May 9, 2024   4:50:35 AM ICT
การลงทุนหุ้นที่เติบโตสูง&หุ้นขนาดเล็ก

วิชชุ จันทาทับ : QBOX@SCBAM.COM

จากสภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลทำให้การลงทุนในตราสารทุนมีความผันผวนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามท่ามกลางความผันผวนดังกล่าวมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงปะปนกันอยู่

โดยทางทฤษฎีแล้วการลงทุนในบริษัทที่มีขนาดใหญ่และมีความมั่นคงสูง (Blue Chip Stock) นั้นจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลและการขายทำกำไรในอัตราที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาดฯ นั้นๆ แต่หากพิจารณาถึงการลงทุนในบริษัทที่เริ่มก่อตั้งใหม่ที่มีขนาดเล็ก (Penny Stock) ซึ่งอาจจะยังไม่มีการจ่ายเงินปันผล แต่บริษัทขนาดเล็กเหล่านั้นจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด (High Growth) โดยในบางปีอาจจะมีการเติบโตหลายเท่าตัว ซึ่งทำให้ความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทขนาดเล็กนั้นอาจจะสูงกว่าการลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการลงทุนในกรอบระยะยาวมากขึ้น การลงทุนในบริษัทขนาดเล็กที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดอาจจะให้ผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ โดยหลักการที่ใช้สำหรับการลงทุนในบริษัทขนาดเล็กที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานในเชิงคุณภาพ (Qualitative) มากกว่าเชิงปริมาณ (Quantitative) เนื่องจากงบการเงินของบริษัทนั้นอาจจะอยู่ในช่วงที่เริ่มที่จะขยายกำลังการผลิตหรือลงทุนผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งยังอยู่ในช่วงที่ยอดขายที่ยังมีความผันผวน อัตราผลกำไรต่ำ หรือหนี้สินต่อส่วนทุนสูง

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้นักลงทุนที่ใช้อัตราส่วนทางการเงินเป็นปัจจัยชี้ขาดในการเลือกลงทุนในบริษัทต่างๆ นั้น ไม่สามารถลงทุนในบริษัทเหล่านี้ได้ แต่จะต้องพิจารณาในด้านความสามารถในการแข่งขัน จุดอ่อน จุดแข็งของบริษัท และความสามารถบวกกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยเชิงคุณภาพ จึงจะสามารถมองเป็นโอกาสในการลงทุนได้

หากพิจารณาในอีกมุมมองหนึ่ง คือ บริษัทที่มีขนาดเล็กนั้นอาจจะไม่อยู่เกณฑ์การลงทุนของกองทุนขนาดใหญ่ เนื่องจากข้อจำกัดของสภาพคล่อง เนื่องจากกองทุนขนาดใหญ่จะต้องดำรงสภาพคล่องไว้ในกรณีที่มีการไถ่ถอนจากผู้ถือหน่วย ดังนั้นหากเป็นบริษัทที่มีการเติบโตสูงแต่มีขนาดเล็กก็จะไม่ได้รับความสนใจแต่อย่างไร

ดังนั้น โดยทั่วไปกองทุนที่ลงทุนบริษัทในช่วงแรกของการเริ่มกิจการนั้นจะเรียกว่า “Venture Capital Fund” ซึ่งเป็นกองทุนที่มีกรอบการลงทุนระยะยาวและสามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้มาก โดย Venture Fund จะทำหน้าที่สนับสนุนด้านการเงินและอาจรวมไปถึงการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำแก่บริษัทที่ลงทุนในด้านการเงินอื่นๆ จนกระทั่งบริษัทดังกล่าวนั้นมีความมั่นคงทางการเงินระดับหนึ่งแล้ว จึงเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

