April 28, 2024   4:32:18 PM ICT
เฉลี่ยต้นทุนอย่างเหนือชั้น

สรวิศ อิ่มบำรุง

การลงทุนในตราสารที่มีความ "ผันผวน" ของราคาสูง เช่น หุ้น ,หน่วยลงทุนของกองทุนหุ้น(Equity Fund) ,หน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(Long Term Equity Fund : LTF) ,หน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ลงทุนในหุ้น(Retirement Mutual Fund : RMF) รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดัชนีตลาดหุ้น(Index Fund)

แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าซื้อตอนไหนดี จะใช้เงินลงทุนที่เตรียมไว้ทั้งก้อนเข้าไปซื้อ "ครั้งเดียว" หมด ก็กลัวว่าจะเข้าซื้อผิดจังหวะ ซึ่งอาจจะเสี่ยงเกินไป

คุณเองก็สามารถลดความเสี่ยงนี้ได้ด้วยการเข้า "ทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ" ในการเข้าซื้อแต่ละครั้งอาจจะซื้อถูกจังหวะบ้าง ผิดจังหวะบ้าง แต่ในที่สุดต้นทุนในการลงทุนก็จะเฉลี่ยกันไป ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนมี "ต้นทุน" ในการลงทุนโดยเฉลี่ยที่ต่ำกว่าการเข้าลงทุนเพียงครั้งเดียว

Fundamentals สัปดาห์นี้ มีเรื่องราวของเทคนิคการลงทุน เพื่อช่วยให้คุณสามารถเฉลี่ยต้นทุนอย่างเหนือชั้นมาฝากกัน

................................

แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องราวของการบริหารต้นทุนอย่างเหนือชั้น "วรวรรณ ธาราภูมิ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง บอกว่า ผู้ลงทุนจะต้องมีการวางแผนทางการเงิน มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตซึ่งอาจจะเป็นเป้าหมายเพื่อที่ตัวเองจะได้เกษียณเร็ว เกษียณรวยแล้วจึงมองหาเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายในชีวิตนั้นได้

จากนั้นจึงค่อยมาถึงการนำเทคนิคในการเฉลี่ยต้นทุนเหล่านี้มาใช้ เพื่อตอบโจทย์ในการลงทุนของตัวเอง สมมติคุณอยากมีเงิน 20 ล้านบาท ตอนที่เกษียณอายุ เพื่อคำนวณหาเงินลงทุนต่องวดตลอดระยะเวลาการลงทุน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ได้วางเอาไว้

การออมที่สม่ำเสมอผ่านระยะเวลาผ่านผลตอบแทน จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายในการลงทุนระยะยาวได้ แต่หลายคนบอกว่าจะไปหาผลตอบแทน 10% จากไหน ฝากแบงก์ได้แค่ 3% แน่นอนว่าการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยง ดังนั้นนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นก็ควรจะมีความเชื่อหรือมั่นใจ ว่าในระยะยาวราคาหุ้นในตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่มีความเชื่อเช่นนี้ก็ควรจะเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนตราสารตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนประเภทอื่นๆ แทน

"แต่โดยเฉลี่ยในระยะยาวต่อปี ถ้าคุณสามารถลงทุนในหุ้นได้ 10 ปีขึ้นไป เฉลี่ยตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10-12% ต่อปี ถ้าคุณมองเห็นสิ่งนี้ ก็น่าจะมีกำลังใจที่จะเก็บออมหรือลงทุนผ่านตลาดหุ้น เพื่อเป้าหมายชีวิตของตัวเอง ตรงนั้นจึงจะนำมาสู่เรื่องของการบริหารต้นทุนเพื่อให้การลงทุนในหุ้นระยะยาวของคุณมีต้นทุนที่ต่ำเพื่อผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีกว่านั่นเอง"

@รู้จักลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน

วรวรรณบอกว่า หนึ่งในวิธีการลงทุนในหุ้นเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางก็คือ วิธีของ "Dollar Cost Averaging" เป็นวิธีการลงทุนเพื่อเฉลี่ยต้นทุนโดยนักลงทุนจะต้องมีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเป็นช่วงๆ ต้องมีวินัยในการลงทุน และต้องตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไป

