May 18, 2024   4:16:36 PM ICT
กองทุนไทยทุบต่อไม่ไว้หน้าสมคิดหนี้เน่ากสิกรผสมโรงทำหุ้นลงเหว

กองทุนท้าทายสมคิดเทขายหุ้นไม่ยั้ง 1.6 หมื่นล้านบาท เมิน รมว.คลังฉุน ทิ้งหุ้นช่วงงานใหญ่ ทำเสียหน้าต่างชาติ ผสมข่าวหนี้เสีย KBANK โผล่ น้ำมันกระฉูดรอบใหม่รุมกระหน่ำ ทำดัชนียับเยินรูด 14 จุด ด้านนายกสมาคมบลจ.ยัน ขายตามจังหวะ หลังอุ้มแล้วช่วงหุ้นร่วงหนักเม.ย.-พ.ค. พร้อมส่งข้อมูลซื้อขายช่วงงานยักษ์ให้ตรวจสอบ ตอกกลับทั้งปียังซื้อสุทธิ 2.4 หมื่นล้าน ขณะที่ต่างชาติขายสุทธิถึง 3.8 หมื่นล้านบาท

     นักลงทุนสถาบันขายหุ้นต่อเนื่อง หลังต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อ แม้ว่าก่อนหน้าดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่พอใจที่กองทุนขายหุ้น โดยเฉพาะในช่วงกำลังมีงานโรดโชว์ระดับชาติ ไทยแลนด์ โฟกัส 2004 ซึ่งถือว่าทำไม่ถูกกาลเทศะ เพราะขายหุ้นออกในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น สวนกระแสบรรยากาศลงทุนเชิงบวก

     ด้านหนี้เสียแบงก์โผล่ หลัง KBANK ออกมายอมรับว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3% ภายในปลายปีนี้ส่งผลวานนี้หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลดลง 3.62% ฉุดดัชนีตลาดรูดตามในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ราคาน้ำมันยังพุ่งติดต่อกัน 5 วันรวดจนเกือบใกล้ระดับที่ขึ้นไปสูงสุด โดยวานนี้ขึ้นไปถึง 48.35 เหรียญ/บาร์เรล

     ทั้งนี้กองทุนได้เริ่มขายทะยอยขายหุ้นออกมาตั้งแต่วันที่ 3-22 ก.ย.รวมมูลค่ากว่า 6000 ล้านบาท และวานนี้(23 ก.ย.)ยังขายต่อเนื่องอีก 1678.59 ล้านบาท ทำดัชนีปิดลบ 14.71 จุด ที่ระดับ 648.80 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 25232.53 ล้านบาท ขณะที่ต่างชาติยังซื้อต่ออีก 262.39 ล้านบาท รวมขณะนี้ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิแล้วประมาณ26000 ล้านบาท ด้านนักลงทุนรายย่อยวานนี้ซื้อสุทธิ 1416.20 ล้านบาท

     นายอดิศร เสริมชัยวงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ไทยพาณิชย์ นายกสมาคมบลจ.กล่าวว่า ได้ให้สมาชิกของสมาคมฯ จัดส่งข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วง 2-3 วันกลับมายังสมาคมฯอย่างช้าเช้าวันนี้(24 ก.ย.) เพื่อให้ทราบว่าเกิดอะไรกับการซื้อขายในช่วงที่ผ่านมา

     อย่างไรก็ดียืนยันว่า การขายหุ้นของกองทุนไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร เป็นการขายตามจังหวะ หลังจากที่แต่ละกองทุนเข้าไปซื้อจำนวนมากเมื่อเดือนเม.ย.และพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถึงแม้ว่านักลงทุนสถาบัน จะขายหุ้นออกมาในช่วงนี้ แต่ยอดซื้อสุทธิยังมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทในปีนี้

     นายอดิศร กล่าวต่อว่า หลังจากที่ได้ตัวเลขการลงทุนของสมาชิกครบแล้วจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ โดยเชื่อว่า บลจ.ไม่ได้เป็นผู้ทำให้ดัชนีตก

     ทั้งนี้มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น จากพื้นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และการที่บลจ.จะทำการออกกองทุนใหม่ เพื่อเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ ซึ่งการเทขายออกมาเพราะต้องการทำกำไรจากช่วงที่ดัชนีขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 600 จุด มาที่660 จุด

