแต่ไร ทุกวันนี้เมื่อมีรายได้เข้ามาไม่ว่าจะเป็นจากการทำงานในโตโยต้าหรืองานด้านสื่อสารมวลชนก็ตาม เขาจะจัดสรรเงินอย่างเป็นสัดส่วน โดยแบ่ง 1 ใน 3 หรือประมาณ 33% ลงทุนในหุ้น เพราะถือว่ายังอายุไม่เยอะ สามารถรับความเสี่ยงได้มาก

"แต่เงื่อนไขของการลงทุนในหุ้นของผมคือ ไม่สามารถซื้อขายได้ทุกวัน เพราะการทำงานของผมถือว่าขึ้นตรงกับแฟมมิลี่ โนฮาว ซึ่งเป็นบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์ ในแง่การลงทุนจึงต้องถือยาวหน่อย จะลงทุนอะไรก็ 30 วันขึ้นไป"

พชรนิยามตัวเองเป็นนักลงทุนประเภท "กล้าเสี่ยง" ด้วยอายุทำให้ยังกล้าเสี่ยง แต่ถ้าเวลาผ่านไปอีกสัก 10 ปี คงไม่กล้าลงทุนเสี่ยงขนาดนี้ และคงลดความเสี่ยงลง ช่วงนี้เสี่ยงได้ก็เสี่ยงไปก่อน

นอกจากนี้ ยังกันไว้อีกประมาณ 33% ลงทุนในส่วนของตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยลงหน่อย ที่เหลือเป็นเงินออมหมดเลย แต่โดยภาพรวมเขาจะจัดสรรการลงทุนเพื่อประหยัดภาษี แล้วก็แบ่งไว้ก่อนหนึ่งเป็นทุนการศึกษาสำหรับน้อง 2 คน ซึ่งตอนนี้เรียนจบปริญญาโทกันหมดแล้ว นอกจากนี้ก็อาจจะมีเพื่อเตรียมไว้สำหรับการพัฒนาขยับขยายธุรกิจเช่น เปิดโชว์รูมใหม่ๆ

และอีกส่วนหนึ่งที่พชรบอกว่าเป็นการลงทุนที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขาเอง นั่นคือ ลงทุนในธุรกิจร้านอาหาร และผับ แอนด์ เรสเตอรอง เพราะเขาเป็นคนที่ชอบสังสรรค์กับพรรคพวกเพื่อนฝูงเป็นประจำอยู่แล้ว คือ ชอบหามุมหนึ่งที่มีไว้กินไว้นั่งคุย แชร์ไอเดีย หรือสร้างคอนเนคชั่น และเน็ตเวิร์คทางธุรกิจกัน ไหนๆ ก็ชอบแล้วก็ลงทุนในธุรกิจในพวกนี้ไปเลย

"ก็เป็นการลงทุนร่วมกับพรรคพวกที่เรียนมาด้วยกัน ตอนนี้เปิดมาแล้ว 3-4 ร้าน และกำลังจะเปิดที่ทองหล่ออีกร้านหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นลักษณะเวนเจอร์ แคปปิตอล และพอเปิดปุ๊บเราโอเปอเรทตามปกติ แต่พอติดตลาดปุ๊บเราขายทิ้ง เอากำไรทันที เพราะธรรมชาติของธุรกิจพวกนี้มันเหนื่อยและไม่ยั่งยืน วงจรของมันสั้นมาก โดยมากพอ 2 ปีต้องลงทุนใหม่หรือไม่ก็รีโนเวทใหม่ "

นอกจากการลงทุนในปัจจุบัน พชรบอกว่าเมื่อมีช่องทางลงทุนประเภทไหนน่าสนใจ เขาก็จะศึกษาและลงทุน เช่น พวกฟิวเจอร์ ออปชั่น กองทุนอีทีเอฟ

"ผมก็ศึกษามาพอสมควร แต่ตอนนี้ทุกอย่างยังใหม่อยู่ ยังเก็งอะไรมากไม่ได้ มองแค่ว่า จะทำยังไงให้ได้กำไร ซึ่งออปชั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำกำไรให้เราได้"

แต่ไม่ว่าจะลงทุนในธุรกิจหรือช่องทางไหน พชรจะยึดหลัก"คิด 10 ครั้งก่อนทำ"

เขาเล่าว่าถูกพ่อสอนตั้งแต่เล็กจนโต ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ไม่ว่าจะขยับขยายกิจการในด้านไหน หรือลงทุนอะไรก็ตาม ให้คิดและไตร่ตรอง 10 ครั้งก่อนทำ จะได้ไม่เกิดความเสียหายตามมา พชรบอกว่าครอบครัวของเขาบ่มเพาะเรื่องการใช้เงิน และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารเงินมาตลอด เวลาคนในครอบครัวนั่งคุยกัน ก็จะมีแต่เรื่องพวกนี้ ไม่ค่อยคุยเรื่องแฟนหรือเรื่องส่วนตัวกันเท่าไร