ตัวอย่างเช่น นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุนมาหนึ่งก้อน เพื่อลงทุนในกองทุนหุ้นแล้ววางแผนจะถือไว้ยาวประมาณ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี โดยจะทยอยซื้อลงทุนเดือนละครั้ง ทุกๆ เดือน ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันในแต่ละครั้ง เช่น เดือนละ 2,000 บาท

ด้วยวิธีการของ Dollar Cost Average นักลงทุนจะต้องซื้ออย่างสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินลงทุนที่เท่ากันทุกๆ เดือน ไม่ว่าภาวะของตลาดหุ้นในตอนนั้นจะเป็นอย่างไร จะทำให้ตอนที่ราคาหุ้นถูก เราจะได้หน่วยลงทุนจำนวนมากขึ้น และในตอนที่ราคาหุ้นสูง เราจะได้จำนวนหน่วยลงทุนน้อยลง เมื่อเฉลี่ยๆ แล้วต้นทุนก็จะอยู่ในระดับกลางๆ แต่จะต่ำกว่าราคาตลาดโดยรวม

"ห้ามซื้อเกินเมื่อเกิดความรู้สึกฮึกเหิม และห้ามกลัวเมื่อเห็นตลาดหุ้นตกต่ำย่ำแย่ การมีวินัยในการลงทุนเช่นนี้จะช่วยตัดความเสี่ยงที่เกิดจากความอ่อนไหวของอารมณ์นักลงทุนที่แปรปรวนไปตามกระแสในตลาด และหากในระยะยาวตามแผนการลงทุนที่กำหนดไว้ราคาหุ้นเป็นแนวโน้มขาขึ้น ผู้ลงทุนก็กำไรแน่นอน แต่หากตลาดลงก็อาจจะขาดทุนได้เช่นเดียวกัน ถ้าต้นทุนเฉลี่ยของเราที่ทยอยสะสมมาสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น แต่จากสถิติระยะยาว การทยอยซื้ออย่างสม่ำเสมอแบบ Dollar Cost Averaging นี้ นักลงทุนจะได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งเป็นผลดีต่อนักลงทุนในการลงทุนระยะยาวอย่างแน่นอน"

@ตัวอย่างการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging

นาย A ลงทุนผ่านกองทุนหุ้นด้วยเทคนิค Dollar Cost Averaging ด้วยเงินลงทุนที่เท่ากันทุกๆ งวด งวดละ 10,000 บาท ในงวดแรกที่ลงทุนหน่วยลงทุนอยู่ที่ 10 บาท นาย A จะซื้อหน่วยลงทุนได้ทั้งหมด 1,000 หน่วย ทำให้นาย A มีหน่วยลงทุนในพอร์ตเท่ากับ 1,000 หน่วย(=10,000/1,000) คิดเป็นมูลค่าพอร์ตลงทุนเท่ากับ 10,000 บาท

ในงวดที่ 2 ราคาหน่วยลงทุนลดลงมาเหลือ 8 บาท นาย A ใช้เงินลงทุนเท่าเดิมคือ 10,000 บาท แต่ราคาหน่วยลงทุนถูกลง ทำให้นาย A ซื้อหน่วยลงทุนได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,250 หน่วย(=10,000/8) ทำให้หน่วยลงทุนในพอร์ตของนาย A เพิ่มขึ้นเป็น 2,250 หน่วย(=1,000+1,250) คิดเป็นมูลค่าพอร์ตลงทุนเท่ากับ 18,000 บาท(=2,250*8)

งวดที่ 3 ราคาหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 12.50 บาท นาย A ใช้เงินลงทุนเท่าเดิม คือ 10,000 บาท แต่ราคาหน่วยลงทุนแพงขึ้น ทำให้นาย A ซื้อหน่วยลงทุนได้เป็นจำนวนที่น้อยลงคือ 800 หน่วย(=10,000/12.5) ทำให้หน่วยลงทุนในพอร์ตของนาย A เพิ่มขึ้นเป็น 3,050 หน่วย(=2,250+800) คิดเป็นมูลค่าพอร์ตลงทุนเท่ากับ 38,125 บาท(=3,050*12.5)

"ด้วยวิธี Dollar Cost Averaging นาย A ใช้เงินลงทุนรวม 30,000 บาท ได้หน่วยลงทุนมา 3,050 หน่วย คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 9.84 บาท จะเห็นว่าการลงทุนด้วยวิธี Dollar Cost Averaging จะเป็นการสะสมการลงทุนต่อเนื่องเป็นงวดๆ ไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง จำนวนหุ้นหรือจำนวนหน่วยลงทุนในพอร์ตจะเพิ่มขึ้นทุกๆ งวด โดยผู้ลงทุนจะรับรู้กำไรจากการลงทุนวิธีนี้จะต้องเลือกจังหวะเวลาในการขายออกเพื่อทำกำไรเมื่อเราพอใจในกำไรที่ทำได้"

