April 28, 2024   2:24:16 AM ICT
รื้อปรับขยับพอร์ต รับไตรมาส 2

รื้อปรับขยับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์การเงิน ถือเป็นหนึ่งในกฎเหล็กข้อหนึ่ง ที่นักลงทุนพึงปฏิบัติตาม

เพราะเมื่อไรที่คุณปล่อยให้พอร์ตของคุณแน่นิ่ง ไม่สนใจไยดี ไม่มีการขยับให้อัพเดท อาจไม่ถึงขั้นเกิดปัญหากับพอร์ตของคุณ แต่ดอกผลที่จะได้รับจากการลงทุนอาจไม่งอกงามอย่างที่ใจหวัง

บางคนอาจจะบอกว่า สถานการณ์อึมครึมแบบนี้ ไม่เห็นต้องขยับให้เสียเวลา ปล่อยให้มันอยู่นิ่งๆ หรือไม่ก็ถอนเงินออกมาให้แช่ไว้ในแบงก์ดีกว่า

แต่เชื่อเถอะว่า ทุกสถานการณ์มีโอกาสที่ดีรออยู่ ไม่ใช่พอบรรยากาศการเมืองไม่เข้าที่เข้าทาง หรือตลาดหุ้นทั่วโลกไม่เป็นใจ คุณก็เลยถอนตัวออกจากทุกสนามการลงทุน

เพื่อให้ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ทำให้เส้นทางลงทุนของคุณเป็นไปตามสถานการณ์ Fundamentals ฉบับนี้เก็บความเห็นของฟันด์ แมเนเจอร์ มานำเสนอ

*********************

3 เดือนที่ผ่านมา อาจจะเรียกได้ว่าความเคลื่อนไหวในด้านการลงทุนนิ่งมาก เนื่องจากทั้งภาวะภายใน ภายนอกประเทศที่ยังไม่มีอะไรเข้าที่เข้าทางเรียบร้อย ผู้ลงทุนไทยสัมผัสกันได้กับบรรยากาศนี้ และคงรู้สึกไปในทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่

ผลของบรรยากาศนิ่งงันที่ต่อเนื่องมาหลายเดือน ผู้ลงทุนไทยบางส่วนจึงลงทุนแต่ช่องทางที่มีความเสี่ยงต่ำ แบบรักษาตัว รอดูทิศทาง หากมองในธุรกิจกองทุนรวม แชมป์กองทุนรวมที่เติบโตสูงที่สุด ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนอย่างมากในปีที่แล้ว ข้ามมาจนถึงเดือนนี้จึงยังคงเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งหลาย ตลอดทั้งปีที่แล้วกองทุนประเภทนี้มีการจัดตั้ง และจำหน่ายถึงประมาณ 448,000 ล้านบาท

@ไตรมาสที่ 2 ศก.ชะลอสุดในรอบปี

"ทิพวัลย์ เอี่ยมโอภาส" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต บอกว่า ถ้ามองไปข้างหน้า ไตรมาสที่ 2 นี้ ผู้รู้ในวงการลงทุนหลายท่านก็มองไปในทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจน่าจะชะลอตัวที่สุดในรอบปี เนื่องจากไม่มีอะไรได้คำตอบชัดเจนในไตรมาสนี้ โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญที่ไม่แน่ใจว่าจะมีการลงประชามติทันในช่วงนั้นหรือไม่ ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งจะครบกำหนดการชำระหนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งในระหว่างนี้ ก็คงมีการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องการชำระหนี้กันอย่างต่อเนื่อง

ความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจนเหล่านี้ก็คือ ความเสี่ยง ที่ทำให้ผู้ลงทุนและธุรกิจทั้งหลาย ชะลอการตัดสินใจลงทุนหรือการดำเนินการที่สำคัญๆ ออกไปด้วย

แต่ถ้าเป็นอย่างที่หลายท่านคาดกัน หลังไตรมาสที่ 2 ไปแล้ว ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ถึงต้นไตรมาสที่ 4 ปัจจัยที่ไม่แน่นอนคลุมเครือรวมทั้งสถานการณ์การเมือง น่าจะเริ่มได้คำตอบหรือเห็นกันชัดเจนขึ้น ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ ก็พอจะช่วยพยุงขึ้นได้ เช่น การเร่งการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ และการใช้นโยบายการเงิน คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ในภาวะที่ตลาดสดใส การเมืองนิ่ง ความมั่นใจสูง การลงทุนในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าหุ้น หรือตราสารหนี้ ดูจะไม่ตัดสินใจลำบากมากนัก การลงทุนในช่องทางต่างๆ ดูเป็นโอกาสไปหมด

