May 18, 2024   7:34:47 PM ICT
แบงก์หวังปีแรกภาระหนี้ทีพีไอลด 40%

เจ้าหนี้หวังแผนฟื้นฟูกิจการ ทีพีไอ ในปีแรกจะสามารถลดหนี้ได้มากถึง 40% ของมูลหนี้ 2,750 ล้านดอลลาร์ ระบุ การขายหุ้นเพิ่มทุน-หุ้นทีพีไอโพลีน มูลค่ารวม 900 ล้านดอลลาร์ เป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จ คาดทีพีไอกำไรสุทธิปีนี้กว่า 4,800 ล้านบาท จพท.นัดเจ้าหนี้ลงมติ 12 ต.ค.นี้ ก่อนส่งให้ศาลล้มละลายกลางชี้ขาดขั้นสุดท้าย 1 พ.ย. ระบุ ไอเอฟซีพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย(ทีพีไอ) เปิดเผยว่า เจ้าหนี้คาดหวังว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอฉบับแก้ไขที่เจ้าหนี้จะลงมติในเร็วๆ นี้นั้น จะสามารถลดภาระหนี้ให้กับทีพีไอในปีแรกได้ถึง 30-40% และเพียงระยะเวลา 3 ปีหลังเดินตามแผนฟื้นฟูฉบับนี้ ทีพีไอจะเหลือหนี้ที่ต้องชำระเพียง 30%

คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอจากกระทรวงการคลัง จะเปิดให้เจ้าหนี้ทีพีไอ 140 รายทั่วโลก ลงมติเพื่อรับรองแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอในวันที่ 12 ต.ค.นี้ โดยต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากเจ้าหนี้เกินกว่า 50% แผนฟื้นฟูกิจการจึงจะผ่านความเห็นชอบ หลังจากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์(จพท.) จะส่งมติของเจ้าหนี้เพื่อให้ศาลล้มละลายกลางอนุมัติในวันที่ 1 พ.ย.นี้

อย่างไรก็ตามในวันนี้ ( 27 ก.ย.) คณะกรรมการเจ้าหนี้จะให้เจ้าหนี้ทั่วโลก ลงมติเพื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอผ่านทางโทรสาร ซึ่งต้องได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนไม่น้อยกว่า 75% แต่คณะกรรมการเจ้าหนี้ และคณะผู้บริหารเชื่อว่าขั้นตอนนี้ไม่น่าจะมีปัญหา

ปัจจุบันทีพีไอมีหนี้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 2,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะมีการกำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนตั้งแต่ 5-12 ปี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ความคาดหวังว่าทีพีไอจะลดหนี้ลงได้ประมาณ 30-40% ในปีแรกได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยความสำเร็จของการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนของโครงสร้างทุน ที่จะมีการขายหุ้นให้กับพันธมิตรรายใหม่ การขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน

ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ในปีแรกทีพีไอจะต้องขายหุ้นเพิ่มทุนขั้นต่ำ 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผู้รวมทุนรายใหม่ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด นอกจากนี้จะต้องขายหุ้นที่ทีพีไอที่ถืออยู่ในบริษัททีพีไอโพลีน จำนวน 49% ให้กับนักลงทุน มูลค่าประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมแล้วทีพีไอจะได้รับเงินจากเพิ่มทุน และขายหุ้นทีพีไอโพลีน จำนวนกว่า 900 ดอลลาร์สหรัฐ

แค่ขายหุ้นเพิ่มทุนกับขายหุ้นทีพีไอโพลีน หนี้ทีพีไอก็ลดลงไปแล้วกว่า 30% หรือลดลงไป 1 ใน 3 หากรวมกับกระแสเงินสดที่จะมาชำระหนี้เพิ่มเติมด้วยแล้ว ภาระหนี้ของทีพีไอในปีแรกก็จะลดลงถึง 40% เป็นอย่างน้อย เราจึงหวังว่าผ่านไป 1 ปี ก็จะเห็นหน้าเห็นหลังแล้ว แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ประมาณการงบการเงินของทีพีไอ ที่จัดทำขึ้นโดยคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ในระยะ 6 ปี หรือระหว่างปี 2547-2552 กำไรขั้นต้นก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย(EBITDA) ในปี 2547 จะอยู่ที่ 17,626 ล้านบาท ก่อนที่จะลดลงเหลือ 12,833 ล้านบาท ในปีถัดมา และเพิ่มขึ้นเป็น 17,565 ล้านบาท ในปี 2549 และลดลงมาอีกเล็กน้อยเหลือ 14,922 ล้านบาท ในปี 2550 ส่วน 2 ปีสุดท้าย จะอยู่ที่ 14,648 ล้านบาท และ 212,495 ล้านบาท ตามลำดับ

เราเชื่อว่าในปีแรกคงไม่มีปัญหา เพราะภาพรวมของธุรกิจปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาขึ้น EBITDA ที่ประมาณการไว้เดิม 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ล่าสุดที่ทราบมา ทีพีไอได้ปรับเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านดอลลาร์แล้ว แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจัยที่จะชี้ขาดว่าจำนวนหนี้ของทีพีไอจะลดได้ตามเป้าหมายหรือไม่ อยู่ที่การขายหุ้นทีพีไอโพลีน ที่ประมาณการว่าจะได้เงินมาชำระหนี้กว่า 10,000 ล้านบาทนั้น ถือว่ายังมีความเสี่ยงที่จะไม่ประสบความสำเร็จตามแผนที่ตั้งไว้ เนื่องจากเงื่อนไขการขายหุ้นให้กับนักลงทุนเพียงรายเดียวนั่นเอง