     โดยตามข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3.8 หมื่นล้านบาท

     แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ ระบุว่า สาเหตุหลักที่ทำให้หุ้นปรับลงแรง เกิดจากมีกระแสข่าวในห้องค้าว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศตัวเลขเอ็นพีแอลของแบงก์พาณิชย์ทั้งระบบ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เพราะเกณฑ์สำรองหนี้เข้มข้น ซึ่งจะเริ่มทะยอยออกในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งทางแบงก์กสิกรไทยถือเป็นรายแรก เพราะผู้บริหารได้ออกมายอมรับแล้ว

     โดยจากสาเหตุนี้ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นแบงก์ เพราะมองว่าผลประกอบการแบงก์ไตรมาสที่ 3 จะออกมาไม่สวยเหมือนเดิม และกลัวเกิดประวัติซ้ำรอยกรณีของกรุงไทย

     ที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นในระดับสูง

     นายอดิศวร์ หลายชูไทย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสื่อสารและส่งเสริมงานบริหารองค์กร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)หรือ KBANK เปิดเผยว่า ปลายปีนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารกสิกรไทยจะเพิ่มขึ้น 2-3% มาอยู่ที่ระดับ 12-13% หากประเมินตามเกณฑ์การจัดชั้นหนี้เชิงคุณภาพของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

     ทั้งนี้ การประเมินเอ็นพีแอลของธนาคารมีขึ้นหลังจากแบงก์ชาติได้เข้ามาตรวจสอบหนี้เสียประจำปีของธนาคาร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ส่งผลสรุปให้กับธนาคาร แต่การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียไม่ได้กระทบผลการดำเนินงานของแบงก์ เนื่องจาก ได้ตั้งสำรองไว้เพียงพอกับการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียดังกล่าวแล้ว

     เท่าที่แบงก์ประเมินตัวเอง ในกรณที่แย่ที่สุด เอ็นพีแอลของแบงก์มีโอกาสปรับขึ้นอีก 2-3%ในปีนี้ตามเกณฑ์การจัดชั้นเชิงคุณภาพของแบงก์ชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่แบงก์จะได้ทำตามมาตรฐานสากล แต่ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อกำไรของแบงก์แน่นอน เพราะเรามีสำรองส่วนเกินเพียงพอนายอดิศวร์กล่าว

     ก่อนหน้านี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารไม่แน่ใจว่ามาตรฐานในการจัดชั้นหนี้ของธนาคารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะเป็นมาตรฐานเดียวกับที่แบงก์ชาติต้องการหรือไม่ แต่หากหนี้เสียเพิ่มขึ้นก็จะไม่กระทบต่อฐานะของธนาคาร เนื่องจาก ธนาคารมีเงินสำรองส่วนเกินสูงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

     นายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ ประธานผู้บริหารด้านปฏิบัติการ ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)หรือ TMB เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดชั้นหนี้เชิงคุณภาพตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 45 ซึ่งขณะนี้ก็ได้พยายามลดหนี้เสียของธนาคารได้ต่ำกว่า 5% ซึ่งธนาคารคาดว่าจะสามารถทำได้อย่างแน่นอน

     ทั้งนี้ อยากให้นักลงทุนเข้าใจ และพิจารณาหนี้เสียแยกเป็นรายธนาคารว่าเป็นอย่างไรซึ่งที่ผ่านมาแต่ละสถาบันก็พยายามดูแลเรื่องเอ็นพีแอลเป็นพิเศษ และเตรียมมาตรการไว้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว

     นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)หรือ BAY กล่าวว่า คาดว่าปลายปีนี้เอ็นพีแอลของธนาคารจะลดลงตามแผนที่วางไว้ที่สัดส่วน 11%ของสินเชื่อรวม ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารก็ได้จัดชั้นหนี้ตามกติกาของแบงก์ชาติทุกอย่าง ในส่วนของธนาคารที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นอาจจะเป็นปัญหาเฉพาะด้านของแต่ละแห่ง

     โดยภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้เอ็นพีแอลสถาบันการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพแบงก์ในปัจจุบันนักลงทุนไม่น่าจะกังวล เพราะตัวเลขได้ปรับตัวลดลงมากจากเดิมซึ่งอยู่ที่ระดับ 30-40% มาอยู่ระดับ 10%

     สำหรับตัวเลขหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ ณ 31 ส.ค.47 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)อยู่ที่ 1.85 แสนล้านบาท คิดเป็น 20.49%ของสินเชื่อรวม ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) 3.34 หมื่นล้านบาท หรือ 11.10% ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)8.52 หมื่นล้านบาท หรือ 15.03% ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)1.25 แสนล้านบาท หรือ 12.29% ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) 5.89 หมื่นล้านบาท หรือ 10.6% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) 5.34 หมื่นล้านบาท

ที่มา www.kaohoon.com

เข้าชม: 1,241

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com