May 18, 2024   5:20:28 PM ICT
ปตท.!!

เร่งแผนธุรกิจโอเลฟินส์ควบรวม?ทีโอซี-เอ็นพีซี? รุกตั้งบริษัทนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี มูลค่าโครงการร่วม 700 ล้านดอลลาร์พร้อมดึงพันธมิตรร่วมถือหุ้น

โบรกฯแนะบจ.ควบรวมดึงทุนนอกลงทุน

ปตท.วางเป้าหมายในอนาคตมีธุรกิจ 3 กลุ่ม เร่งสรุปแผนการควบรวมกิจการในกลุ่มธุรกิจโอเลฟินส์ นำร่องเอ็นพีซี-ทีโอซีประเมินปีหน้าทั้งกลุ่มมีมาร์เก็ตแคปพุ่ง 1.1 ล้านล้านบาท พร้อมรุกตั้งบริษัทนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี มูลค่าโครงการร่วม 700 ล้านดอลลาร์ เตรียมดึงพันธมิตรร่วมด้วย ตั้งเงื่อนไขซัปพลายเออร์เปิดโอกาสให้ ปตท.สผ.ร่วมถือหุ้นแหล่งก๊าซธรรมชาติด้วย

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ในอนาคตธุรกิจในกลุ่ม ปตท.จะเหลือ 3 กลุ่มหลัก คือกลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มโรงกลั่น และกลุ่มธุรกิจผลิตและสำรวจ โดยขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (Marketcapitalzation) ของ ปตท.และบริษัทในกลุ่มอีก 5 แห่งจะเพิ่มเป็น 1.1 ล้านล้านบาทในปีหน้า จากปีนี้ทั้งกลุ่มมีมาร์เก็ตแคป ประมาณ 9 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องดำเนินการเป็นสิ่งแรกในปี 2548 ก็คือ จะต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการควบรวมกิจการบริษัทในกลุ่มธุรกิจโอเลฟินส์ คือการควบรวมระหว่างบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ (เอ็นพีซี) และบริษัทไทยโอเลฟินส์(ทีโอซี) ส่วนบริษัทอะโรเมติกส์ (เอทีซี) นั้น ยังไม่ต้องเร่งดำเนินการเพราะเป็นผลิตภัณฑ์คนละสาย ซึ่งจะเป็นขั้นตอนต่อไป

นายประเสริฐยังได้กล่าวว่า การที่นำบริษัทในกลุ่ม ปตท.มาควบรวมกิจการ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขนาดมาร์เก็ตแคปของบริษัทให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งผลที่ได้ตามมาก็คือ การที่มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ลดลง โดยสามารถสั่งวัตถุดิบในราคาที่ถูกลง และสามารถใช้ทีมงานร่วมกันได้

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.ยังได้กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจก๊าซธรรมชาติว่า ในปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศมีอัตราการเติบโตปีละ 6% และในปี 2553 ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเต็มกำลังการผลิตที่มีอยู่ประมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้นบริษัทจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ เพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจำเป็นต้องมีการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 และอีกแนวทางหนึ่งก็คือ การนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ซึ่ง ปตท.จะต้องเร่งหาข้อสรุปที่ชัดเจน

สำหรับการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีนั้น นายประเสริฐกล่าว ขณะนี้คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่แห่งหนึ่ง เพื่อนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยในช่วงแรก ปตท.จะเป็นผู้ถือหุ้นเต็ม 100% แต่หลังจากนั้นจะมีการติดต่อพันธมิตรในกลุ่มผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติและผลิตไฟฟ้า มาร่วมถือหุ้น เช่น บริษัทผลิตไฟฟ้า (เอ็กโก้) บริษัทโรงไฟฟ้าราชบุรี โดยบริษัทดังกล่าวจะมีการก่อสร้างคลังเก็บก๊าซที่มีขนาดกำลังการผลิต 3-5 ล้านตันต่อปี หรือหากคิดเป็นลูกบาศก์ฟุตจะมีกำลังการผลิต 400-600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 500-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 20,000-28,000 ล้านบาท