"เมื่อคิดจะทำอะไร ผมก็จะเรียกคนที่อยู่ใกล้ชิด คนที่ไว้วางใจและคนในแวดวงเดียวกัน มาประชุมหรือหารือ ถ้าพวกเขามีคำถามเกิดขึ้นแม้แต่ข้อเดียว แล้วเราตอบเขาไม่ได้ แบบนั้นก็ไม่ควรทำ เราจะคุยกัน คิดแล้วคิดอีก เช่น เรื่องเปิดร้านอาหารหรือโชว์รูมเพิ่ม ผมจะคุยกับลุงป้า น้า อา รุ่นพี่รุ่นน้อง คิด 10 ครั้งเสมอ"

เพราะแม้ว่าจะคิดใคร่ครวญเป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็เคยเกิดความผิดพลาดจากการลงทุนคือ พลาดเรื่องผลกำไรที่ได้ต่ำกว่าที่คาดหวัง

"มีช่วงหนึ่งไปลงทุนร้านอาหารแถวเลียบทางด่วน ลงทุนกับคนในแวดวง รู้จักกันแค่ผิวเผิน ขณะเดียวกันการบริหารจัดการไม่ได้ระบบ แต่ผมก็ถอนตัวออกมาทัน คราวนั้นก็เลยได้ผลตอบแทนน้อยคือ ที่จริงควรจะได้เยอะกว่านั้น พูดง่ายๆ คือ บทเรียนที่เราได้มาคือ การไว้เนื้อเชื่อใจ การวางคนไม่ถูก ถึงไม่ขาดทุน แต่ก็เกือบไปเหมือนกัน"

นิสัยการใช้จ่าย พชรออกตัวว่าเขาเป็นคนที่ค่อนข้างใช้จ่ายเยอะ แต่ยังอยู่ในจุดที่ว่า "หาได้มากกว่าใช้" เพราะเป็นคนที่ประเมินตนเสมอ จริงอยู่อาจจะมีบัตรเครดิต 3 ใบ ใช้จ่ายผ่านบัตรเยอะ แต่ประเมินตัวเองตลอดว่าเรามีรายได้เท่าไร เงินหมดไปกับความจำเป็นหรือเปล่า

"เท่าที่สำรวจ ยังเห็นว่าเรื่องการสังสรรค์กับเพื่อนฝูงสำหรับผมยังจำเป็นอยู่ ก็เลยต้องสังสรรค์กันต่อไป ผมถือเป็นการลงทุนส่วนหนึ่ง ได้แชร์ความคิด บางทีชีวิตเราพูดมาเยอะแล้ว เราต้องฟังคนอื่นบ้าง ถ้าเราไม่รู้จักฟังคนอื่น โลกก็จะแคบ เวลาไปเจอกันก็คุยกันว่าทำไมหุ้นถึงขึ้น เศรษฐกิจเป็นยังไง ทำไมไม่ลดดอกเบี้ยซะที อะไรแนวนี้ เรียกว่าเป็นการสังสรรค์ที่อาจจะแปลกที่คุยกันแต่เรื่องพวกนี้ตลอด หลักๆคือ สร้างเน็ตเวิร์ค เพราะผมมีเพื่อนมากหลายกลุ่ม"

แต่โดยภาพรวมพชรบอกว่า เขายังยึดหลักใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เวลาจะซื้ออะไรก็จะคิดหน้าคิดหลังตลอด ไม่ค่อยฟุ่มเฟือย อะไรที่ไม่ใช่ปัจจัย 4 ก็จะคิดตลอด อย่างเสื้อผ้า แม่และเพื่อนจะซื้อให้ตลอด

"ชีวิตผมไม่เคยสะสมอะไร นอกจากเงินและกำไร"

พชรบอกว่าอยากส่งเสริมให้ผู้คนออมเงินและลงทุนให้ถูกต้อง ไม่ใช่แค่มองว่าการออมเงินคือ การฝากออมทรัพย์ เพราะถ้าไม่ชนะเงินเฟ้อ ทำไมไม่ลองมาหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ทุกวันนี้อยากให้ทุกคนศึกษาหาความรู้ในตลาดทุนกันมากขึ้น อย่าปล่อยให้เงินแช่อยู่ในแบงก์ และผุกร่อนไปทุกปี

"ในระยะสั้นการลงทุนมันอาจจะวูบวาบบ้าง ตามปัจจัยการเมืองและภายนอกที่มากดดันเศรษฐกิจ แต่การลงทุนระยะยาวที่เกิน 1 ปี มันได้ผลตอบแทนเหนือ 10%อยู่แล้ว ทุกวันนี้ผมคิดว่า อยากมีฐานะที่เพียงพอ ผมคงไม่ได้ต้องการร่ำรวยล้นฟ้า ขอแค่มีฐานะและเติบโตไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ทิ้งไม่ได้คือธุรกิจ เราคงต่อยอดไปเรื่อยๆ การจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องมีท่อน้ำเลี้ยงเพื่อมาขยายธุรกิจต่อไปได้ จนถึงทุกวันนี้ ถ้าไม่มีเงิน ผมว่าก็มีความสุขได้นะ "

เพราะสำหรับพชร เขาบอกว่า เงินเป็นปัจจัย 5 ไม่ใช่ปัจจัย 4 มันเป็นแค่ตัวกลางในการแลกของหมูกับไก่เท่านั้นเอง

เข้าชม: 2,224

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com