แต่สำหรับภาวะแบบไตรมาสที่ 2 ที่ยังอึมครึมต่อเนื่องแบบนี้ ดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มจะปรับตัวต่ำลงไปอีก ฟังดูไม่สวยงามนัก แต่ยังมีนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังหาโอกาสการลงทุนได้อย่างน่าสนใจ

พวกหนึ่งใช้สไตล์การลงทุนเพื่อหวังทำกำไรในอนาคต พวกที่สองใช้ Products ด้านการลงทุน สร้างโอกาสได้ผลตอบแทนมากขึ้น แต่เงินต้นต้องอยู่ครบ

@หาผลตอบแทนที่มากขึ้นแต่เงินต้นต้องอยู่

ทิพวัลย์ ยังมองว่าช่วงที่ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวไม่ตื่นเต้น ไม่ชวนให้นักลงทุน ลงทุนในหุ้นโดยตรง แต่เมื่อหันมามองเงินฝาก หรือตราสารหนี้ ดอกเบี้ยก็ลดลงเรื่อยๆ แต่นักลงทุนกลุ่มหนึ่งจึงไม่ยอมอยู่เฉย แบ่งเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนในตราสารการเงินที่สถาบันการเงินผู้ออกตราสารเสนอการคุ้มครองเงินต้น และมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงขึ้น

หลักการคร่าวๆ ก็คือ สถาบันการเงิน จะออกตราสารการเงิน เช่น ตั๋วแลกเงิน อายุ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือน ก็มีให้เลือก แต่เป็นตั๋วแลกเงินที่มีลักษณะพิเศษเพิ่ม คือ อัตราผลตอบแทนของตั๋วนี้จะอิงกับสิ่งอื่น เช่น อาจจะอิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศต่างๆ เช่น SET INDEX SET50 หรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศก็ได้ โดยกำหนดเงื่อนไขการได้ผลตอบแทนของตั๋วนั้นได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินผู้ออกตราสารนั้นกำหนด

เช่น อาจจะกำหนดว่า ถ้าดัชนีนั้น เพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขที่กำหนดผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามที่กำหนดไว้ ดัชนีเพิ่มขึ้น X% ผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทน Y% แต่ถ้าดัชนีเพิ่มขึ้นไม่ถึงที่กำหนด ผู้ลงทุนได้ผลตอบแทน 0% แต่ไม่ว่าเกิดกรณีใด ผู้ลงทุนต้องได้เงินต้นคืนครบ ซึ่งการรับประกันเงินต้นนี้ ก็ต้องดูความเสี่ยง และความน่าเชื่อถือด้านฐานะการเงินของสถาบันการเงินผู้ออกตราสารนั้น

ผลตอบแทนของตราสารการเงินที่พูดถึงนี้ นอกจากอิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศต่างๆ ได้แล้ว ยังสามารถอิงกับราคาหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง หรือ อิงกับอัตราดอกเบี้ย หรือดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ก็ได้ด้วย

การลงทุนในตราสารประเภทนี้ ผู้ลงทุนอาจจะต้องมีภาพที่ตัวเองเชื่อว่าตลาดหรือดัชนีที่เลือกมาเป็นตัวอ้างอิงผลตอบแทนนั้น จะไปในทิศทางไหน และซื้อตราสารที่มีเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนที่ออกแบบมาสอดคล้องกับภาพที่ท่านเชื่อ เพราะตราสารลักษณะนี้ที่มีเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนอิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ มีเงื่อนไขทั้งกรณีดัชนีปรับตัวสูงขึ้น หรือบางแบบเป็นกรณีดัชนีปรับตัวลดลง จึงเป็นทางเลือกให้สำหรับผู้ลงทุนหลายกลุ่มที่อาจจะมีมุมมองทิศทางตลาดไม่เหมือนกัน ได้เลือกลงทุนตามทิศทางตลาดที่ท่านคิดว่ามีความน่าจะเป็นที่สุดนั่นเอง

หากมองให้กว้างๆ ไม่ว่าภาวะการลงทุนจะเป็นอย่างไร ผู้ที่มีส่วนในตลาดเงินตลาดทุน มักจะมีทางเลือกในการลงทุน และตราสารลักษณะต่างๆ ที่สามารถเป็นโอกาสในการลงทุนในภาวะตลาดแต่ละช่วง ไม่ว่าจะขาขึ้น ขาลง หรือไม่แน่ใจว่าจะขึ้น หรือจะลง มาเสนอให้ผู้ลงทุนได้เลือกลงทุนได้ตามภาพที่ท่านเชื่อ และตามสไตล์การลงทุนที่ท่านชอบโอกาสในการลงทุนจึงยังมีอยู่เสมอ