ปัญหาสำคัญที่จะขายหุ้นทีพีไอโพลีนไม่ได้ ก็คือ การหาผู้ซื้อนั่นเอง เพราะต้องยอมรับเงื่อนไขประการหนึ่งว่า จะมีนักลงทุนสักกี่คนที่ต้องการถือหุ้นร่วมกับคุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หรือหากคุณประชัย จะซื้อหุ้นเอง ก็ต้องมีคำถามตามมาอีกว่า เอาเงินมาจากไหน แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้แล้ว เชื่อว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีหลังจากแผนฟื้นฟูกิจการผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ ภาระหนี้ทีพีไอจะลดลงไปมากกว่า 70% ซึ่งถึงตอนนั้นถือว่าฐานะของทีพีไอกลับมาแข็งแกร่ง และสถาบันการเงินหลายแห่งคงจะต้องหันมามองทีพีไอเหมือนเดิม

เรามองว่า หากทำได้ตามแผน ภายใน 3 ปี ทีพีไอ ก็จะลอยลำแล้ว เหลือหนี้สินไม่มาก ซึ่งจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้บริษัทแห่งนี้กลับมาน่าสนใจในสายตาของเลนเดอร์อีกครั้ง แหล่งข่าวกล่าว

ในแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ได้ระบุว่า ในปี 2547 คาดว่าทีพีไอจะมีรายได้รวม 136,618 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้นจำนวน 20,364 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จำนวน 2,738 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4,822 ล้านบาท โดยในปีนี้ บริษัทมีดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 6,277 ล้านบาท

ปี 2548 รายได้ของทีพีไอ ลดลงมาเหลือ 100,323 ล้านบาท กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 15,344 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร อยู่ที่ 2,511 ล้านบาท ดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 3,853 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 24,381 ล้านบาท เนื่องจากบันทึกกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 12,350 ล้านบาท และกำไรจากการขายหุ้นทีพีไอโพลีน 7,111 ล้านบาท

ส่วนปี 2549 รายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 105,831 ล้านบาท กำไรขั้นต้นขยับขึ้นเป็น 20,195 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ทรงตัวที่ 2,630 ล้านบาท ดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 4,200 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 8,411 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดตารางการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในแต่ละปีไว้ โดยในปี 2547 จะไม่มีการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่จะเริ่มชำระตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป โดยในปี 2548 ยอดคืนหนี้เงินต้นของทุก Tranche รวมทั้งสิ้น 10,178 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยชำระรวม 3,853 ล้านบาท

ในปี 2549 ยอดชำระหนี้เงินต้น 11,119 ล้านบาท ยอดชำระดอกเบี้ยจำนวน 4,200 ล้านบาท ขณะที่ปี 2550 ยอดคืนเงินต้น จะอยู่ที่ 12,671 ล้านบาท และมียอดชำระดอกเบี้ย จำนวน 4,150 ล้านบาท และหลังจากปี 2550 ยอดชำระเงินต้น และเงินต้นล่วงหน้าจะลดลงเรื่อย จนถึงปีสุดท้ายคือ 2556 หนี้ก้อนสุดท้ายที่ทีพีไอต้องชำระ คาดว่าจะอยู่ที่ 7,855 ล้านบาท

ผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอคือ กระแสเงินสดที่จะเข้ามาชำระหนี้ในอนาคต จะเป็นไปตามประมาณการหรือไม่ ซึ่ง 3 ปีแรกสำคัญที่สุด ถ้าทีพีไอลดหนี้ได้ 70% บอกได้เลยว่าลอยลำแล้ว แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวระบุว่าจุดอ่อนของแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้ อยู่ที่ความราบรื่นของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ เนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมคือ นายประชัย ยังไม่มีทีท่าว่าจะวางมือในการคัดค้านฟื้นฟูกิจการ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังว่าจะจัดการแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

ด้านพล.ท.บัญชร ชวาลศิลป์ ทีมที่ปรึกษาคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ทีพีไอ เชื่อมั่นว่า แผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่เกิน 50% แน่นอน แม้ว่าธนาคารยูเอส เอ็กซิม จะแสดงความเห็นคัดค้านต่อการฟื้นฟูกิจการทีพีไอก็ตาม แต่ ยูเอส เอ็กซิม มีสัดส่วนหนี้เพียง 2.8% เท่านั้น ในขณะที่เจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่ เช่น บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ(ไอเอฟซี) ที่มีเสียง 17% ให้ความเห็นชอบแล้ว

แผนฟื้นฟูฉบับนี้มีจุดแข็งตรงที่การดูแลเจ้าหนี้อย่างเท่าเทียมกันทั้งหมด และเราทำงานร่วมกับคณะกรรมการเจ้าหนี้ตลอด โดยมีการประชุมร่วมกันกว่า 30 ครั้ง เมื่อมีปัญหาในรายละเอียด ก็ได้รับการแก้ไขร่วมกัน ทำให้เชื่อมั่นว่า แผนจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ พล.ท.บัญชร กล่าว

พล.ท.บัญชร กล่าวว่าในกรณีการคัดค้านของยูเอส เอ็กซิม นั้น มีขึ้นเนื่องจากยูเอส เอ็กซิม ไม่ต้องการให้นายประชัย เข้ามาบริหารงานในทีพีไอ จึงต้องการให้แผนฟื้นฟูกิจการระบุข้อห้ามดังกล่าวลงไปด้วย แต่คณะผู้บริหารแผน เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะผิดกฎหมาย และการที่ทีพีไอเป็นบริษัทมหาชน จะไปจำกัดสิทธิของนักลงทุนนั้นไม่สามารถกระทำการได้

ที่มา www.bangkokbiznews.com

เข้าชม: 1,463

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com