May 2, 2024   6:50:37 AM ICT
มารู้จัก LTF กันเถอะ!!

     พบกันคราวนี้ มีเรื่องเด่นประเด็นอุ่น ๆ มาเล่าสู่กันฟังอีกแล้วค่ะ เรื่องที่ว่าคงเป็นเรื่องอื่นใดไปไม่ได้นอกจากเรื่องของ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF (ที่ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Long Term Equity Fund ค่ะ) เพราะล่าสุดหลังจากมีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของการลงทุนใน LTF (ฉบับที่ 133) ออกมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2547 นั้น ถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับผู้ลงทุนที่เตรียมตัวลงทุนใน LTF ว่าได้ไฟเขียว ทางสะดวกแล้ว และถึงวันนี้ ก็มีบริษัทจัดการบางแห่งได้ฤกษ์เริ่มเสนอขาย LTF กองแรก ๆ กันแล้วค่ะ พร้อมกับ LTF จากอีกหลาย ๆ บริษัทจัดการที่จะทยอยออกตามมาในช่วงต้นเดือนหน้า ขณะที่ในอีกทางหนึ่งนั้น ก็มีประเด็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องของภาษีของการลงทุนใน LTF เกิดขึ้นตามมา และเป็นที่มาของการไขคำตอบในวันนี้ ซึ่งดิฉันจะขอหยิบยกประเด็นเด่น ๆ ขึ้นมาพูดถึงสัก 2-3 ประเด็นนะคะ

ก่อนอื่น คงต้องขออนุญาตเล่าเท้าความแบบรวบรัดก่อนว่า LTF คืออะไร? เผื่อคุณผู้อ่านบางท่านที่ยังไม่ทราบจะได้ทราบจากตรงนี้เลยนะคะ LTF คือ กองทุนรวมหุ้น ที่จัดตั้งขึ้นเนื่องจากทางการต้องการสนับสนุนให้มีการเพิ่มสัดส่วนของผู้ลงทุนสถาบันในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาวให้มากขึ้น (ผู้ลงทุนสถาบันในที่นี้ ก็คือ กองทุนรวมนั่นล่ะค่ะ) เพื่อช่วยให้ตลาดทุนไทยมีเสถียรภาพ จึงได้มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ที่ลงทุนใน LTF ถึง 2 ทางด้วยกัน นั่นก็คือ ทางแรก เงินซื้อหน่วยลงทุนใน LTF ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ โดยกำหนดเพดานเงินขั้นสูงสุดไว้ด้วยว่าต้องไม่เกิน 300,000 บาท และทางที่สอง กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน หรือที่เรียกว่า capital gain ก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน

เอาล่ะค่ะ เข้าสู่ประเด็นคำถามกันเสียที เริ่มจากประเด็นแรกที่มีผู้ถามเข้ามาว่า LTF จะต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี เหมือนกับ RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) หรือไม่? ตรงนี้ตอบได้เลยว่า ไม่จำเป็นค่ะ เพราะ LTF บอกไว้แต่เพียงให้ถือยาวถึง 5 ปีเท่านั้น โดยนับก้อนเงินที่ลงทุนแยกกันไปในแต่ละปีค่ะ (เช่นลงทุนในระหว่างปี 2547 จะครบ 5 ปี คือ มกราคม 2551 ก้อนถัดมา ลงทุนในระหว่างปี 2548 ก็จะไปครบ 5 ปี มกราคม 2552 ค่ะ) ประเด็นถัดมา คือคำถามเกี่ยวกับการไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนด 5 ปี ว่าจะเกิดอะไรขึ้น? ดิฉันขอเรียนอย่างนี้ค่ะว่า การไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนครบ 5 ปี ถือเป็นการผิดเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 133 นี้ บอกไว้ว่า นอกจากผู้ลงทุนจะต้องคืนภาษีที่ได้รับยกเว้นไปในช่วงที่ผ่านมาแก่สรรพากร และกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (capital gain) จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีแล้ว ยังจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน อีกด้วยค่ะ