@ทยอยเก็บหุ้นเข้าพอร์ต

"อดิเทพ วรรณพฤกษ์" หัวหน้าฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บลจ.อเบอร์ดีน มองว่า สำหรับภาวะการลงทุนตลาดหุ้นในประเทศไทยเองในไตรมาสที่ 2 นั้น คงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างยังคงรอความชัดเจนอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองเอง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศก็ยังชะลอตัวอยู่ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนและผู้บริโภค

ดังนั้น สภาพตลาดก็คงจะไม่เคลื่อนไหวไปไหนมากเช่นเดียวกับในไตรมาสที่ 1 อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นปัจจุบันไม่ใช่สภาพของตลาดที่เหมาะกับการขายแล้ว ดังนั้นหากเป็นนักลงทุนระยะกลางถึงยาวแล้ว ในไตรมาสที่ 2 เองยังคงเป็นจังหวะที่น่าสนใจในการที่จะเข้าทยอยลงทุนซื้อหุ้นที่มีปัจจัยดี และราคาถูกเข้าไว้ในพอร์ตการลงทุนมากกว่า

"ต้องไม่ลืมว่าตลาดหุ้นไทยเองก็ยังมีจุดเปลี่ยนที่สามารถจะพลิกกลับขึ้นไปในเชิงบวกได้ เพียงแต่ตลาดกำลังรอความชัดเจนในหลายๆ เรื่องทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นแน่ในอนาคต เพียงแต่เราไม่รู้ว่าเมื่อไรเท่านั้นเอง ดังนั้นในสภาพของตลาดหุ้นในไตรมาสที่ 2 ซึ่งปกติไม่น่าจะเคลื่อนไหวไปไหนไกล จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะทยอยเก็บหุ้นเข้าพอร์ตเพิ่มเติมมากกว่าที่จะขาย"

อดิเทพ ยังบอกอีกว่า ตลาดหุ้นไทยยังจะแกว่งตัวอยู่ในลักษณะนี้ แต่โอกาสของความไม่แน่นอนยังสูง การลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่ดีมากๆ ในช่วงไตรมาสที่ 2 คงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ราคาของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันเองก็ยังไม่แพงมาก จึงเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน โดยเฉพาะในช่วงที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลงเช่นนี้ โดยปกติก็จะเพิ่มความน่าสนใจของการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่แล้ว ตลาดหุ้นไทยเองก็มีหุ้นที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงมากกว่า 4% อยู่เป็นจำนวนมาก และราคาหุ้นเองก็ยังไม่แพง

ในอนาคตหากตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นยังจะเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะสามารถได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของกำไรส่วนเกินมูลค่าเงินลงทุน(Capital Gain)อีกด้วย ดังนั้นสภาพตลาดหุ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2550 จึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะขาย แต่เป็นจังหวะในการเข้าทยอยเก็บหุ้นมากกว่า

@กระจายลงทุนไปในตลาดหุ้นต่างประเทศ

ส่วนภาพของตลาดหุ้นในต่างประเทศ อดิเทพ มองว่า ยังมีโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในตลาดหุ้นยุโรปซึ่งราคาโดยรวมเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในโลกยังถือว่ามีราคาที่ค่อนข้างถูกและน่าสนใจลงทุน ตลาดหุ้นในเอเชียเองก็ยังน่าสนใจ

แต่ที่ผ่านมาตลาดหุ้นในเอเชียปรับตัวขึ้นมาสูงมากแล้ว และส่วนใหญ่จะเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ ดังนั้นความเสี่ยงในตลาดหุ้นเอเชียจึงมีมากกว่าตลาดหุ้นในยุโรป ผู้ที่กำลังมองหาโอกาสการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนให้กับตัวเองในช่วงที่สภาพของตลาดหุ้นไทยยังไม่ไปไหน ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในไตรมาสที่ 2 นี้ที่จะมีการจัดสรรเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ

"ใครที่มีการลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว ก็คงไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะเป็นการลงทุนในลักษณะกระจายความเสี่ยงเพื่อเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาวอยู่แล้ว"

@เพิ่มอายุตราสารหนี้-เน้นความเสี่ยงต่ำ

ด้าน "วนา พูลผล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี(ไทย) บอกว่า แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาลง ซึ่งในช่วงหลังจากนี้ไปก็มีโอกาสที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีโอกาสที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(R/P 1 วัน)ลงได้อีก 0.5% ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพของเศรษฐกิจเองที่เริ่มชะลอตัวลง เงินเฟ้อปรับตัวลดลง

