May 13, 2024   3:12:36 AM ICT
DTACซมพิษฝรั่งทิ้งตลาดหุ้น

หุ้น DTAC ไม่กระดิก หลังโดนฝรั่งทิ้ง ถอนการลงทุนจากไทยหวั่นปัญหาซับไพร์มป่านนี้ยังไม่กลับเข้ามา ราคาไม่สูสี ADVANC ที่มีภาษีดีกว่าเรื่องเงินปันผล ขณะที่การใช้อินเตอร์คอนเน็คชั่น ชาร์จ กลับทำพิษ มีรายจ่ายถึง 1.5 พันล้านบาท สูงสุดในบรรดาผู้ประกอบการทั้งหมด


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ DTAC ขณะนี้เคลื่อนไหวใกล้ราคาไอพีโอที่ 40 บาท มากว่า 2 สัปดาห์แล้ว นับตั้งแต่ปัญหาซับไพร์ม ทำให้นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตามในช่วงที่ตลาดหุ้นรีบาวด์ หุ้น DTAC กลับไม่ขึ้นแรงเท่าหุ้นในกลุ่มมือถือ เช่นบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ปริมาณการซื้อขายก็เบาบาง ทั้งๆ ที่DTAC ถือเป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่เช่นกัน โดยวานนี้ DTAC ปิดตลาดที่ 40.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 1.24% มูลค่าซื้อขาย 54.38 ล้านบาท


          นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัดระบุว่า หุ้น DTAC ได้รับผลกระทบจากภาวะตลาด ที่ปรับตัวลดลงอย่างหนักจาก 890 จุดไปเหลือ 740-750 จุด เนื่องจากเป็นหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อต่างชาติเทขายจึงส่งผลกระทบต่อราคา DTAC ไหลลงตามตลาดรวม


          ทั้งนี้สาเหตุการเทขายของนักลงทุนต่างประเทศส่งผลให้ราคาหุ้น DTAC นิ่งอยู่พักหนึ่ง ต่างจากหุ้นของ ADVANC ที่สามารถรีบาวด์ได้เร็วกว่า เนื่องจากจะมีการจ่ายปันผลระหว่างกาล ในอัตราหุ้นละ 3 บาท โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD วันนี้ (24 สิงหาคม 2550)จึงเป็นแรงจูงใจทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่า ประกอบกับ ADVANC มีผู้ถือหุ้นไทยมากกว่า


          "DTAC มีความน่าสนใจในแง่ของปันผลน้อยกว่า ADVANC ที่จ่ายปันผลสูง การันตีปีละ6.30 บาทต่อหุ้น แบ่งเป็นระหว่างกาล 3 บาท และงวดสิ้นปี 3.30 บาท แต่ DTAC นั้นจ่ายปันผลตามผลการดำเนินงานในแต่ละปี จึงส่งผลให้ DTAC มีความน่าสนใจเพียงแง่ของการดำเนินงานเท่านั้น" นักวิเคราะห์ กล่าว
          

นักวิเคราะห์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีการใช้ค่าอินเตอร์คอนเน็คชั่น ชาร์จ (ไอซี) นั้น ทำให้ DTAC มีต้นทุนค่าไอซีสูงถึง 1,500 ล้านบาท ซึ่งสร้างความตกใจให้แก่นักลงทุนพอสมควร เนื่องจากก่อนหน้านี้ต่างประเมินว่าการใช้ค่าไอซีนั้น บริษัท ทรูมูฟ จำกัด จะเป็นผู้ที่มีต้นทุนไอซีสูงที่สุด เพราะมีฐานลูกค้าน้อยที่สุด และ DTAC น่าจะมีค่าใช้จ่ายไอซีน้อยมากหรือไม่มีเลย เพราะเป็นผู้ประกอบการที่มีลูกค้าใหญ่เป็นอันดับ 2


          ด้านปัจจัยในเชิงลบของ DTAC นั้น นักวิเคราะห์ ระบุว่า จนถึงสิ้นปีนี้คงไม่มีปัจจัยลบแล้ว แต่จะต้องรอดูกลยุทธ์ทางการตลาดในช่วงครึ่งปีหลังว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อจะเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าให้มีปริมาณการโทรออกนอกเครือข่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนไอซีลง โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 47.38 บาท และแนะนำ "ถือ"


          นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด ระบุว่า สาเหตุที่ส่งผลให้ราคาหุ้น DTACนิ่งอยู่พักหนึ่งนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา DTAC ไม่มีความเคลื่อนไหวทางการตลาดออกมา ทำให้ไม่มีสตอรี่ที่จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อราคาหุ้น


          ทั้งนี้ยอมรับว่า DTAC มีความสนใจน้อยกว่า ADVANC ในแง่ของเงินปันผลจริง เนื่องจากมีนโยบายจ่ายปันผลต่ำกว่า เพราะต้องอิงผลประกอบการในแต่ละปี ในขณะที่ ADVANCมีนโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการการันตีให้กับผู้ถือหุ้น


          อย่างไรก็ดี DTAC มีข่าวที่ส่งผลกระทบในเชิงบวกรออยู่กรณีเรื่องค่าแอ็คเซ็สชาร์จ (เอซี) ซึ่งหากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยินยอมทำตามคำสั่งของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องเจรจาค่าไอซีกับ DTAC การฟ้องร้องที่อยู่ระหว่างเตรียมการก็จะได้ข้อสรุป


          ในแง่ผลการดำเนินงานของ DTAC นั้นยังมีการเติบโตที่ดี และรายได้ต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) อยู่ในระดับที่สูงราว 290 บาท สูงกว่า ADVANC ซึ่งมี ARPU ราว 272บาท

เข้าชม: 1,330

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com