April 28, 2024   2:15:43 PM ICT
Index Fund สงบ....สยบเคลื่อนไหว
ในปี 2006 ที่ผ่านมา ผู้ลงทุนในกองทุนหุ้น (Equity Investor) ของสหรัฐอเมริกา ต่างชื่นมื่นเบิกบานกันถ้วนหน้าเพราะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจจากการลงทุน เช่น DJIA หรือตลาดดาวโจนส์ให้ผลตอบแทนตลอดปีในอัตราร้อยละ 16.29 หรือเมื่อหันไปดูผลตอบแทนของ Standard & Poors 500 ซึ่งคำนวณมาจากผลตอบแทนการลงทุนในหุ้น 500 ตัว ของบริษัทชั้นนำในตลาดหุ้นอเมริกา พบว่าให้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 13.62

            แต่ในขณะเดียวกันก็แว่วข่าวมาว่า The Winners หรือผู้ชนะตัวจริงในตลาดหุ้นอเมริกา กลับกลายเป็นผู้ลงทุนในกองทุนดัชนี หรือ Index Fund ไม่ว่าจะเป็น Index Fund ที่ลงทุนในหุ้น Large capitalization, Mid-cap หรือ small-cap ก็ตามแต่ ต่างสามารถสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าการลงทุนในกองทุนที่มีการบริหารแบบ Active โดยไม่ว่าจะมองผลตอบแทนย้อนหลังไป 1 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี ก็ยังชนะกองทุนประเภทที่บริหารแบบ Active อยู่ดี

             ยกตัวอย่างเช่น กองทุน MSCI US Broad Market Index สามารถให้ผลตอบแทนตลอดปี 2006 ที่ Outperformed หรือเหนือกว่ากองทุนแบบผสมที่ลงทุนในหุ้น Large-cap ถึงร้อยละ 76

            ถ้าจะถามว่า Index Fund หรือกองทุนดัชนีใช้วิธีการใดในการบริหาร ถึงสามารถให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าการลงทุนแบบ Active หรือแบบที่ผู้จัดการกองทุนมีการคัดสรรเลือกลงทุนหุ้นเป็นรายตัว (individual stock) ดิฉันก็อยากจะใช้สำนวนชาวบู๊ลิ้มที่ว่า "ใช้ความสงบ  สยบเคลื่อนไหว"  มาอธิบายแนวทางการบริหารของ Index Fund เนื่องจากหัวใจสำคัญของการลงทุนของ Index Fund

            ได้แก่ การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีเป้าหมายให้มากที่สุด เช่น ถ้าเป็น SET50 Index Fund ก็ต้องบริหารให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี SET50 ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ลงทุนหุ้นใน SET50 ให้ครบทั้ง 50 ตัวเหมือนกันเป๊ะ หรือถ้าลงทุนได้ไม่ครบทั้ง 50 ตัว ก็ต้องจัดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ถืออยู่ให้ Replicate หรือใกล้เคียงกับ SET50 Index ให้มากที่สุด ซึ่งมักจะเรียกขานการบริหารแบบนี้ว่า Passive Approach หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การบริหารแบบไม่ต้องคิดมาก โดยผู้จัดการกองทุนไม่ต้องทำการคัดสรรเลือกหุ้นที่ต้องการจะลงทุนเป็น รายตัว หรือวางเดิมพันการลงทุนในหุ้นที่ชอบเป็นพิเศษ (make "Bets" on individual stocks)

            ดังนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ค่าใช้จ่ายของ Index Fund ควรจะต้องต่ำมากๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการจัดการค่าธรรมเนียม ที่ปรึกษาการลงทุน (ถ้ามี) รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้ผลตอบแทนของ Index Fund กลับคืนไปสู่ผู้ลงทุนให้มากที่สุด เสมือนหนึ่งผู้ลงทุนได้ลงทุนในดัชนีกลุ่มเป้าหมาย (target index) นั้นอย่างแท้จริง

            Index Fund ได้รับความนิยมมาตลอดระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนของ Index Fund  กองแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้น ก็เริ่มแพร่หลายไปในตลาดทุนหลายแห่งทั่วโลก อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Index Fund ก็ได้รับการท้าทายจาก ETF Fund ซึ่งเปรียบเหมือนกับ Index Fund แต่มีค่าใช้จ่ายของกองทุนที่ถูกกว่า Index Fund  มิหนำซ้ำยังมีคุณสมบัติที่เหนือกว่า ตรงที่สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ ราวกับหุ้นตัวหนึ่ง และรออีกไม่นาน ผู้ลงทุนชาวไทย ก็จะมีโอกาสได้รู้จักกับ Equity ETF Fund กองแรกของประเทศไทย นอกเหนือไปจาก Index Fund ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

กรุงเทพธุรกิจ

เข้าชม: 1,793

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com