May 18, 2024   4:15:59 PM ICT
คาดสัปดาห์หน้าเงินบาทอยู่ในกรอบ 41.10 - 41.50 บาทต่อดอลลาร์

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสัปดาห์หน้าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 41.10 - 41.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยคงจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยในประเทศ ทั้งตลาดหุ้นไทย และการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนของ ธปท.
       

       บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะสภาพคล่องในตลาดเงินไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยธนาคารพาณิชย์มีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันพุธ ในขณะที่ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกร้อยละ 0.25 ของธนาคารกลางสหรัฐ ในการประชุมวันที่ 21 กันยายน ทำให้ตลาดคาดการณ์ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยในอนาคต ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบร้อยละ 1.45 - 1.50 โดยอัตรากลางทรงตัวแคบ ๆ ระหว่าง ร้อยละ 1.48 - 1.50 ขยับขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 1.45 - 1.47 ในสัปดาห์ก่อน ด้านอัตราผลตอบแทนในตลาดซื้อคืนพันธบัตร ประเภท 1 วัน มีระดับปิดอยู่ในช่วงร้อยละ 1.4375 - 1.46875 ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ประเภท 7 วัน ปิดอยู่ในช่วงร้อยละ 1.4375 - 1.5 ปรับขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.4375 - 1.46875 ในสัปดาห์ก่อน
       
       อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดสัปดาห์ที่ร้อยละ 3.68 ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน ในขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ ร้อยละ 4.03 ในวันพฤหัสบดี ลดลง 9 จุด จากร้อยละ 4.12 เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยและสหรัฐมีความชันลดลง โดยถ้อยแถลงของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบเข้มงวดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ความต้องการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวของไทยยังคงไปได้ดี
       
       ในช่วงต้นและกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ โดยอ่อนค่าลงเล็กน้อยในวันอังคาร เพื่อรับการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมคืนวันอังคาร (ตามเวลาไทย) ประกอบกับมีแรงซื้อขายข้ามสกุลเงินระหว่างบาท/เยน สำหรับในวันพุธ เงินบาทได้รับปัจจัยลบเล็กน้อยจากการซื้อดอลลาร์ของผู้นำเข้า ขณะที่ การตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ อีกร้อยละ 0.25 นั้น ออกมาสอดคล้องกับความคาดหมายของตลาด และนักลงทุนส่วนใหญ่ได้ปรับตัวรับข่าวดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ไม่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากนัก
       
       อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ มีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐ/บาท หนาแน่นขึ้น หลังจากที่ค่าเงินเยนและค่าเงินในภูมิภาคส่วนใหญ่ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะความวิตกกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับ ตลาดหุ้นไทยปิดปรับตัวลดลงแรง ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ได้ส่งผลให้เงินบาทร่วงลงไปแตะระดับอ่อนค่าสุดที่ 41.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันพฤหัสบดี ต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 24 กันยายน เงินบาทฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อย โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 41.377 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 41.308 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า
       
       ในสัปดาห์หน้า (27 ก.ย. - 1 ต.ค.) ธนาคารพาณิชย์จะมีการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงสิ้นเดือน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์น่าจะทรงตัวใกล้เคียงกรอบการเคลื่อนไหวเดิมอย่างต่อเนื่อง หรืออยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 1.45 - 1.50 ส่วนค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 41.10 - 41.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทคงจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย และการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนของ ธปท. ขณะที่ ด้านปัจจัยนอกประเทศนั้น ช่วงขาลงของเงินบาทอาจถูกจำกัดจากข่าวการประชุม G7 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำดังกล่าว ยังคงเดินหน้าผลักดันให้เอเชียและจีนยอมรับค่าเงินที่แข็งขึ้น

ที่มา
www.manager.co.th

 

เข้าชม: 1,243

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com