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ขอยกตัวอย่างสมมุติต่อไปนี้ให้ดูแล้วกันนะคะ คุณสมชาย ลงทุนใน LTF ในปี 2547 เป็นจำนวน 100,000 บาท เนื่องจากคุณสมชายเสียภาษีในอัตรา 20% จึงได้รับยกเว้นภาษีไป 20,000 บาท ซึ่งเมื่อถึงระยะเวลายื่นภาษีของปี 2547 ก็คือภายในเดือนมีนาคม 2548 คุณสมชายได้นำเงินที่ได้รับยกเว้นไปหักออกจากเงินที่จะต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี พูดง่าย ๆ ก็คือ ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับไปเรียบร้อย ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2549 คุณสมชายได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนของ LTF ที่ซื้อไว้ก้อนนี้ โดยได้รับเงินมาทั้งหมด 110,000 บาท (เป็นส่วนของเงินลงทุน 100,000 บาท และกำไรจากการลงทุนอีก 10,000 บาทค่ะ) ซึ่งในส่วนของ capital gain ก็นำไปเสียภาษีร่วมกับการยื่นเสียภาษีภายในเดือนมีนาคม 2550 ได้ ในขณะที่การคิดเงินเพิ่มของคุณสมชาย จะเริ่มนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 มาจนถึงเดือนที่คุณสมชายส่งคืนภาษีค่ะ สำหรับประเด็นเงินเพิ่มที่ต้องเสียจากการผิดเงื่อนไขตรงนี้ มีคำถามต่อไปอีกว่า หากรู้ตัวว่าผิดเงื่อนไขเมื่อใด สามารถยื่นขอคืนภาษีได้เลยหรือไม่ โดยไม่ต้องรอให้ถึงช่วงยื่นภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ตอบว่า ได้ค่ะ ทันทีที่รู้ตัวว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน เช่น หากไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน ก็ยื่นขอชำระภาษีเพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายนได้เลยค่ะ ทั้งนี้ การไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนด 5 ปี เนื่องจากผู้ลงทุนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ทางสรรพากรก็ยังคงให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยไม่ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุนแต่อย่างใดนะคะ

ส่วนที่มีผู้ถามเข้ามาว่า จะลงทุนใน LTF เกินกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้หรือไม่ เช่น ลงทุนเกิน 15% ของเงินได้ที่ได้รับในแต่ละปี หรือลงทุนเกินกว่า 300,000 บาท ขอตอบอย่างนี้ค่ะว่า จะลงก็ได้ค่ะ แต่เงินลงทุนส่วนที่เกินนั้น จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี นั่นก็คือ นอกจากจะนำไปยกเว้นภาษีไม่ได้แล้ว กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนในส่วนที่เราลงทุนเกินไปนั้น จะต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีด้วยค่ะ ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นเหมือนกันกับการลงทุนใน RMF เลยนะคะ ก็คือลงทุนเกินสิทธิ เสียภาษี capital gain ในส่วนของเงินลงทุนที่เกิน ท้ายสุด เป็นคำถามสรุปค่ะว่า เมื่อลงทุนใน LTF แล้ว ต่อมาผิดเงื่อนไขก็โดนเงินเพิ่ม ลงมากเกินกว่าสิทธิ ก็เสีย capital gain อย่างนี้แล้ว LTF ยังจะน่าสนใจอยู่อีกหรือ? ขอตอบอย่างนี้ค่ะว่า ความน่าสนใจของ LTF ในแง่ของผู้ลงทุนนั้น สามารถตอบโจทย์ได้ 2 ประการ คือ สำหรับคุณ ๆ ที่ต้องการลงทุนในหุ้นระยะยาว แต่อาจไม่มีเวลาติดตามผลการลงทุน ก็จะมีมืออาชีพมาดูแลให้คุณผ่านการลงทุนในกองทุนรวม และประการถัดมา คือ LTF เป็นการลงทุนแบบที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งถ้าคุณแน่ใจว่าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุนได้ นั่นก็คือ เพียงลงทุนแล้วถือไว้ครบ 5 ปีปฏิทิน ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องยุ่งยากเลยค่ะ

ก่อนจาก ยังมีคำถามฟันธงอีกค่ะว่า ที่ดิฉันพูดมาทั้งหมดนี่ตั้งใจจะ เชียร์ หรือจะ เบรก LTF กันแน่ ขอตอบว่า ต้องการสนับสนุนทุกท่านที่สนใจจะลงทุนใน LTF และพร้อมรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นค่ะ แต่ระหว่างนั้น ก็มีกระตุกเตือนด้วยรักและหวังดีสำหรับผู้ที่ยังไม่แน่ใจหรือยังไม่พร้อมที่จะทำตามเงื่อนไขอยู่บ้าง ถือว่าเป็นแรงเชียร์พร้อมคำเตือนจากเพื่อนคนหนึ่งก็แล้วกันนะคะ

ที่มา

หน้าต่าง ก.ล.ต.
โดย คุณณัฐญา นิยมานุสร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เข้าชม: 2,030

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com