โดย วรวรรณ บอกว่า วิธีการของ Dollar Cost Averaging เป็นการใช้เงินจำนวนที่เท่ากันเข้าลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นวิธีการที่อยากจะแนะนำให้กับบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีความชำนาญใช้ประโยชน์จากวิธีการนี้ โดยอาศัยความสม่ำเสมอในการลงทุนเป็นหัวใจในการเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลงเป็นสำคัญ ซึ่งการลงทุนอย่างสม่ำเสมอยังช่วยสร้าง "วินัยในการลงทุน" ที่ดีให้กับผู้ลงทุนอีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น Dollar Cost Avearaging จึงเหมาะสมกับคนที่เริ่มรู้จักออมใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ลงทุนสามารถวางแผนชีวิตล่วงหน้าได้ดีพอสมควร แล้วไม่ยุ่งยาก ไม่วุ่นวายว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือตลาดหุ้นจะตก เราไม่สนใจ เพราะเป็นวิธีการออมและลงทุนทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ

@เฉลี่ยต้นทุนให้เหนือชั้นกว่า

อย่างไรก็ตาม วรวรรณบอกว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยจำนวนเงินที่เท่าๆ กันทุกงวด เพื่อเฉลี่ยต้นทุนตามวิธี Dollar Cost Averaging ก็สามารถที่จะถัวเฉลี่ยต้นทุนได้เช่นเดียวกัน ด้วยวิธีการของ Value Averaging และถ้าได้ทดลองดูแล้วจะเห็นว่าวิธีการของ Value Averaging จะสามารถทำให้ผู้ลงทุนได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำกว่าวิธีแรก คือ Dollar Cost Averaging อีกด้วย

โดยหลักการของ Value Averaging นั้น ยังคงอาศัยแนวคิดของการลงทุนที่สม่ำเสมอเช่นเดียวกัน แต่แทนที่จะใช้เงินลงทุนที่เท่ากันทุกงวดก็จะมีการใส่มุมมองของผู้ลงทุนที่มีต่อภาวะตลาดในขณะนั้นๆ เข้าไปด้วย เหมือนเป็นผู้จัดการกองทุนเล็กๆ ให้กับพอร์ตการลงทุนของตัวเอง เป็นการลงทุนอย่างสม่ำเสมอโดยมีการบริหารจัดการเพื่อปรับเพิ่มหรือปรับลดน้ำหนักการลงทุนควบคู่กันไปด้วย

"แนวคิดของการลงทุนแบบ Value Averaging คือ มองว่าถ้าตลาดหุ้นตก ราคาหุ้นมีราคาถูกลง แทนที่เราจะใช้เงินจำนวนเท่าเดิมทุกๆ งวดในการซื้อหุ้น เราก็จะเพิ่มน้ำหนักเงินลงทุนเข้าไปเพื่อให้ได้จำนวนหุ้นหรือจำนวนหน่วยลงทุนในตอนที่ราคาหุ้นต่ำๆ ให้มากขึ้น และหากราคาหุ้นหรือราคาหน่วยลงทุนเพิ่มสูงขึ้นเราก็ไม่ได้ซื้อหุ้นแพงมาเฉลี่ยต้นทุนมากนัก ในบางกรณีที่ตลาดหุ้นขึ้นแรงมากๆ แสดงว่าความเสี่ยงเริ่มเพิ่มสูงขึ้น เราก็อาจไม่ต้องเพิ่มเงินลงทุน หรือขายหุ้นบางส่วนออกมาเพื่อนำเงินไปลงทุนในตลาดอื่นหรือตราสารอื่นที่ความเสี่ยงต่ำกว่าหรือมีราคาถูกกว่าก็ได้"