?กระบวนการจัดตั้งบริษัทนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจะต้องได้ข้อสรุปในปีหน้า และแม้จะมีการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี แต่กระบวนการก่อสร้างท่อสายที่ 4 ก็ต้องดำเนินการด้วย แต่การก่อสร้างอาจจะล่าช้าออกไป1-2 ปี นับจากปี 2553 โดยเงินลงทุนในโครงการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีนั้น จะเป็นการกู้ส่วนหนึ่งและการดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน? นายประเสริฐกล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้กำหนดเงื่อนไขในการที่จะนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ หากนำเข้าจากซัปพลายเออร์รายใดก็ต้องเปิดโอกาสให้ ปตท.สผ. เข้าร่วมถือหุ้นในแหล่งก๊าซดังกล่าวด้วย โดยขณะนี้เราได้มองกลุ่มซัปพลายเออร์ในประเทศอิหร่าน อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า มั่นใจว่าในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า การใช้น้ำมันในประเทศจะมีอัตราเติบโตปีละประมาณ 6 % เทียบกับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่มีอัตราการใช้น้ำมันเติบโตประมาณ 9% ต่อปี โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการใช้น้ำมันจำนวน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีการใช้น้ำมันประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งได้มาจากการผลิตในประเทศ ส่วนที่เหลือได้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า และตะวันออกกลาง เป็นต้น อย่างไรก็ดีปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาน้ำมันดิบจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการแก้ไข

นอกจากนั้นยังคาดว่า ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2015 ความต้องการก๊าซธรรมชาติจะมีอัตราเติบโตประมาณปีละ 20% เทียบกับในปีที่ผ่านมาที่มีอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวน 2 ล้านคิวบิทซิล ซึ่งจะได้มาจากในอ่าวไทยประมาณ 75% ส่วนที่เหลือจะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า เป็นต้น

?ขณะนี้ ปตท.มีแผนสร้างท่อส่งก๊าซเส้นที่ 3 ซึ่งจะสามารถส่งก๊าซธรรมชาติได้ประมาณ 5 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คาดว่าจะเริ่มทำงานได้ในปี 2010 นอกจากนั้นยังมีแผนสร้างโรงแยกก๊าซแห่งที่ 5 คาดว่าปีหน้าจะสามารถเดินเครื่องผลิตได้ ปัจจุบัน ปตท.เป็นเจ้าของโรงแยกก๊าซธรรมชาติทั้งหมด 4 แห่ง อย่างไรก็ดีเชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีแหล่งพลังงานแห่งใหม่ คือ ก๊าซ LNG ? นายประเสริฐ กล่าว

ก้องเกียรติแนะบจ.ควบรวมดึงกองทุนนอกลงทุน

ขณะที่ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ภายหลังได้พบปะนักลงทุนต่างประเทศในงานไทยแลนด์ โฟกัส 2004 นั้น ข้อเสนอแนะที่นักลงทุนต่างประเทศแนะนำให้ก็คือ ต้องการที่จะให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น เพราะบริษัทจดทะเบียนปัจจุบันมีขนาดเล็กเกินไป

ดังนั้นบางบริษัทถ้าต้องการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน หรือบริษัทขนาดเล็กที่เตรียมจะเข้าจดทะเบียนในตลาด ก็ควรจะมีการควบรวมกิจการกัน เพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และถ้าจะให้ดีเมื่อควบรวมกิจการกันแล้ว ถ้าหากมีธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ก็ควรตัดขายเพื่อสร้างรายได้เข้ามา รวมทั้งเมื่อควบรวมกิจการแล้วก็ควรมีการปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีการพัฒนาต่อไป ซึ่งบริษัทไทยส่วนใหญ่จะเป็นแค่เพียงการควบรวมกันเท่านั้น

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต่างชาติให้ความสนใจก็คือ กลุ่มพลังงาน กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ปัจจุบันบริษัทในประเทศไทยก็ยังมีขนาดเล็กเกินไป เช่น บริษัทปตท.เมื่อพิจารณาเทียบกับขนาดของบริษัทในประเทศก็ดูเหมือนเป็นขนาดใหญ่ แต่ถ้าเทียบกับบริษัทในประเทศมาเลเซียแล้ว บริษัท ปตท.จะมีขนาดเล็กทันที

นอกจากนี้ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการกำกับดูแลที่ดีหรือบรรษัทภิบาล ซึ่งได้มีการชี้แจงว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาและได้ระดับคะแนนบรรษัทภิบาลที่ดีขึ้นแล้วในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา แต่เรื่องที่ยังได้คะแนนน้อยที่สุดก็คือ เรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ญ

รวมทั้งมีบทวิจัยประเมินว่า บริษัทในตลาดหุ้นไทยที่มีบรรษัทภิบาลในระดับที่ดี จะมีค่าพีอีเรโชสูงกว่าพี/อีเรโช ปกติประมาณ 20-25% ขณะเดียวกันมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทก็จะสูงกว่าเกณฑ์ปกติด้วย

เข้าชม: 1,195

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com