April 28, 2024   1:30:11 AM ICT
10 วิธีเฟ้นกองทุนต่างประเทศ

ช่วงนี้กองทุนรวมต่างประเทศเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยมากขึ้น เหตุผลหนึ่งอาจเป็นด้วยว่าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทั้งหลายต่างเสนอขายกองทุนประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง หลังจากตลาดหุ้นไทยซบเซาลงจากหลายปัจจัยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

สำหรับนักลงทุนเองเมื่อมีทางเลือกมากขึ้น ก็เริ่มต้องคิดว่าจะเลือกลงทุนอย่างไร และกับกองทุนไหนดี อันที่จริงแล้วกองทุนรวมในต่างประเทศนั้นมีอยู่มากมายหลายหมื่นกองทุน ไม่ว่าจะลงทุนในประเทศเดียว ภูมิภาคเดียว หรือในหลายประเทศทั่วโลก การจะคัดเลือกกองทุนจำนวนมากนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จึงเป็นเหตุให้สำนักจัดอันดับกองทุนทั้งหลาย เช่น Standard and Poor’s หรือ Morningstar Rating เข้ามามีบทบาทในการให้ข้อมูลเปรียบเทียบ โดยเป็นบทวิเคราะห์ รวมถึงให้ “ดาวประดับ” เพื่อแสดงถึงผลการดำเนินงานของกองทุนที่เหนือกว่า (หรือแย่กว่า) กองทุนอื่นในประเภทเดียวกัน

สำหรับในบ้านเรานั้น ผู้ลงทุนอาจใช้บริการข้อมูลจากเวบไซต์ของสำนักจัดอันดับเหล่านี้ได้เฉพาะกองทุนรวมที่ทำหน้าที่ส่งผ่านเงินลงทุนไปยังกองทุนรวมหลักที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศ (เพียงกองทุนเดียว) เนื่องจากกองทุนในประเทศดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงที่สุดกับกองทุนหลักนั้น โดยรวมผลของอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับสกุลเงินบาท

ดังนั้น หากกองทุนต่างประเทศมิได้มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น ผู้ลงทุนก็ไม่สามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน หรือพิจารณาอันดับได้จากเวบไซต์ของสำนักจัดอันดับสากลได้

แต่ก็อย่าเพิ่งถอดใจค่ะ ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านคู่มือการคัดเลือกกองทุนรวมจากนิตยสาร Kiplinger’s Personal Finance นิตยสารการเงินส่วนบุคคลชื่อดังในสหรัฐ เขียนโดย Mr. Steven Goldberg ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางในการเลือกกองทุนรวมต่างประเทศได้ในระดับหนึ่ง โดยจะขอประยุกต์บางส่วนให้เข้ากับประเทศไทย ดังนี้

1) อย่าพิจารณาเฉพาะผลตอบแทนในอดีต แน่นอนว่าทุกคนย่อมให้ความสำคัญกับผลตอบแทน แต่ผลตอบแทนที่ดีในอดีตนั้นเป็นเพียงปัจจัยเริ่มต้นในการค้นหากองทุนรวมที่ดีเท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นคำตอบสุดท้าย

2) ให้ความสำคัญกับความสม่ำเสมอของผลตอบแทน เพราะทุกกองทุนมีโอกาส “เฮง” ได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ อาจจะ 3-6  เดือน หรือเพียงแค่ 1-2 ปีเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ผู้ลงทุนควรพิจารณาก็คือกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเหนือกว่าคู่แข่งอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปี ซึ่งปัจจัยนี้จะเป็นตัวชี้ว่าผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารกองทุนผ่านช่วงเวลาที่ดีและแย่มาได้ มิใช่อาศัยเพียงความ “บังเอิญ” เท่านั้น ตรงนี้ผู้ลงทุนในกองทุนรวมประเภทที่มีกองทุนหลักกองเดียวสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนได้ที่ www.hk.morningstar.com/HKG/Fund/FundCompanyList.asp โดยเริ่มค้นหาจากบริษัทผู้จัดการกองทุนดังกล่าวในต่างประเทศ และเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนในกลุ่มประเภทเดียวกัน ในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 ปี โดยมุ่งหากองทุนที่ให้ผลตอบแทนเหนือคู่แข่งโดยเฉลี่ยในระยะเวลาที่มากกว่า

3) มองระยะยาว อย่าให้ความสำคัญกับผลตอบแทนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมามากเกินไป เพราะมิได้บ่งบอกอะไรที่เป็นนัยสำคัญมากนัก ผู้ลงทุนควรให้ความสำคัญกับผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปีขึ้นไป และต้องแน่ใจด้วยว่าผลการดำเนินงานดังกล่าวนั้นมาจากผู้จัดการกองทุนที่บริหารอยู่ในปัจจุบัน โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับปีที่เริ่มปฏิบัติงานของผู้จัดการกองทุนท่านนั้น

4) รู้จักผู้บริหารกองทุน การลงทุนในกองทุนรวมประเภทเชิงรุก (Active Fund) ผู้จัดการกองทุน หรือทีมจัดการกองทุนจะมีความสำคัญมาก เพราะเป็นผู้ที่มีบทบาทในการเลือกซื้อหรือขายหุ้น และตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนอยู่ ในกรณีนี้บริษัทจัดการลงทุนขนาดใหญ่ติดอันดับโลกจะค่อนข้างได้เปรียบเนื่องจากบริหารด้วยทีมจัดการกองทุนที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทดแทนกันได้

หมดโควตาหน้ากระดาษแล้ว ครั้งหน้ามาคุยกันต่อถึงวิธีเลือกเฟ้นกองทุนกันค่ะ

 

กรุงเทพธุรกิจ

เข้าชม: 1,629

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com