@ตัวอย่างการลงทุนแบบ Value Averaging

วรวรรณ บอกว่า วิธีการลงทุนแบบ Value Averaging นั้นไม่ยาก เพียงนักลงทุนต้องกำหนดเป้าหมายการลงทุนว่า มูลค่าพอร์ตการลงทุนจะต้องเพิ่มเป็นมูลค่าเท่าๆ กันทุกงวดการลงทุน เช่น งวดแรกตั้งเป้าหมายพอร์ตลงทุนไว้ 10,000 บาท งวดถัดไปต้องลงทุนให้มูลค่าพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 บาท งวดที่สามต้องเพิ่มเป็น 30,000 บาท มูลค่าพอร์ตลงทุนจะต้องเพิ่มเป็นจำนวนเท่าๆ กันทุกงวดดังนี้ แต่ที่เราใช้เงินลงทุนแต่ละงวดไม่เท่ากันก็เพราะว่าราคาหุ้นหรือราคาหน่วยลงทุนมีขึ้นมีลงนั่นเอง

สมมตินาย B ใช้เงินลงทุนเริ่มแรก 10,000 บาท ราคาหน่วยลงทุนอยู่ที่ 10 บาท นาย B ก็จะได้หน่วยลงทุนมาทั้งหมด 1,000 หน่วยลงทุน(=10,000/10) คิดเป็นมูลค่าพอร์ตลงทุน 10,000 บาท ทั้งนี้ด้วยวิธีการของ Value Averaging ได้ตั้งเป้าหมายว่าเราจะลงทุนด้วยจำนวนเงินในแต่ละเดือนที่ทำให้มูลค่าพอร์ตของเราทวีขึ้นเดือนละ 10,000 บาท

พอถึงกำหนดต้องลงทุนงวดที่ 2 ราคาหน่วยลงทุนลดลงมาเหลือ 8 บาท มูลค่าพอร์ตลงทุนของเราก็ลดลงมาเหลือ 8,000 บาท นาย B จึงต้องลงทุนในงวดที่ 2 อีก 12,000 บาท เพื่อให้มูลค่ารวมของพอร์ตลงทุนของนาย B เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 บาท ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ จึงทำให้นาย B ได้หน่วยลงทุนเพิ่มมาที่ต้นทุน 8 บาท อีก 1,500 หน่วยลงทุน(=12,000/8)

พอถึงงวดที่ 3 มูลค่าพอร์ตลงทุนที่ตั้งเป้าไว้ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 บาท แต่ปรากฏว่าราคาหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 12.5 บาท ทำให้มูลค่าพอร์ตลงทุนของนาย B เพิ่มขึ้นเป็น 31,250(=2,500*12.5) ดังนั้นในงวดที่ 3 นี้นอกจากนาย B จะไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มแล้ว ยังจะต้องขายหน่วยลงทุนออกไป 1,250 บาท เพื่อให้มูลค่าพอร์ตตามที่ตั้งเป้าหมายไว้เป็น 30,000 บาทนั่นเอง

"ถ้างวดใดมูลค่าพอร์ตเพิ่มมากขึ้นจนเราต้องขายหุ้นหรือหน่วยลงทุนออกไป แสดงว่าตลาดขึ้นมาแรง ความเสี่ยงสูง การไม่ลงทุนในหุ้นเพิ่มและขายบางส่วนออกมานั้น ทำให้ผู้ลงทุนสามารถจัดสรรเงินลงทุนไปในตลาดอื่นๆ หรือตราสารประเภทอื่นๆ ได้ จากตัวอย่างด้วยวิธี Value Averaging นาย B จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นเพียง 20,750 บาท ได้หน่วยลงทุนมา 2,400 หน่วย ที่ต้นทุนเฉลี่ย 8.65 บาท ซึ่งถูกกว่าวิธีแรก คือ วิธี Dollar Cost Averaging"

วรวรรณ บอกว่า สำหรับผู้ที่ใช้วิธีการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging มาจนชำนาญหรือทำมาอย่างต่อเนื่องระยะเวลาหนึ่ง จะสามารถปรับเข้ามาสู่วิธีการแบบ Value Averaging ได้โดยอัตโนมัติ โดยอาศัยรูปแบบและหลักการในความสม่ำเสมอของการลงทุนเหมือนเดิม ซึ่งผู้ลงทุนอาจจะปรับให้มี "ขั้นต่ำ" ของเม็ดเงินลงทุนที่จะใส่เข้าไปทุกงวดๆ เพราะเวลานำไปประยุกต์ใช้กับการลงทุนจริงนั้น เราไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินลงทุนที่เท่ากันทุกๆ งวด อย่างน้อยคุณมีขั้นต่ำ แล้วเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนให้กับตัวเอง