เมื่อถึงตอนนั้นก็จะเป็นโอกาสที่ดีของ Venture Fund ที่จะทำการขายทำกำไรบางส่วนหรือทั้งหมดในช่วงที่บริษัทฯ ทำการระดมเงินผ่านการทำการเสนอขายแก่ประชาชนในครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) โดย Venture Fund จะนำหุ้นส่วนที่ลงทุนอยู่มาเสนอขายร่วมในส่วนของ IPO และอาจจะรอไปทำการขายทำกำไรในตลาดหลักทรัพย์โดยตรงเลยก็ได้ และในจังหวะนี้เองที่จะเป็นโอกาสของกองทุนที่มีกรอบการลงทุนที่สั้นกว่าแต่ยังสามารถทนต่อความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูงที่จะเข้ามารับช่วงต่อในการลงทุน โดยผ่านช่องทางในตลาดหลักทรัพย์ นั้นจะเป็นกองทุนที่เรียกว่า “Small Cap Fund”

หากพิจารณาแล้วนักลงทุนที่มีความสามารถในการลงทุนในกรอบระยะยาวนั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนของบริษัทประกันชีวิต กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Pension Fund หรือ Provident Fund) และกองทุนระยะยาว (LTF: Long Term Fund) โดยกองทุนกลุ่มดังกล่าวจะมีการไถ่ถอนจากผู้ถือหน่วยค่อนข้างน้อยในช่วงแรก และจะพอทราบถึงกรอบเวลาของการลงทุนได้พอสมควรจึงทำให้นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวสามารถแบ่งสัดส่วนบางส่วนมาลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีขนาดเล็กและมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้

อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกบริษัทขนาดเล็กนั้นถือว่า มีความเสี่ยงสูงมาก โดยเฉพาะสำหรับ Venture Fund ที่จะลงทุนในบริษัทตั้งใหม่นั้นจะมีความคาดหวังในบริษัทที่เริ่มต้นแล้วอยู่รอดจนถึงนำเข้าตลาดนั้นอยู่ประมาณ 20% เท่านั้น (ถึงขั้นมีคำกล่าวง่ายๆว่า Venture Fund ลงทุนในบริษัทตั้งใหม่ 10 บริษัท บริษัทเหล่านั้นจะมี 3 บริษัทที่ล้มระหว่างทาง อีก 5 บริษัทจะแค่ทรงๆ แต่ไม่สามารถเติบใหญ่จนเข้าระดมทุนในตลาดฯ ได้ จะมีเพียง 1-2 บริษัทเท่านั้นที่เติบโตจนเข้าระดมทุนได้ แต่สองบริษัทดังกล่าวจะทำให้เกิดผลตอบแทนหลายเท่าตัวจนคุ้มเงินลงทุนอีก 8 บริษัทที่ไม่ทำกำไรได้) ถึงกระนั้น กองทุน Small Cap Fund ที่เข้ามารับช่วงต่อจาก Venture Fund ก็ถือว่าได้รับการคัดมาระดับหนึ่งแล้วแต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์เบื้องต้นที่จะเป็นหลักทรัพย์แบบ High Growth สำหรับกองทุน Small Cap Fund นั้น อย่างน้อยบริษัทที่จะลงทุนควรมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 2-3 เท่าของการเติบโตเฉลี่ยของตลาดฯ หรือโดยรวมกำไรสุทธิเติบโตในเกณฑ์ที่ไม่ต่ำกว่า 30-40% ต่อปี ต่อเนื่องกันประมาณ 2-3 ปี จึงถือว่าเป็น High Growth Stock

สำหรับเกณฑ์ที่ถือว่าเป็นหุ้นขนาดเล็กนั้น สำหรับในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น หุ้นที่ไม่อยู่ใน SET100 ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์หุ้นที่มีขนาดเล็ก ซึ่งในแต่ละปีนั้นหุ้นเหล่านี้จะครองตำแหน่งหุ้นที่มีการปรับตัวขึ้นมากที่สุด (อยู่ในเกณฑ์ 50-100%) ในอีกมุมหนึ่งหุ้นขนาดเล็กเหล่านี้เช่นกันที่ครองตำแหน่งมีการปรับตัวต่ำสุดในแต่ละปี

ดังนั้นการเลือกลงทุนในหุ้นที่มีขนาดเล็กและมีการเติบโตสูงนั้นถือว่า มีความเสี่ยงที่สูงกว่า โดยจะต้องอาศัยนักวิเคราะห์ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญสูง อีกทั้งจะต้องประเมินความเหมาะสมถึงจังหวะที่จะต้องรอคอยเพื่อการขายทำกำไรอีกด้วย

เข้าชม: 3,587

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com