ดังนั้น แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยจึงมีแนวโน้มลดลงอยู่แล้วไม่มากก็น้อย นักลงทุนจึงควรปรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้โดยขยายของอายุตราสารหนี้ที่ลงทุนให้มีอายุที่ยาวขึ้น ที่เคยลงทุน 3 เดือน ก็อาจจะเพิ่มมาเป็น 6 เดือน ที่เคยลงทุนล็อก 6 เดือน ก็ขยายมาลงทุน 1 ปี เพิ่มขึ้นในลักษณะนี้ ในส่วนของความเสี่ยงของตราสารหนี้ที่ลงทุนก็อยากจะแนะนำให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีความเสี่ยงไม่มากนัก เพราะในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจของประเทศยังดูไม่สดใสเท่าไรนัก จึงอยากแนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงน้อย ความปลอดภัยสูง อย่างพันธบัตรรัฐบาลมากกว่า ที่จะไปลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน เพราะยังไม่มั่นใจในเศรษฐกิจเท่าไร

"การปรับพอร์ตการลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ในแง่ของระยะเวลาก็แนะนำให้เพิ่มอายุของตราสารหนี้เพิ่มขึ้น ในแง่ของความเสี่ยงก็แนะนำให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีความเสี่ยงต่ำและความปลอดภัยสูง หรือถ้าจะเป็นตราสารหนี้ของภาคเอกชนก็เน้นตราสารหนี้ที่ออกโดยแบงก์เป็นหลัก"

@เปลี่ยนออมทรัพย์บางส่วนสู่กองทุนตราสารตลาดเงิน

นอกจากนี้ วนายังบอกอีกว่า เมื่อแนวโน้มดอกเบี้ยมีทิศทางที่จะปรับตัวลงเช่นนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและดอกเบี้ยออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงตาม ดังนั้น หากนักลงทุนมองหาการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีโดยเปรียบเทียบกับเงินฝากธนาคาร สามารถที่จะไถ่ถอนได้ทุกวัน ก็สามารถที่จะแบ่งเอาเงินฝากออมทรัพย์บางส่วน เข้ามาลงทุนผ่านกองทุนตราสารตลาดเงินได้ ผลตอบแทนของกองทุนตราสารตลาดเงินเอง ก็จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดในลักษณะลอยตัว

คือ หากทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นผลตอบแทนของกองทุนประเภทนี้ ก็จะปรับตัวสูงขึ้นด้วย แต่ในช่วงที่แนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาลง ผลตอบแทนของกองทุนตราสารตลาดเงินก็จะปรับตัวลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนผ่านกองทุนตราสารตลาดเงิน ก็ยังคงดีกว่าเงินฝากธนาคารโดยเปรียบเทียบอยู่นั่นเอง

"หากผู้ลงทุนมีพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้อยู่ 100% แนะนำให้แบ่งประมาณ 50-60% ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุแน่นอน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ส่วนอีก 40-50% ที่เหลือให้แบ่งมาลงทุนในกองทุนตราสารตลาดเงิน ส่วนกองทุนตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิดเพื่อหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากส่วนต่างกำไร นอกเหนือจากผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยนั้น จะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงมากกว่ากองทุนตราสารหนี้ปกติ ซึ่งจะมีการใช้มุมมองของผู้จัดการกองทุนเข้าบริหารจัดการ ดังนั้นกองทุนประเภทนี้น่าจะเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ดีพอสมควร แต่คงไม่เหมาะกับผู้ลงทุนโดยทั่วไป"

@คงพอร์ตกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ วนายังมองว่า สำหรับผู้ลงทุนผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เองนั้น คงไม่มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนแต่ประการใด เพราะผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นนักลงทุนระยะยาวที่หวังผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลที่ได้มาจากค่าเช่าที่เป็นรายได้ของกองทุนอยู่แล้ว

แต่สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นั้น คงต้องรอดูว่าจะมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ออกมาเสนอขายกับนักลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้หรือเปล่า ซึ่งโดยปกติจะเป็นช่วงที่ค่อนข้างเงียบเหงา แต่หากมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ออกมานำเสนอขายผู้ลงทุนก็คงจะต้องพิจารณาถึงสินทรัพย์ที่กองทุนเข้าไปลงทุนเป็นสำคัญ ถ้ากองทุนเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ได้ในราคาถูก ผลตอบแทนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็จะดี แต่หากกองทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาแพง ผลตอบแทนที่กองทุนจะให้แก่นักลงทุนก็จะน้อย ประเด็นคือ อยู่ที่เรื่องของอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนเข้าไปลงทุนเป็นสำคัญ

"ดังนั้น ในช่วงไตรมาสที่ 2 สำหรับผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว คงไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว"

รื้อปรับขยับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์ แล้วคุณจะพบว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปยังไงก็ช่าง แต่โอกาสในการทำเงินให้งอกเงยยังมีเสมอ

กรุงเทพธุรกิจ

เข้าชม: 1,552

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com