เมื่อปรับมาเป็น Value Averaging เวลาหุ้นต่ำลง เราก็ควรจะเพิ่มเงินไปลงทุนในหุ้นมากขึ้น หรือว่าถ้าหุ้นราคาสูงไปแล้ว เงินที่จะไปลงทุนในหุ้นก็ควรจะปรับลดลงมาหน่อยเพื่อลดความเสี่ยง คล้ายกับ "Re-Balancing" บวกกับ "Dollar Cost Averaging" ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งระดับของการจัด Asset Allocation รวมถึงการจัดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นได้ทั้งคู่ สมมติผู้ลงทุนจัดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ไว้ 50-50 แต่เมื่อราคาหุ้นตกต่ำแล้วเงินลงทุนตรงนั้นคุณตั้งใจที่จะลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว ก็อาจจะปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 70% จากเดิม 50% ก็สามารถที่จะทำได้ ที่เหลือก็ไปลงในตราสารหนี้

"ถ้ามองเฉพาะด้าน Value Averaging จริงๆ ตามทฤษฎี เป็นการใช้เงินที่มากขึ้นเพื่อที่จะไปลงทุนในภาวะที่ตลาดมันเอื้ออำนวยให้ของมันราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าในอนาคต แต่ถ้าของนั้นราคาแพงแล้วเงินที่จะไปลงทุน ก็อย่าไปลงมาก แค่นั้นเอง โดย Value Averaging จะมีทั้งการซื้อเพิ่มและขายออกในบางงวด จำนวนหุ้นหรือจำนวนหน่วยลงทุนในพอร์ตจึงมีเพิ่มมีลดตามภาวะตลาด มีการรับรู้กำไรโดยอัตโนมัติ แต่ในระยะยาวมูลค่าพอร์ตก็จะเพิ่มขึ้นเท่าๆ กันทุกงวดตามเป้าหมายที่ตั้งไว้"

@เรียนรู้ข้อจำกัด

วรวรรณบอกว่า เนื่องจากการลงทุนด้วยวิธี Value Averaging จะมีการใส่มุมมองของผู้ลงทุนที่มีต่อภาวะตลาดลงไปเอาไว้ด้วย เพื่อใช้ในการปรับเพิ่มหรือปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นตามภาวะตลาดหุ้นในขณะนั้นๆ ซึ่งจังหวะที่เรามองตลาดนั้น คือ ข้อจำกัดอย่างหนึ่งเพราะไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ลงทุนมองถูกต้องมากน้อยแค่ไหน สมมติตอนที่เราลงทุนเรามองว่าตลาดหุ้นจะปรับขึ้นต่อ

แต่จริงๆ ตลาดหุ้นปรับตัวลง หรือเรามองว่าตลาดหุ้นจะปรับลง แต่ตลาดหุ้นกลับปรับตัวขึ้นต่อ ซึ่งในบางครั้งเมื่อผู้ลงทุนมองย้อนหลังกลับไปอาจจะรู้สึกว่าทำไมตอนนั้นจึงตัดสินใจลงทุนอย่างนี้ จึงอยากจะบอกว่าคุณไปมองย้อนหลังไม่ได้ เพราะจังหวะที่คุณตัดสินใจลงทุนนั้น คุณมีข้อมูลอยู่แค่นี้ คุณไม่รู้ว่าตลาดจะขึ้นหรือลงและในความจริงก็ไม่มีใครรู้ด้วย ดังนั้น Value Averaging จึงมีความเสี่ยงอยู่นิดหน่อยในเรื่องของมุมมองของผู้ลงทุนที่มีต่อภาวะตลาดหุ้นในขณะนั้นๆ

"แต่ถ้ามองดูแล้วขอให้มีการเก็บเงินทุกเดือน โดยภาพรวมต้นทุนของเราก็จะออกมาดี ในขณะที่ Value Averaging มีมุมมองของผู้ลงทุน แต่ Dollar Cost Averaging จะซื้อไปอย่างนั้นทุกเดือนๆ เท่ากัน หรือบางคนที่ขี้เกียจ ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง คุณก็อาจจะเลือก Dollar Cost Averaging เพื่อความปลอดภัยเอาไว้ก่อนก็ได้"

ทั้ง Dollar Cost Averaging และ Value Averaging คงจะช่วยให้คุณสามารถบริหารต้นทุนสำหรับการลงทุนในหุ้นระยะยาวได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

เข้าชม: 1,724

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com